ชีวิต คนข่าว ยุคธุรกิจสื่อฟุบ ค่าตอบแทน-ความหวัง-ข้อเรียกร้อง

 

 

 

ข้อเรียกร้องที่ “นักข่าวภาคสนาม” ต่างตอบไปในทิศทางเดียวกันด้วยเสียงส่วนใหญ่ ต้องการให้องค์กรสร้างมาตรฐานการช่วยเหลือค่าครองชีพของพนักงาน ที่ปรับและสอดคล้องกับราคาค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้น             เพื่อให้พวกเขามี “เงิน” ที่ไปใช้ชีวิตได้ไม่ลำบาก พอมี พอเก็บ และเลี้ยงครอบครัวได้ รวมถึงมีแรงที่จะทำงาน “ข่าว” อย่างมีคุณภาพ เพื่อองค์กรและเพื่อผู้อ่าน ได้ต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ            ไม่ใช่ ทำงานไปวันๆ เพื่อรอรับเงินค่าตอบแทน ตอนสิ้นเดือนเท่านั้น!


ยุคนี้ใครๆ ก็กล่าวขานว่าเป็น ยุคไทยแลนด์ 4.0 ยุคเทคโนโลยี และ เป็นยุคที่ “สื่อสารมวลชน” ต้องปรับตัวให้อยู่รอด ในภาวะที่ธุรกิจสื่อ เจอกับ สภาพเศรษฐกิจ ที่ซบเซา ต่อเนื่องเพราะหากไม่ปรับตัว หรือ เปลี่ยนแปลง นั่นหมายความว่า บทอวสานของ อาชีพที่รัก นั้นก็จะมาถึงเร็วกว่าจะถึงเวลาอันสมควร

แต่มีสิ่งหนึ่งที่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ไม่พบปรากฎการณ์เปลี่ยนแปลง คือ “เงินเดือน” ของวิชาชีพสื่อมวลชนแรกเข้า

เหตุที่ยึดตัวเลขที่ 3 ปี เพราะ นโยบายรัฐบาล – ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (เริ่มใช้1มกราคม2557) ประกาศเป็นมาตรการภาคบังคับ (กฎหมาย) ให้ หน่วยงานราชการ และบริษัทเอกชน รวมถึงรัฐวิสาหกิจ ต้องปรับฐานเงินเดือนให้พนักงานแรกเข้า-ขั้นต่ำ ให้เป็น 15,000 บาท

แม้ “โรงงานผลิตข่าว” บางแห่งอิดออด ไม่ยอมขึ้นเงินเดือนให้ตามมาตรการบังคับ แต่ในที่สุดก็ต้องปรับ เพราะภาวะจำยอม จากพิษเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่แพงขึ้นเท่าตัว และพนักงาน-ลูกจ้าง แทบจะเลี้ยงตัวเองได้ลำบาก

จากวันนั้น ถึงวันนี้ ทีมจุลสารราชดำเนิน ออกตลาด ลงสำรวจ ค่าตอบแทนนักข่าวภาคสนามอีกครั้ง เพื่อสุ่มถาม ถึง อัตราค่าตอบแทน และ การปรับตัวเอง เพื่อให้อยู่รอด ในภาวะขาลงของ “องค์กรสื่อฯ”

คำตอบที่ได้รับ คือ จนถึงนาที ยังมี บางองค์กรสื่อ ที่พนักงานได้รับค่าแรงขั้นต่ำ ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท!!!

อย่าง องค์กรข่าวประเภทสิ่งพิมพ์ “แนวหน้า”ย่านถนนวิภาวดีรังสิต   ที่จ่ายเงินเดือนให้นักข่าวที่มีประสบการณ์ผ่านงานมาแล้ว 2 ปี ในอัตรา 12,000 บาทต่อเดือน และแม้จะมีค่าทำงานล่วงเวลา (เฉพาะวันหยุดนักขัตฤกษ์), ค่าเบี้ยเลี้ยงทำงานต่างจังหวัด หรือ ค่าข่าวออนไลน์ ,แต่ นักข่าวต้องประหยัดสุดตัว ลำพังเงินที่ได้ต่อเดือนพอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองเท่านั้น

ส่วน “หนังสือพิมพ์เดลินิวส์” ที่ตั้งเกณฑ์เงินเดือนแรกเข้าต่ำกว่ามาตรฐาน ไป 3,000 บาท แต่หากใครที่มีประสบการณ์จะหมดปัญหาเพราะเขาเพิ่มค่าประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในสายข่าวให้ และเมื่อผ่านเป็นพนักงานของสำนักข่าวบานเย็นแล้ว สิ่งที่ได้รับตอบแทนนั้น เรียกว่า ดีต่อใจ เพราะนอกจากค่าตอบแทนพื้นฐาน ค่าโทรศัพท์, รถบริการ, ค่าเบี้ยเลี้ยงแล้ว ยังจะได้รับ โบนัส ปีละ2ครั้ง ทุกปี!!

