ข่าวร่างรัฐธรรมนูญ เขย่าสิทธิเสรีภาพสื่อ

 

ข่าวร่างรัฐธรรมนูญ

เขย่าสิทธิเสรีภาพสื่อ


...กองบรรณาธิการจุลสาราชดำเนิน

ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพ.ศ.2557 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 และอย่างที่ทราบกันดีว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่รองรับการมีสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่ทราบหรือไม่ว่าการทำข่าวการร่างรัฐธรรมนูญของผู้สื่อข่าวในปัจจุบันนั้นกลับถูกตีกรอบการเข้าถึงข้อมูลและสิทธิเสรีภาพอย่างมีนัยสำคัญ

มงคล บางประภา ผู้สื่อข่าวนสพ.บางกอกโพสต์ หรือพี่เอกของน้องๆผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา ซึ่งผ่านการทำข่าวการร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับพ.ศ.2540 2550 มาจนถึง 2559 ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า ในปี 2539-2540 เป็นช่วงที่เกิดกระแสตื่นตัวจากภาคประชาชนที่ต้องการให้เกิดการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ ซึ่งอาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์รัฐประหาร 2534 และ พฤษภาประชาธรรม 2535 กระแสเรียกร้องของประชาชนในเวลานั้นไม่ต้องการให้การเมืองของประเทศกลับไปสู่ภาวะล้มลุกคลุกคลาน ส่งผลให้รัฐบาลของคุณบรรหาร ศิลปอาชา ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ

“เมื่อกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเริ่มขึ้น ทางฝั่งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีอดีตนายกฯอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ขณะนั้นได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนสามารถเข้าสังเกตการณ์การทำงานของคณะกรรมาธิการฯได้เต็มที่ จะมีบางครั้งที่คณะกรรมาธิการฯขอความร่วมมือไม่ให้นักข่าวเข้ามาฟัง เพราะต้องการพิจารณาเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนเป็นความลับ”

“จากการร่างรัฐธรรมนูญพ.ศ.2540 มาจนถึง 2550 อาจเรียกได้ว่าการให้ผู้สื่อข่าวเข้าร่วมฟังการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกลายเป็นประเพณีที่สืบเนื่องปฏิบัติต่อกันมา ซึ่งประธานคณะกรรมาธิการฯเวลานั้น คือ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ก็เข้าใจดี และอนุญาตให้สื่อมวลชนร่วมฟังการประชุม เว้นแต่บางประเด็นที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนเท่านั้น ซึ่งพอรับได้”

“ทว่ามาถึงการร่างรัฐธรรมนูญในปัจจุบันทั้งในช่วงของอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และ อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ กลับไม่ได้เป็นเหมือนในอดีต จริงอยู่ที่มีการให้ผู้สื่อข่าวได้เข้าร่วมรับฟังการประชุมบ้าง แต่ก็เป็นจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับในอดีต แม้ที่ผ่านมากลุ่มผู้สื่อข่าวได้มีการพยายามทำความเข้าใจกับทางคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญไปแล้วก็ตาม”

“เหตุผลที่ทั้งอ.บวรศักดิ์ และ อ.มีชัย หยิบยกขึ้นมาเพื่อขอความร่วมมือกับสื่อมวลชนที่ไม่ให้เข้าฟังการประชุมมากเท่าไหรนัก คือ ความเป็นอิสระในการแสดงความคิดเห็นของคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ เวลาที่กระชั้นชิด ซึ่งผมมองว่าเป็นการเสียโอกาส”

พี่เอก ขยายความคำว่า “การเสียโอกาส” ว่า เป็นการเสียโอกาสผู้สื่อข่าวรุ่นใหม่ในการได้รับรู้ถึงกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกระบวนการนิติบัญญัติที่สำคัญ และที่สำคัญการให้ผู้สื่อข่าวสามารถเข้าไปติดตามการร่างรัฐธรรมนูญถึงในห้องประชุมได้ จะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เรียนรู้การร่างรัฐธรรมนูญไปพร้อมกันด้วย

“การไม่ให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปนั่งฟังในห้องประชุมของคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน อาจส่งผลให้ในอนาคตบรรทัดฐานที่เคยวางเอาไว้ตั้งการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ที่ให้ผู้สื่อข่าวได้เข้าร่วมรับฟังมาตลอดต้องเสียไปด้วย” พี่เอก ทิ้งท้าย

นอกเหนือไปจากมุมมองของผู้สื่อข่าวรุ่นใหญ่ มาถึงความคิดเห็นของผู้สื่อข่าวรุ่นใหม่ที่ได้มีโอกาสติดตามการร่างรัฐธรรมนูญของอ.บวรศักดิ์และอ.มีชัยกันบ้าง

เกษมณี แก้วผลึก หรือ เกษ ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ แสดงความเห็นว่า การรายงานการร่างรัฐธรรมนูญในช่วงของอ.บวรศักดิ์ และ อ.มีชัย มีความแตกต่างกันพอสมควร คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ)ของอ.บวรศักดิ์ มีการให้ข่าวในทิศทางที่แตกต่างกันออกไป ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะส่วนใหญ่มีที่มาในการเข้าสู่ตำแหน่งที่หลากหลาย ทำให้การให้ข่าวของแต่ละคนแม้จะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่กลับมีหลายครั้งที่มีทิศทางที่สวนทางกัน จนทำให้เข้าใจได้ว่ามีการเมืองภายในค่อนข้างสูง

