กฎหมายดิจิทัล ความมั่นคงและสงบเรียบร้อย เหตุผลหลักควบคุมอินเทอร์เน็ตในประเทศอาเซียน

กฎหมายดิจิทัล

ความมั่นคงและสงบเรียบร้อย

เหตุผลหลักควบคุมอินเทอร์เน็ตในประเทศอาเซียน

 

กรชนก รักษาเสรี

 

สมาคมเครือข่ายผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีป้า) จัดการประชุมเพื่อให้องค์กรภาคีนำเสนอรายงานสถานการณ์ของการใช้สื่อออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในบริบทเสรีภาพในการแสดงออก โดยเน้นบริบททางกฎหมายและสังคม

ในการประชุม หัวข้อ Cyber Law Mapping ที่โรงแรมไอบิส ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพ ระหว่างวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2559 มีการนำเสนอโดยองค์กรจาก 9 ประเทศในภูมิภาค ยกเว้นบรูไนและติมอร์ เลสเต พบว่าหลายประเทศมีปัญหาคล้ายกัน คือ ยิ่งการใช้งานสื่อออนไลน์เฟื่องฟูได้รับความนิยมมากเท่าไหร่ รัฐบาลก็ยิ่งหาทางตรวจสอบและออกมาตรการมาควบคุมมากเท่านั้น นอกจากนี้ การที่กฎหมายไม่มีความชัดเจนและมีการตีความอย่างกว้างเพื่อลงโทษผู้ละเมิด ส่วนใหญ่จะเป็นการอ้างความมั่นคงแห่งชาติและความสงบเรียบร้อยของสังคม บางประเทศ เช่น ลาวและเวียดนาม พบการข่มขู่และทำร้ายร่างกายผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมายโดยผู้มีอำนาจ และแม้แต่ในเมียนมาร์ก็พบการที่ผู้ใช้สื่อออนไลน์ด้วยกันข่มขู่คุกคามกันเองเพราะมีความเห็นที่แตกต่างทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม มาเลเซียและอินโดนีเซียมีการเฝ้าระวังการก่อการร้ายผ่านทางไซเบอร์มากเป็นพิเศษ โดยมาเลเซียต้องการยกระดับความปลอดภัยให้ครอบคลุมทั้งภูมิภาค

ในตอนท้ายของการประชุม มีการพูดถึงปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่การวางบทบาทของสื่อทางเลือกและสื่อพลเมืองที่เกิดคำถามว่า สถานะของสื่อทางเลือกและสื่อพลเมืองอยู่ตรงไหน สังคมแยกแยะและกำหนดบทบาทความรับผิดชอบอย่างไร รวมถึงบทบาทความรับผิดชอบของผู้ใช้สื่อออนไลน์ในฐานะผู้ส่งสาร ผู้รับสาร ผู้บริโภค และผู้ที่ทำธุรกิจออนไลน์ควรเป็นอย่างไร

 

กัมพูชา

จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในกัมพูชาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก เปรียบเทียบจากอัตราร้อยละ 41 ของประชากรในกลางปี 2558 กับสถิติของธนาคารโลกที่มีเพียงร้อยละ 1.3 ในปี 2553 ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเหล่านี้ที่รวมทั้งบล็อกเกอร์ นักข่าว องค์กรข่าว องค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) นักเคลื่อนไหว นักศึกษา ต่างก็ใช้เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นทางการเมือง จากเดิมที่อินเทอร์เน็ตเคยเป็นพื้นที่เสรี  ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมารัฐบาลกัมพูชากลับมาจับจ้องการใช้สื่อนี้อย่างเข้มงวดเสียแล้ว

ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 มีคนถูกจับเพราะแสดงความคิดเห็นออนไลน์อย่างน้อย 7 คนและเกือบทั้งหมดยังอยู่ในคุก นอกจากนี้มีอย่างน้อย 23 คนที่ถูกข่มขู่เพราะการแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดีย

ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2556 พรรค CNRP พรรคฝ่ายค้านของกัมพูชาทำคะแนนตีตื้นหายใจรดต้นคอพรรครัฐบาลเพราะจับกลุ่มเป้าหมายคนใช้สื่อออนไลน์ คนรุ่นใหม่และคนเมือง ทำให้พรรครัฐบาลหันมาหาทางควบคุมการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมากขึ้น

ปลายปี 2557 มีการประการตั้ง "Cyber War Team" โดยระบุว่าเพื่อเป็นการปกป้องจุดยืนและศักดิ์ศรีของรัฐบาล กระทรวงมหาดไทยก็ประกาศว่าจะติดตั้งอุปกรณ์เฝ้าระวังที่เครือข่ายและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกรายในกัมพูชา นอกจากนี้ยังมีการเสนอร่างกฎหมายที่อาจคุกคามสิทธิทางดิจิทัลของประชาชนอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การใช้กฎหมายอาญาดำเนินคดีกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตก็เพิ่มและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ นายกรัฐมนตรีฮุน เซน เองประกาศว่ารัฐบาลสามารถสืบหาต้นตอของข้อมูลและผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ยุยงปลุกปั่นได้ในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง นับเป็นการปรามผู้ที่จะวิจารณ์รัฐบาลและชนชั้นสูงของกัมพูชา ดังนั้น การใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมืองจึงให้ผลทั้งบวกและลบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิมนุษยชนในกัมพูชาไปในเวลาเดียวกัน ผลต่อเนื่องคือ องค์กรเพื่อสังคมทั้งหลายออกมาบอกและรณรงค์ให้ประชาชนใช้สื่อนี้ "อย่างมีความรับผิดชอบ"

ฮุน มาเนต ลูกชายของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ได้ฟ้องผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งที่เขาบอกว่ากุเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อเกียรติและศักดิ์ศรีของครอบครัวของเขา นอกจากนี้ นักศึกษามหาวิทยาลัยอายุ 25 ปีคนหนึ่ง ชื่อ กง ไรยา ถูกคุมขังเพราะเป็นผู้ริเริ่มการรณรงค์ที่เรียกว่า การปฏิวัติสี (Color Revolution) ที่เรียกร้องให้เปลี่ยนระบอบ (กลุ่มคน) ที่ปกครองประเทศอยู่ เขาถูกตั้งข้อหาภายใต้กฎหมายอาญามาตรา 495 ที่ห้ามการปลุกปั่นให้ก่ออาชญากรรม โทษอาจสูงถึงจำคุกสองปี

ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการจับกุมผู้ที่ร่วมรณรงค์ให้ปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวโดยการสวมเสื้อผ้าสีดำในวันจันทร์ ที่เรียกว่า Black Monday แต่รัฐบาลกัมพูชาอ้างว่าเป็นการ "เชิญตัวอย่างสงบ" เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม การสวมใส่เสื้อผ้าสีดำในวันจันทร์เพื่อเป็นการประท้วงยังคงมีอยู่ต่อไป

อันที่จริงแล้ว รัฐบาลประกาศว่าจะร่างกฎหมายอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ปี 2555โดยระบุว่าเพื่อป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลเท็จที่นำไปสู่ความเข้าใจผิดและมีผลต่อความมั่นคงและสังคม อย่างไรก็ตาม ประชาชนและภาคประชาสังคมไม่มีโอกาสได้เห็นเพื่อจะวิพากษ์วิจารณ์ร่างกฎหมายนี้ก่อนที่จะผ่านออกมาใช้เป็นกฎหมาย มีเพียงร่างกฎหมายที่เล็ดลอดออกมาแบบไม่เป็นทางการโดยไม่รู้ว่าจริงเท็จแค่ไหน

ในร่างกฎหมายนี้ให้อำนาจตำรวจและพนักงานสืบสวนในการตรวจค้นและยึดทรัพย์สินของผู้ต้องสงสัยได้ นอกจากนี้ยังมีบางข้อที่อ่อนไหว เช่น ข้อที่ห้ามการได้มาของข้อมูล ซึ่งมุ่งหมายที่จะป้องกันการเข้าถึงข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากผู้ที่ถูกกล่าวหาเกิดได้รับข้อมูลนี้มาโดยไม่ได้ตั้งใจหรือมีผู้ส่งอีเมลผิดมาให้ คำถามอีกประการหนึ่งคือ กฎหมายนี้จะซ้ำซ้อนกับประมวลกฎหมายอาญาที่มีอยู่แล้วหรือไม่

ทั้งนี้ กฎหมายด้านโทรคมนาคมที่ผ่านโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 คือกฎหมายโทรคมนาคม มีข้อความที่คลุมเครือเช่นเดียวกันเช่นสามารถสั่งให้ส่งมอบข้อมูล อุปกรณ์ หรือถ่ายเทข้อมูลในระบบให้กับทางการเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยในสังคม ในขณะที่บทลงโทษสำหรับผู้ที่วางแผนกิจกรรมที่เป็นอาชญากรรมหรือสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินมีตั้งแต่การปรับ 2,400 - 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ (84,550- 8,800,000 บาท) หรือจำคุกตั้งแต่ 1 สัปดาห์ถึง 15 ปี

จะเห็นได้ว่าสิทธิมนุษยชนและสิทธิในการใช้อินเทอร์เน็ตในกัมพูชากำลังอยู่ในสภาวะถูกคุกคาม โดยเฉพาะเมื่อการเลือกตั้งระดับชาติในครั้งถัดไปจะมีขึ้นในปี 2018 จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะสร้างหลักประกับสิทธิเสรีภาพทางดิจิทัลเพื่อปกป้องประชาธิปไตยในกัมพูชา

 


อินโดนีเซีย

กฏหมายเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตของอินโดนีเซีย เรียกว่า Electronic Information and Transaction Law (IET Law) ใช้มาตั้งแต่ปี 2008 เป็นกฎหมายที่ห้ามการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ เช่น ภาพลามกอนาจาร การฉ้อโกงหรือฟอกเงิน การพนันออนไลน์ แต่ที่เป็นปัญหามากคือ การหมิ่นประมาทออนไลน์ การดูหมิ่นทางศาสนา และการข่มขู่ออนไลน์ โทษของการฝ่าฝืนกฎหมายนี้คือจำคุกสูงสุด 6 ปีและปรับ 71,000 ดอลลาร์สหรัฐ (250,000 บาท)  นอกจากนี้ อาจถูกคุมขังก่อนการไต่สวนได้นานถึง 100 วัน

มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าข้อกำหนดที่เกี่ยวกับ 3 เรื่องนี้อาจขัดกับกฎหมายสิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังมีข้อกำหนดในกฎหมายอาญาอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกฎหมาย EIT ที่ซ้ำซ้อน ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา มี 165 คดีที่กลุ่ม SAFENET พบว่ามีการใช้กฎหมาย EIT เพื่อปิดปากผู้เปิดโปงการทุจริตหรือนักข่าว ด้วยการฟ้องร้องเพื่อแก้แค้นหรือใช้เพื่อการต่อรอง เป็นต้น ที่ผ่านมามีการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย EIT แต่ไม่ใช่ยกเลิกข้อที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์นี้ เพียงแต่ลดโทษลงมาเท่านั้น

กฎหมายเซ็นเซอร์ออนไลน์

กฎหมายอนุญาตให้รัฐบาลสามารถใช้ระบบคัดกรอง TRUST +TM POSITIF ที่สามารถกำหนดแบล็คลิสต์เว็บไซต์ที่ต้องคัดกรองได้ โดยจะดักคัดกรองที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ไม่เหมือนกับการใช้ Single Gateway ในปี 2558 มีการตั้งคณะกรรมการรับมือเนื้อหาอินเทอร์เน็ตด้านลบขึ้นมาเพื่อนำเสนอกับกระทรวงไอซีทีว่าเว็บไหนควรจะถูกจัดในลิสต์ที่ถูกคัดกรอง แบ่งเป็นคณะกรรมการย่อย 4 กลุ่ม คือ กลุ่มภาพลามกอนาจาร การทารุณกรรมเด็กและความปลอดภัยออนไลน์ กลุ่มก่อการร้ายและแบ่งแยกทางเชื้อชาติ ศาสนา กลุ่มการลงทุนที่ผิดกฎหมาย ฉ้อโกง การพนัน อาหารและยา และกลุ่มทรัพย์สินทางปัญญา