ข้ามฟากมาที่ หนังสือพิมพ์ ย่านประชาชื่น ทั้ง “นสพ.มติชน “ และ “นสพ.ข่าวสด” พ่วงด้วย “นสพ.ประชาชาติธุรกิจ” ที่ให้เงินเดือนๆ ละ 15,000 บาท แต่รายละเอียดจะถูกจำแนกตามวิธีทางบัญชีของออฟฟิส นอกจากเงินเดือนแล้ว ยังได้รับค่ารถ เฉลี่ยสัปดาห์ละ 1,000 บาท, มีโทรศัพท์ให้ใช้ฟรี รวมถึงมีสวัสดิการพื้นฐาน ทั้ง ประกันหมู่ หรือประกันชีวิต

ขณะที่องค์กรยักษ์ใหญ่ฟากของ นสพ. อย่าง “ไทยรัฐ” ที่จ่ายค่าตอบแทนส่วนเงินเดือนตามมาตรฐานขั้นต่ำ หากใครเข้าทำงานและมีประสบการณ์จะพ่วงส่วนประสบการณ์ไปด้วย ทั้งนี้การปรับขึ้นเงินเดือนจะมีเกณฑ์พิจารณาทุกปี นอกจากนั้นสวัสดิการของ ไทยรัฐ ก็ไม่แพ้กับองค์กรข่าวอื่น ทั้ง ให้ซิมโทรศัพท์, มีรถบริการรับส่ง, มีเงินค่าล่วงเวลา มีเบี้ยเลี้ยงทำงานต่างจังหวัด  และวันส่งท้ายปีเก่า  ต้อนรับปีใหม่ นายใหญ่ของยักษ์เขียว จะจัดงานเลี้ยงเพื่อเรียกขวัญกำลังใจและขอบคุณพนักงานทุกคนที่ทำงานหนักมาตลอดทั้งปี ส่งท้ายด้วยโบนัสหรูๆ อีกคนละไม่ต่ำกว่า 1 เดือน

ถัดมาที่ “หนังสือพิมพ์เครือโพสต์พับลิชิ่ง”คือ โพสต์ทูเดย์และBangkokpost ถือว่ามีภาษีดีสุดในบรรดาสื่อหนังสือพิมพ์ เพราะนอกจากให้เงินเดือนขั้นต่ำตามกฎหมายแล้ว ยังให้ทั้งค่าเดินทางต่อเดือนขั้นต่ำ 6,000 บาทสำหรับนักข่าวภาคสนาม และปรับขึ้นตามอัตรการราคาน้ำมัน มีบริการหนังสือพิมพ์ออนไลน์ให้พนักงานได้อ่าน, มีค่าโทรศัพท์ค่าอินเตอร์เน็ตให้ และมีคลีนิคพิเศษไว้สำหรับรักษาอาการเจ็บป่วยของพนักงาน มีหมอจากโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำมาประจำทุกวัน

ขณะที่”เครือเนชั่น” ยังคงรักษาฐานเงินเดือนให้พนักงาน ที่มาตรฐานขั้นต่ำ มีค่ารถให้ ขั้นต่ำ 5,000 บาทต่อเดือนและจะปรับขึ้นตามอัตราราคาน้ำมัน, มีค่าโทรศัพท์ 2,200 บาทต่อเดือน

โดยในส่วนของสื่อครบวงจรอย่าง”เครือเนชั่น”ที่มีธุรกิจสื่อทั้งทีวีดิจิตอล-หนังสือพิมพ์รายวัน ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ –วิทยุ-เว็บไซด์ข่าว หลังก่อนหน้านี้มีการเปิดโครงการ เออรี่รีไทร์ ไปแล้วเกือบ 3 รอบ มีการใช้เงินเพื่อนำไปจ่ายค่าชดเชยจำนวนไม่น้อย ขณะเดียวกัน สื่อบางอย่างในเครือ ก็มีการปรับเปลี่ยน –ยุติการผลิต เช่น การปิดนิตยสาร”เนชั่นสุดสัปดาห์” รวมถึงการปรับโครงสร้าง ผู้บริหารระดับสูงในองค์กร

สำหรับ”นักข่าว-กองบก.เครือเนชั่น”มีสภาพชีวิตอย่างไรในรอบปี2560  ทีมข่าว จุลสารราชดำเนิน ได้พูดคุยกับ “นักข่าวภาคสนามในกระทรวงเศรษฐกิจ เครือเนชั่น” คนหนึ่ง ที่เล่าให้เราฟังว่า ในช่วงที่ผ่านมา เครือเนชั่น นอกจากประสบภาวะขาดทุน จนมีการเปิดโครงการเออรี่รีไทร์ ซึ่งก็คนในกองบก. ตั้งแต่ระดับ บก.ข่าว-หัวหน้าข่าว-หัวหน้าโต๊ะ เข้าโครงการกันจำนวนมาก ซึ่งนอกจากต้องเสียบุคลากรที่มีฝีมือจำนวนมากแล้ว ทางเครือเนชั่น ก็ต้องนำเงินมาใช้ในโครงการจำนวนมากพอสมควร จึงทำให้รอบปีที่ผ่านมา ก็มีการใช้มาตรการประหยัดค่าใช้จ่ายพอสมควร ทั้งเรื่อง การยังไม่เปิดรับสมัครคนใหม่ แต่ใช้วิธีการโยกคนจากส่วนอื่น เช่น คนที่เคยทำทีวีช่อง Nowมาทำงานในส่วนของกองบก.ที่ขาดคน หรืออย่างหนังสือพิมพ์ในเครือเนชั่น บางหน้า บางคอลัมน์ ที่คนซึ่งเคยรับผิดชอบ ลาออกไป ก็ใช้วิธีการนำคอนเทนต์จากส่วนอื่นเช่นของเนชั่นทีวี ที่เป็นบทสัมภาษณ์พิเศษ ของเนชั่นทีวี มาใส่ไว้

