ศก.ซึม-ฟุบยาว แต่ข่าวอสังหาฯ แข่งขันเข้มข้น

นักข่าวสายอสังหาริมทรัพย์ ทำงานกันอย่างไร พวกเขานั่งที่ไหน หาข่าวจากไหน การแข่งขันเป็นอย่างไร ต้องทำข่าวเชียร์โครงการบ้านจัดสรร-คอนโดมีเนียม ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์หรือไม่ ต้องอ่าน จ้า

ปล.ใช้รูปประกอบคอนโดมีเนียมขนาดใหญ่-หรือรูปโครงการบ้านจัดสรร ที่ไม่ให้เห็นชื่อโครงการ

๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑

เจอกันบนแผง

โดย: Burj Khalifa

ศก.ซึม-ฟุบยาว

แต่ข่าวอสังหาฯ แข่งขันเข้มข้น

ข่าวอสังหาริมทรัพย์ / คมนาคม / พร็อพเพอร์ตี้ ฯลฯ แล้วแต่หนังสือพิมพ์-สำนักข่าวค่ายไหนจะเรียกชื่ออย่างไรหรือจัดไว้รวมในเซคชั่นไหน แต่โดยคร่าวแล้ว การทำข่าวสายนี้จะแยกเป็น 2 สายย่อย คล้ายกับข่าวเศรษฐกิจอื่นๆ คือ ข่าวภาครัฐ กับ ข่าวภาคเอกชน

หากเป็นภาครัฐ แน่นอนว่าแม่เหล็กใหญ่คือกระทรวงคมนาคม โดยเฉพาะยุคนี้ที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นพระเอกในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศ กระทรวงคมนาคมมีเรื่องราวสำคัญเกิดขึ้นเสมอ ทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า ทางด่วน สนามบิน ทำให้นักข่าวสายรัฐจะอยู่โยงเฝ้ากันที่กระทรวงคมนาคม ส่วนหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมที่ดิน

ด้านภาคเอกชน หลักๆ คือการทำข่าวความเคลื่นอไหวในวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ พัฒนาที่อยู่อาศัย ออฟฟิศ หอพัก โรงแรม ศูนย์การค้า บางครั้งลามไปถึงสนามกอล์ฟ สวนน้ำ สวนสนุก รวมถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์

นักข่าวอสังหาริมทรัพย์สายรัฐ แน่นอนว่าเซนส์ข่าวภาครัฐคือการตรวจสอบการทำงาน วางนโยบายอย่างไร ติดตามความคืบหน้า สืบเสาะงัดแงะความสมเหตุสมผลในการนำภาษีทุกสตางค์ไปใช้ประโยชน์ เป็น ‘หมาเฝ้าบ้าน’ (watchdog) โดยแท้ตามที่เราๆ ท่านๆ เรียนกันมา แข่งขันกันที่ความไวในการเสนอข่าวความคืบหน้าของรัฐได้ก่อนเพื่อน โดยเฉพาะประเด็นใหญ่ กลิ่นไม่ดีที่เกิดขึ้นหากตีแผ่ที่ไหนก่อนนั่นคือการเดินนำไป 1 ก้าว

ด้านนักข่าวสายเอกชน มองกันว่ามีความเป็นซอฟต์นิวส์ (soft news) มากกว่า และมีความหลากหลายของนักข่าวมากกว่า เพราะส่วนผสมมีทั้งนักข่าวเศรษฐกิจที่มุ่งประเด็นเรื่องนโยบาย มุมมอง กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของแต่ละบริษัท และนักข่าว/นักเขียนจากนิตยสาร เว็บไซต์ บล็อกเกอร์ ที่จะเน้นมุมมองคนอยู่อาศัยหรือนักลงทุนรายย่อย วิเคราะห์ความคุ้มค่าถ้าจะซื้อที่อยู่อาศัยนั้นๆ ทั้ง 2 กลุ่มรับรู้ประเด็นทั้งเชิงกลยุทธ์บริษัทและตัวสินค้า แต่อาจโฟกัสเนื้อหาที่จะนำเสนอต่างกัน

บริษัทอสังหาฯในไทย แค่เพียงบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีนับ 20-30 แห่ง แถมด้วยรายกลางรายเล็กอีกนับไม่ถ้วน แล้วการเกาะติดสถานการณ์ของสายเอกชนจะอยู่ที่ไหน?