เมื่อไม่นานมานี้ มีคำขอให้พิจารณาบล็อคเนื้อหาจากปาปัวตะวันตก และเว็บไซต์เกี่ยวกับคนข้ามเพศ

ประเด็นที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายอีกประการหนึ่งคือ ร่างกฎหมายการแพร่ภาพกระจายเสียง ซึ่งจะอนุญาตให้มีการเซ็นเซอร์เนื้อหารวมถึงรายการข่าวด้วย ทั้งนี้ ถือว่าขัดกับกฎหมายสื่อที่มีอยู่

 

 

ลาว

ลาวเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่ยังมีระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีการควบคุมที่เข้มงวดมากถึงขนาดมีโทษประหารชีวิตสำหรับผู้ที่เป็นสายลับล้วงข้อมูล นอกจากนี้ ยังจำกัดการวิพากษ์วิจารณ์ทำให้มีการลงโทษที่รุนแรงสำหรับนักเคลื่อนไหวด้วยเช่นกัน

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักข่าว Radio Free Asia เสนอข่าวที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวน 3 คนถูกจับตัวไปโดยไม่ทราบข้อหา แต่เชื่อว่ามาจากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในเรื่องสิทธิมนุษยชน

การเข้าถึงข้อมูลในลาวได้พัฒนาขึ้นมาก โดยเฉพาะในเมื่อปี พ.ศ. 2558 เป็นปีที่ครบรอบ 60 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์ลาว และการเป็นประธานอาเซียนในปี 2559 รวมถึงแผนการเยือนของประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐอเมริกา ทำให้การควบคุมมีความเข้มข้นขึ้นด้วยเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย

ลาวมีอินเทอร์เน็ตใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 เพิ่งมาใช้กันอย่างกว้างขวางในปี 2551 แต่ก็มีคนเข้าถึงเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรจำนวน 7 ล้านคน เพิ่งมาขยายเป็นร้อยละ 20 ในปี 2558 เทคโนโลยี 4G เข้าไปในลาวตั้งแต่ พ.ศ. 2555 ปีที่แล้วมีคนใช้เฟซบุ๊ก 1 ล้านคน และคาดว่าจะถึง 2 ล้านคนในปีนี้

ด้วยสภาพภูมิประเทศและการคมนาคมที่ไม่สะดวกทำให้คนนิยมใช้มือถือกันมากถึงร้อยละ 63

นอกจากเฟซบุ๊กส่วนตัวแล้ว มีเพจชื่อ Lao Tholakong (ลาว โทรโข่ง) ซึ่งเป็นที่นิยมมาก แต่รัฐบาลก็เฝ้าดูอยู่ เว็บไซต์ต่าง ๆ มักนำเสนอเนื้อหากลาง ๆ เพราะรัฐบาลเฝ้าดูอยู่

เมื่อ 2 ปีก่อน เนื้อหาในอินเทอร์เน็ตมีความหลากหลายมากทั้งเรื่องจริงและไม่จริง รัฐบาลจึงใช้เป็นเหตุผลในการออกกฎหมายเพิ่ม รัฐบาลเคยประกาศว่าจะให้อินเทอร์เน็ตมีเสรี แต่ต่อมาก็กลับมีกฎหมายออกมาควบคุมมากขึ้นและมีแม้กระทั่งแผนที่จะใช้ Single Gateway โดยที่มีกฎหมายสื่อ กฎหมายสิ่งพิมพ์และกฎหมายความมั่นคง ในขณะที่การเปิดเผยความลับของรัฐ หรือมีส่วนร่วมจัดการรณรงค์ที่เป็นการต่อต้านรัฐ ก็มีโทษรุนแรงอยู่แล้ว

มาตรา 65 ของประมวลกฎหมายอาญา กำหนดโทษสำหรับผู้ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยของชาติ มีโทษจำคุก 3-20 ปี

 

PM Decree No. 327 คุมเนื้อหาออนไลน์ ให้ใช้อินเทอร์เน็ตในทางสร้างสรรค์เท่านั้น แต่การวิพากษ์วิจารณ์ก็อาจถูกจัดเป็นการละเมิดได้ เพราะระบุไว้ว่า ห้ามนำเสนอข้อมูลที่บิดเบือนและต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ หรือการรณรงค์ที่ก่อให้เกิดความแตกแยก

ตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทผู้ให้บริการ เว็บมาสเตอร์หรือตัวผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเองต้องรับผิดชอบเท่า ๆ กัน ด้วยเหตุนี้จึงมีการเซ็นเซอร์ตัวเองกันมาก ไม่มีกฎหมายระบุไว้ว่าหากเว็บมาสเตอร์หรือผู้ให้บริการพบการกระทำที่ละเมิดจะต้องทำอย่างไร

ที่ผ่านมายังไม่พบว่ามีสื่อมวลชนในลาวถูกดำเนินคดี อาจเป็นเพราะมีการควบคุมอย่างเข้มงวด พรรคคอมมิวนิสต์มีการประชุมกับ บ.ก. อยู่เสมอว่าควรหรือไม่ควรนำเสนออะไร

มีการควบคุมสื่อและองค์กรระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน ก่อนจะนำเสนอเนื้อหาสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับลาวต้องนำเสนอรายงานนั้นให้กับกระทรวงการต่างประเทศก่อนเพื่อตรวจเนื้อหา ออนไลน์ด้วย ไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายอินเทอร์เน็ต

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลลาวยังจำเป็นต้องอดทนกับข้อมูลจากนอกประเทศเพราะอยากได้การลงทุนจากต่างประเทศ

 

มาเลเซีย

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 มาเลเซียตั้งเป้าจะเป็นศูนย์กลาง (hub: ฮับ) ด้านมัลติมีเดียเพื่อดึงดูดบริษัทแนวหน้าด้านเทคโนโลยีเข้ามาลงทุนในประเทศ มีการออกกฎหมายและประกาศว่าจะไม่มีการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ตาม เสรีภาพบนอินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางให้ผู้คนใช้แสดงออกในทางสังคมและการเมืองจนกระทั่งรัฐบาลรู้สึกไม่ปลอดภัย แม้ที่ผ่านมาจะไม่มีการกรองหรือปิดกั้นเนื้อหาอย่างเป็นระบบแต่มีแนวโน้มว่าการเซ็นเซอร์จะถูกนำมาใช้อย่างมาก เกิดปัญหาที่รัฐบาลทำลายเสรีภาพด้านการแสดงออกออนไลน์ ข่มขู่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและมีการสอดส่องจากรัฐมากขึ้นเรื่อย ๆ