“ปีที่แล้ว เครือเนชั่นไม่ได้มีการให้โบนัสกับพนักงาน แต่สำหรับปี 2560คงต้องรอดูฝ่ายบริหารจะว่าอย่างไรต่อไป แต่สื่อในเครือเช่น หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ทราบมาว่า คนที่รับผิดชอบ ก็ได้บอกกับคนที่ยังอยู่ว่า พนักงาน กองบก. นักข่าว จะได้รับการดูแลจากบริษัทต่อไป โดยจะมีการพิจารณาตามความเหมาะสม เช่น การปรับขึ้นเงินเดือน ให้กับพนักงานบางส่วน ที่เข้ามาในช่วง 2-3ปีก่อนหน้านี้แล้วไม่ได้รับการปรับขึ้นเงินเดือน ปี 2561  ก็อาจจะมีการปรับขึ้นให้  รวมถึงอาจมีความเป็นไปได้ ที่อาจจะมีการรับคนเพิ่มในส่วนที่ขาดไปแล้วมีความจำเป็นต้องรับจริงๆ เพราะตอนนี้ นักข่าวในเครือเนชั่น ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพธุรกิจ คมชัดลึก สำนักข่าวเนชั่น บางหน่วยงาน ก็ไม่มีนักข่าวประจำอยู่เลย ทั้งที่บางหน่วยมีความสำคัญมาก ซึ่งหากไม่สามารถโยกจากส่วนอื่นไปได้ แล้วคนโหลด ก็จำเป็นที่จะต้องมีการเปิดรับสมัคร”

“นักข่าวสายเศรษฐกิจเครือเนชั่น”คนเดิม บอกเล่าต่อไปว่าภาพรวมแล้ว แม้บริษัทอาจมีปัญหาขาดทุน มีคนลาออกไปเยอะ แต่สำหรับคนที่มีอยู่ บางคน อาจต้องมีงานเพิ่มมากขึ้น แต่ในเรื่องรายได้ สวัสดิการต่างๆ ก็ยังอยู่ครบ ไม่ได้มีการปรับลด ซึ่งนักข่าว –กองบก.เครือเนชั่น ที่มีอยู่ ก็ยังเชื่อว่า ปี 2561 หลายอย่างน่าจะดีขึ้น เมื่อมีการปรับโครงสร้าง การบริหารจัดการของกองบก.แต่ละส่วน ที่น่าจะนิ่งแล้วในปี 2561 ตรงนี้ก็น่าจะส่งผลตามมาในทางบวก กับพนักงานขององค์กร

“เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ รายได้ สวัสดิการ ในช่วง 2.-3 ปีที่ผ่านมา ที่เศรษฐกิจมีปัญหา ธุรกิจสื่อก็ไม่ค่อยดี สำหรับเราแล้ว ไม่ค่อยได้รับผลกระทบอะไรมาก เพราะทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิมกับตอนที่เข้ามาทำงานในเครือเนชั่นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เงินเดือนก็ยังได้ตรงตามเวลา ไม่ได้มีการหักลดอะไรทั้งค่าโทรศัพท์ ค่ารถ

ส่วนตัว ไม่คิดอยากจะเรียกร้องอะไร ทั้งจากบริษัทและจากองค์กรวิชาชีพสื่อ เพราะนักข่าวแต่ละคนเขาก็ต้องดูแลตัวเองให้อยู่ได้ แต่สิ่งที่เป็นห่วงมากกว่าคือ สภาพการทำข่าวในยุคปัจจุบัน ที่ต้องยอมรับว่า การแข่งขันเพื่อทำข่าว ลดน้อยลง มีการลอกข่าว ก็อปปี้ข่าวกันมากขึ้น “เป็นความเห็นของนักข่าวภาคสนามเครือเนชั่นสายเศรษฐกิจคนหนึ่ง

ส่วน”ค่ายบ้านพระอาทิตย์-เครือผู้จัดการ” ที่ยังคงให้เงินเดือนพนักงานที่อยู่ ตามอัตราขั้นต่ำ และสวัสดิการ อาทิ ค่าโทรศัพท์ แต่ด้วยภาวะที่องค์กร เจอมรสุมลูกใหญ่กว่าใครเพื่อน ทำให้การจ่ายเงินเดือนตอนนี้ไม่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ แต่จะทยอยจ่ายให้เพียง 65 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน

ขณะที่องค์กรสื่อฯ ภาคของโทรทัศน์ และวิทยุนั้น แม้จะเจอพิษจะกระหน่ำไม่แพ้กับ สื่อหนังสือพิมพ์ แต่ส่วนใหญ่ยังคง อัตราการจ่ายตามเกณฑ์ขั้นต่ำ และปรับเพิ่มตามค่าประสบการณ์  นอกจากนั้นในทุกๆ ปีจะถูกประเมินเพื่อขึ้นเงินเดือนให้ แต่ก็ไม่มากนัก

ยกตัวอย่างที่ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จ่ายค่าตอบแทน พนักงานข่าวภาคสนามที่มีประสบการณ์งาน 3 ปี เดือนละ 17,000 บาท , มีค่าโทรศัพท์ 1,500 บาทต่อเดือน, นอกจากนั้นยังมีค่าทำงานล่วงเวลา, ค่าทำงานของคนขยัน (ตอกบัตรก่อนเวลา 06.00น.)  และมีรถข่าวบริการจากสถานีไปยังสถานที่ทำข่าว

นอกจากนั้นแล้วประจำทุกปี พนักงานจะได้รับการประเมินผลงานเพื่อปรับเงินเดือน ส่วนการสนับสนุนการทำงานนั้น  สำหรับนักข่าวภาคสนามที่ถูกเลือก จะได้ ไอแพด ไว้ทำงาน ขณะที่ด้านสุขภาพ และร่างกายนั้น ไทยพีบีเอส มีสถานที่ออกกำลังกาย ที่ถูกขนานามว่าเป็น “สปอร์ตคอมเพล็กซ์” ย่อมๆ  และมีคลีนิคพิเศษเพื่อรักษาพยาบาล อาการเจ็บป่วยเล็กน้อย แต่หากเจ็บป่วยหนัก คือ เป็นโรคเรื้อรัง สามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลเอกชนได้ ตามวงเงินมากพอสมควร นอกจากนั้น พ่อ และ แม่ของพนักงาน ยังได้รับสิทธิรักษาพยาบาลฟรีด้วย

ช่อง8  เรตติ้งพุ่ง เฮียฮ้อจัดเต็ม

มีทั้งโบนัส-ขึ้นเงินเดือน

ขณะที่ ช่อง 8 “สถานีโทรทัศน์ในเครือบริษัท อาร์เอส จำกัด ที่ตอนนนี้เรตติ้งความนิยมของช่องอยู่ในอันดับต้นๆ จากข้อมูลที่ได้รับจากกองบก.ข่าวช่อง8พบว่า ก่อนหน้านี้ ทางช่อง8 ก็ได้มีการควบคุมค่าใช้จ่ายในกองบรรณาธิการ ด้วยการทำให้กองบก.มีขนาดที่กำลังดีในการทำข่าวแต่ละด้าน ไม่ให้มีคนมากเกินไป และมีการควบคุมค่าใช้จ่ายบางอย่าง เช่น ลดวันทำงานล่วงเวลาเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเป็นเงินโอทีให้กับฝ่ายข่าว เพราะระบบงานของบริษัทอาร์เอสคือพนักงานทำงาน5วัน จันทร์ถึงศุกร์ และหากมาทำงานช่วงเสาร์-อาทิตย์ ถือว่าทำงานล่วงเวลา ก็จะมีการให้เงินค่าโอทีต่างหาก โดยก่อนหน้านี้ ก็มีการพยายามจะปรับลดวันทำงานโอทีลง เพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย  แต่ช่วงหลังโดยเฉพาะรอบปี 2560 เรตติ้งของข่าวช่อง8  เติบโตขึ้นมาก มีคนดูเพิ่มมากขึ้นแบบก้าวกระโดด ทำให้ผู้บริหารของช่อง8 เลยปรับเพิ่มเวลาการออกอากาศข่าวมากขึ้น ทำงานฝ่ายข่าวก็ต้องทำงานมากขึ้น เลยมีวันทำงานโอทีมากขึ้น ก็ทำให้ฝ่ายข่าวก็ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

“การทำงานของฝ่ายข่าวช่อง 8 ทางผู้บริหารระดับสูงคือ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์หรือเฮียฮ้อ ให้ความสำคัญกับฝ่ายข่าวมาก มีการตรวจสอบดูการออกอากาศข่าวตลอดเวลาว่าทำงานอย่างไร สู้กับคู่แข่งขันที่ทำข่าวแนวเดียวกันได้หรือไม่ เรตติ้งแต่ละช่วงเป็นอย่างไร โดยบางครั้ง เฮียฮ้อ ก็บอกกับผู้บริหารฝ่ายข่าวว่าข่าวแต่ละช่วงเช่นช่วงเช้า หรือเย็น เรตติ้งคนดูค่าเฉลี่ยตอนนี้เป็นอย่างไร และควรมีเรตติ้งเท่าใด ซึ่งภาพรวม ผู้บริหารของช่อง8 ก็พอใจการทำงานของทีมข่าวที่ทำได้ตามเป้า ทั้งเนื้อหาและเรตติ้งคนดู เมื่อผู้บริหารระดับสูงของช่องลงมาดูแลเองแบบนี้ ก็ทำให้กองบก.ข่าวช่อง 8 ทั้งระดับหัวหน้า นักข่าว ก็ต้องตื่นตัวตลอดเวลาในการทำข่าวให้ดีขึ้นเรื่อยๆ “คนข่าวภาคสนามช่อง 8 เล่าให้ฟัง

