เขื่อนธุรกิจ นสพ. ใกล้แตก “เนชั่น-มติชน” รัดเข็มชัดเอวกิ่ว

เขื่อนธุรกิจ นสพ. ใกล้แตก

“เนชั่น-มติชน” รัดเข็มชัดเอวกิ่ว

เรื่อง-พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์

 

นับถอยหลังอีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ ก็จะสิ้นปี 2559แล้ว สถานการณ์ธุรกิจสื่อแขนงต่างๆ ในปีหน้า  จะเป็นอย่างไร จุลสารราชดำเนิน ฉบับล่าสุด รายงานและประมวลสถานการณ์มาให้เห็นทิศทาง โดยเพจ จุลสารราชดำเนิน จะทยอยนำเนื้อหาในจุลสารฯ ที่มีมากมายหลายเรื่อง มานำเสนอเป็นระยะ

 

ปีเผาจริงของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์มาถึงแล้ว โดย “นิตยสาร” ชื่อดังหลายๆ หัวต่างโบกมือ บ้าย..บาย ลาแฟนๆ และลาแผงไปล่วงหน้า

ส่วน “หนังสือพิมพ์” แม้จะยังไม่มีหัวใดประกาศปิดตัวอย่างเป็นทางการ แต่สัญญาณต่างๆ ที่ออกมา มีแต่เรื่องที่เป็นด้านลบทั้งสิ้น !

โดยเฉพาะ “การรัดเข็มขัด” ของ 2 ค่าย นสพ.ยักษ์ใหญ่ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันอย่าง เมื่อ “เครือเนชั่น” (นสพ.เดอะเนชั่น นสพ.กรุงเทพธุรกิจ นสพ.คมชัดลึก) และ “เครือมติชน” (นสพ.มติชน นสพ.ประชาชาติธุรกิจ นสพ.ข่าวสด) ต่างประกาศ “โครงการสมัครใจลาออก (early retirement)” พร้อมๆ กัน ช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2559

 

กรณีเครือเนชั่น โครงการเออร์ลี่ฯ จะเน้นไปที่พนักงานซึ่งมีอายุงาน 6 ปีขึ้นไป โดยนอกจากเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ทางบริษัทยังจะจ่ายพิเศษเพิ่มเติมให้อีกจำนวนหนึ่ง

- อายุงาน 6-10 ปี ได้เงินชดเชย 8+2 เดือน
- อายุงาน 11-15 ปี ได้เงินชดเชย 10+3 เดือน
- อายุงาน 15-20 ปี ได้เงินชดเชย 10+5 เดือน
- อายุงาน 20+ ปี ได้เงินชดเชย 10+7 เดือน

อย่างไรก็ตาม ผลจากการประกาศโครงการเออร์ลี่ฯ อย่างกะทันหัน ทำให้เกิดกระแสข่าวลือโหมกระหน่ำว่า ผู้บริหารเครือเนชั่นจะ “จิ้มคนออก” โดยเฉพาะฝ่ายข่าว ที่ตั้งเป้าไว้อย่างน้อย 200 คน !

ทางผู้บริหารและตัวแทนสหภาพแรงงานของเครือเนชั่นจึงต้องออกมาชี้แจงทั้งผ่านช่องทางส่วนตัว และผ่านโซเชียลมีเดีย อาทิ เฟซบุ๊ก ไลน์ ฯลฯ ว่า โครงการเออร์ลี่ฯ เป็นส่วนหนึ่งในการ “ปรับโครงสร้างองค์กร” เพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยจะใช้ร่วมกับมาตรการอื่นๆ เช่น ยกเลิกการเช่าชั้นอาคารสำนักงาน ถึง 2 ชั้น , ยกเลิกการจ่ายเงินอุดหนุนค่าที่จอดรถให้กับพนักงาน ฯลฯ โดยยืนยันว่าจะไม่มีการเอาคนออกโดยไม่สมัครใจอย่างเด็ดขาด

 

