“ชุติมา” เล่าความหลัง “สื่อ” ในสึนามิ “ต้มยำกุ้ง”

“ชุติมา” เล่าความหลัง "สื่อ" ในสึนามิ "ต้มยำกุ้ง"

"ไม่ง่ายนะที่เราจะเดินไปพูดว่าคุณถูกเลย์ออฟ "

..........................

ในวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 "ชุติมา บูรณรัชดา" เป็นหนึ่งในนักข่าวจำนวนหลายพันคนที่ต้อง "ตกงาน" เพราะหนังสือพิมพ์ "สื่อธุรกิจ" ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ในเครือเดลินิวส์ต้องปิดตัวลงเพราะพิษต้มยำกุ้ง

ในช่วงที่ "ตกงาน" เธอกำลังสวมหัวโขนเป็นนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์อยู่ด้วย แต่ยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อนของนักข่าวที่ตกงาน

วันนี้ "ชุติมา" เป็นรองบรรณาธิการบริหาร นสพ.เดลินิวส์ รื้อฟื้นความขมขื่น ความเจ็บปวดเมื่อ 20 ปีก่อน ผ่านหน้ากระดาษ "ราชดำเนิน"  พร้อมฉายภาพมาตรการต่างๆ ที่ช่วยเหลือนักข่าวที่ตกงานในขณะนั้น

 

@ บรรยากาศสื่อสิ่งพิมพ์ในวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เป็นอย่างไร

ปี 2540 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจเกิดสึนามิทางการเงิน และเป็นสึกนามิของสื่อด้วย เพราะฟองสบู่แตก ก่อนหน้านั้นเป็นช่วงที่ธุรกิจสื่อมีการขยายตัวเองออกไป ไปลงทุนเพิ่มขึ้น เช่น สื่อที่เป็นหนังสือพิมพ์หัวสี อาจจะไปเพิ่มอีกฉบับที่เป็นธุรกิจ บางฉบับที่เป็นรายวันก็ทำรายสัปดาห์ บางฉบับที่เป็นรายวัน รายสัปดาห์ก็ไปทำหนังสือพิมพ์ธุรกิจ การลงทุนตรงนี้ก่อให้เกิดปัญหาในภายหลังเมื่อเกิดการโจมตีค่าเงินบาท

เพราะตอนที่ลงทุนค่าเงินบาทอยู่ที่ 20 – 30 บาท ต่อดอลลาร์ พอฟองสบู่แตกค่าเงินทะลุไป 50 – 60 บาท ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นเป็นเทาตัว ใครที่ไปซื้อแทนพิมพ์ ซื้อรถยนต์ที่ใช้เป็นสายส่งหนังสือพิมพ์ การขยายงานก็ต้องรับคนเพิ่มจำนวนมาก ทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ต้องปิดตัวลง แต่ก่อนจะเกิดปัญหาทุกที่ก็พยายามประคองตัว ลดขนาดขององค์กรลง ลดกำลังคนลง ประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อให้มันอยู่ให้ได้ กระทั่งมันอยู่ไม่ได้ ทุกฉบับพยายามทำสิ่งเหล่านี้ ด้านผู้ประกอบการก็คงคิดแล้วว่า เมื่อประคองไปแล้วเลือดมันไม่หยุดไหล จะทำอย่างไร ทางที่ดีที่สุดก็ต้องถึงกาลอวสานมันดีกว่าปล่อยให้ขาดทุนต่อไป

 

@ สิ่งไหนที่สื่อลดต้นทุนเป็นอันดับแรก

ง่ายสุดก็ต้องคน ลดขนาดองค์กร แต่เป็นเรื่องที่ส่งผลสะเทือนพอสมควร โดยเฉพาะคนที่เป็นหัวหน้างาน มันไม่ง่ายนะที่เราจะเดินไปพูดว่าคุณถูกเลย์ออฟ ทั้งเป็นผลด้านจิตวิทยา ด้านจิตใจ เยอะแยะไปหมด คนทำก็ขมขื่นใจ คนที่ต้องโดนเลย์ออฟก็ต้องคิดในใจว่าทำไมหัวหน้าไม่เลย์ออฟตัวเองออกไป ทำไมมาเลย์ออฟลูกน้อง แค่คนที่เขามีลูกแล้วเดินไปบอกลูกว่าพ่อตกงาน คือบางทีมันเป็นเรื่องยากที่ต้องเดินไปบอกลูก บอกเมียว่าตกงานแล้วนะ ถ้าใครที่เป็นเสาหลักครอบครัวส่งผลกระทบเยอะเหมือนกัน แล้วในสำนักพิมพ์แต่ละแห่งบรรยากาศก็เศร้าหมอง มีแต่ความวังเวง สลดหดหู่ นอกจากเรื่องของคนยังต้องดูรายได้อื่นว่าจะทำอย่างไร เพราะไม่ได้ทำกับกอง บก.อย่างเดียว

