ภูมิทัศน์สื่อ

 

ภูมิทัศน์สื่อ

โดย  กองบรรณาธิการ

.........................................

สังคมเปลี่ยน สื่อเปลี่ยน

หลักสูตรนิเทศศาสตร์-วารสารฯ

สอนยังไง ไม่ให้จบแล้วเตะฝุ่น

ช่วง1-2 ปี ที่ผ่านมา ข่าวเรื่องมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน ที่เปิดสอนด้านการสื่อสารมวลชน ซึ่งหลายสิบปีที่ผ่านมา ได้ผลิตนักสื่อสารมวลชนแขนงต่างๆ  ออกมารุ่นแล้วรุ่นเล่า ต้องปรับหลักสูตร การเรียนการสอนกันใหม่ หลังภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนสื่อกระแสหลักเริ่มถูกลดบทบาทไป กลายเป็นว่าทุกวันนี้ ประชาชนคนธรรมดา ก็สามารถกลายเป็น”ผู้ส่งสาร”ได้ โดยผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ไม่ใช่แค่”ผู้รับสาร”แบบในอดีต ขณะเดียวกัน ก็เริ่มพบว่า”อาชีพสื่อสารมวลชน” โดยเฉพาะ”นักข่าว”กำลังเป็นอาชีพที่เริ่มมีความไม่มั่นคง มากที่สุดอาชีพหนึ่งในยุคปัจจุบัน จนทำให้ ดูเหมือนช่วงหลัง คนที่คิดจะเรียนด้านการสื่อสารมวลชน กำลังมีแนวโน้มลดลง

 

คนข่าวจากหลายสำนัก ที่เป็นศิษย์เก่าของสถาบันการศึกษาทั้งรัฐ-เอกชน ร่วมกันนำเสนอรายงานเพื่อชี้ให้เห็นถึงสภาพ หลักสูตรนิเทศศาสตร์-สื่อสารมวลชน-วารสารศาสตร์ฯในยุคปัจจุบัน ผ่าน“จุลสารราชดำเนิน” ที่จะทำให้ได้รับรู้สภาพการศึกษา การเรียนการสอนหลักสูตรด้านการสื่อสารมวลชนในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

...................................................

 

วารสารฯธรรมศาสตร์

จะไม่ยุบสาขานสพ.-สิ่งพิมพ์

โดย สุธิดา ปล้องพุดซา

เริ่มที่ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” พบว่า คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังเป็นคณะยอดนิยมอันดับต้นๆ ของเด็กรุ่นใหม่ผู้ใฝ่ฝันอยากเข้าวงการสื่อ ปัจจุบันคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ใช้หลักสูตรวารสารศาสตรบัณฑิต ที่ปรับปรุงเมื่อปี 2556 จำนวนหน่วยกิตตลอดหลักสูตร 132 หน่วยกิต รับนักศึกษาเข้าเรียนปีละ 200 คน แบ่งเป็น 6 กลุ่มสาขาให้นักศึกษาได้เลือกเรียน ประกอบด้วย 1.สาขาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ 2.สาขาบริหารการสื่อสาร 3.สาขาวิทยุและโทรทัศน์ 4.สาขาประชาสัมพันธ์ 5.สาขาโฆษณา และ6.สาขาภาพยนตร์และภาพถ่าย

หลักสูตรปัจจุบันเน้นวิธีการเรียนการสอนโดยการฝึกปฏิบัติเพื่อเสริมทักษะให้กับนักศึกษาด้านการเขียนการพูดและการนำเสนอต่อสาธารณะ และนักศึกษาทุกคนจะต้องเรียนวิชาบังคับของคณะ 2 วิชา คือ วิชาความรู้เบื้องต้นทางการสื่อสาร และวิชาทฤษฎีการสื่อสาร

“รองศาสตราจารย์พรทิพย์ สัมปัตตะวนิช คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน” เล่าว่า เป้าหมายการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรีของคณะ คือ เน้นให้มีคุณสมบัติ 3 ข้อ ได้แก่ 1.การเป็นคนเฉลียวฉลาด รู้เท่าทันข้อมูลที่มีอยู่มากมายประกอบกับสื่อที่มีความหลากหลาย ดังนั้นสื่อต้องมีความเฉลียวฉลาดในการใช้ข้อมูล 2.ต้องมีจินตนาการ สามารถนำข้อมูลมาร้อยเรียงแล้วทำให้เกิดผลงาน และ 3.Socially concern คือ เป็นนักสื่อสารที่คำนึงและมีความห่วงใยต่อสังคมเป็นหลัก เพราะฉะนั้นทุกวิชาที่แยกตามสาขา จะมีการพัฒนาองค์ความรู้ และทักษะไปพร้อมๆกับกิจกรรมที่ทำให้เกิดประโยชน์กับสังคม