แผนพัฒนาแห่งชาติฉบับที่ 11 ของมาเลเซีย (ปี ค.ศ. 2016-2020) ระบุให้มีการปรับโครงสร้างด้านไอซีทีใหม่ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาผู้มีความสามารถและแผ่ขยายให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้

อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนมาเลเซียเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากประมาณร้อยละ 20 ในปี 2543 เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าในปลายปี 2558 ซึ่งเป็นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ โดยในระดับครัวเรือนมีอัตรราการเข้าถึงร้อยละ 72.2 และระดับบุคคลเข้าถึงร้อยละ 91.7 ในขณะที่จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์หรืออุปกรณ์มือถือเพิ่มมากกว่าจำนวนประชากร

ความนิยมในการใช้สื่ออินเทอร์เน็ตเผยแพร่เนื้อหาที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ผ่านบล็อกและโซเชียล เน็ตเวิร์ก กลายเป็นสิ่งที่ท้าทายสื่อกระแสหลักที่เป็นที่รู้กันว่าสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลของมาเลเซีย ในขณะที่กลุ่มประชาสังคมพยายามต้านแรงกดดันจากรัฐบาลที่มากขึ้น ธุรกิจและผู้ให้บริการต่าง ๆ ก็พยายามให้ความร่วมมือกับรัฐบาลตราบใดที่ยังไม่เป็นผู้เสียหายเสียเอง

มาเลเซียมีหน่วยงานที่เรียกว่า Malaysian Communication and Multimedia Commission (MCMC) เป็นผู้กำกับดูแลด้านโทรคมนาคม การกระจายเสียงและอินเทอร์เน็ต มีตัวแทนรัฐบาลนั่งในคณะกรรมการและมีอดีตข้าราชการจากกระทรวงการสื่อสารและมัลติมีเดียมาเป็นประธาน มีหน้าที่รวมถึงการทำงานตามที่กระทรวงสั่งมาด้วย มีกรรมการย่อยฝ่ายเนื้อหา ฝ่ายผู้บริโภค และฝ่ายเทคนิค ทำงานร่วมกับตำรวจในการสืบสวนสอบสวน และมีคณะกรรมการเฝ้าระวังสื่อสังคมออนไลน์ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานในรูปแบบของบริษัทชื่อ MyCERT อยู่ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ดูแลด้านความมั่นคงทางไซเบอร์

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติรับเรื่องร้องเรียนแต่ไม่มีกรณีการละเมิดออนไลน์

ในปี 2557 มีการจัดตั้ง Internet Governance Forum แต่ก็ยังเป็นการประชุมที่มีรัฐบาลเป็นแกนนำ ส่วนในระดับนานาชาตินั้น รัฐบาลไม่ค่อยดึงคนภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมทำให้ยากที่ภาคประชาสังคมจะเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้านกฎหมายหรือนโยบาย

รัฐธรรมนูญของมาเลเซียรับรองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานเช่นเสรีภาพในการแสดงออกแต่ก็มีข้อจำกัดบนพื้นฐานของการรักษาความมั่นคงแห่งรัฐ ศีลธรรม และความสงบเรียบร้อยของส่วนรวม นอกจากนี้ กฎหมายที่ควบคุมด้านการแสดงออก สื่อมวลชนหรือข้อมูลข่าวสารก็มีพื้นฐานแนวคิดมาจากยุคอาณานิคม กฎหมายใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีหรือปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลจึงอ่อนแอกว่าและเป็นไปในทางควบคุมมากกว่าจะส่งเสริมหรือสร้างนวัตกรรมในการแสดงออก มีคนจำนวนมากที่ถูกจับกุมจากการใช้กฎหมายต่อต้านการปลุกปั่นและก่อความไม่สงบ (Sedition Act) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีต้นกำเนิดจากสมัยอาณานิคมที่ห้ามการปลุกปั่นให้ต่อต้าน เกลียดชังประมุข ผู้ปกครอง ศาล หรือเกิดความเกลียดชังระหว่างเชื้อชาติหรือชนชั้นทำให้มีการตีความอย่างกว้างไปจนถึงการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ในขณะเดียวกัน กฎหมายอาญาก็มีบทบาทมากและถูกนำมาใช้โดยทั่วไป

ภาคประชาสังคมในมาเลเซีย จริง ๆ แล้วเป็นผู้ได้ประโยชน์จากการใช้สื่อออนไลน์ คือใช้ในการรณรงค์ ที่ผ่านมาได้ผลดี เช่น การประท้วงใหญ่ที่เรียกว่า Bersih 4 ในปี 2015 แต่พื้นที่ของภาคประชาสังคมกำลังลดน้อยลงเรื่อย ๆ ด้วยการถูกจำกัดและใช้มาตรการทางกฎหมาย

ประเด็นทางกฎหมายและนโยบาย มีการปรับแก้กฎหมายเพื่อควบคุมเนื้อหาออนไลน์มากขึ้น เช่น สามารถบล็อคหรือปิดเว็บไซต์ เพิ่มการเฝ้าระวังและสอดส่องทางอินเทอร์เน็ต ยกระดับความมั่นคงทางไซเบอร์เป็นระดับภูมิภาค (ให้ความสำคัญกับปัญหานี้สำหรับอาเซียน) มีการซื้อสปายแวร์ จาก Hacking Team และ FinFisher มาสอดส่องการใช้งานภายในประเทศ ใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งเนื้อหาออนไลน์ องค์กรข่าวและโซเชียลมีเดีย

สิ่งที่ตามมาคือ มีกลุ่ม Net Merdeka ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของสื่อและเอ็นจีโอ 9 แห่ง ร่วมรณรงค์ต่อต้านการแก้กฎหมายนี้ และรณรงค์ให้เห็นความสำคัญของเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต และให้ทบทวนเกี่ยวกับการใช้กฎหมาย Sedition Act