@ หรือเป็นเพราะสื่อแตกไลน์ธุรกิจผิดพลาดทำให้เกิดการขาดทุน

ไม่ใช่นะ เพราะก่อนหน้านี้สื่อเห็นเป็นโอกาสว่าควรจะขยายธุรกิจออกไปให้ครบวงจรมากขึ้น นสพ.รายวันก็อยากมีรายสัปดาห์ หนังสือพิมพ์หัวสีก็อยากมีหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจ หรือเพิ่มหน้า เพิ่มเซกชั่น มันมีการเติบโตของเศรษฐกิจก่อนที่จะซบ ทำให้แต่ละองค์กรก็เห็นช่องทางที่จะขยายธุรกิจออกไป

 

@ นักข่าวตกงานมากขนาดไหน

ตกงานเยอะนะ เฉพาะนักข่าวเป็นพันคน ตัวเลขที่มีการบอกกัน 3 พันคน แต่เราไม่มีตัวเลขชัดเจน  หลังจากเกิดภาวะนี้สมาคมนักขาวก็ต้องดูแล อันดับแรกช่วยเหลือเฉพาะหน้าเป็นค่ากินค่าอยู่เฉพาะหน้าคนละ 3 พันบาท นักข่าวตกงานส่วนหนึ่งมีปัญหาหลายๆ อย่าง เช่น ในบางแห่งไม่มีเงินจ่ายชดเชยตามกฎหมายแรงงานไม่มีเงินจ่าย และไม่จ่ายเงิน จึงมีปัญหาฟ้องร้องกัน  นักข่าวที่ได้เงินจากต้นสังกัดที่ชดเชยตามกฎหมายแรงงานก็ยังพอประทังชีวิตอยู่ได้ แต่บางคนไม่ได้ส่วนนี้ก็ลำบากมาก

 

@ แนวทางการช่วยเหลือจากสมาคมนักขาวเป็นอย่างไร

หลังจากสมาคมช่วยเรื่องเงินชดเชยเฉพาะหน้าก็คิดกันว่าจะทำอย่างไรให้นักข่าวอยู่รอดได้ในช่วงนั้น มีหลายโครงการที่เกิดขึ้น จะเรียกว่าโครงการสีสันก็ได้ ชื่อว่าโครงการ “คนขายข่าว มาขายของ” และคนที่คิดชื่อนี้น่าจะเป็น “ชัย ราชวัตร” มีการจัดงานที่มาบุญครองให้นักข่าวที่มีของสะสมหรือของอะไรที่คิดว่าสามารถขายได้ให้มีรายได้เข้าตัวก็สามารถมาขายได้ 200-300 แผง ชายอยู่ 2 วัน ก็ฮือฮา มีคนเข้ามาซื้อในงานเยอะ ทำให้รายได้ของคนที่ไปเปิดบูธขายของก็มีเงินก้อนหนึ่ง บางคนได้หลายหมื่น บางคนได้หมื่น

พวกแหล่งข่าวไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนก็ช่วยเป็นอย่างดี เช่น มาบุญครองก็ให้สถานที่โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย นักการเมืองก็ให้สิ่งของที่เป็นของรักมาประมูลเอาเงินเข้าสมาคม เช่น คุณชวน (หลีกภัย) ก็ให้รูปที่เขียนมาประมูล หรือ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ์ จัดการอภิปรายให้พล.อ.ชวลิต มาพูดเพื่อหาเงินมาเข้าสมาคม คุณเนวิน ชิดชอบ ซึ่งตอนนั้นเป็น รมช.เกษตร ก็ช่วยเรื่องโครงการฝึกอาชีพ โดยเอาสหกรณ์การเกษตรเข้ามาทำเรื่องเพาะเห็ดให้นักขาวที่ตกงานไปฝึกดูเรื่องส่งเสริมการเพาะเห็ดเผื่อจะขายได้