“ยืนยันว่า คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังมีความนิยม และมีการแข่งขันการสอบเข้าสูงเช่นเดิมทั้งหลักสูตรภาคภาษาไทยและหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษ คณะของเรามีอัตลักษณ์ค่อนข้างชัดเจนตามอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยในเรื่องของมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน

ดังนั้นลักษณะของหลักสูตรก็จะมีเอกลักษณ์ เพราะจะมีที่นี่แห่งเดียวเท่านั้นที่ใช้ชื่อคณะว่า คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ซึ่งอยากให้เข้าใจว่าเป็นหลักสูตรที่เป็น Journalism เป็นเรื่องของการทำเนื้อหาและข่าว ฉะนั้นนี่คือแก่นที่มาของคณะ จากแก่นตรงนี้ ทำให้ความนิยมของคณะยังคงอยู่  อีกทั้งหลักสูตรยังได้ผสมผสานความเป็นสื่อเข้ากับเทคโนโลยีด้วย"รองศาสตราจารย์พรทิพย์ กล่าว

“คณบดีคณะวารสารศาสตร์ฯ ธรรมศาสตร์”บอกอีกว่า สาขาที่ได้รับความนิยมจากนักศึกษาในขณะนี้คือ สาขาวิทยุและโทรทัศน์ และสาขาโฆษณา ขณะที่สาขาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ จำนวนนักศึกษาที่เลือกเรียนมีอยู่ร้อยละ 10 ของจำนวนนักศึกษาในคณะทั้งหมด

 

จากสถานการณ์สื่อที่เปลี่ยนไปโดยเฉพาะสิ่งพิมพ์ที่มีบทบาทน้อยลงและโลกโซเชียลมีเดียมีบทบาทมากขึ้น ทำให้คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน กำลัง “ปรับปรุงหลักสูตรใหม่” ซึ่งขณะนี้ปรับหลักสูตรได้ร้อยละ 70 แล้ว อยู่ในขั้นตอนที่จะสรุปครั้งสุดท้าย เพื่อนำไปใช้ในปีการศึกษา 2561 โดยปรับวิชาให้ทันสมัยมากขึ้น เพิ่มวิชาใหม่เข้ามา และถอดบางวิชาออกไป โดยการปรับหลักสูตรมาจากผลการวิจัยทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงและความต้องการของตลาดแรงงาน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสื่อ โดยจะมีวิชาใหม่ๆเกิดขึ้น

"สาขาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์จะเน้นสอนการทำเนื้อหามากขึ้น ยอมรับว่า Platform ของสื่ออาจจะเปลี่ยนแปลงไปแต่วิธีการเขียน หลักการทำข่าว และความเป็นวารสาร (Journalism) จะเป็นศาสตร์ที่ยังคงอยู่ ไม่ได้หายไปจากโลกใบนี้ เพียงแต่ว่า มีการเปลี่ยน Platform เราก็ต้องมีการเปลี่ยนรูปแบบหรือสไตล์ และการเขียนเนื้อหาจะเน้นหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับสังคมเพิ่มขึ้น”

เช่น การเขียนเพื่อชุมชนหรือการเขียนเพื่อสุขภาพ โดยจะจับในเรื่องของประเด็นเป็นหลักมากขึ้น เพื่อให้คนเข้าใจกันมากขึ้น ว่าสาขาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ ไม่ใช่การทำเฉพาะหนังสือพิมพ์เท่านั้น แต่การใช้ชื่อสาขาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ถือเป็นการเคารพ เพราะในอดีต หนังสือพิมพ์เป็นสื่อแรกที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ดังนั้น เมื่อสถานการณ์ของสื่อเปลี่ยนแปลงไป ก็ต้องมีการปรับหลักสูตร

...ดังนั้น ยืนยันว่า คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนจะไม่ยุบสาขาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์อย่างแน่นอน แต่จะทำให้เกิดความชัดเจนในด้านของศาสตร์ความเป็น Journalism มากขึ้น

...ที่ผ่านมาคณะวารสารศาสตรและสื่อสารมวลชนได้สำรวจการประกอบอาชีพของบัณฑิตอย่างสม่ำเสมอ แล้วพบว่า ร้อยละ 90 ของบัณฑิตที่จบการศึกษาจากคณะได้ทำงานที่ตรงกับสาขาอาชีพ ซึ่งความพิเศษของนักข่าวที่จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ รู้จักคิดวิเคราะห์ข้อมูล เป็นคนลุย ไม่เกี่ยงงาน พร้อมที่จะทำงานหนักเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่มีคุณภาพ และมีจริยธรรม จรรยาบรรณของความเป็นสื่อ เพราะเป็นหลักสูตรที่อยู่เรียนรู้ทางด้านสื่อโดยตรง

