Focus social media

Focus social media

โดยกรชนก รักษาเสรี

.......................................

แนวทางการใช้โซเชียลมีเดีย

ของนักข่าวในต่างประเทศ

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา “เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์” (The New York Times) ได้ออกแนวทางปฏิบัติชุดใหม่สำหรับนักข่าวในการใช้โซเชียลมีเดีย โดยบอกว่า แนวปฏิบัติชุดใหม่นี้ขยายให้กว้างกว่าของเดิม แม้ว่าจะตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทของโซเชียลมีเดีย และเห็นด้วยว่านักข่าวควรจะใช้ แต่ขอให้นักข่าวใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ หลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็นที่เป็นการเลือกข้าง หรือการใส่ความคิดเห็นลงไปในเนื้อข่าวที่เป็นกลาง

บรรณาธิการบริหารได้ส่งแนวปฏิบัตินี้ไปยังกองบรรณาธิการ และเผยแพร่สู่สาธารณะด้วย โดยบอกว่า ใครมีคำถามก็ให้เขียนแสดงความคิดเห็นได้

"เราเชื่อว่าการจะดำรงสถานะองค์กรข่าวที่ดีที่สุดของโลกไว้ เราจำเป็นต้องใช้โซเชียลมีเดียอย่างคึกคักต่อไป แต่เราต้องแน่ใจว่าเรากำลังใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีความรับผิดชอบ ตามแนวทางของห้องข่าวของเรา"

โซเชียลมีเดียมีบทบาทสำคัญในการโปรโมทผลงานของเดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ ส่งข่าวอัพเดต เก็บข้อมูล ติดต่อแหล่งข่าว สื่อสารกับผู้อ่าน และยังใช้เป็นเวทีทดลองแนวการเล่าเรื่องแบบใหม่ๆ แต่ก็มีความเสี่ยง หากนักข่าวถูกมองว่ามีอคติ หรือแสดงความคิดเห็นต่อข่าวลงในโซเชียลมีเดีย เพราะอาจะลดทอนความน่าเชื่อถือของกองบรรณาธิการทั้งหมดได้

เป็นที่ชัดเจนว่านักข่าวของที่นี่จะต้องรายงานอย่างเป็นกลางและยุติธรรม ดังนั้น หากใครละเมิด ก็จะถูกหัวหน้ารายงานในการประเมินการทำงาน

สิ่งที่สำคัญที่สุดประการแรก ในการโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย นักข่าวของเดอะนิวยอร์ก ไทมส์ จะต้องไม่แสดงความคิดเห็นที่เลือกข้างหรือแสดงความคิดเห็นทางการเมือง สนับสนุนผู้สมัครลงชิงตำแหน่งใดๆ หรือแสดงความคิดเห็นอย่างก้าวร้าว หรือกระทำการใด ๆ ที่จะกระทบชื่อเสียงของเดอะนิวยอร์ก ไทมส์ ทั้งนี้ แนวปฏิบัตินี้ให้ใช้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้รับผิดชอบข่าวด้านการเมืองหรือไม่

“ปีเตอร์ เบเคอร์ ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบขาวของเดอะ นิวยอร์ก ไทมส์” กล่าวว่า การที่นักข่าวของเดอะนิวยอร์ก ไทมส์ ทวีตเกี่ยวกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นั้น จะถูกมองว่าเป็นมุมมองของหนังสือพิมพ์ทั้งฉบับ ทั้งๆ ที่นักข่าวคนนั้นอาจจะไม่ได้เป็นนักข่าวที่รับผิดชอบรายงานข่าวประธานาธิบดีด้วยซ้ำ ทำเนียบขาวจะไม่แยกแยะในเรื่องนี้ ทุกคนจึงต้องเข้าใจตรงกัน

."แม้ว่าคุณอาจจะคิดว่าเฟซบุ๊กเพจ ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม สแนปแชต หรือโซเชียลมีเดียอื่นๆ เป็นพื้นที่ส่วนตัวของคุณซึ่งแยกจากบทบาทที่เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกอย่างแม้จะเป็นการกดไลค์ ก็ออกสู่สาธารณะในระดับหนึ่ง และทุกอย่างที่เราทำในที่สาธารณะก็มักจะมีความเกี่ยวข้องกับเดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ อยู่เสมอ"

นักข่าวบางคนเสริมว่า คนอ่านมักจะคิดว่า ทวีตของนักข่าวเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือพิมพ์ และการที่ทวีตของนักข่าวจะมีอิทธิพลหรือได้รับความเชื่อถือมากนั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะเขาทำงานที่หนังสือพิมพ์ฉบับนี้

