ชำแหละ กติกา กำกับ “สื่อมวลชน”
ในร่างรธน.ฉบับลงประชามติ 2559
โดย ขนิษฐา เทพจร
ภายหลังจากการเข้ายึดอำนาจการปกครอง โดย “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 แน่นอนว่าการเข้ามากำกับ และบริหารประเทศภายใต้ องคาพยพขององค์รัฐฎาธิปัตย์ มีเป้าหมายที่แจ่มชัด คือ จัดรูปและจัดสรรอำนาจทางการเมืองใหม่
โดยสิ่งที่จะทำให้ความคาดหมายของ “คสช.” เป็นจริง นอกจากใช้อำนาจพิเศษจัดระเบียบในระหว่างอยู่ในอำนาจแล้ว ยังต้องวางกติกาใหม่ ไว้ใน “ร่างรัฐธรรมนูญ” เพื่อสืบทอดและคงการจัดระเบียบไว้เป็นแนวทางที่ถาวร
สำหรับ “สื่อมวลชน” ที่ไม่ว่ายุคไหน จะถูก “รัฐ” จัดให้อยู่ในสารบบ “คู่ขัดแย้ง” เพราะด้วยบทบาท หมาเฝ้าบ้าน ตรวจสอบการใช้อำนาจ จึงหลีกหนีการถูกจัดระเบียบไปไม่พ้น
โดยในบทบัญญัติของ “ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับออกเสียงประชามติ” ที่ทำโดย “คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ”(กรธ.) มีบทบัญญัติที่เป็นกรอบการทำหน้าที่สื่อมวลชนโดยตรง คือ มาตรา 35
แม้จะมีมาตราเดียวแต่เนื้อหาถูกแบ่งออกเป็นหกวรรค คือ วรรคแรก “บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ”
วรรคสอง “การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้”
วรรคสาม “การให้นำข่าวสารหรือหรือข้อความใดๆ ที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนจัดทำขึ้นไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์หรื่อสื่อใดๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะกระทำในระหว่างที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม
วรรคสี่ “เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย”
วรรคห้า “การให้เงินหรือทรัพย์สินอื่นเพื่ออุดหนุนกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นของเอกชน รัฐจะกระทำมิได้ หน่วยงานของรัฐที่ใช้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินให้สื่อมวลชนไม่ว่าเพื่อประโยชน์ในการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ หรือเพื่อการอื่นใดในทำนองเดียวกันต้องเปิดเผยรายละเอียดให้คณะกรรมการตรวจเนแผ่นดินทราบตามระยะเวลาที่กำหนดและให้ประกาศให้ประชาชนทราบด้วย”
และ วรรคหก “เจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง แต่ให้คำนึงถึงวัตถุประสงค์และภารกิจของหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่ด้วย”
โดยสาระสำคัญในความหมายของมาตรา 35 นั้น “ปกรณ์ นิลประพันธ์ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” เฉลยว่า “การนำเสนอข่าวสาร หรือแสดงความคิดเห็นของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ เจตนารมณ์ของบทบัญญัติเพื่อให้สื่อมีสิทธิ และมีเสรีภาพของการทำหน้าที่ แต่เพื่อให้มีกรอบการปฏิบัติหน้าที่บางอย่าง เพราะเราเข้าใจว่าสื่อ ชี้นำสังคมได้ ดังนั้นเวลาที่สื่อทำหน้าที่ต้องเป็นไปตามกรอบจริยธรรมของการประกอบวิชาชีพ โดยผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ต้องไปกำหนดกรอบจริยธรรมด้วยตัวเอง ไฮไลต์ของประเด็นนี้จะอยู่ที่วรรคแรก ที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องไปกำหนดจริยธรรมของวิชาชีพขึ้นมาเพื่อดูแล