"ที่ใครๆชอบพูดว่า ใครก็ตามสามารถมาเป็นสื่อได้ ขอเถียงว่า ไม่จริง เพราะต้องเป็นคนที่มีทัศนคติ มีวิสัยทัศน์ มีความชอบและมีใจจดจ่อที่จะเป็นสื่อ จึงจะเป็นสื่อที่ดีได้ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนหล่อหลอมนักศึกษามาถึง 4 ปีจะไม่เหมือนกับคนที่จบคณะอื่นแล้วมาทำงานสื่อ จริงอยู่ที่ว่าคนที่จบจากคณะอื่นก็อาจจะมีความรู้ในด้านอื่นๆตามที่เรียนมา แต่จะต่างกันที่วิธีคิดของคนเป็นสื่อ" รองศาสตราจารย์พรทิพย์ กล่าว

“คณบดีคณะวารสารศาสตร์ฯ ธรรมศาสตร์”กล่าวต่อไปว่า ความเป็นสื่อนั้นมีพลังอย่างมาก และหลักสูตรของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนเป็นกึ่งวิชาการและวิชาชีพที่มีความตื่นเต้นและทันสมัยอยู่เสมอและมีชีวิตชีวา เนื่องจากสื่อเปลี่ยนแปลงและสามารถออกมาเป็นชิ้นงานที่คนมองเห็น จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หลายคนสนใจ ในฐานะคณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ฝากถึงสื่อในปัจจุบันว่า “ทุกวิชาชีพจะมีจรรยาบรรณของตัวเองอยู่ ดังนั้นอยากให้มีความรักในอาชีพของตนเอง ทุกคนย่อมไม่อยากให้ใครมาดูถูกอาชีพของตนเอง”

...ขณะนี้วงการสื่อกำลังอยู่ในห้วงของการตบให้เข้าที่เข้าทาง ยอมรับว่ามันเป๋ไปเยอะมาก ด้วยเรื่องของสถานการณ์และการแข่งขันที่เกิดขึ้นมากมาย จึงฝากให้สื่อทุกคนรักในอาชีพของเรา และทุกครั้งที่ทำอะไรก็ขอให้คำหนึ่งว่าเราจะทำหน้าที่หน้าที่ของเราให้ดีที่สุด

ทั้งนี้ หลักสูตรของกลุ่มวิชาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ในปัจจุบัน มีวิชาบังคับ 6 วิชา คือ วิชาการรายงานข่าวขั้นสูง การถ่ายภาพ การเขียนบทบรรณาธิการและบทความ การบรรณาธิกรณ์หนังสือพิมพ์ เทคโนโลยีการพิมพ์และการออกแบบจัดหน้าสิ่งพิมพ์ ฝึกงานหนังสือพิมพ์ภายในมหาวิทยาลัย

นอกจากนี้มีวิชาบังคับเลือก ได้แก่ วิชาการถ่ายภาพวารสารศาสตร์ วิชาวารสารศาสตร์กับการเปลี่ยนแปลงของสังคม วิชาสิ่งพิมพ์ชุมชน วิชาการบรรณาธิกรณ์ต้นฉบับภาษาต่างประเทศสำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ วิชาการบริหารสำนักพิมพ์ วิชาสิ่งพิมพ์อิเล็คทรอนิกส์ วิชาการเขียนสารคดี วิชาการวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน วิชาการเขียนสารคดีขั้นสูง วิชาทักษะบรรณาธิการ วิชาการบริหารหนังสือพิมพ์และนิตยสาร วิชาการบรรณาธิกรณ์และการจัดทำนิตยสาร วิชาการสัมมนาวิชาชีพหนังสือพิมพ์ และวิชาหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น

แต่หลังจากปรับปรุงใหม่เพื่อรองรับเป็นหลักสูตรของปีการศึกษา 2561 แล้วรูปแบบจะออกมาเป็นอย่างไร ก็ต้องติดตามกันต่อไป

....................................................

 

Journalism ยังไม่ตาย

โดย ศิษย์เก่า รั้วจามจุรี

ด้าน”จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ซึ่งระยะหลัง นักข่าว-กองบรรณาธิการข่าว ที่จบจาก คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ดูจะเริ่มลดน้อยลง แล้วความเป็นไปของการเรียนการสอนของคณะนิเทศศาสตร์เป็นอย่างไร

เรื่องนี้” ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ระบุว่า ในแง่จำนวนอาจารย์ที่สอนในภาควิชานั้นยังคงที่ไม่ได้ลดลงหรือเพิ่มมากขึ้นโดยปัจจุบันมีอาจารย์ประจำทั้งหมด 7 คน แต่ยังมีอัตราว่าง 1 อัตรา ที่อยู่ระหว่างการคัดสรรอาจารย์ที่ตรงกับความต้องการของหลักสูตรที่จะเปลี่ยนแปลงไปเพิ่มเติม

...อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคณะไม่มีปัญหาขาดแคลนอาจารย์จนต้องยืมตัวผู้สอนจากมหาวิทยาลัยอื่น จะมีก็คือในส่วนของอาจารย์พิเศษที่มีประสบการณ์การทำงานจริง ซึ่งทางภาควิชาได้เชิญมาสอนเพื่อให้เข้ากับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่เกี่ยวกับเรื่องประเด็นอาจารย์น้อย ในขณะที่อาจารย์ของจุฬาฯ ก็ได้รับเชิญให้ไปสอนที่มหาวิทยาลัยอื่นบ้าง แต่ก็ไม่เยอะมากส่วนใหญ่จะทุ่มเททำงานในจุฬาฯ

สำหรับจำนวนนิสิตที่เรียนภาควิชาวารสารสนเทศเป็นวิชาเอกนั้น แต่ละปีจะมีประมาณไม่เกิน 20 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากแต่ก่อนด้วยการเปิดรับตรงก่อนสมัครเข้ามหาวิทยาลัยจำนวน 10 คน หลังจากที่จำนวนนิสิตที่เลือกเรียนด้านนี้ลดน้อยลงเรื่อยๆ ในอดีตเมื่อรวมกับนิสิตที่เลือกภาควิชาเอกในช่วงขึ้น ปี 3 ก็จะทำให้ภาควิชามีนิสิตประมาณ 20 คน

....สัดส่วนนิสิตที่เลือกภาควิชาวารสารสนเทศเป็นวิชาโท ในปัจจุบันเพิ่มมากขึ้นจากในอดีต ตกประมาณ 30 คน เช่น นิสิต ที่อาจจะเลือกเรียนภาค โฆษณา ประชาสัมพันธ์ ซึ่งจบไปทำงานอุตสาหกรรมอาจมีรายได้มากกว่าเป็นนักข่าว แต่เขาก็ตัดสินใจเลือกเรียนวิชาโทด้านนี้ เพราะต้องการ “เขียนเป็น” ก็จะมาเลือกเรียนกับเรา การเขียนเป็นในที่นี้ไม่ได้หมายถึง เขียนก็อปปี้ไรเตอร์ แต่เป็นการเขียนที่มี “คอนเทนต์” เขียนบนอินฟอร์เมชั่นเบส

 

“ดังนั้น สัดส่วนอาจารย์ 7 คน ​ต่อจำนวนนิสิตทั้งวิชาเอกวิชาโทรวมประมาณ 50 คนก็คือว่าพอเพียงในเชิงปริมาณ แต่ในเชิงศักยภาพเรายังขาดบุคลากรทาด้านดาต้า อินฟอร์เมชั่น เอาบิ๊กดาต้ามาใช้ ค่อนข้างมาก ซึ่งแม้แต่ในอุตสาหกรรมนี้เองคนที่เล่นเรื่องดาต้าเจอร์นอลิซึมเองก็ยังมีน้อยไม่ค่อยมีใครรู้จัก ซึ่งเราอยากได้บุคลากรเพิ่มด้านนี้เพื่อสอดรับกับหลักสูตรที่จะปรับเปลี่ยนในอนาคต”

หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ ระบุว่า สำหรับหลักสูตรใหม่มีการวางแผนว่าจะปรับเปลี่ยนกันในอี 2-3 ปี ข้างหน้านี้ โดยแบ่งเป็น 2 แทร็ค คือ เจอร์นอลิซึม และสื่อใหม่ เน้นด้าต้า อัลกอริธึม วิชวลไลซ์ นิวมีเดีย โดยจากเดิมเด็กจะเข้าภาคตอนปี 3 ก็จะปรับมาเรียนวิชาพื้นฐานเพียงแค่ปีครึ่งและเข้าภาควิชาตอนปี 2 เทอมสอง

 

ในส่วนของสื่อใหม่เวลานี้ก็เร่ิมมีการปรับเปลี่ยนและสอดแทรกสอนไปบางส่วนในขณะนี้ ด้วยการร่วมมือกับทั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาสถิติ คระพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ไปจนถึงการร่วมมือกับบริษัททั้งข้างนอกที่ทำเรื่องนี้ ทั้งบริษัท บุญมีแล็บ ที่ทำเรื่องดาต้า และวิชวลไซเซชั่น บริษัทเวิร์คพอยต์ ซึ่งในสว่นที่ร่วมมือกับทางภาคตวิชาสถิติฯ ก็เร่ิมตั้งแต่ปีที่แล้ว ทางนิเทศจะเป็นคนกำหนดประเด็นให้ทางภาควิชาสถิติไปเก็บรวบรวมข้อมูลก่อนจะกลับมาเป็นเป็นข่าว

“แต่แทร็คเดิมคือเจอร์นอลิซึม ตรงนี้ยังทิ้งไม่ได้ เพราะมีคำถามเรื่องจะไปทางสื่อใหม่เพียวเลยได้ไหม ก็ยังงงกันอยู่เรายังเชื่อว่าเจอร์นอลิซึมยังไงก็ต้องเป็นคอร์ เพียงแต่ต้องย้ายแพลตฟอร์ม ไปออนไลน์ ผสมผสานสื่อใหม่ ​เริ่มต้นอาจจะต้องถ่างขา​ทั้งเรื่องเจอร์นอลิซึม และต้องรู้บริบทออนไลน์ดวย โซเชียลเน็ตเวิร์ค เพจ พฤติกรรม ผู้รับสาร คอนเทนแบบไหน เข้าถึงคนอ่านได้ ​ต้องเป็นคอนเทนต์โพ โพรไวเดอร์”