 


เมียนมาร์

เมียนมาร์มีประชากรประมาณ 52 ล้านคน มีผู้จดทะเบียนใช้อินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ 18 ล้านคนและมีผู้ใช้เฟซบุ๊ก 15 ล้านคน ในขณะที่มีผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมทั้งหมด 5 ราย เป็นบริษัทต่างชาติ 3 ราย

ในฐานะที่กำลังเข้าสู่ยุคใหม่หลังจากมีรัฐบาลใหม่ สังคมดิจิทัลของเมียนมาร์จึงต้องพบกับความท้าทายใหม่ ๆ

เริ่มต้นด้วยการจัดทัพกระทรวงใหม่ โดยการรวมกระทรวงคมนาคมเข้ากับโทรคมนาคมและเทคโนโลยีการสื่อสารเนื่องจากชื่อคล้ายกัน เมื่อเป็นดังนี้ ทำให้เกิดข้อสงสัยถึงศักยภาพของรัฐบาลในด้านความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับดิจิทัล

 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจัดลำดับความสำคัญให้กับการสร้างสันติภาพและสมานฉันท์มาเป็นอันดับหนึ่ง เรื่องอื่นจึงต้องมาทีหลัง มีนักเคลื่อนไหวบางองค์กรที่รณรงค์ด้านสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งก็เป็นไปด้วยดี

ความท้าทายอีกประการหนึ่งคือทัศนคติของผู้คนในการลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนแปลง คนชื่นชอบนางอองซานซูจีมากและมองว่าการลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงใด ๆ เป็นการก่อปัญหาให้กับเธอ จึงเลือกที่จะอยู่เฉย ๆ ไม่เพียงเท่านั้น นักข่าวหรือนักเคลื่อนไหวอาจพบการคุกคามออนไลน์ เกิดจากประชาชนที่ไม่อยากให้เกิดความวุ่นวาย หรือเกิดจากกลุ่มหัวรุนแรงโดยเฉพาะทางศาสนา

กฎหมายที่ใช้ในประเทศเมียนมาร์เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารออนไลน์ มีทั้งกฎหมายอาญาที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2500 หรือกฎหมายอื่น ๆ ที่เก่ากว่านั้น เช่น กฎหมายความลับทางราชการ หลังปี 2554 มีการร่างและปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับ เช่น กฎหมายโทรคมนาคม กฎหมายสื่อ กฎหมายการพิมพ์ กฎหมายการกระจายเสียง กฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Transaction Law) ซึ่งเคยส่งผลให้นักข่าวต้องติดคุกมาแล้วจำนวนมาก ได้รับการแก้ไขปรับปรุงเมื่อ พ.ศ. 2557 แต่ยังคงมีความไม่ชัดเจนเช่นเดิม ความไม่ชัดเจนของกฎหมายและการตีความอย่างกว้างนี่เองที่อาจยังคงเป็นปัญหาถูกนำมาใช้เพื่อลงโทษนักข่าวหรือนักเคลื่อนไหวได้

 

 

ฟิลิปปินส์

สื่อมวลชนของฟิลิปปินส์โดยทั่วไปถือว่ามีเสรีภาพมาก ไม่มีกฎหมายสื่อโดยเฉพาะ มีนักข่าวพลเมืองและบล็อกเกอร์จำนวนมาก อย่างไรก็ตาม มีการฆาตกรรมนักข่าว เช่น กรณีสังหารหมู่ที่เมืองอัมปาตวนในปี 2552

ฟิลิปปินส์มีประชากร 101.1 ล้านคน มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคิดเป็นร้อยละ 44 ใช้โซเชียลมีเดียร้อยละ 42 อัตราการใช้อินเทอร์เน็ตจากอุปกรณ์เคลื่อนที่ ร้อยละ 113 โดยมีการใช้โซเชียลมีเดียจากอุปกรณ์เหล่านี้ร้อยละ 36

ประเทศฟิลิปปินส์มีประชากรกว่า 100 ล้านคนกระจายอยู่ในพื้นที่ที่เป็นเกาะ 7,100 เกาะ เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ค่อย ๆ เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ยังมีอัตราความยากจนอยู่ถึงร้อยละ 26

อินเทอร์เน็ตเข้าสู่ประเทศฟิลิปปินส์ในปี 2537 และมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงติดอันดับ 20 ประเทศแรกของโลก อย่างไรก็ตาม ความเร็วของสัญญาณถือว่ามีอัตราต่ำ มีผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เพียงร้อยละ 7 และค่าใช้บริการอินเทอร์เน็ตแพงมาก ทั้งนี้ มีผู้ให้บริการจริง ๆ อยู่เพียง 2 บริษัทเท่านั้น คือ PLDT Group และ Globe Telecom บริษัทอื่น ๆ เป็นการเช่าช่วงหรือซื้อสัญญาณไปขายต่อ แม้ว่าแผนยุทธศาสตร์ดิจิทัลของฟิลิปปินส์ (2011-2016) จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารและส่งเสริมให้นำไปใช้ในด้านต่าง ๆ เช่น ธรรมาภิบาล การศึกษา เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมก็ตาม ความไม่แน่นอน ไม่สม่ำเสมอในทางปฏิบัติของรัฐบาลก็ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาที่ล่าช้านี้ด้วยเช่นกัน

ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้สมัครทุกคนต่างก็ประกาศว่าจะแก้ปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ล่าช้านี้

จริง ๆ แล้วกฎหมายกำหนดให้เปิดเสรีด้านโทรคมนาคม แต่ด้วยความที่กฎหมายตามไม่ทันเทคโนโลยีส่งผลให้การพัฒนาขาดประสิทธิภาพ กฎหมาย e-commerce พ.ศ. 2543 ระบุให้หน่วยงานราชการทั้งหมดเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตและให้สาธารณชนเข้าถึงได้ มีข้อกำหนดห้ามการแฮ็คข้อมูล การปล่อยไวรัสคอมพิวเตอร์และห้ามละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์