“คนข่าวภาคสนามสถานีโทรทัศน์ช่อง 8ให้ข้อมูลว่า เมื่อยอดคนดูของข่าวช่อง 8เพิ่มมากขึ้น จนมีการเพิ่มเวลาการออกอากาศข่าว ทางกองบก.ก็ได้รับข่าวภายในมาว่า สิ้นปี 2560 จะมีการให้เงินโบนัสกับพนักงานของช่อง 8 ตามผลประกอบการและเรตติ้งที่ดีขึ้นจากเดิมที่ปีที่แล้ว 2559 ทางบริษัทไม่มีการให้โบนัสกับพนักงาน  นอกจากนี้ทราบข่าวมาว่ามีแนวโน้มที่ในปี 2561 จะมีการปรับขึ้นเพดานเงินเดือนให้พนักงานด้วย โดยเรตการปรับขึ้นจะอยู่ที่ขั้นต่ำ   5 เปอร์เซนต์ ที่ทำให้ฝ่ายข่าวเช่นนักข่าวภาคสนาม –กองบก. ก็จะได้เงินเดือนปรับขึ้น อย่างน้อยก็คนละพันกว่าบาทขึ้นไป

“หากมีการปรับเพดานเงินเดือน อย่างนักข่าวในภาคสนามแต่ละคน ก็น่าจะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าคนละ 1,500 บาท ฝ่ายข่าวของอาร์เอสที่เข้ามาตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบัน แต่ละคนที่เข้ามา ทางบริษัทมีการจ้างงาน ให้ค่าตอบแทนในอัตราที่สมเหตุสมผล ไม่ได้ให้แพงแบบโอเวอร์ แต่คนที่มีประสบการณ์มาจากส่วนอื่น เช่นย้ายช่องมาหรือมาจากนักข่าวส่วนอื่นเช่น เคยทำหนังสือพิมพ์มาก่อน ก็จะมีการบวกค่าประสบการณ์เพิ่มขึ้นค่าเฉลี่ยก็จะอยู่ที่ประสบการณ์ปีละพันกว่าบาท ก็บวกเพิ่มเข้าไป ตรงนี้อยู่ที่ข้อตกลงของแต่ละคน แต่สำหรับนักข่าวใหม่ ที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน  ฐานเงินเดือนที่เข้ามา ก็จะเหมือนกับช่องอื่นๆ คือ เงินเดือนก็ประมาณ   15,000บาท   เลยทำให้ค่าใช้จ่ายสำหรับกองบก.ข่าวช่อง  8จะอยู่ในอัตราที่เหมาะสม มีเพดานชัดเจน

ส่วนสวัสดิการก็มีให้เหมือนกับช่องอื่นๆ เช่น ประกันสุขภาพแบบประกันหมู่ของพนักงานบริษัท โดยเมื่อเรตติ้ง ความนิยมของข่าวช่อง 8มีมากขึ้น ก็น่าจะทำให้พวกค่าตอบแทน สวัสดิการต่างๆ ของพนักงาน ฝ่ายข่าว ก็น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น ก็เป็นขวัญกำลังใจในทางที่ดีของฝ่ายข่าว”นักข่าวภาคสนามของช่อง8  คนหนึ่ง บอกแบบมีความหวังกับทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน

ค่าตอบแทน นักข่าวช่อง 5 ยุคคสช.เป็นใหญ่

อีกหนึ่งสถานีโทรทัศน์ของรัฐ ที่หลายคนไม่ค่อยรับรู้ ความเคลื่อนไหว รายได้-ค่าตอบแทนของนักข่าว-กองบก.ข่าวช่องนี้กันมากนัก นั่นก็คือสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5” ซึ่งข้อมูลที่ จุลสารราชดำเนินได้รับมา ถึงรายได้-ค่าตอบแทน-สวัสดิการของนักข่าว-กองบก.ข่าวช่อง 5 ก็ทำให้ได้รู้ว่า แม้ช่อง 5 จะเป็นสถานีโทรทัศน์ในเครือ”กองทัพบก”แต่ตอนนี้ ช่อง  5 ก็ได้รับผลกระทบพอสมควร กับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสื่อมวลชน ที่มีคู่แข่งทีวีด้วยกันเองเพิ่มขึ้นจำนวนมาก  รวมถึงสื่อใหม่อย่าง Facebook-Facebook Live ที่มีผลต่อเรื่องรายได้และเรตติ้งกับทีวีดิจิตอลทุกช่อง โดยเฉพาะในช่วง 1-2ปี ที่ผ่านมา จนทำให้ทีมข่าวช่อง 5 ได้รับค่าตอบแทนเช่นการขึ้นเงินเดือนที่ของช่อง 5ใช้ระบบ ขึ้นเงินเดือบแบบ เป็นขั้น ด้วยฐานการคำนวณที่ลดลง รวมถึงมีการเซฟค่าใช้จ่ายของกองบก.ด้วยการไม่รับสมัครนักข่าว-ทีมข่าวเพิ่มขึ้นมาร่วม 3-4ปี หลังมีการปรับโครงสร้าง โดยหากกองบก.โต๊ะไหน คนขาด ก็ใช้วิธีเกลี่ยคนไปเสริม รวมถึงควบคุมค่าใช้จ่ายเช่นเงินโอที ที่ยังคงมีให้เหมือนเดิม แต่ก็มีการปรับจำนวนเงินที่ให้กับนักข่าว –กองบก.ในสัดส่วนที่ลดลง แต่สวัสดิการอื่นๆ เช่น การให้สวัสดิการในการเบิกค่ารักษาพยาบาล ของช่อง 5 ที่เป็นแบบระบบราชการ คือมีการให้ครอบคลุมไปถึงครอบครัวอย่าง พ่อแม่ ของพนักงานช่อง 5 หากเจ็บป่วยหรือไปรักษาพยาบาล ก็ยังให้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ ไม่ใช่แค่การให้ประกันสุขภาพแบบหมู่เหมือนช่องอื่น