คำตอบ เหมือนกับข่าวเศรษฐกิจภาคเอกชนทุกสายที่มองได้ 2แบบ คือภาพใหญ่ของทั้งภาคธุรกิจ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากนโยบายรัฐ เช่น กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายต่างๆ การแก้กฎหมายผังเมือง หรือผลกระทบจากเศรษฐกิจโดยรวม เช่น ปัญหาภัยแล้ง หรือการจับสังเกตอาการภาคธุรกิจ เช่น แบงก์มีอัตราปฏิเสธสินเชื่อสูง ปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย ทำเลฮอตที่ผู้ประกอบการแห่ลงทุน เมื่อมีประเด็นเกิดขึ้น นักข่าวทุกคนจะควานหานักธุรกิจมาช่วยวิเคราะห์สถานการณ์

ส่วนอีกมุมหนึ่ง คือ ภาพองค์กรธุรกิจ ซึ่งจะเน้นบริษัทขนาดใหญ่หรือเจ้าของบริษัทเป็น ‘บุคคลเด่น’ อาทิ ธุรกิจเครืออสังหาฯของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี, ค่ายแลนด์แอนด์เฮ้าส์, ค่ายแสนสิริ, ค่ายพฤกษา และบิ๊กแบรนด์ต่างๆ หรือเป็นความเคลื่อนไหวธุรกิจที่น่าสนใจ เช่น การควบรวมกิจการ การซื้อที่ดินราคาแพง ที่ดินแปลงใหญ่ เป็นอีกมุมข่าวที่ผู้อ่านสนใจ

เหล่านี้เป็นการทำข่าวเชิงรุก ซึ่งต้องสะกิดใจให้ทันว่ามีภาวะต่างๆ เกิดขึ้นในวงการ มีญาณรับรู้ถึงความกังวลของดีเวลอปเปอร์ และถ้าจะให้ดีที่สุดคือสนิทสนมกับผู้ประกอบการหรือผู้บริหารที่รู้ความเป็นไปในบริษัท และยอมเล่าความลับให้ฟังถึงความเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร

ส่วนข่าวเชิงรับก็เช่นเดียวกับนักข่าวสายอื่นๆ คือ ไปตามงานแถลงข่าว ไม่ว่าจะเป็นการแถลงแผนงานประจำปี แถลงผลประกอบการ เปิดตัวโครงการใหม่ ฯลฯ ข่าวเชิงรับประเด็นมักจะไม่หนีกันมาก แต่การแข่งขันจะเกิดขึ้นจากการช่วงชิงจังหวะซีฟ (exclusive) ผู้บริหาร ถ้าได้คำตอบเข้าเป้า ข่าวเชิงรับจะกลายเป็นข่าวเชิงรุกทันที

สรุปบรรยากาศการทำข่าวสายอสังหาฯ ฝ่ายเอกชน การแข่งขันค่อนข้างสูง ผลัดกันชนะและแพ้บนหน้าหนังสือพิมพ์ตลอดเวลา หากเป็นข่าวเชิงรับนักข่าวในวงการจะยอมแชร์ข้อมูลซึ่งกันและกัน อาจมีลอกข่าวบ้างในวันที่มีหมายข่าวหนาแน่น แต่ถ้าเป็นประเด็นเชิงรุกแปลว่า”เจอกันที่แผงหนังสือพรุ่งนี้”

ดังนั้น นักข่าวสายอสังหาริมทรัพย์ มักไม่มีที่นั่งประจำ มีบ้างที่จะไปเยี่ยมเยียนห้องนักข่าว ณ สยามพารากอน หรือออฟฟิศบางกอกพีอาร์ บนตึกเอ็มควอเทียร์ แต่ถ้ามีประเด็นเช็กข่าวส่วนตัวจะแยกย้ายกลับบ้าน โรงพิมพ์ หรือไปร้านกาแฟคนเดียว เพราะที่นี่ไม่มีใครยอมใคร หน้าจอคอมฯ จอมือถือ สมุดจดข่าว มีคนมองเสมอ

ภาพลักษณ์นักข่าวสายนี้ดูเป็นสายข่าวคุณภาพ มีการแข่งขันสูง และการลอกข่าว-แชร์ข่าวจะค่อนข้างน้อย

แน่นอนว่าทุกประเทศ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คือธุรกิจใหญ่ ที่มีเม็ดเงินลงทุน-หมุนเวียนจำนวนมาก เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ธุรกิจประเภทนี้ ก็เป็นธุรกิจซึ่งมีเม็ดเงินหมุนเวียนปีละกว่า 3.5 แสนล้านบาท มีนายทุนใหญ่ที่เป็นผู้เล่นสำคัญในเซกเตอร์นี้คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด55% ของทั้งหมด และจำนวนผู้เล่นที่เป็นบริษัทใหญ่ก็ดูท่าจะเพิ่มขึ้น เพราะมีการข้ามสายจากธุรกิจอื่นมาสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากขึ้นเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้นการสร้าง ‘แบรนด์’ ย่อมดุเดือด โดยเฉพาะบริษัทที่จับกลุ่มสินค้าตลาดบน มูลค่าบ้านหนึ่งหลังหรือคอนโดฯหนึ่งห้องแตะหลักสิบล้านร้อยล้าน เป็นราคาที่คนชนชั้นกลางถึงล่างเอื้อมไม่ถึง คนที่จะจ่ายเพื่อที่อยู่อาศัยราคานี้จึงเป็นชนชั้นสูงที่มีกำลังซื้อ จ่ายเท่าไหร่จ่ายได้แต่ถ้าจะจ่ายก็ต้องจ่ายให้กับทรัพย์สินที่ดูดี มีคุณค่า และชื่อเสียงเรียงนามสามารถประกาศให้คนในวงสังคมรู้ได้ว่า ตนมีที่อยู่อาศัยอยู่ในโครงการแบรนด์นั้นๆ