 

ผศ.พิจิตรา ขยายความเพิ่มเติมว่า สื่อใหม่เป็นแค่แพลตฟอร์ม แต่เจอร์นอลิซึมเป็นทักษะ ​การใช้สื่อใหม่เพื่อมาช่วยให้ทำงานง่ายขึ้นเข้าถึงคนอ่าน ถ้าไม่รู้ธรรมชาติของมันว่า คนชอบอ่านข่าวแบบไหนต่อให้ข่าวดีแค่ไหนอ่านไป 3 บรรทัดก็เลิกอ่านหรือ หากไม่เข้าใจกลไกโซเชียลสิ่งที่เสนอไปก็จะไปซุกอยู่ ไมถูกอ่าน ตรงนี้เป็นเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจ

“คนชอบถามเจอร์นอลิซึมจะตายไหม ส่วนตัวเชื่อไม่ตาย แค่เปลี่ยนแพลตฟอร์ม ไปๆมามา ข้อมู​ลเชิงข้อเท็จจริง และมีข้อมูลซัพพอร์ทจะมีมูลค่า ที่โลกออนไลน์ต้องการมาก 2 อย่างที่สร้างไวรัลได้ สไตล์การเขียน วิธีการเล่าเรื่อง ความเป็นดรามา และสองคือข้อมูลที่เป็นแฟคซึ่งมีมีมูลค่า ​ส่วนตัวคิดว่าเจอร์นอลิซึมไม่ตายแต่ต้องใช้สกิล​เราไม่ได้สอนเด็กไปอยู่องคก์กรข่าวเหมือนแต่ก่อน แต่เป็นคอนเทนต์โพรไวเดอร์ให้ข้อมเท็จริงสังคม” ผศ.พิจิตรา กล่าว

.......................................

 

พัฒนาหลักสูตร

ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

โดย ธนัชพงศ์ คงสาย

 

ขณะที่”คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์”พบว่า ปัจจุบัน เป็นอีกมหาวิทยาลัยที่เร่งปรับหลักสูตรให้สอดคล้องทันกับสถานกาณ์ความเปลี่ยนแปลงในโลกการสื่อสาร เพื่อให้”บัณฑิตย์”ที่จบคณะนิเทศศาสตร์ ติดอาวุธทางปัญญาและผลักดันศักยภาพของตัวเองให้ครบเครื่องมากที่สุด เมื่อจบจากรั้วมหาวิทยาลัยออกไป

จากเดิมสาขา “สื่อสารมวลชน” เป็นสาขาหลักของแต่ละสถาบัน ที่เปิดสอนด้านนิเทศศาสตร์ แต่สำหรับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สาขาการสื่อสารมวลชนได้ปรับเปลี่ยนตั้งแต่ปี 2536 ที่ผ่านมาได้ผ่านการพัฒนาปรับสาขาครั้งใหญ่มาแล้วถึง 3 ครั้ง จากการก่อตั้งช่วงแรก มีเพียงสาขา “การสื่อสารมวลชน” และสาขา “นิเทศศาสตร์ธุรกิจ” ต่อมามีการแตกย่อยเพิ่มออกมาเป็นสาขา “วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์” สาขา “วารสารศาสตร์” สาขา “การสื่อสารการตลาด” แล้วตามมาด้วยสาขา“การโฆษณา” สาขา “การประชาสัมพันธ์” และสาขา “ภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล”

จากนั้นในปี 2558 เริ่มมีการปรับสาขาครั้งใหญ่อีกครั้งให้ทันต่อความต้องการของตลาด โดยเฉพาะสาขา “วารสารศาสตร์” พบว่ามียอดของนักศึกษาเรียนน้อยลง จึงต้องปรับหลักสูตรเพื่อเน้นไปที่การผลิตสื่อดิจิทัล ซึ่งมีความต้องการจากสถานประกอบการสูงมากขึ้นแทน ซึ่งปัจจุบันนี้ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดรับนักศึกษาใหม่ 4 สาขา ประกอบด้วย 1.สาขาการสื่อสารการตลาดดิจิทัล 2.สาขาสื่อดิจิทัลและการสร้างสรรค์ 3.สาขาภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล และ4.สาขาการสื่อสารการแสดงดิจิทัล แต่เรื่องสำคัญในหลักวิชาการสื่อสารมวลชนและการทำข่าว ยังคงสอดแทรกอยู่ในรายวิชาที่สาขาต่างๆ ที่นักศึกษาได้เรียนอยู่