ส่วนตัวเลข 200 คน เป็นเพียงการประเมินว่า จากจำนวนพนักงานเครือเนชั่นทั้งหมดกว่า 4,000 คน น่าจะมีคนขอเข้าร่วมโครงการเออร์ลี่ฯ ราว 5% หรือกว่า 200 คน

ทั้งนี้ เมื่อสิ้นสุดช่วงเวลาการแจ้งความจำนง ในวันที่ 31 สิงหาคม 2559 ปรากฎว่ามีผู้ขอเข้าร่วมโครงการ ER ทั้งสิ้น 145 คน โดยมีพนักงานของฝ่ายข่าวอยู่จำนวนไม่น้อย

ผลก็คือ ทำให้พนักงานฝ่ายข่าวที่ยังอยู่ต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อ “อุดช่องว่าง” ของคนที่ขาดหายไป เนื่องจากบริษัทไม่มีนโยบายในการรับคนเพิ่มเติม เช่น คอลัมนิสต์ต้องเขียนคอลัมน์มากขึ้น นักข่าว นสพ.ต้องไปทำเว็บไซต์ด้วย ช่างภาพต้องวิ่งรอกถ่ายคลิปเพิ่มเติม ฯลฯ กลายเป็นว่าแต่ละคนต้องทำ 2-3 ภารกิจเป็นอย่างน้อย

ซึ่งกรณีดังกล่าว ทำให้พนักงานฝ่ายข่าวของ “ค่ายบางนา” ที่ยังอยู่ รู้สึกกังวลว่าอาจกระทบกับการทำงานได้ ไม่เพียงเรื่องการต้องวิ่งรอกทำงานหลายอย่าง ยังรวมถึงกรณีที่คนซึ่งสมัครใจลาออกหลายคนเป็นคนมีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีแหล่งข่าวเชิงลึก ฯลฯ ซึ่งยากจะหาใครมาทดแทนได้ ขณะที่การสร้างคนใหม่ๆ ขึ้นมาทดแทนก็ต้องใช้เวลารออีกหลายปี

ด้านเครือมติชน ด้านโครงการเออร์ลี่ฯ จะเปิดกว้างมากกว่า โดยเปิดให้พนักงานที่มีอายุงานกี่ปีก็ได้สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ทั้งหมด โดยจะได้รับเงินชดเชยในอัตราดังนี้

- อายุงานไม่เกิน 3 ปี ได้เงินชดเชย 3 เดือน

- อายุงาน 3-6 ปี ได้เงินชดเชย 8 เดือน

- อายุงาน 6-10 ปี ได้เงินชดเชย 10 เดือน

- อายุงาน 10 ปีขึ้นไป ได้เงินชดเชย 12 เดือน

อย่างไรก็ตาม ก่อนถึงเด๊ดไลน์การยื่นแสดงความจำนง ในวันที่ 14 ตุลาคม 2559 ปรากฎว่ามีคนแสดงความจำนงสมัครใจลาออกน้อยกว่าที่ผู้บริหารตั้งเป้าไว้ จึงมีการตัดสินใจ “เลือกคนออก” โดยจะเน้นไปที่พนักงานที่มีอายุมากกว่า 55 ปี

ผลปรากฎว่า มีผู้ที่เข้าโครงการเออร์ลี่ฯ และถูกเลือกให้ออก รวม 170 คน จากพนักงานทั้งบริษัทกว่า 2,000 พันคน

ทั้งนี้ เครือมติชนก็มีนโยบายเช่นเดียวกับเครือเนชั่น คือจะยังไม่รับคนเพิ่มในช่วงเวลานี้ โดยมีการส่งจดหมายเวียนไปในบริษัทว่า หากหน่วยงานใดต้องการรับคนเพิ่ม ก็ต้องเขียนเหตุผลและความจำเป็น พร้อม job description อย่างละเอียด เสนอต่อคณะกรรมการ 3 ฝ่ายของบริษัท ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายบริหาร ฝ่ายจัดการทั่วไป และฝ่ายบัญชี เพื่อขอความอนุมัติ