นอกจากนี้ยังพบว่า จุดแข็ง ของช่อง 5อย่างหนึ่งก็คือ ทางสถานีมีรายได้หลักซึ่งหลายสถานีไม่มี ก็คือ ค่าเช่าโครงข่าย (มักซ์) ที่ไม่ใช่ค่าเช่าเวลา แต่เป็นการที่สถานีโทรทัศน์ดิจิทัลมาเช่าโครงข่ายของช่อง 5 ไปออกอากาศ ซึ่งก็มีอยู่หลายช่องเช่น จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, ช่องวัน, พีพีทีวี , เวิร์คพ้อยท์, อมรินทร์ทีวี “ตอนนี้นอกจากต้องทำงานหนักขึ้นแล้ว ยังต้องปรับตัวตามสภาพด้วย เพราะเราก็ไม่รู้ว่า สภาพวงการสื่อโทรทัศน์จะเป็นอย่างไรต่อไป ก็ต้องมีการระมัดระวังการใช้เงิน ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ต้องเก็บเงินไว้สำหรับอนาคต ขณะเดียวกัน การทำงานข่าวก็ต้องปรับตัวไปด้วยตามสภาพของสื่อยุคปัจจุบัน “ คนข่าวช่อง  5คนหนึ่งกล่าวทิ้งท้าย

คุมการใช้รถโอบี ไม่ใช้บ่อย เหมือนอดีต

ส่วนทีวีดิจิตอล ค่ายใหญ่แห่งหนึ่ง ที่มีสื่อครบทุกวงจร ย่าน”ถนนวิภาวดีรังสิต” คนในกองบรรณาธิการข่าวสถานีดังกล่าว  เปิดเผยว่ารอบปีที่ผ่านมา ทางช่องก็มีการใช้มาตรการรัดเข็มขัด เพื่อลดการขาดทุน ซึ่งบางเดือนก็ขาดทุนมาก บางเดือนก็ขาดทุนน้อย แต่ก็ยังพออยู่ได้ โดยฐานเงินเดือน-สวัสดิการ ก็เหมือนกับทีวีดิจิตอลค่ายอื่นๆ คือส่วนใหญ่หากเป็นเด็กใหม่ ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน เงินเดือนแรกรับก็จะอยู่ที่ ประมาณ 15,000-20,000 บาท แล้วก็มี สวัสดิการให้ตามปกติ ไม่แตกต่างจากที่อื่นเช่น ค่าโอที-ค่าเบี้ยเลี้ยงไปทำข่าวต่างจังหวัด แต่ก็มีพิเศษบ้างเช่น การตรวจสุขภาพประจำปี ที่ก็จะนัดให้ทางโรงพยาบาลที่มีดีลกับทางช่อง มาตรวจสุขภาพพื้นฐานที่สถานีเพื่อความสะดวกของพนักงาน

“ปีที่แล้ว ทางบริษัทใช้ระบบการจ่ายโบนัสแบบเหมารวม ไม่ได้จ่ายตามฐานเงินเดือนของพนักงาน ก็จะอยู่ที่เรตประมาณ 5000-8000  บาท ไปเลย ซึ่งพนักงานก็เข้าใจสภาวะเศรษฐกิจดี ส่วนมาตรการรัดเข็มขัด ก็เหมือนกับหลายช่อง เช่นการจะส่งคนไปทำข่าวต่างจังหวัด ที่ต้องใช้ทีมทั้ง รถยนต์ พนักงานขับรถ ช่างภาพ นักข่าว ก็จะมีการเลือกมากขึ้น เพื่อให้ว่าเมื่อออกไปทำข่าวแล้ว ได้ประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุด จะไม่ใช่ว่ามีอะไรก็ส่งกองบก.ออกไปข่าวเลย แล้วได้ข่าวหรือประเด็นที่ไม่น่าสนใจหรือประเด็นพื้นๆกลับมา

ส่วนพวกรถถ่ายทอดสดหรือรถโอบี ก็จะใช้เฉพาะเหตุการณ์สำคัญเท่านั้น วันที่มีข่าวใหญ่ๆ เพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกัน ทางออฟฟิศ ก็พยายามจะใช้ข่าวจากนักข่าวให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เช่น ใครไปทำข่าว อะไรมาเช่น สัมภาษณ์พิเศษ หรือข่าวที่น่าสนใจ นอกจากส่งเป็นข่าวปกติไปที่กองบก.โทรทัศน์แล้ว ก็พยายามจะให้เขียนเป็นข่าวส่งออนไลน์มาด้วยเพื่อทำให้เว็บของสถานีมีคนติดตามมากขึ้น”