เป็นที่มาให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์หลายค่ายเทงบให้กับการประชาสัมพันธ์ ทั้งผ่านโฆษณา และผ่านสื่อมวลชน ที่เดาใจยากว่าจะลงข่าวให้หรือไม่ และพาดหัวข่าวที่ออกมาจะเป็นแบบไหน บวกหรือลบ สวยหรือเสีย

กระนั้น ก็มีเหมือนกันที่มีข่าวว่า บริษัทเอกชนบางแห่ง ก็พยายามจะสร้างความประทับใจแก่สื่อที่ไปทำข่าว  ตั้งแต่สถานที่จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ และการดูแลอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ รวมถึงการพยายามสร้างความประทับใจด้วยการมีของกำนัลให้  ซึ่งส่วนใหญ่แล้วของกำนัลพิเศษมักจะให้กันปีละครั้ง เช่น ในงานเลี้ยงขอบคุณสื่อ ที่มักมีการจับสลากแจกของรางวัล ของที่ให้เท่าที่ทราบ มีทั้งของที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ตัวอย่างเช่น  บัตรกำนัลร้านอาหาร กอล์ฟคอร์สนัยว่าเป็นการแจกเพื่อหวังผลให้นักข่าวได้รับรู้ประสบการณ์ของสินค้าและบริการในเครือบริษัท

และหลายครั้งเป็นของที่ไม่เกี่ยวข้อง มีตั้งแต่ราคาหลักร้อยประเภท พาวเวอร์แบงก์ แฟลชไดรฟ์ หรือของหลักพัน เช่น จักรยาน พอสร้างความสนุกสนานให้งาน จนถึงราคาขึ้นร่วมหลักหมื่นซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งโทรศัพท์มือถือ แทบเล็ต ที่ราคาสูงขนาดนี้แน่นอนว่าผิดจริยธรรมสื่อ แต่ใครจะรับหรือไม่รับก็สุดแล้วแต่ บางคนรับและนำไปใช้งานจริง บางคนรับแล้วขอส่งคืนให้ทีหลังเพื่อไม่ให้เจ้าภาพเสียหน้า บางคนทราบว่ามีการหย่อนชื่อจับสลากก็ขอไม่ลงชื่อแต่แรก เพื่อจะได้ไม่ตะขิดตะขวงใจภายหลัง ถือเป็นเรื่องน่าชื่นชม

แล้วด้วยความเป็นธุรกิจที่มีเงินลงทุนสูง การที่จะลงโฆษณาในสื่อแขนงต่างๆ หรือการสร้างสายสัมพันธ์กับผู้บริหารองค์กรสื่อ จึงเป็นกลยุทธ์ที่มีมานาน  ถ้าเป็นสปอนเซอร์เจ้าประจำ เนื้อที่ข่าวหรือบทสัมภาษณ์สร้างภาพลักษณ์และการพาดหัวข่าวในทางที่ดีก็อาจจะเกิดขึ้น หรือข่าวในทางเสียหายของบริษัท อาจถูกเก็บเงียบ หรือประเด็นใหญ่ถูกทำให้เล็ก ขณะที่ประเด็นเล็กถูกขยายให้ใหญ่ ซึ่งนักข่าวภาคสนามอาจได้แต่พยักหน้ารับคำตามนโยบายองค์กร เพราะในภาวะเศรษฐกิจตกสะเก็ด และนักข่าวเศรษฐกิจต่างทราบมุมมองจากนักธุรกิจดีว่า อนาคตข้างหน้ายังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้ชัดนัก ประกอบกับความนิยมในสื่อใหม่ทางโซเชียลมีเดีย ที่เข้าถึงคนได้มากขึ้นๆ ด้วยงบโฆษณาที่ลดลง สปอนเซอร์จึงไม่ได้ต่อคิวกันลงโฆษณาในสื่อหลักจนทุกองค์กรสามารถทำตัวหยิ่ง ช่างมันฉันไม่แคร์ ได้เหมือนสมัยเศรษฐกิจเฟื่องฟู

และนี้คือเรื่องราวของการทำข่าวในสายอสังหาริมทรัพย์ ที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อนว่าเพื่อนร่วมวิชาชีพของเรา มีรูปแบบการหาข่าวอย่างไร