นอกจากการลดคนแล้ว ผู้บริหารของบริษัทยังตัดสินใจรัดเข็มขัดด้วยรูปแบบอื่นๆ อาทิ ลดเงินเดือนที่ปรึกษาบริษัทลงราว 20% รวมถึงลดค่ารถ ค่าเวร ค่าโทรศัพท์ของพนักงาน ฯลฯ แม้จะยังไม่ถึงขั้นลดเงินเดือนของพนักงานลง แต่ก็ทำให้หลายๆ เกิดความหวาดหวั่นใจ จนบางคนบอกว่าขาดกำลังใจในการทำงาน เพราะคนรอบๆ ตัวต่างทยอยออกกันไปหมด

และแม้ “ค่ายประชาชื่น” จะประกาศนโยบาย moving forward เน้นการขึ้นสู่โลกออนไลน์ ตั้งแต่ต้นปี 2559 แต่การจัดโครงสร้างเพื่อหารายได้จากช่องทางอื่นๆ นอกจาก นสพ.ก็ยังไม่ชัดเจน เวลาเดียวกัน คนของฝ่ายทีวีก็ถูกให้ออกจำนวนมาก จนเหลือช่างภาพสตูดิโอเพียงคนเดียวเท่านั้น !

นอกจาก นสพ.หัวใหญ่ๆ ลองมาดูหัวเล็ก-หัวกลางกันบ้าง โดยเฉพาะ“นสพ.บ้านเมือง” ที่มีข่าวลือหนาหูว่าอาจปิดตัวลงในช่วงสิ้นปี 2559 ก็มีรายงานว่า แม้จะเอาพนักงานออกไปแล้วกว่า 20 คน รวมถึงลดรายจ่ายด้วยการปิดไฟ-ปิดแอร์ และให้คนในกองบรรณาธิการมารวมทำงานในห้องเดียวกัน แต่สถานการณ์ก็ยังลูกผีลูกคน จนกระทั่งสุดท้าย เมื่อ 30พ.ย.ที่ผ่านมา ก็มีการประกาศอย่างเป็นทางการ ว่าจะหยุดการผลิตหนังสือพิมพ์ ในวันที่ 1 ม.ค. 2560

นี่คือสถานการณ์ในแวดวง นสพ.ไทย ที่ผู้รู้หลายคนเคยประเมินว่า ลองได้มี นสพ.สักฉบับประกาศปิดตัว ก็มีโอกาสที่ฉบับอื่นๆ ประกาศปิดตัวตาม คล้ายกับเขื่อนแตก เพราะธุรกิจนี้ถือเป็น sunset industry ไปอย่างถาวรแล้ว หากทำต่อไปก็ไม่ต่างกับเผาเงินทิ้ง

 

 

ผลประกอบการหนังสือพิมพ์ ในปี 2558

- บริษัท วัชรพล จำกัด (นสพ.ไทยรัฐ) มีรายรับรวม 3,904 ล้านบาท (เทียบกับปีก่อน รายรับรวมลดลง 12.3%) กำไรสุทธิ 1,456 ล้านบาท (เทียบกับปีก่อน กำไรสุทธิลดลง 11.6%)

- บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) (นสพ.กีฬาและบันเทิงรวม 7 ฉบับ นำโดย นสพ.สยามกีฬา) มีรายรับรวม 1,783 ล้านบาท (ลดลง 13%) ขาดทุนสุทธิ 51 ล้านบาท (ขาดทุนสุทธิลดลง 57.1%)

- บริษัท โพสต์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) (นสพ.บางกอกโพสต์, นสพ.โพสต์ทูเดย์ และ นสพ.M2F) มีรายรับรวม 1,757 ล้านบาท (ลดลง 4.7%) ขาดทุนสุทธิ 253 ล้านบาท (ขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้น 75.2%)