“ นอกจากนั้น ช่วงที่ผ่านมา ก็มีการพยายามจะปรับกองบก. ตลอดเวลา เพื่อให้การทำงานคล่องตัวขึ้น ใช้คนให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เช่นการปรับกองบก.การเมือง มาเป็นกองบก.ข่าวในประเทศ ซึ่งผู้บริหารก็มีการประเมินกันอยู่ว่า จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือไม่” คนข่าวในสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งย่านถนนวิภาวดีรังสิตเล่าให้ฟัง

คนข่าว สื่อออนไลน์

รายได้ ค่าตอบแทน สมน้ำสมเนื้อ

นอกจากนักข่าวหนังสือพิมพ์-ทีวี-เว็บข่าวแล้ว ยุคปัจจุบัน ที่สื่อออนไลน์ มีบทบาทความสำคัญอย่างมาก ช่วงหลังก็มีเว็บข่าวสาร-บันเทิงคดี-ศิลปวัฒนธรรม ที่เป็นเว็บรุ่นใหม่ เกิดขึ้นมาหลายแห่ง และอยู่ในความสนใจ การติดตามของคนจำนวนไม่น้อย ซึ่งก็มีอยู่ด้วยกันหลายเว็บไซด์ อาทิ Thematter –TheMomentum –thestandard-ประชาไท  โดยบางเว็บ ก็มีการดำเนินการในลักษณะเป็นสำนักข่าวไปเลยเช่น สำนักข่าวออนไลน์ THE STANDARD

ส่วนคำถามที่หลายคนสงสัยว่า แล้วรายได้ ค่าตอบแทน สวัสดิการของนักข่าว-กองบก.ของคนที่อยู่ในองค์กรเหล่านี้ เป็นอย่างไร เราได้คุยกับ“ทีมข่าว

เว็บไซด์ข่าวออนไลน์” คนหนึ่ง ที่ขอสงวนนาม เล่าให้ฟังว่า โดยทั่วไปแล้ว เว็บไซด์ข่าวออนไลน์ที่ไม่ได้เป็นเว็บของสื่อกระแสหลักที่ต่อยอดมาจากหนังสือพิมพ์-ทีวี แต่เป็นนเว็บข่าวออนไลน์อย่างเดียวเลย การให้เงินเดือน-ค่าตอบแทน ก็คงขึ้นอยู่กับลักษณะของเว็บนั้น เช่นขนาดองค์กร –รายได้หลักขององค์กร เช่น บางแห่ง ก็ให้เงินเดือนเริ่มต้น  20,000 ขึ้นไป สำหรับนักข่าวใหม่ แต่หากคนไหน มีประสบการณ์การทำงานมาก่อน ก็จะมีการบวกค่าประสบการณ์เพิ่มไปด้วย

ข้อมูลที่เราได้รับมาจาก คนข่าวสำนักข่าวออนไลน์ คนดังกล่าว เขาบอกว่า พวกเว็บข่าวออนไลน์ จะให้ความสำคัญกับ“ภาพประกอบ”ในงานเขียนข่าว –สารคดี-บทความ ค่อนข้างมาก คือต้องมีภาพเป็นของตัวเอง ไม่ได้ไปดึงมาจากเว็บอื่น ทำให้เว็บข่าวออนไลน์หลายสำนัก ต้องมีการจ้าง ช่างภาพมืออาชีพ อยู่ในกองบก. โดยบางสำนักพบว่า มีช่างภาพหนังสือพิมพ์ ลาออกมาอยู่กับเว็บข่าวออนไลน์จำนวนไม่น้อย ซึ่งช่างภาพเหล่านี้ ก็จะได้รับค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อพอสมควร รวมถึงก็ให้เบิกค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้ด้วยเช่น ค่ารถ-ค่าเดินทาง ที่ก็จะให้

เบิกได้ตามที่จ่ายจริงและตามความจำเป็นเช่นความเร่งด่วนของงาน

“ชีวิต ความเป็นอยู่ของคนที่ทำข่าว หรือเป็นกองบก. เว็บไซด์ลักษณะนี้ ในส่วนของรายได้ ถือว่า โอเค ส่วนใหญ่ก็บอกว่าอยู่ได้ และเรตค่าตอบแทน พบว่าหลายสำนัก ก็เทียบเท่ากับสื่อกระแสหลัก และอาจมากกว่าบางแห่งด้วยซ้ำ

ส่วนสวัสดิการอื่นๆ ก็ให้เหมือนปกติ แต่ที่พิเศษก็อาจมีเช่น จะมีการประกันสุขภาพรวมของพนักงานให้ที่จะแยกออกมาจากบัตรสวัสดิการสังคมปกติ แล้วก็มีรายได้ทางอื่นมาเสริมให้ เช่น หากงานของนักข่าวหรือกองบก.คนไหน ถูกนำไปใช้ในสื่ออื่น หรือมีงานพิเศษ ที่ออฟฟิศรับมา ก็จะมีค่าตอบแทนให้ต่างหาก ก็จะอยู่ที่ประมาณ 2000-3000 บาท”