ตำหนิ ติเตียนกันเอง โดยรัฐไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว” แต่แม้ “กรธ.” จะตั้งใจดี เปิดให้ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ เป็นผู้เขียนกรอบจริยธรรมเพื่อกำกับกันเองได้ แต่การเขียนกรอบปฏิบัติงานนั้น พึงพิจารณารายละเอียดของบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ มาตราที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย โดยเฉพาะสถานะความเป็นปวงชนชาวไทยของ “สื่อมวลชน” ที่แยกจากกันไม่ออก
ซึ่ง “ปกรณ์” ระบุว่าหากสื่อฯ จะยกร่างประมวลจริยธรรม ต้องดูเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ อีก
2 มาตรา ควบคู่ไปด้วย คือ มาตรา 34 ว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและการสื่อความหมายอื่น ที่ไม่ถูกจำกัด ยกเว้นมีบทบัญญัติของกฎหมายระบุไว้เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ, คุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น, รักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน และ มาตรา 50 ว่าด้วยหน้าที่ปวงชนชาวไทย คือ (6) หน้าที่ที่ต้องเคารพและไม่ละเมิดสิทธิ และเสรีภาพของบุคคลอื่น รวมถึงไม่ทำสิ่งที่ก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม เพื่อให้การเขียนจริยธรรมแห่งวิชาชีพตอบโจทย์ความคาดหวังอันสูงสุดของผู้ทำร่างรัฐธรรมนูญ คือ “สื่อต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม”
“คงไม่มีประเทศไหนให้สิทธิ เสรีภาพแก่เอกชน จนเขาใช้เสรีภาพนั้นไปทำลายความมั่นคงของรัฐ เพราะคำว่ารัฐ ประกอบด้วย ประชาชน ดินแดน และอำนาจของรัฐ หากความเป็นรัฐไม่อยู่ โดยสภาพประชาชนก็จะอยู่ไม่ได้ ดังนั้นตรรกะทางกฎหมาย การใช้สิทธิ เสรีภาพทุกอย่างของทุกคนต้องมีความรับผิดชอบ และมาตรา 50 นั้นถือเป็นหนึ่งในความรับผิดชอบของสื่อ ในฐานะประชาชน ส่วนสื่อจะไปเขียนบังคับอย่างไร สื่อต้องดูกันเอง หากถามว่าสื่อไม่ทำ จะทำอย่างไร ก็จะมีประชาชนที่ทำหน้าที่จัดการสื่อเอง เพราะเขาเริ่มจำแนก แยกแยะได้แล้ว ดังนั้นอยู่ที่สื่อเองว่าจะปรับเปลี่ยนตัวเองให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไปอย่างไร” ปกรณ์ ระบุ
กับความพยายามของ “ผู้ทำร่างรัฐธรมนูญ” ที่เซ็ทภาพ “สื่อให้เป็นผู้มีความรับผิดชอบต่อสังคม” และบรรจงเขียนบทบัญญัติเพื่อเป็นกรอบของแนวทางทำงานนั้น เมื่อสังเคราะห์เนื้อหา กลับไม่พบบทบัญญัติที่เป็น “เกราะ” ป้องกันการทำหน้าที่โดยไม่ถูกแทรกแซง เหมือนที่เคยเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ไว้ว่า ห้าม! หน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ เจ้าของกิจการ รวมไปถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใช้อำนาจแทรกแซง ขัดขวางการเสนอข่าวหรือแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน ทั้งที่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการสื่อสารมวลชน และสื่อมวลชนที่สังกัดหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ
ทำให้กลายเป็นข้อสงสัยว่า เจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ คือ ไม่ให้มีการถ่วงดุลอำนาจ และลดการป้องกันการทำงานของสื่อใช่หรือไม่?!?