นอกจากนี้ กฎหมายของฟิลิปปินส์ยังห้ามการผลิตภาพลามกอนาจารของเด็ก ห้ามผลิตภาพหรือวิดีโอโป๊โดยที่บุคคลในภาพไม่ยินยอม และห้ามเผยแพร่ ทำซ้ำภาพเหล่านั้น

ในขณะที่ไม่มีกฎหมายควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตหรือสื่อใหม่โดยตรง มีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลออนไลน์มาโดยตลอด รวมถึงการสอดส่องการใช้อินเทอร์เน็ตที่แม้แต่การใช้งานของประธานาธิบดี 3 คนล่าสุดก็ยังโดนสอดแนมด้วย

เคยมีกรณีที่นักเรียนสาวโพสต์รูปหวือหวาของตัวเองลงบนเฟซบุ๊กแล้วถูกโรงเรียนคาธอลิคสั่งห้ามไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมในพิธีจบการศึกษา ศาลมีคำตัดสินในกรณีนี้ว่า ไม่มีสิ่งใดเป็นส่วนตัวบนเฟซบุ๊ก

ในปี พ.ศ. 2555 มีกฎหมายเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Data Provacy Act) ซึ่งปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ครอบคลุมทั้งจากการทำงานของภาครัฐและเอกชน มีข้อกำหนดให้ตั้งคณะกรรมการความเป็นส่วนตัวแห่งชาติเพื่อร่างกฎระเบียบขึ้นมาใช้ ในปีเดียวกันมีกฎหมายป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ (Cybercrime Prevention Act) เป็นกฎหมายที่ถูกตั้งคำถามว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ แต่ก็ผ่านออกมาเรียบร้อย อย่างไรก็ตาม ในปี 2557 มีคำตัดสินว่าบางมาตราขัดต่อรัฐธรรมนูญ ต้องมีการแก้ไข ได้แก่ การยินยอมให้มีการสื่อสารทางพาณิชย์แบบไม่เต็มใจ การเก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์ และการจำกัดหรือบล็อคการเข้าถึงข้อมูลในคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ยังคงมีข้อกฎหมายบางตอนที่เป็นที่ถกเถียง เช่น การหมิ่นประมาททางไซเบอร์ การให้คำนิยาม "cybersex"

ในปีที่แล้ว มีการออกกฎหมายต่อต้านการผูกขาด ซึ่งนับว่าเป็นย่างก้าวที่สำคัญ เพราะน่าจะช่วยในการพัฒนาระบบให้ดีขึ้นได้

ปัจจุบันยังมีร่างกฎหมายหลายฉบับคาอยู่ในสภาคองเกรส รวมถึงกฎหมาย "การก่อตั้งแมกนาคาร์ตาสำหรับเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตของฟิลิปปินส์" ที่วางแนวทางให้ฟิลิปปินส์ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีการสื่อสารของโลก ซึ่งรวมถึงสงครามไซเบอร์ด้วย

 

สิงคโปร์

สิงคโปร์ไม่มีกฎหมายโดยตรงเกี่ยวกับสื่อออนไลน์ ยกเว้น พ.ร.บ.ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ปี 2555 ทั้งนี้ เว็บข่าวออนไลน์ที่มีคนอ่านมากกว่า 50,000 คนจะต้องจดทะเบียนและมีการค้ำประกันความเสียหาย (performance bond) ส่วนข้อกำหนดเกี่ยวกับเนื้อหาออนไลน์เป็นเช่นเดียวกับกฎหมายสื่อ

กฎหมายต่อต้านการปลุกปั่นและก่อความไม่สงบก็นำมาใช้กับบล็อกเกอร์ด้วยเช่นกัน และในช่วงหลัง ๆ การใช้ถ้อยคำที่จงใจกระทบกระเทือนความรู้สึกทางด้านเชื้อชาติหรือศาสนาก็อาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอาญาด้วย

ไม่เพียงมาตรการทางกฎหมาย แต่ยังมีมาตรการทางสังคมอีกด้วย เช่น กรณีมีผู้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับความเชื่อของคนอีกเชื้อชาติหนึ่งก็ถูกบริษัทไล่ออกได้

 

กลไกการกำกับดูแล

สื่อมวลชนทั้งหมดถูกกำกับดูแลโดยหน่วยงานพัฒนาสื่อ (Media Development Authority) ซึ่งจะรวมเข้ากับหน่วยงานด้านการพัฒนาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารในเดือนตุลาคม ปี 2559 นี้ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารจะมาจากหัวหน้าเลขานุการของนายกรัฐมนตรี ในการทำงานบางครั้งก็เป็นการให้คำปรึกษาแต่บางครั้งก็เป็นการกำหนดแนวทาง

ภาคประชาสังคมในสิงคโปร์นับว่าอ่อนแอ และผู้คนมักไม่ไว้ใจคนที่ทำอะไรให้ฟรี ๆ

องค์กรชื่อ Internet Society (ISOC) ส่งเสริมการใช้อินเทอร์เน็ตในวงกว้าง ซึ่งอาจจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกบ้าง

มีชุมนุมผู้เชี่ยวชาญด้านไอที (CITE) ให้คำแนะนำเกี่ยวกับประเด็นปัญหาด้านเนื้อหา

แนวทางนโยบายของสิงคโปร์อาจเป็นไปได้ 3 แบบ คือ ออนไลน์หรือออฟไลน์ก็ใช้เหมือนกัน

พบกันครึ่งทาง (เช่น กำหนดระยะเวลาอบรมคนขับแท็กซี่อูเบอร์แตกต่างจากแบบปกติ)

หรือ กำหนดกฎหมายเฉพาะสำหรับออนไลน์ (แนวทางนี้มีความเป็นไปได้น้อย ยกเว้นมีเทคโนโลยีใหม่)

 

 

ประเทศไทย

ประเทศไทย ซึ่งอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารมา 2 ปี มีทั้งกฎหมายเดิมที่ระบุเกี่ยวกับสื่อแต่ละประเภท เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุและโทรทัศน์ โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตโดยตรงก็คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กับ พ.ร.บ. ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และกฎหมายอื่น ๆ ที่ไม่ได้ควบคุมเฉพาะสื่อเช่น ประมวลกฎหมายอาญา  ว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาท หรือมาตรา 112 ว่าด้วยความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย หรือมาตราที่ว่าด้วยสื่อลามกอนาจารเด็ก กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ร.บ.สอบสวนคดีพิเศษ เป็นต้น