และการขายของไม่ได้ขายครั้งเดียว ยังจัดต่อมาอีก คุณวสันต์ โพธิพิมพานนท์ เจ้าของเบนซ์ ทองหล่อ ก็ให้ที่สำหรับนักข่าวไปขายของ ใช้ชื่อว่า “คนเคยรวย”  ส่วนภาคเอกชนมาช่วยเปิดคอร์สฝึกอบรมคอมพิวเตอร์ หรือ เรื่องการทำอาหาร ขนม นม เนยก็มีคนมาฝึกสอนให้ เพราะหนทางที่จะกลับสู่สื่อมวลชน หรือ นักข่าวมันน้อยลงไป

ประกอบกับการช่วยเหลือด้านเงินจากสมาคมนักข่าว โดยนักข่าวต้องเขียนโปรเจกต์เข้ามาก่อนว่าจะทำอะไรแล้วค่อยมาขอกู้เงิน ใช้เงินของสมาคมและเงินที่เอกชนให้การสนับสนุน แต่ยังไม่สำคัญเท่ากับตอนที่ถกเถียงกันว่ากลัวหนี้สูญไหม เพราะการปล่อยกู้ก็ไม่ได้เรียกหลักประกันอะไรจากนักข่าว เพราะตัวยังเอาไม่รอดจะไปเอาหลักประกันที่ไหนมา

ดังนั้น จึงต้องยอมรับความเสี่ยง เพราะธนาคารยังมีหนี้สูญ ถ้าเรามัวแต่คิดว่ากลัวเป็นหนี้สูญก็ไม่ต้องทำอะไรเลย หากเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง ในที่สุดก็ทำโครงการนี้โดยปล่อยกู้คนละ 2 หมื่นบาท มีคนขอเข้ามา 20 – 30 ราย ใครจ่ายคืนมาได้ก็จ่าย จ่ายคืนไม่ได้ก็มี แต่ไม่ถึงขนาดไปฟ้องร้องอะไร จากจุดเปลี่ยนตรงนั้นบางคนก็ไม่กลับมาอาชีพสื่อ บางคนก็เปลี่ยนอาชีพ เช่น ไปทำร้านกาแฟ หรือ ไปเรียนพวกโปรแกรมเมอร์เพิ่มเติมแล้วไปเป็นโปรแกรมเมอร์ จึงขอขอบคุณบริษัทห้างร้านที่ไม่ได้เอ่ยถึง รวมกับหน่วยงานภาครัฐที่ช่วยเหลือสื่อช่วงวิกฤติปี 2540

 

@ บทเรียนของสื่อที่ได้จากเหตุการณ์นี้คืออะไร

ใครที่รอดพ้นผ่านสึนามิสื่อตรงนั้นมาได้ จะมีการเก็บสะสมประสบการณ์เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก ส่วนหนึ่งต้องบอกว่ามีความแข็งแกร่งในตัวเองพอสมควรเพราะผ่านจุดต่ำสุดมา ก็ต้องเดินกิจการด้วยความระมัดระวังมากขึ้น แทนที่จะไปขยายงานแบบก่อน นึกอยากจะขยายงานให้เยอะๆ ก็ต้องดูรอบคอบมากขึ้นว่าอะไรที่ทำรายได้มากจริงๆ

 

@ ยุคปัจจุบันธุรกิจหนังสือพิมพ์ถึงจุดต่ำสุดหรือยัง

เร็วๆ นี้มีการจัดอันดับสื่อสิ่งพิมพ์ในกลุ่ม sunset (พระอาทิตย์ตกดิน) เป็นธรรมดาของยุคการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทคโนโลยีเข้ามา เหมือนสมัยก่อนกว่าพี่จะได้ดูทีวีนานมาก และสื่อสิ่งพิมพ์ แต่เด็กยุคใหม่เขาไม่ได้โตมากับทีวี โตมากับโทรศัพท์มือถือ โซเชียลมีเดย ไอแพด ไอโฟน ไม่ได้อยู่กับสื่อสิ่งพิมพ์แล้ว สื่อสิ่งพิมพ์จึงถูกแย่งคนอ่าน ถูกแย่งโฆษณา เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต้านทานไม่ได้ แต่ละฉบับต้องปรับตัวอย่างไร นี่สิคือการพิสูจน์ว่าจะอยู่กันได้แค่ไหน ถ้าเป็นยุคนี้ต้องเปลี่ยนจากสื่อสิ่งพิมพ์ไปหาสื่ออื่น เว็บไซต์ ทีวีดิจิทัล ผู้ลงทุนก็ต้องไปคิดว่าอะไรที่จะทำให้อยู่รอดมากที่สุด หลายค่ายต้องทำหนังสือพิมพ์ออนไลน์ขึ้นมาแล้ว ใครก็ตามที่คุยว่าไม่ได้รับผลกระทบเลย อยู่รอดปลอดภัยพี่ว่าโม้นะ