“อาจารย์กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ “มองว่า สภาพปัญหาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากในวงการสื่อ ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดน่าเป็นเรื่องทิศทางขาลงของทีวีดิจิทัล ซึ่งทำให้นักศึกษาและคนในวงการต่างเริ่มผันตัวเองไปจับเรื่องออนไลน์แทน ทำให้คณาจารย์ในสาขาวิทยุโทรทัศน์ หรือการสื่อสารมวลชนเดิม ต้องเร่งพัฒนาตนเองในด้านดิจิทัลให้มากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลง

“คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์”กล่าวต่อว่า วงการการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ช่วงนี้ จะสังเกตได้ว่ามีการเปลี่ยนชื่อสาขา เพิ่มสาขาใหม่กันเกือบทุกสามปี ซึ่งคนส่วนมากจะมองแต่เรื่องการเปลี่ยนชื่อหลักสูตร หรือชื่อวิชา แต่ในมุมมองของนักการศึกษา จะมองเรื่องพัฒนา “บุคลากร” เป็นหลัก เพราะหากอาจารย์หรือครูผู้สอนมีการอัพเดทตัวเองอย่างต่อเนื่อง มีความเร็วเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง และอยู่ในองค์กรที่เน้นเรื่องการเรียนรู้เสียแล้ว ไม่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไร ชื่อสาขาจะเป็นสาขาอะไร อาจารย์ก็จะยังตามทัน และสามารถถ่ายทอดให้นักศึกษาได้ก้าวไปก่อนการเปลี่ยนแปลง “ก้าวหนึ่ง” เสมอ

 

“อาจารย์กอบกิจ” เผยว่า ในส่วนของความนิยมในการเลือกเรียนสาขาต่างๆนั้น สาขาที่เป็นที่นิยมจากทั้งตลาดแรงงานและนักศึกษาสมัครเรียนมากที่สุดของคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ คือ สาขาภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล โดยมียอดนักศึกษาเรียนใน 4 ชั้นปีรวมเกินกว่า 1,300 คน โดยถือเป็นสาขาที่นักศึกษาให้ความนิยมสมัครเรียนสูงสุดของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งสาเหตุที่สาขานี้เป็นที่นิยมก็มาจากความต้องการของภาคธุรกิจเองที่ต้องการนักศึกษาในสาขานี้ไปทำงานในองค์กรในยุคที่ทักษะการเล่าเรื่องผ่านคลิป ทักษะการถ่ายทำคลิปวีดีโอเป็นที่ต้องการกว่าทักษะการเขียน

“ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ นักศึกษานิเทศศาสตร์ในปัจจุบันมีคนมาติดต่อให้ทำงานด้านดิจิทัลมากขึ้นตั้งแต่ก่อนเรียนจบ เช่น จ้างดูแลทำสื่อใน facebook fanpage จ้างทำคลิป หรือ จ้างไปดูแลสื่อออนไลน์ของบริษัท ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การเติบโตของโลกดิจิทัล ทำให้ตลาดการสื่อสารการตลาดดิจิทัล การทำสื่อดิจิทัล งานโปรดักชั่นคลิปภาพยนตร์สั้น โตขึ้นตาม เพราะในสื่อโซเชียลขององค์กรต่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่ต้องการเนื้อหาประเภทคลิปวีดีโอ หรือรายการสั้นต่างๆ”อาจารย์กอบกิจ ระบุ

ส่วนคำถามที่ว่า ถ้ามีคนเรียนสื่อสารมวลชน สื่อสิ่งพิมพ์หรือวารสารฯ น้อยลงแล้วสถาบันการศึกษาต้องทำอย่างไร “อาจารย์กอบกิจ” เชื่อว่า น่าจะมีคำตอบในตัวเองอยู่แล้วว่า จริงๆ ไม่ได้มีคนเรียนน้อยลง หากแต่คนเรียนได้มุ่งไปสนใจในด้านการทำสื่อดิจิทัล โดยเฉพาะการทำหนังสั้น การดูแล facebook fanpage ทำการสื่อสารการตลาดออนไลน์มากขึ้น สถาบันการศึกษาจึงต้องตามให้ทันด้วยการเตรียมหลักสูตรใหม่ให้ทันต่อโลก ถ้าจะเรียกว่าเป็นการยุบภาควิชาจึงไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องคือต้องเรียกว่าพัฒนาหลักสูตรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงต่างหาก นักศึกษาที่เรียนจบไปเล่าให้ฟังว่า เดี๋ยวนี้เวลาสัมภาษณ์งาน คำถามที่ผู้ประกอบการถามคือ มีทักษะการทำคิดวางแผนและสร้างสรรค์เนื้อหาในสื่อออนไลน์ได้ไหม ทำ facebook live ในช่องขององค์กรได้หรือไม หรือสามารถถ่ายหนังสั้นและตัดต่อด่วนลงเพจได้หรือไม่