นอกจากนี้ มีกฎหมายใหม่ ๆ ที่กำลังจะออกมา เช่น ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือกฎหมายพิเศษ เช่น ประกาศและคำสั่งของคณะ คสช. หรือหัวหน้า คสช. ฉบับต่าง ๆ หรือมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เป็นต้น ทั้งนี้ การกำหนดให้คดีเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เป็นคดีพิเศษทำให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสืบค้นข้อมูลแบบล้วงลึก เช่นเดียวกับการใช้มาตรา 44 เพิ่มอำนาจของทหารในการสอบสวนสำหรับคดีบางประเภท ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจล้วงลึกได้เช่นกัน

เมื่อเดือนธันวาคม 2557 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้แต่งตั้งคณะทำงานทดสอบระบบเฝ้าติดตามสื่อออนไลน์ และต่อมาได้มีคำสั่งให้ทดสอบเครื่องมือและวิธีการพิเศษที่ใช้ถอดรหัสข้อมูลที่ถูกเข้ารหัส นอกจากนี้ ข้อมูลจากวิกิลีกส์ ยังเปิดเผยว่าสภาความมั่นคงแห่งชาติของไทยเป็นลูกค้าของ Hacking Team อีกด้วย

การกำหนดความรับผิดของตัวกลาง เช่น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต นับเป็นอีกจุดหนึ่งที่อาจทำให้มีการปิดกั้นในระดับที่ใหญ่ขึ้น

ในการกลั่นกรองหรือปิดกั้นข้อมูล เคยมีข่าวว่ารัฐบาลไทยมีแนวคิดจะใช้ Single Gateway ควบคุมการเข้าออกของข้อมูลข่าวสารออนไลน์ แม้ไม่ได้นำมาใช้จริง แต่มีแนวโน้มของการปิดกั้นที่ขยายจากเว็บเพจที่มีเนื้อหานั้นเป็นการเฉพาะไปยังระดับเครือข่ายนั้นมีอยู่ เพราะข้อมูลข่าวสารทุกวันนี้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในทุกทิศทุกทางโดยมีผู้ทำหน้าที่ส่งสารได้มาก ๆ ในเวลาเดียวกัน

 

 

เวียดนาม

ตั้งแต่ปี 2518 เวียดนามอยู่ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาถือเป็นช่วงเฟื่องฟูขององค์กรภาคประชาสังคม ต่อเนื่องมาจากกระแสต่อต้านจีนในปี 2554 ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างจีนกับเวียดนามในกรณีพิพาทด้านเขตแดนในทะเลจีนใต้

ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2558 คนรุ่นใหม่ได้ลุกขึ้นมาใช้เฟซบุ๊กเพจต่อต้านบริษัทยักย์ใหญ่ด้านอาหารและเครื่องดื่มที่เล่นงานคนที่ร้องเรียนว่าผลิตภัณฑ์มีการปนเปื้อน ต่อมาในเดือนมีนาคมก็มีกลุ่มที่ชื่อ For a Green Hanoi ออกมาต่อต้านแผนการตัดต้นไม้ 6,700 ต้นของทางการ กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ประสบความสำเร็จในการเรียกร้องความโปร่งใสและความรับผิดชอบจากรัฐบาล ทำให้ชาวเวียดนามมองเห็นบทบาทภาคประชาสังคมซึ่งปัจจุบันมีถึง 1,000 องค์กร มองเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองมากขึ้น เกิดความตระหนักรู้ทางการเมืองและกล้าที่จะลุกขึ้นมาเผชิญหน้ากับรัฐบาลมากขึ้น

ด้วยจำนวนประชากร 93 ล้านคน เวียดนามมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ร้อยละ 44 เฟซบุ๊กกลายเป็นสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมในหมู่ผู้มีอายุต่ำกว่า 24 ปี รวมถึงผู้สูงอายุที่ปกติจะใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อติดตามข่าวสาร นอกจากนี้ Facebook Blogspot และ WordPress ยังเป็นช่องทางในการติดต่อกับชาวเวียดนามโพ้นทะเลที่รัฐบาลไม่อาจปิดกั้น การตื่นตัวของประชาชนทำให้รัฐบาลตื่นตัวตามไปด้วย

 

กฎหมายที่ควบคุมเนื้อหาเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตโดยตรงคือ กฎหมายฉบับที่ 72 (Decree 72) และฉบับที่ 174 (Decree 174)

กฎหมายฉบับที่ 72 ให้อำนาจการกลั่นกรองเนื้อหาและเซ็นเซอร์บล็อกและเว็บสังคมต่าง ๆ นอกจากนี้ยังระบุว่าสื่อเหล่านี้ไม่ควรใช้แชร์เนื้อหาข่าวสารแต่ใช้สำหรับเรื่องส่วนตัวเท่านั้น ตามกฎหมายไม่ให้ยกเนื้อหาหรือสรุปข้อมูลจากองค์กรสื่อหรือเว็บไซต์ของรัฐมาลงด้วย และห้ามการนำเสนอที่เป็นไปในทางคัดค้านรัฐบาลหรือ "เป็นอันตรายต่อความมั่นคงแห่งชาติ" ในขณะเดียวกัน บริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต่างชาติจะต้องพร้อมที่จะให้รัฐบาลตรวจเซิร์ฟเวอร์ได้เสมอ

ส่วนกฎหมายฉบับที่ 174 นั้นกำหนดโทษ 100 ล้านด่อง (4,700 ดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 165,000 บาท) สำหรับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐหรืออุดมการณ์ในทางตอบโต้อุดมการณ์ของรัฐผ่านทางโซเชียลมีเดีย

 

กฎหมายดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับเว็บไซต์จำนวนมากที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์