สำหรับ สิ่งที่”นักข่าวสำนักข่าวออนไลน์”มองว่าเรื่องที่ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการทำงาน ในช่วงที่ผ่านมา หลายคนมองว่า ไม่ใช่เรื่องของค่าตอบแทน แต่เป็นเรื่องของ การรับรองสถานะให้กับนักข่าวเว็บไซด์-สื่อออนไลน์ ที่นับวันมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา องค์กรภาครัฐหลายแห่งโดยเฉพาะองค์กรภาครัฐ เช่น รัฐสภา ศาลยุติธรรม ยังไม่ค่อยเข้าใจบริบทของคนสื่อออนไลน์มากนัก ทำให้หลายครั้งเวลาไปทำข่าว เช่นที่รัฐสภา หรือที่ศาลฎีกาฯ –ศาลยุติธรรม มักจะประสบปัญหา เช่น การเข้าไปในห้องประชุมรัฐสภา เวลามีการประชุมนัดสำคัญ แม้จะสามารถแลกบัตรเข้ารัฐสภาได้ แต่ก็จะเข้าไปในห้องประชุมรัฐสภาไม่ได้ และพอไปติดต่อขอทำบัตรอย่างเป็นทางการ ทางเจ้าหน้าที่ก็จะไม่เข้าใจว่าสื่อออนไลน์ หลายแห่ง ที่ส่งนักข่าวไปทำข่าวในพื้นที่ เป็นสื่อแบบไหน ทำไมต้องทำบัตรทางราชการให้ แต่ปัญหาดังกล่าว ช่วงหลังก็เริ่มดีขึ้น เพราะหลายหน่วยงานก็เริ่มเข้าใจ จนมีการอนุญาตให้นักข่าวเว็บไซด์ข่าวออนไลน์เข้าไปทำข่าวได้เหมือนกับนักข่าวทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์มากขึ้น

 

บทสรุป

จากข้อมูล ที่ทีมงาน จุลสารราชดำเนิน ได้พูดคุย แลกเปลี่ยนความเห็นกับนักข่าว-กองบก. –คนสื่อหลายสำนัก ทั้งทีวี-วิทยุ-หนังสือพิมพ์-สื่อออนไลน์ ทำให้พอสรุปเสียงสะท้อนที่ส่งออกมาได้ว่า ไม่ใช่เฉพาะค่าตอบแทน สวัสดิการที่พอใช้ได้ และ ระดับดีเยี่ยม ตามฐานะขององค์กรสื่อ แค่นั้น ยังไม่พอสำหรับการทำงานในวิชาชีพ “สื่อมวลชน” ที่ต้องพุ่งชนและพร้อมรับกับทุกสถานการณ์

ดังนั้น คนข่าวภาคสนาม จึงขอพื้นที่เพื่อสะท้อนความต้องการ  โดยหลายเสียงเห็นตรงกัน คือ “ปรับการรักษาพยาบาล” จากมาตรฐานขั้นสูงของ ระบบประกันสังคม มาสู่มาตรฐานของการรักษาจากโรงพยาบาลเอกชน, “ปรับอุปกรณ์การทำงานให้ทันสมัย” และในบางองค์กรที่นักข่าวต้องใช้อุปกรณ์ของตัวเอง ควรมีค่าเสื่อมของอุปกรณ์หรือค่าซ่อมบำรุงด้วย, “ปรับระบบเงินเดือน” ให้รวมค่ารถ, ค่าโทรศัพท์ไว้เป็นก้อนเดียวกัน เพื่อให้อัตรานี้เป็น มาตรฐานใช้สำหรับการจ่ายโบนัส หรือค่าชดเชยกรณีถูกจ้างออกจากงาน

นอกจากนั้น ยังมี“สนับสนุนการอบรมหรือเรียนภาษาต่างประเทศ รวมถึงทักษะใหม่เพิ่มเติม”“สนับสนุนเรื่องหนังสือพิมพ์หรือแอพพลิเคชั่นอ่านหนังสือพิมพ์ฟรีสำหรับพนักงาน”

อย่างไรก็ดีข้อเรียกร้องที่ “นักข่าวภาคสนาม” ต่างตอบไปในทิศทางเดียวกันด้วยเสียงส่วนใหญ่ ต้องการให้องค์กรสร้างมาตรฐานการช่วยเหลือค่าครองชีพของพนักงาน ที่ปรับและสอดคล้องกับราคาค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้น             เพื่อให้พวกเขามี “เงิน” ที่ไปใช้ชีวิตได้ไม่ลำบาก พอมี พอเก็บ และเลี้ยงครอบครัวได้ รวมถึงมีแรงที่จะทำงาน “ข่าว” อย่างมีคุณภาพ เพื่อองค์กรและเพื่อผู้อ่าน ได้ต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ไม่ใช่ ทำงานไปวันๆ เพื่อรอรับเงินค่าตอบแทน ตอนสิ้นเดือนเท่านั้น!