“ผิดกับการให้ข่าวของกรธ. (คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่อ.มีชัย เป็นประธาน) จะเห็นได้ชัดว่ามีการให้ข่าวไปในทิศทางเดียวกันและมีความเป็นเอกภาพพร้อมกับเน้นประเด็นที่อยากให้ผู้สื่อข่าวนำเสนอ”

“ส่วนเรื่องการให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปทำข่าวในห้องประชุมร่างรัฐธรรมนูญ ยอมรับว่าในช่วงของอ.บวรศักดิ์ ได้เปิดโอกาสให้นักข่าวเข้าไปนั่งในห้องประชุมได้มากกว่าของอ.มีชัย ซึ่งคิดว่าควรให้เปิดโอกาสมากกว่านี้ เพราะการร่างรัฐธรรมนูญถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของประเทศที่สังคมควรได้มีโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากที่สุด แต่ส่วนตัวก็เข้าใจถึงเจตนาของการให้ผู้สื่อข่าวไม่ได้มีโอกาสเข้าทำข่าวร่างรัฐธรรมนูญถึงในห้องประชุม เพราะเขาอาจเกรงหรือไม่มั่นใจว่าข่าวที่ออกไปจะเป็นอย่างไร แต่ก็ยังยืนยันว่าอยากให้มีการเปิดให้นักข่าวได้เข้าฟังการประชุมได้อย่างเต็มที่”

อรรถพล ภิญโญ หรือ กอล์ฟ ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ระบุว่า ถ้ามองเฉพาะในตัวของประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญระหว่าง อ.บวรศักดิ์ กับ อ.มีชัย มีความแตกต่างกันพอสมควร อย่างของอ.บวรศักดิ์ จะมีบุคลิกที่เป็นคนพูดตรง แม้อ.บวรศักดิ์ จะให้สัมภาษณ์กับนักข่าวค่อนข้างบ่อย แต่เมื่อถูกถามในเชิงลึกมากขึ้นจะเห็นได้ว่าอ.บวรศักดิ์จะแสดงออกถึงความไม่พอใจกับคำถามที่ถูกถามแบบตรงไปตรงมา

กอล์ฟ บอกว่า แต่กับอ.มีชัย ให้สัมภาษณ์และข้อมูลกับผู้สื่อข่าวค่อนข้างมาก เรียกได้ว่าถามมาตอบไป อะไรที่ถามมาแล้วตอบไม่ได้ก็จะบอกว่ายังไม่ได้ข้อสรุป อะไรที่อ.มีชัยตอบได้ท่านก็จะตอบออกมาและอธิบายหลักการและเหตุผลทันที

“ผมเองคิดว่าการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญของกมธ.ยกร่างฯ เข้าถึงได้ยากเหมือนกัน ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะคณะบุคคลชุดแรกที่เข้ามาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ อาจอยู่ภายใต้การกำกับของผู้มีอำนาจระดับหนึ่ง แต่กับกรธ.ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะอ.มีชัย จะบอกชัดเจนว่ากรธ.จะเขียนรัฐธรรมนูญไปในทิศทางใดตั้งแต่ที่เข้ามาในตำแหน่งแรกๆ จึงทำให้ผู้สื่อข่าวได้มีโอกาสเห็นข้อมูลได้มากกว่า”

“โดยรวมการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญของอ.บวรศักดิ์และอ.มีชัย ไม่ได้มีความยากจนทำให้ผู้สื่อข่าวรู้สึกได้ว่าขาดเสรีภาพในการทำข่าวแต่อย่างใด”

ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย หรือ อ้วน ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ มองว่า ส่วนตัวเห็นว่าการเปิดโอกาสให้นักข่าวมีโอกาสเข้าไปฟังการประชุมการร่างรัฐธรรมนูญได้น้อยนั้น อาจไม่เสียหายถึงขั้นเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน แต่คิดว่าเป็นการทำให้สังคมขาดการเรียนรู้ทางการเมืองไปพร้อมกัน

“ต้องไม่ลืมว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่บังคับใช้กับคนไทยทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย ในเมื่อหลักการเป็นเช่นนี้ประชาชนในฐานะที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายสูงสุดของประเทศก็ควรได้มีโอกาสรับรู้ถึงเหตุผลและที่มาที่ไปของรัฐธรรมนูญในแต่ละมาตรา ไม่ใช่แค่การให้ประชาชนมาแสดงความคิดเห็น หรือ แค่มารับรู้ในสิ่งที่คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องการนำเสนอเท่านั้น”

“ได้รับรู้จากนักข่าวรุ่นพี่มาว่าการร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับพ.ศ.2540 และ 2550 มีธรรมเนียมที่ปฏิบัติเหมือนกัน คือ การให้นักข่าวเข้าฟังการประชุม แม้อาจจะไม่ได้เข้าประชุมทุกครั้งก็ตาม แต่ก็สามารถอ้างได้ว่าเป็นการเปิดโอกาสให้สังคมได้เรียนรู้ระบบการเมืองการปกครองไปพร้อมกัน จึงอยากให้ฝ่ายนิติบัญญัติวางหลักการการมีส่วนร่วมของประชาชนและการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน ไม่ควรเปลี่ยนหลักปฏิบัติไปตามการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง” ไพบูลย์ สรุป