ในบางกรณี รัฐบาลก็ลงมือจัดการกับเว็บไซต์โซเชียลมีเดีย ที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปแล้ว 7 เว็บไซต์ ซึ่งรวมถึงการพักใบอนุญาติและปรับเป็นจำนวน 212 ล้านด่อง (ประมาณ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 350,000 บาท) ซึ่งลดความหลากหลายของสื่อออนไลน์ในเวียดนามลงมาก

ในเดือนตุลาคม 2557 ได้ปิดเว็บไซต์ Haivl.com ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากทั้งทางด้านสังคมและการแชร์ไฟล์ ด้วยข้อหา "นำเสนอ เผยแพร่และแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์และหมิ่นเกียรติของวีรบุรุษแห่งชาติ" แถมด้วยการปรับเงินเป็นจำนวน 205 ล้านด่อง (9,500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 334,000 บาท)

นอกจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตโดยตรงแล้ว กฎหมายฉบับอื่น ๆ ก็มักถูกนำมาใช้ด้วยถ้อยคำและการตีความที่คลุมเครือ เช่น กฎหมายที่ห้าม "การใช้เสรีภาพทางประชาธิปไตยไปในทางที่ละเมิดผลประโยชน์แห่งรัฐ สิทธิอันชอบธรรมและผลประโยชน์แห่งองค์กร และ/หรือประชาชน" โทษสูงสุดของการละเมิดกฎหมายนี้คือจำคุก 7 ปี ในช่วงปี 2553-2557 มีนักเคลื่อนไหวถูกจำคุกด้วยกฎหมายข้อนี้จำนวน 23 คน กฎหมายต่อต้านการโค่นล้มรัฐบาล มีโทษจำคุก 5-15 ปี ในปัจจุบันมีผู้ถูกจำคุกด้วยกฎหมายนี้อย่างน้อย 40 คน รวมถึงนักเคลื่อนไหว บล็อกเกอร์ และผู้นำทางศาสนาซึ่งโดนโทษจำคุกตลอดชีวิต ส่วนกฎหมายอีกข้อก็กำหนดห้ามการโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางและไม่มีความชัดเจน ไม่แยกแยะระหว่างการกิจกรรมที่สงบกับการใช้ความรุนแรง แต่กำหนดโทษจำคุก 3-20 ปี

ที่ผ่านมา หากไม่ใช่เรื่องการเมืองและเรื่องสิทธิมนุษยชนแล้ว ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะยังมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ มีเพียงเว็บไซต์และองค์กรสื่อที่ถูกดำเนินคดีและมีความระมัดระวังมากขึ้น แต่หากเป็นเรื่องการเมืองและสิทธิมนุษยชน นักเคลื่อนไหวเหล่านั้นจะต้องพบกับทั้งการดำเนินคดีทางกฎหมายหรือการข่มขู่ คุกคาม แม้กระทั่งการทำร้ายร่างกายโดยตำรวจหรือกลุ่มนักเลง มีการเรียกเข้าไปพบที่สถานีตำรวจหรือสอบสวนตามที่สาธารณะเช่นร้านกาแฟ

 

เว็บไซต์สื่ออย่าง Danh Lam Bao, Thanh Nhien และ Tuoi Tre ขึ้นมาเป็นแถวหน้าในการรายงานข่าวอย่างอิสระและนักข่าวพลเมืองก็ช่วยกันนำเสนอข่าวสืบสวนสอบสวนมากขึ้น ความนิยมแบบใหม่นี้มีผลต่อพฤติกรรมของสื่อกระแสหลักด้วย

ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว ตำรวจบุกสตูดิโอของเว็บไซต์ทีวีใต้ดินแห่งหนึ่งและจับพนักงานไป 7 คน

นอกจากนี้ บล็อกและเครือข่ายสังคมออนไลน์ของนักสิทธิมนุษยชนจะถูกโจมตีด้วย DDos หรือการปลดแอคเคาท์ของเจ้าของเว็บไซต์ เมื่อปี 2553 ผู้บริหารของกระทรวงความมั่นคงสาธารณะได้ประกาศต่อสื่อมวลชนว่าได้ทำลายเว็บเพจและบล็อกที่ไม่ดีไป 300 แห่งด้วยกัน

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีการโยกย้ายตำแหน่งสำคัญในพรรคคอมมิวนิสต์ของเวียดนาม แต่เลขาธิการพรรคยังคงเป็นนายเหงียน ฝู จ่อง ซึ่งมีแนวคิดอนุรักษ์นิยมอยู่เช่นเดิม มีนักวิชาการวิเคราะห์ไว้ว่า รัฐบาลกำลังอยู่บนทางสองแพร่ง ในด้านหนึ่ง รัฐบาลก็อยากจะรักษาความยิ่งใหญ่ของพรรคไว้ในระบบพรรคเดียว แต่ในอีกด้านก็ต้องการเปิดเพื่อให้มีการปฏิรูปสังคมในบางด้าน

อันที่จริง กฎหมายอาญาของเวียดนามได้มีการแก้ไขและจะมีผลในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ แต่สำหรับบล็อกเกอร์และนักเคลื่อนไหวแล้ว การแก้ไขนี้ออกจะไปในแนวทางที่เข้มงวดกว่าเดิมเสียมากกว่า อย่างน้อย กฎหมายเหล่านี้ได้เพิ่มข้อความว่า "การเตรียมการ" ที่จะกระทำผิดกฎหมายตามที่ระบุไว้นี้มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี

 

 

/////////////////

 

ผู้นำเสนอรายงานในที่ประชุม

กัมพูชา: Chhunly Chhay, Cambodian Center for Human Rights

อินโดนีเซีย: Damar Juniarto, SAFENET และ Widuri, ICT Watch Indonesia

ลาว: กุลชาดา ชัยพิพัฒน์ สมาคมเครือข่ายผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA)

มาเลเซีย: Gayathry Venkiteswaran, International Federation of Journalists (IFJ)

เมียนมาร์: Htaike Htaike Aung, Myanmar ICT for Development Organization

ฟิลิปปินส์: Liza Garcia, Foundation for Media Alternatives

สิงคโปร์: Ang Peng Hwa, Nanyang Technological University Singapore

ไทย: อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล เครือข่ายพลเมืองเน็ต มูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง

เวียดนาม: Anna Nguyen, Vietnamese Overseas Initiative for Conscience Empowerment