 

@ เศรษฐกิจที่ฝืดเคืองในช่วงปัจจุบัน จะทำให้ชะตากรรมสื่อสิ่งพิมพ์ย้อนไปเหมือนปี 2540 หรือไม่

คงไม่เป็นสึกนามิแบบเดิม เพราะคนที่หันไปทำทีวีดิจิทัลก็ไม่ได้หันไปทุกค่าย และที่ทำก็ไปกู้ ถ้าได้รับผลกระทบก็ธนาคารด้วย เพราะกู้กันทั้งนั้นไม่มีใครใช้เงินตัวเอง จึงไม่มีการเกิดสึนามิเหมือนครั้งปี 2540 ซึ่งตอนนั้นมีการขยายงานเยอะมากและล้มกะทันหัน แต่ที่ผ่านมาประสบการณ์ตรงนั้นมาแล้วก็ต้องคิดอย่างรอบคอบ เป็นคนข่าวทีวีมากกว่าที่ได้รับผลกระทบ เพราะทีวีดีจิทัลหลายๆ ช่องอาจอยูไม่รอดเนื่องจากลงทุนสูง ส่วนคนหนังสือพิมพ์ค่อนข้างนิ่ง นอกจากหนังสือพิมพ์ฉบับเล็กๆ คิดว่ามีการรับมือแล้วว่าอยู่กันอย่างไร

นอกจากนี้หลายๆ ฉบับมีความระมัดระวัง ไม่ได้มีการรับคนเพิ่มเท่าไหร่ มีแต่ดูว่าสิ่งไหนที่เป็นไขมันขององค์กรก็จะรีดตรงนั้นออกไปมากกว่า มันสวนทาง ต้องประคับประคองให้อยู่นานที่สุด บางคนบอกจะอยู่อีก 20 ปี แต่จะอยู่อย่างไร มันคงไม่อยู่เติบโตอย่างเดิมแล้ว แต่จะรักษาสภาพเดิมให้ก้าวลงช้าที่สุดอย่างไรมากกว่า เพราะทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่าสื่อสิ่งพิมพ์ถดถอยลงมาทั้งในแง่คนอ่านและรายได้ที่จะเข้ามา

 

@ เมื่อสื่อสิ่งพิมพ์ขยับไปทำเว็บข่าว คิดว่าเว็บข่าวจะเป็นทางออกหรือไม่

สื่อสิ่งพิมพ์คงไม่สูญหายไปจากโลก หรือหายไปจากตลาดเลย อย่าลืมว่าสื่อแต่ละชนิดมันให้คุณค่าไม่เหมือนกัน อย่างสื่อสิ่งพิมพ์การที่เรานั่งอ่าน มันทำให้เราหยุดคิดได้ ตัวหนังสือที่ออกมาเราคิดตามได้ แต่ในสื่อออนไลน์บางทีก็ไม่สะดวกหลายอย่าง อ่านเยอะๆ ก็ไม่ไหว เพราะจอมันเล็ก ส่วนเรื่องความลึกของข่าวมันเติมเข้ามาได้ แล้วมีหลายมิติมีภาพให้ดู แต่สื่อสิ่งพิมพ์มันมีเสน่ห์ ขณะที่สื่อออนไลน์มันเร็ว ไม่ทำให้เราหยุดคิดหยุดจินตนาการได้

และในประเทศเรา ในต่างจังหวัดใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึงออนไลน์ได้ แต่หนังสือพิมพ์เล่มหนึ่งคุณยืนอ่านได้ตั้ง 20 คน เป็นจุดเสริมช่องว่างได้ ความน่าเชื่อถือในขณะนี้สื่อสิ่งพิมพ์ก็ยังเสนอข่าวอย่างรับผิดชอบมากกว่าเยอะ แต่จะอยู่ถึงกี่ปีก็ไม่มีใครทำนายได้ บางคนบอก 20 ปี แต่บางคนบอกไม่ถึงหรอก 5 ปี 10 ปี ไม่มีใครทำนายได้ แต่มันคงไม่หาย อยู่ที่คนอ่านนี่แหละจะผันแปรมากน้อยแค่ไหนยังตอบไม่ได้