“ทั้งหมดนี้เป็นงานในโลกออนไลน์ และมีอีกเป็นจำนวนมากที่เอาทักษะนิเทศศาสตร์ดิจิทัลไปทำธุรกิจออนไลน์ เป็นผู้ประกอบการออนไลน์ ซึ่งตรงนี้ก็กลับมาที่ว่า หากเรามั่นใจในคุณค่าและทักษะที่แท้จริงของศาสตร์ด้านนิเทศศาสตร์เราจะไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง เพราะศาสตร์ด้านการสื่อสารไม่มีวันตายอยู่แล้ว ขอแค่ว่าต้องลืมคำว่า นักข่าวแบบเดิมๆเพียงแต่ตามโลกดิจิทัลให้ทันก็พอ”อาจารย์กอบกิจ ระบุ

อาจารย์กอบกิจ มองด้วยว่า สำหรับการปรับตัว ในคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ทุกคน ล้วนเข้าใจความเปลี่ยนแปลงใหญ่ในนิเวศสื่อยุคนี้ดี เราเห็นการถ่ายทอดสดที่แต่เดิมต้องใช้เงินหลายล้านบาทต่อครั้ง ถูกทดแทนด้วย Facebook Live เราเห็นสื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่ลดลง ซึ่งทุกคนพยายามทำออนไลน์เสริม อาจารย์ของคณะก็ไปเข้าคอร์สอบรมด้านออนไลน์ในต่างประเทศ ทำงานใกล้ชิดกับภาคธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มที่มาแรงอย่างพวกบริษัทเอเยนซีออนไลน์ สื่งเดียวที่พยายามบอกกันคือ “อย่าช้า”

“เคยยกตัวอย่างให้ฟังกันในคณะฯ ว่า ในอดีตเวลาข้าศึกหรือศัตรูจะปิดล้อมเมือง ไม่ว่ากรณีการสังหารหมู่นานกิงที่จีนหรือ กรณีกรุงศรีอยุธยาแตก หลายคนพยายามคิดในแง่ดี ไม่ยอมรีบหนี เพราะโดนอคติแห่งความผูกพันถิ่นเดิมบังตาเช่นเดียวกัน หนังสือพิมพ์และนิตยสารน่าจะกำลังตาย แทนที่จะก้าวไปยังโลกดิจิทัลหรือโลกใหม่แบบเต็มตัว ส่วนมากยังละล้าละลังกันทั้งสองทาง ซึ่งไม่เป็นผลดี เพราะงบประมาณจะถูกกระจายออก จนไม่สามารถโฟกัสอะไรได้เลย”

ดังนั้น สำหรับคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ทั้ง 4 สาขาในปัจจุบันของเรา เรามุ่งดิจิทัลทั้งหมด เป็นคำตอบสุดท้ายเวลานี้

...........................................

 

ยุบภาควิชาวารสารฯ

ทุกมหาวิทยาลัยมีโอกาสเกิดขึ้นได้

โดย  ประพันธ์ จินดาเลิศอุดมดี

ปิดท้ายด้วยอีกหนึ่งมหาวิทยาลัยเอกชน คือ “มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย”

แนวทางการปรับตัวของคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้รับการเปิดเผยจาก”ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย”ที่ตอบคำถามของเราที่ว่าสภาพการณ์สื่อสารมวลชนยุคปัจจุบันที่บทบาทสื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ น้อยลงจนส่งผลต่อการเลือกเรียนคณะนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์หรือไม่

โดย “ดร.มานะ”ย้ำว่า คณะนิเทศศาสตร์ไม่ได้มีแค่หนังสือพิมพ์ คนที่เข้ามาเรียนคณะนิเทศศาสตร์นั้นแต่ละคนอาจจะมีความสนใจที่แตกต่างกันไปบางคนอาจจะอยากทำวิทยุโทรทัศน์ แต่บางคนอาจจะอยากทำภาพยนตร์ ซึ่งเดิมคณะนิเทศศาสตร์จะแบ่งสาขาหลักๆ ออกเป็น วารสารศาสตร์ วิทยุโทรทัศน์ ประชาสัมพันธ์ และโฆษณา ต่อมาจึงมีการขยายเพิ่มเป็นสาขาภาพยนตร์ การแสดง ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยจะแตกต่างกันไป

 

“ดร.มานะ”กล่าวต่อไปว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เริ่มมีออนไลน์ขึ้น ตัวนักข่าวเองก็เริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ตัวหลักสูตรการเรียนการสอนก็เริ่มที่จะมีการปรับตาม

เพราะจะเห็นได้ว่า บทบาทของหนังสือพิมพ์ ยอดคนอ่าน และโฆษณาที่เข้ามานั้นปรับตัวลดลงไป แทบทุกมหาวิทยาลัยจึงต้องปรับหลักสูตรตาม ดังนั้น วารสารศาสตร์แม้ว่าจะเป็นกลุ่มวิชา แต่จะไม่จำกัดอยู่แค่หนังสือพิมพ์อีกแล้ว แต่จะรวมไปถึงในส่วนของออนไลน์และวิทยุโทรทัศน์ด้วย ขึ้นอยู่กับแต่ละมหาวิทยาลัยว่าจะเรียกว่าอะไร เช่น วารสารดิจิทัล หรือวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์