- บริษัท สี่พระยาการพิมพ์ จำกัด (นสพ.เดลินิวส์) มีรายรับรวม 1,347 ล้านบาท (ลดลง 18%) กำไรสุทธิ 32 ล้านบาท (กำไรสุทธิลดลง 49.9%)

- บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) (นสพ.มติชน และ นสพ.ประชาชาติธุรกิจ) มีรายรับรวม 789 ล้านบาท (ลดลง 18.2%) ขาดทุนสุทธิ 87 ล้านบาท (ขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้น 319.4%)

- บริษัท กรุงเทพธุรกิจ มีเดีย จำกัด (นสพ.กรุงเทพธุรกิจ) มีรายรับรวม 660 ล้านบาท (ลดลง 4.3%) กำไรสุทธิ 51 ล้านบาท (กำไรสุทธิลดลง 12%)

- บริษัท คมชัดลึก มีเดีย จำกัด (นสพ.คมชัดลึก) มีรายรับรวม 398 ล้านบาท (ลดลง 20%) กำไรสุทธิ 5 ล้านบาท (กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 140.8%)

- บริษัท ข่าวสด จำกัด (นสพ.ข่าวสด) มีรายรับรวม 280 ล้านบาท (ลดลง 11.8%) ขาดทุนสุทธิ 3 ล้านบาท (ขาดทุนสุทธิลดลง 88%)

- บริษัท เนชั่น นิวส์ เน็ตเวิร์ค จำกัด (นสพ.เดอะเนชั่น) มีรายรับรวม 229 ล้านบาท (ลดลง 1.9%) กำไรสุทธิ 1 ล้านบาท (กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 108.6%)

- บริษัท เอเอสทีวีผู้จัดการ จำกัด (นสพ.ผู้จัดการ 360 องศา) มีรายรับรวม 177 ล้านบาท (ลดลง 15.6%) ขาดทุนสุทธิ 4 ล้านบาท (ขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้น 181.4%)

- บริษัท สยามรัฐ จำกัด (นสพ.สยามรัฐ) มีรายรับรวม 123 ล้านบาท (ลดลง 4.8%) ขาดทุนสุทธิ 25 ล้านบาท (ขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้น 17.9%)

- บริษัท หนังสือพิมพ์แนวหน้า จำกัด (นสพ.แนวหน้า) มีรายรับรวม 92 ล้านบาท (ลดลง 19.1%) ขาดทุนสุทธิ 5 ล้านบาท (ขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้น 573.9%)

- บริษัท สารสู่อนาคต จำกัด (นสพ.ไทยโพสต์) มีรายรับรวม 74 ล้านบาท (ลดลง 11.9%) กำไรสุทธิ 3 ล้านบาท (กำไรสุทธิลดลง 33.9%)

- บริษัท บูรพาทัศน์ (1999) จำกัด (นสพ.ข่าวหุ้น) มีรายรับรวม 54 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 14.1%) กำไรสุทธิ 2 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 39.6%)

- บริษัท ซิงเซียนเยอะเป้า จำกัด (นสพ.ซิงเซียนเยอะเป้า) มีรายรับรวม 53 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1.9%) ขาดทุนสุทธิ 9 ล้านบาท (ขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้น 11.3%)

- บริษัท ทันหุ้น จำกัด (นสพ.ทันหุ้น) มีรายรับรวม 44 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 29.2%) กำไรสุทธิ 2 ล้านบาท (กำไรสุทธิลดลง 11.8%)

- บริษัท นวกิจบ้านเมือง จำกัด (นสพ.บ้านเมือง) มีรายรับรวม 44 ล้านบาท (ลดลง 16%) ขาดทุนสุทธิ 18 ล้านบาท (ขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้น 134.8%)

- บริษัท โลกวันนี้ จำกัด (นสพ.โลกวันนี้) มีรายรับรวม 4 ล้านบาท (ลดลง 78.1%) ขาดทุนสุทธิ 4 ล้านบาท (ขาดทุนสุทธิลดลง 15.8%)