ย้อนอดีต “วิกฤตสื่อ” ปี 2540
“สึนามิ ศก.” กวาดคนข่าวจมน้ำนับพัน
โดย พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์
หลายคนเปรียบ วิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อปี 2540 ที่ทำให้มีคนข่าวตกงานจำนวนมาก ว่าไม่ต่างอะไรกับ “สึนามิ”
เพราะเป็นภัยที่มาอย่างเงียบเชียบ แต่รวดเร็วและรุนแรง รู้ตัวอีกทีก็กวาดเอา “ชีวิตการทำข่าว” ของใครหลายคนให้ตกทะเล หายวับไปกับตา !
หนังสือวันนักข่าวประจำปี 2541 ที่จัดทำโดยองค์กรวิชาชีพสื่อ ประเมินว่า วิกฤตครั้งนั้น ทำให้คนในวงการสื่อ (ทั้งนักข่าวและพนักงานอื่นๆ) “ตกงาน” นับพันคน
ก่อนจะกล่าวถึงวิกฤต ต้องให้บริบทก่อนว่า ในเวลานั้น “สื่อมวลชน” ถือเป็นอาชีพที่เฟื่องฟูเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ที่โค่นล้มเผด็จการทหารไม่ให้สืบทอดอำนาจสำเร็จ อิทธิพลและเสรีภาพสื่อ โดยเฉพาะ นสพ. ก็โจนทะยาน ยิ่งเมื่อมีการเปิดเสรีทางการเงิน และ BIBF ทำให้เงินเข้าออกในประเทศยิ่งกว่าน้ำหลาก การค้าขายโตแบบติดจรวด นายทุนหลายคนหันมาลงทุนทำธุรกิจสื่อ มี นสพ.ธุรกิจเปิดใหม่หลายหัว โดยที่น้อยคนจะรู้ว่า นั่นคือภาวะ “ฟองสบู่”
“สุเมธ โตเกษร” บก. ข่าวการเมือง สถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ที่ในขณะนั้น เป็นคนข่าวระดับ “บก. โต๊ะข่าว” ของ นสพ.วัฎจักร ฉายภาพว่า ชีวิตของนักข่าวเศรษฐกิจเวลานั้น เป็นช่วง “ชีวิตทองคำ” เพราะ นสพ.ธุรกิจเปิดใหม่เยอะ มีการซื้อตัวนักข่าว ขอต่อรองเงินเดือนกันมโหฬาร นักข่าวเศรษฐกิจทุกคนต้องเคยถูกทาบทาม แล้วฐานเงินเดือนตอนนั้นสูงมากอยู่ที่เฉลี่ย 20,000 บาท (ในยุคที่ก๋วยเตี๋ยวชามละไม่กี่บาท) โดยที่ไม่ต้องมีวุฒิ ป.ตรี ด้วยซ้ำ ขณะที่ นสพ.ไทยรัฐ เงินเดือนอยู่ที่แค่ 7,000 พันบาท ยิ่งตลาดหุ้นบูม บริษัทไทยจะเข้าตลาด ก็จะเอาหุ้นมาแจกให้นักข่าวในราคาพาร์ เพื่อขอให้ช่วยเขียนเชียร์ พอเปิดตลาด ก็ขายต่อได้กำไรสบายๆ
“นักข่าวเศรษฐกิจขณะนั้นแต่ละคนเลยมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ หลายคนไปถอยรถใหม่ บางคนไปผ่อนคอนโด ไม่มีใครรู้เลยว่ามันจะเกิดวิกฤต”
เขากล่าวว่า ตอน พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ลอยตัวค่าเงินบาท กลางปี 2540 พวกเราก็ยังทำงานไปตามปกติ จนเริ่มมีเสียงแว่วว่าจะมี นสพ. บางฉบับถูกปิด ฉบับแรกที่ปิดคือ “นสพ.ไทยไฟแนนเชียล” ที่ซื้อตัวนักข่าวด้วยเงินที่สูงมาก แต่ปิดเพราะเจ้าของประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ทุกคนก็เลยคิดว่าไม่น่าจะเกี่ยวกับเศรษฐกิจ
“กระทั่งไฟแนนซ์ 56 แห่งถูกปิด ภาพอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นแหล่งโฆษณาใหญ่เบิกเงิน ไม่ได้ นสพ.ธุรกิจหลายฉบับก็เลยเจ๊ง ทั้ง นสพ.วัฐจักร (ทั้งเครือ) นสพ.คู่แข่งธุรกิจ นสพ.สื่อธุรกิจ (อยู่ในเครือเดลินิวส์) ส่วนที่เหลืออยู่ก็ต้อง lay off คนจำนวนมาก ส่วน นสพ.การเมือง ที่ยังอยู่ได้ เพราะรายได้ส่วนใหญ่ยังมาจากยอดขาย และไม่ได้มีฐานเงินเดือนสูงๆ เหมือน นสพ.ธุรกิจ ขณะที่พวกทีวี โฆษณาส่วนใหญ่มาจากสินค้าอุปโภคบริโภค ไม่ใช่อสังหาฯ”