“คนส่วนใหญ่วันนี้มองว่าสื่อสิ่งพิมพ์เล็กลง พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่เองหลังๆ มานี้แม้แต่นิตยสารก็ไม่อ่านแล้ว เพราะไปอ่านในออนไลน์แทน เด็กสมัยนี้ก็เลยอาจจะไม่อยากเรียนสื่อสิ่งพิมพ์เหมือนกับสมัยก่อน ในขณะที่ยอดของเด็กที่เลือกเรียนสาขาวิทยุโทรทัศน์ยังคงมีเยอะอยู่ เพราะบางคนก็อยากที่จะเป็นแบบไอดอลที่เห็นในทีวี”

...​มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยปรับตัวมาตั้งแต่ปี 2554-2555 แล้ว โดยเห็นจากเทรนด์ของเทคโนโลยีต่างๆ จึงมีการจัดกลุ่มวิชาสาขาต่างๆ ใหม่ แบ่งเป็นกลุ่มวิชาเอกวารสารศาสตร์ดิจิทัล กลุ่มวิชาเอกการกระจายเสียงและแพร่ภาพ กลุ่มวิชาเอกการประชาสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ กลุ่มวิชาเอกการโฆษณา กลุ่มวิชาเอกการสร้างสรรค์และออกแบบสื่อ และกลุ่มวิชาภาพยนตร์ดิจิทัล

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบทั้งหมดแล้ว คนที่มาเรียนวารสารศาสตร์ก็ยังถือว่าน้อยลงกว่ากลุ่มวิชาอื่นอย่างเห็นได้ชัด เรียกว่าลดลงกว่า 50% จากเดิมที่มีอยู่ ซึ่งเราพยายามอธิบายกับเด็กที่จะเข้ามาว่า วารสารศาสตร์ดิจิทัลนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่หนังสือพิมพ์อีกต่อไปแล้ว แต่จะมีการฝึกในเรื่องของการสร้างคอนเทนท์ด้วย ซึ่งการสร้างคอนเทนท์นี้จะไปอยู่ในงานของวิทยุโทรทัศน์ก็ได้ ออนไลน์ก็ได้ หรือแม้แต่การสร้างเกมส์ก็ได้ โดยเราจะเน้นเรื่องของการสร้างคอนเทนท์เป็นหลัก ซึ่งในอนาคตก็ยังคิดว่า เนื้อหาแก่นวิชาต่างๆ นั้นยังคงต้องมีการสอนต่อไป เพียงแต่อาจจะไม่เรียกชื่อเดิมแล้วเท่านั้นเอง

​“ดร.มานะ”บอกว่า ถ้าหากคนยังเลือกเรียนน้อยลงไปกว่านี้อีกก็คงเพราะความเข้าใจของคน ซึ่งต้องเน้นทำความเข้าใจกับคนเป็นหลัก หรืออาจจะต้องให้ความรู้กับเด็กที่เรียนวิทยุโทรทัศน์มากขึ้น ไม่ใช่เน้นแค่วาไรตี้หรือบันเทิงเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องรู้จักวิธีการนำเสนอในเชิงสาระด้วย เพราะวันนี้คนที่ทำวิทยุโทรทัศน์ก็ไม่ได้ทำแค่โทรทัศน์แล้ว แต่รวมไปถึงสื่อใหม่ต่างๆ ด้วย

“เรื่องการยุบภาควิชาวารสารศาสตร์นั้น ทุกมหาวิทยาลัยมีโอกาสเกิดขึ้นได้ การจะยุบหรือรวมเป็นเรื่องปกติ แต่จะทำอย่างไรให้คนที่มาเรียนยังได้แก่นของวารสารศาสตร์อยู่ การหาข้อมูลและข้อเท็จจริง ความสมดุลของข่าว การสัมภาษณ์ทำอย่างไร ยังต้องมีอยู่ แต่อาจจะไปอยู่ในรายวิชาของสาขาอื่นๆ แทน”ดร.มานะกล่าวทิ้งท้าย

.....................

 

1.ไว้ในส่วนของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ที่ใครๆชอบพูดว่า ใครก็สามารถมาเป็นสื่อได้ ขอเถียงว่า ไม่จริง เพราะต้องเป็นคนที่มีทัศนคติ มีวิสัยทัศน์ มีความชอบและมีใจจดจ่อที่จะเป็นสื่อ จึงจะเป็นสื่อที่ดีได้ ..จริงอยู่ที่ว่าคนที่จบจากคณะอื่นก็อาจจะมีความรู้ในด้านอื่นๆตามที่เรียนมา แต่จะต่างกันที่วิธีคิดของคนเป็นสื่อ