*****คงเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันไม่รู้จบไปอีกนานแสนนานว่าอะไรสำคัญกว่ากันระหว่างเสรีภาพของสื่อมวลชนที่ควบคุมกันเองโดยรัฐไม่เข้ามาคุกคามหรือแทรกแซง กับเรื่องการนำเสนอข่าวโดยปราศจากความรับผิดชอบ ถึงขั้นกุข่าวสร้างข่าวเท็จ นำมาซึ่งความเกลียดชังและความรุนแรงในสังคมดังที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่างพยายามหาหนทางแก้ปัญหาเรื้อรังนี้ รวมทั้งเร่งยกระดับสื่อให้กลับมาเข้าร่องเข้ารอยอีกครั้ง ทำหน้าที่ตัวเองให้สมบทบาทโดยเฉพาะในเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคมและการยึดมั่นในจริยธรรมการทำงานรับใช้ประชาชน
*****ความขัดแย้งนี้เห็นได้ชัดมากเมื่อ กลุ่มเอ็นจีโอด้านสื่ออย่างฟรีดอมเฮาส์และกลุ่มนักข่าวไร้พรมแดน ยังคงทำหน้าที่ตรวจสอบเสรีภาพสื่อในประเทศต่างๆทั่วโลกตามเกณฑ์ที่ตัวเองกำหนดไว้ ในปีนี้ กลุ่มฟรีดอมเฮาส์ ได้แถลงในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกประจำปี 2560 ถึงผลการสำรวจสถานการณ์สื่อใน 199 ประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2559 แสดงความวิตกว่า เสรีภาพสื่อโลกตกต่ำที่สุดในรอบ 13 ปีเมื่อถูกคุกคามจากรัฐบาลทั้งที่เป็นประชาธิปไตยและเผด็จการ โดยเฉพาะการปฏิเสธบทบาทของสื่อในการเป็นผู้ตรวจสอบตามแบบดั้งเดิม และอาจจะเป็นครั้งแรกที่ฟรีดอมเฮาส์ได้วิจารณ์เสรีภาพสื่อในแดนดินถิ่นอินทรีผยอง รวมไปถึงการวิพากษ์ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งประกาศทำสงครามกับสื่อทุกรูปแบบในฐานะที่เป็น”ศัตรูของประชาชน”
*****ฟรีดอมเฮาส์ยังได้จัดอันดับประเทศต่างๆว่าสื่อมีเสรีภาพมากน้อยแค่ไหน สำหรับไทยแลนด์แดนแค่นยิ้มนั้นจัดอยู่ในกลบุ่มประเทศที่สื่อไม่มีเสรีภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่สุดมีด้วยกันถึง 45 เปอร์เซนต์ของประเทศทีทำการสำรวจ สถานะนี้คล้ายคลึงกับการจัดทำดัชนีชี้วัดเสรีภาพสื่อโลกปี 2560 ของกลุ่มผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ที่ไทยอยู่ในอันดับที่ 142 จาก 180 ประเทศ ตกมา 6อันดับจากปีที่แล้ว โดยมีคะแนนตามหลังพม่า กัมพูชาและอินโดนีเซีย
*****แต่สิ่งหนึ่งที่องค์กรพันธมิตรสื่อเหล่านี้หมกเม็ดไว้ก็คือไม่ได้บอกว่าตัวตั้งในการพิจารณาเสรีภาพของสื่อไทยก็คือม.112 และเน้นไปที่สื่อออนไลน์
***** ห้วงเดียวกัน กลุ่มพันธมิตรอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับโลกในและกลุ่มนักวิชาการอย่าง เฟซบุ๊ก,เวิลด์ไวด์เว็บ (www.) ,เครกส์ลิสท์ ,มูลนิธิฟอร์ด โมซิลลา ต่างแสดงความวิตกที่สื่อทั้งกระแสหลักและสื่อออนไลน์กลับเป็นต้นตอของการสร้างข่าวเท็จ ข่าวลวงโลกหรือข่าวกุต่างๆเองจนแทบไม่เหลือคำว่าจริยธรรมของสื่ออีกต่อไป ก่อนจะประกาศจับมือทำสงครามกับกระแสข่าวกุ ข่าวปล่อยข่าวลวงโลก ภายใต้ข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นว่าเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เริ่มด้วยการลงขัน14 ล้านดอลลาร์สำหรับเป็นทุนสนับสนุนให้คนที่ใช้งานเว็บไซต์ ไม่ว่าจะเป็นบล็อกเกอร์ ทวิตเตอร์ โพสต์รูป วิดีโอ รวมถึงผู้ใช้เว็บเพจ ช่วยกันหาวิธีทำให้เว็บไซต์เป็นเครื่องมือเข้าถึงโอกาสและความเท่าเทียม นอกเหนือจากร่วมมือกับบริษัทผู้ให้บริการ เพิ่มความเป็นธรรมให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสามารถเลือกรับข้อมูลได้มากขึ้นแทนที่จะถูกยัดเยียดดังเช่นในขณะนี้ ตลอดจนเรียกร้องให้มีการกำกับดูแลที่เข้มงวดในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและการโฆษณาทางการเมืองที่ไร้จริยธรรมด้วย
***** ความร่วมมือกลุ่มพันธมิตรอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับโลกและกลุ่มนักวิชาการ กลับตาลปัตรกับสิ่งที่รัฐบาลเมืองเบียร์เยอรมนีกำลังทำอยู่ ด้วยการจะเพิ่มโทษปรับสูงถึง 50 ล้านยูโร (ราว 1,850 ล้านบาท ) หากยักษ์ใหญ่ในวงการสื่อโซเชียลมีเดียไม่สามารถลบทิ้งข้อความ หรือวาทกรรมที่สร้างความเกลียดชัง และข่าวกุ ข่าวลวงโลกต่างๆที่มีคนมาโพสต์ภายใน 1 สัปดาห์นับจากได้รับแจ้ง
******ข่าวนี้มีขึ้นขณะที่กลุ่มผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนจวกหน่วยข่าวกรองเยอรมนี (บีเอ็นดี) ว่าละเมิดเสรีภาพสื่อด้วยการดักฟังนักข่าวหลายสำนักอย่างบีบีซี นิวยอร์กไทม์ส รอยเตอร์ และ สื่ออื่นๆมาตั้งแต่ปี 2542 ถึงขนาดจัดทำบัญชีหมายเลขโทรศัพท์และหมายเลขแฟ็กซ์อย่างน้อยกว่า 50 หมายเลข นอกเหนือจากอีเมล์แอดเดรสของนักข่าวที่มีชื่ออยู่ในบัญชีลับ
***** อับอายไปทั้งวงการ เมื่อเว็บไซต์วิกิพีเดีย ภาษาอังกฤษ สารานุกรมออนไลน์ชื่อดัง ได้ออกแถลงการณ์ ประกาศงดอ้างอิงข้อมูลจาก “เดลี เมล์” หนังสือพิมพ์แทบลอยด์ และเว็บไซต์ชื่อดังของอังกฤษอีกต่อไป เนื่องจากชอบเต้าข่าวจนไม่มีความน่าเชื่อถือ ขณะที่เว็บไซต์วิกิพีเดียยังมีแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากกว่าอยู่ อย่าง “รัสเซียทูเดย์” สื่อที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลรัสเซีย รวมไปถึงสื่ออย่าง “ฟ็อกซ์นิวส์” สื่อสายขวาจัดของสหรัฐ |