สุเมธกล่าวว่า วิกฤตครั้งนี้กินเวลาอยู่หลายปี นสพ.ทยอยปิดตัว หลายแห่งรัดเข็มขัดแน่น นักข่าวค่อยๆ ถูกเลิกจ้าง มีไม่ถึง 10% ที่ออกไปแล้วกลับมาทำงานข่าวได้ ส่วนตัวเองในช่วงตกอับก็ไปเปิดท้ายขายของ ก่อนจะมาได้งานพีอาร์ รับเงินเดือน 7,000 บาท จากที่เคยได้เดือนละ 50,000 บาท ที่ก็ต้องทำ เพื่อความอยู่รอด
ช่วงนั้น สมาคมนักข่าวฯ ได้เข้ามาช่วยเหลือนักข่าวตกงานเบื้องต้น ทั้งให้เงินช่วยเหลือ ไปจนถึงหาพื้นที่เปิดท้ายขายของ โดยสถานที่แรกคือ “ห้างมาบุญครอง” ก่อนจะย้ายไปยังสถานที่อื่นๆ เช่น สีลม พหลโยธิน ซึ่งนักข่าวสายเศรษฐกิจหลายๆ คนก็จะนำของแจก premium ที่ได้จากแหล่งข่าวมาขายถูกๆ พอของหมดก็เริ่มหาของมือสอง หรือหาเสื้อผ้ามาขายแทน โดยสมาคมนักข่าวฯ ได้จัดพื้นที่ลานจอดรถให้เป็นตลาดนัดทุกวันพุธ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนไปได้ประมาณหนึ่ง
รายชื่อสมาชิกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจในรายงานประจำปี (ซึ่งตามระเบียบจะถูกคัดชื่อออกทันทีถ้าตกงาน) ก่อนและหลัง “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ลดลงไปถึง 20% จาก 565 คน ในปี 2539 เหลือเพียง 382 คน ในปี 2543 สะท้อนความรุนแรงของวิกฤตได้เป็นอย่างดี
สำหรับ นสพ.การเมืองแม้ไม่ได้ปิดตัว แต่ก็มีการ “รัดเข็มขัด” อย่างหนัก “ผู้สื่อข่าวเครือมติชนรายหนึ่ง” ย้อนอดีตให้ฟังว่า ช่วงนั้น มีการเปลี่ยนตัว บก.บห. ให้ขึ้นมารีดไขมันองค์กร โดยขอให้แต่ละโต๊ะประเมินนักข่าวที่ผลงานไม่เข้าเป้าเพื่อ “เลิกจ้าง” โดยมีคนต้องเก็บของหลายสิบราย นอกจากนี้ ยังตัดโบนัส ค่าครองชีพ และเบี้ยเลี้ยงไปงานต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ที่สำคัญคือไม่รับคนเพิ่มอยู่หลายปี
ขณะที่เมื่อสอบถามจาก “นักข่าวสายการเมือง” หลายๆ คน แม้จะจำรายละเอียดได้ไม่แน่ชัด เนื่องจากผ่านมา 20 ปีแล้ว แต่ที่พูดตรงกันคือคนในสนามหลายคน จู่ๆ ก็หายไป ทำให้ใจหาย เพราะสนามข่าวในอดีต ไม่ได้ใหญ่โตเช่นทุกวันนี้ แต่ละคนเห็นหน้ากันทุกวัน
กล่าวโดยสรุป วิธีรัดเข็มขัดของ นสพ. ต่างๆ ที่ยังเหลือรอด นอกจากเออร์ลี่รีไทร์ เลิกจ้าง หรือไม่รับคนเพิ่ม ยังมีอาทิ ลดหน้า+ลดโบนัส (ไทยรัฐ) ลดเงินเดือนพนักงาน (แนวหน้า) ลดหน้า+ลดเงินเดือนพนักงาน (ไทยโพสต์) ปิดสื่อในเครือ (เดลินิวส์) ฯลฯ