ในประเด็นนี้ “ปกรณ์” อธิบายว่าไม่จำเป็นต้องเขียนไว้ เพราะขึ้นอยู่กับมโนสำนึกของคนเป็นสื่อ เพราะการทำงาน โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติใคร ขึ้นอยู่ที่ตัวของสื่อเอง ว่าจะหน้าที่ตรงไปตรงมาตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อหรือไม่
“หากเจ้าของกิจการสื่อ เป็นคนชี้นำ ผมถามว่าสื่อควรทำงานด้วยหรือไม่ ผู้ประกอบวิชาชีพที่ดีๆ ควรไปอยู่กับเจ้าของแบบนี้หรือไม่ ซึ่งผมมองว่า ไม่ควรอยู่ และไม่ต้องทำตาม เหมือนกับราชการ หากเขาสั่งให้คุณทำ คุณจะไม่ทำก็ได้ เพราะไม่ชอบด้วยเหตุและผล ซึ่งเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายเขียนไว้ หรือจะบอกว่าคนที่สั่งคุณเป็นผู้จ่ายค่าจ้าง ดังนั้นต้อทำตามก็ไม่ถูกต้อง หากคุณทำตามที่เขาสั่ง คุณก็ไม่ใช่สื่อที่ดี แล้วยิ่งคุณทำข่าวการเมือง การยุติธรรม หรือกฎหมาย ยิ่งต้องตรงไปตรงมา หากมีคนสั่งให้คุณเขียนแบบใดแบบหนึ่งเพื่อหวังผลทางการเมือง แล้ว คุณยอมเขียน ผมว่าคุณใช้ไม่ได้ คุณควรลาออกไปทำอย่างอื่น อย่ามาเป็นสื่อมวลชนเลย”
ขณะที่ประเด็นใหม่ในร่างรัฐธรมนูญฉบับลงประชามติ ที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งทำหน้าที่สื่อมีเสรีภาพในการทำหน้าที่ แต่มีข้อจำกัดคือ ต้องทำหน้าที่โดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์และภารกิจของหน่วยงานที่สังกัด ความสำคัญที่ต้องเขียนไว้ “ปกรณ์” บอกว่า จะไม่กระทบต่อการรายงานข้อเท็จจริงหรือปัญหาของสื่อที่เป็นของรัฐ แต่การจะทำงานให้เหมือนอย่างสื่อเอกชนทั้งหมดไม่ได เพราะคุณกินเงินเดือนของหน่วยงานรัฐ เช่น หน่วยงานที่มีภารกิจประชาสัมพันธ์ หน้าที่ประชาสัมพันธ์การปฏิบัติงานภาครัฐ ต้องทำ ซึ่งการทำงานยังมีสิทธิบอกว่าตรงไหนดี ตรงไหนไม่ดีตามปกติ
อย่างไรก็ดีในประเด็นว่าด้วยข้อจำกัด ที่ “ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” เป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในกิจการของสื่อ ซึ่งขาดเนื้อหาของ นอมินีนักการเมือง เข้าไปเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นกิจการสื่อมวลชน นั้น “ปกรณ์” ย้ำว่า สามารถเขียนรายละเอียดอย่างกว้างไว้ได้ในประมวลมาตรฐานทางจริยธรรม ที่กำหนดไว้ในมาตรา 219 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ซึ่งจะออกภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ส่วนที่ไม่เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญนั้น เพราะไม่สามารถเขียนทั้งหมดไว้ในนั้นได้ และสามารถทำได้เพียงวางหลักการไว้เท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าแม้จะไม่มีรายละเอียดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ แต่หากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคนใดฝ่าฝืน โทษทัณฑ์ที่จะได้รับก็ไม่ต่างจากที่เคยเขียนไว้ในกฎหมายแม่บท นั่นคือ “พ้นจากการดำรงตำแหน่ง”
ดังนั้นในข้อสรุปปิดท้าย หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านประชามติ ผลที่เกิดขึ้นต่อผู้ประกอบวิชาชีพสื่อคือ “สิทธิ เสรีภาพที่มีให้ ต้องให้เป็นไปอย่างรับผิดชอบ ต้องมีวินัย และตัดสินใจได้ด้วยตนเองว่าเหมาะสมหรือไม่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและปรับตัวให้ได้ภายใต้ภูมิทัศน์ของสื่อที่เปลี่ยนไป ซึ่งการเขียนร่างรัฐธรรมนูญในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสื่อ คือ ทำอย่างไรให้สื่อดูแลกันเองให้ได้ ภายใต้ยุคสมัยของเทคโนโลยีที่เปลี่ยน”.