แต่สำหรับ นสพ. ที่สาหัสที่สุดก็คือ “เครือผู้จัดการ” (ขณะนั้นยังเน้นข่าวธุรกิจมากกว่าข่าวการเมือง) ที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด เป็นสื่อที่มีอิทธิพลสูง และขยายธุรกิจไปออก นสพ.ภาษาอังกฤษ แถมบริษัทยังเข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แต่พอลอยตัวค่าเงินบาท ก็เหมือนสวรรค์ล่ม นักข่าวหลายคนถูกจับไปเซ็นสัญญาลดเงินเดือน อย่างน้อย 30% คนที่ไม่ได้อยู่ในกอง บ.ก.หลายร้อยคนถูกเลิกจ้าง โดยมีการจ่ายเงินค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย ต้องนำของใช้ในออฟฟิศมาเร่ขาย จำนวนคนทำงาน ลดลงจาก 1,400 คน เหลือเพียง 600 คน
“สุวิชชา เพียราษฎร์” บก.บห. นสพ.ผู้จัดการรายวัน เล่าว่า ตอนเกิดเหตุเขาทำงานอยู่ในศูนย์วิจัยข้อมูลของเครือผู้จัดการ พอเกิดวิกฤตทำให้บริษัทต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ ห้ามรับคนเพิ่มและห้ามซื้อเครื่องจักรใหม่ ต้องใช้เวลากว่า 10 ปีกว่าจะชำระหนี้ได้หมด พร้อมกับชำระเงินเดือนที่ค้างไว้กับพนักงานบางส่วน
“วิธีเขาตัวรอดของพวกเราเวลานั้นคือไปร่วมเปิดท้ายขายของกับสมาคมนักข่าวฯ บางคนก็ไปรับสินค้าจากคนทั่วไปมาขายหารายได้พิเศษ หลายคนทำปิ่นโตมาจากบ้าน บางครั้งก็หุงข้าวกินกันในออฟฟิศ พูดง่ายๆ คือลดรายจ่ายให้ได้มากที่สุด เพราะเงินเดือนออกทีละครึ่ง หรือไม่ออกเลย 2-3 เดือน วิกฤตครั้งนั้นทำให้พนักงานสามัคคีกันมากขึ้น เพราะได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันจริงๆ”
(ปัจจุบัน เครือผู้จัดการก็ยังอยู่ในช่วงภาวะไม่ปกติ หลายครั้งที่จ่ายเงินเดือนไม่ครบ หรือชะลอจ่ายอยู่หลายเดือน จนนักข่าวบางส่วนต้องไปรับจ็อบเพื่อหารายได้เสริม)
สุวิชชา มองว่า สถานการณ์ปัจจุบันน่ากลัวกว่าวิกฤตเมื่อปี 2540 เพราะครั้งนั้นมีแค่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ impact ของ นสพ. ยังมีอยู่ แต่ครั้งนี้ เป็นเรื่องของพลวัตสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป ในอดีตแม้ต้องรัดเข็มขัดแต่วิธีการทำงานยังเหมือนดิม แต่ปัจจุบันจะต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานเพื่อหารายได้จากแหล่งอื่นๆ จะหวังพึ่งแค่ นสพ. ไม่ได้แล้ว ที่สำคัญ impact ของ นสพ. ก็เริ่มน้อยลงไป ส่วนตัวเชื่อว่า นสพ. จะหายไปในสักวันหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไร
ความเห็นของสุวิชชาสอดคล้องกับความเห็นของ “นักข่าวในสนาม” และ” คนข่าวอาวุโส” หลายราย ที่มองตรงกันว่า วิกฤตรอบใหม่สาหัสกว่าครั้งที่แล้ว เพราะสื่อไทย โดยเฉพาะ นสพ. จะได้รับผลกระทบ “3 เด้ง” ทั้งจาก ภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ เทคโนโลยีการสื่อสารเปลี่ยน ยังรวมไปถึงการเมืองใต้ท็อปบู๊ต ที่ทำให้การทำธุรกิจสื่อมีความเสี่ยงสูง และให้ผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่า
ไม่มีใครรู้ว่าวิกฤตรอบใหม่ จะระเบิดขึ้นในรูปแบบใด เหมือนปี 2540 หรือไม่ และจะจบลงอย่างไร
สิ่งที่ทุกคนทำได้ คงมีเพียงการปรับตัว ทำวันนี้ให้ดีที่สุด แล้วก็ wait and see
๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑
ปิดตำนาน “สยามโพสต์”
เกิดและดับเพราะ “การเมือง”
หนึ่งใน นสพ. ที่ถูกปิดช่วงวิกฤตปี 2540 ก็คือ “นสพ.สยามโพสต์” ซึ่งสาเหตุไม่ได้มาจากภาวะเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่เป็นมีเรื่องของการเมืองภายในประกอบ
สยามโพสต์ (เริ่มวางแผงปี 2535) แจ้งเกิดในฐานะ นสพ.การเมือง ที่มีเอกลักษณ์คือพาดหัวอันดุดัน ขณะนั้นอยู่ในเครือโพสต์ โดยมีหัวเรือใหญ่คือ “โรจน์ งามแม้น” (เจ้าของนามปากกา “เปลว สีเงิน”)
ผู้อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า ด้วยสไตล์ของสยามโพสต์ ที่ทำข่าวการเมืองเข้มข้น และพาดหัวหวือหวารุนแรง แม้จะสร้างเสียงฮือฮาในวงการ แต่ก็ทำให้ถูกฟ้องเป็นคดีความมากมาย และรัฐบาลหลายชุดไม่พอใจ เครือโพสต์จึงตัดสินใจขายให้ “ม.ล.ตรีทศ เทวกุล” นักธุรกิจอสังหาฯ เข้ามาบริหารงาน นสพ. นี้แทน แต่ปรากฎว่ามีความขัดแย้งกับกอง บก. เดิม เพราะ ม.ล.ตรีทศขอให้ลดโทนการทำข่าวให้เบาลงจากเดิมมาก ทำให้ “เปลว สีเงิน” ตัดสินใจยกทีมออกไปตั้ง นสพ.ไทยโพสต์ (ก่อตั้งปี 2539)
ต่อมา ม.ล. ตรีทศ ก็ดึง “ปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา” เจ้าของคลื่น จส.100 และสื่อในเครือนิตยสารดิฉันมาร่วมหุ้นและช่วยบริหาร โดยปีย์ได้ดึงทีมข่าวแปซิฟิกมาไว้ที่สยามโพสต์ กระทั่งเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จนต้องรัดเข็มขัด มีการลดเงินเดือนพนักงานตามฐานเงินเดือน เช่น ถ้าเงินเดือนเกิน 20,000 บาท ก็ต้องลดเกิน 10% พร้อมกับปลดคนที่ไม่ค่อยมีบทบาทไปหลายสิบคน
แต่เมื่อประเมินแล้วว่า วิกฤตรอบนั้นน่าจะรุนแรงและยาวนาน ผู้บริหารสยามโพสต์ จึงเริ่มส่งสัญญาไปยังกอง บก. ว่าอาจมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง ก่อนที่จะตัดสินใจ “หยุดผลิต” แบบดื้อๆ ไม่แจ้งคนอ่าน สายส่ง หรือแผงหนังสือล่วงหน้า ช่วงปลายปี 2540 แต่ก็ยังไม่ได้เลิกจ้างพนักงานที่เหลืออยู่ ทำให้สถานการณ์ค่อนข้างอึมครึม
แหล่งข่าวเล่าว่า “ช่วงนั้นผู้บริหารสยามโพสต์ก็ประชุมกับกอง บก. หลายครั้ง เพื่อหาข้อยุติว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เช่น ลดหน้าเหลือ 12-16 หน้า แต่ก็มีเสียงโต้แย้งว่า อาจกระทบยอดขายและยอดโฆษณา สุดท้ายเมื่อถกกันไม่ลงตัว และ นสพ. ไม่ได้ผลิตมาร่วม 1-2 สัปดาห์ ขณะที่ปีย์ก็ถอนตัวออกไปพอดี ที่สุด ม.ล.ตรีทศจึงตัดสินใจเลิกกิจการ”
อย่างไรก็ตาม การที่ผู้บริหารสยามโพสต์จ่ายค่าเลิกจ้างเพียง 1 เดือนให้กับพนักงานทุกระดับ ไม่ว่าจะทำมากี่ปีแล้ว ทำให้หลายคนไม่ฟ้องใจและยื่นฟ้องศาลแรงงาน แต่สุดท้ายไม่ว่าจะ บก. ไปจนถึงแม่บ้านบริษัทก็ต้องยอม เพราะรู้ว่าบริษัทเหลือเงินไม่มากนัก และเงินที่นำมาจ่ายเป็นการวิ่งแลกเช็กเอามาให้พนักงาน ทำให้ทุกคนได้เงินชดเชยเท่ากัน คือเพียง 1 เดือน
และเป็นการปิดตำนาน นสพ.สยามโพสต์ ไปโดยปริยาย ในช่วงต้นปี 2541
///