เราขอให้นักข่าวงดเว้นจากการบ่นหรือร้องเรียนเรื่องสินค้าและบริการใดๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดีย แม้ว่าคุณจะคิดว่าคุณมีสิทธิ แต่มันก็เป็นไปได้ว่าคุณจะได้รับบริการที่ดีเป็นพิเศษเพียงเพราะสถานะของคุณบอกว่าคุณทำงานที่นี่"

- หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกลุ่มปิดหรือกลุ่มลับในโซเชียลมีเดียที่มีแนวโน้มไม่เป็นกลาง การไปเข้าร่วมงานใดๆ ก็เช่นกัน แม้ว่าจะเป็นการไปทำข่าว ก็ขอให้ระวังให้มากๆ

- ขอให้จำใส่ใจว่าต้องให้เกียรติผู้อื่นเสมอ ถ้าผู้อ่านตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์งานเขียนของคุณหรือโพสต์ของคุณในโซเชียลมีเดียก็ให้ตอบด้วยความระมัดระวัง อย่าทึกทักเอาเองว่าผู้อ่านไม่ได้อ่านงานของคุณอย่างละเอียด

- ถ้าการวิพากษ์วิจารณ์นั้นมันรุนแรงเกินไปหรือไม่มีเหตุผล ก็ขอว่าอย่าไปตอบโต้ หากมีการข่มขู่คุกคาม นักข่าวก็มีสิทธิที่จะบล็อคหรือกดปุ่มที่ทำให้ไม่เห็นข้อความของคนคนนั้นได้ แต่ก็ขอให้หลีกเลี่ยงการทำเช่นนั้นกับผู้ที่เพียงวิพากษ์วิจารณ์คุณหรืองานของคุณในแบบธรรมดาๆ

- หากคุณถูกคุกคามในโซเชียลมีเดีย ขอให้แจ้งให้หัวหน้าของคุณทราบทันที เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ มีนโยบายปกป้องความปลอดภัยของนักข่าว

-เราเชื่อในคุณค่าของการที่นักข่าวจะถ่ายทอดความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ ณ ขณะเกิดเหตุ แต่ก็ขอให้นักข่าวให้ความสำคัญกับดิจิทัล แพลตฟอร์ม ขององค์กรก่อนเป็นอันดับแรก

เช่นเดียวกัน ควรนำเสนอข่าวในช่องทางหลักก่อน หากคิดว่ากรณีใดเหมาะสมที่จะรายงานทางโซเชียลมีเดียก่อน ขอให้ปรึกษาหัวหน้างานของคุณ

- ขอให้โพสต์อย่างโปร่งใส หากทวีตข้อความที่ผิดหรือไม่เหมาะสมและต้องการจะลบ ขอให้เขียนในข้อความถัดไปด้วยว่าลบข้อความก่อนหน้านั้นไปแล้วเพราะผิดพลาด

ระมัดระวังการแชร์ข่าวหรือบทความจากที่อื่นที่ยังไม่สามารถยืนยันความถูกต้องได้ เพราะคนจะนึกว่าเดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ รับรองเนื้อหาในโพสต์หรือทวีตนั้นแล้ว ทั้งๆ ที่จริง ๆ ไม่ใช่

- หากคุณยังไม่แน่ใจเกี่ยวกับสิ่งที่จะโพสต์ในโซเชียลมีเดีย ถามตัวเองว่า หากเป็นบทความในเดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ คุณจะแสดงความคิดเห็นแบบเดียวกันนี้ไหม เป็นไปได้ไหมว่าผู้อ่านจะมองว่าคุณมีอคติหรือเอนเอียงสำหรับเรื่องบางเรื่องที่เขียน สิ่งที่คุณโพสต์จะกระทบมุมมองของผู้ที่ได้อ่านที่มีต่อหนังสือพิมพ์ว่าไม่เป็นกลางหรือไม่ สิ่งที่คุณโพสต์จะทำให้เพื่อนร่วมงานของคุณทำงานลำบากหรือไม่ หากมีคนติดตามหรือไล่อ่านฟีดโซเชียลมีเดียของคุณ เขาจะเกิดข้อสงสัยในความสามารถของคุณในการรายงานข่าวอย่างเป็นกลางและยุติธรรมหรือไม่

- หากคุณยังไม่แน่ใจอีก ให้ปรึกษาหัวหน้างานของคุณหรือหัวหน้าข่าวอื่นๆ และอ้างอิงกรอบประมวลจริยธรรมของนักข่าว

.....................

ล้อมกรอบ ในเรื่องเดียวกัน

เอ็นพีอาร์

ขณะเดียวกัน เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เอ็นพีอาร์ (National Public Radio: NPR) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสื่อที่มีพื้นฐานมาจากการเป็นสถานีวิทยุและปัจจุบันเป็นสื่อมัลติมีเดียก็ได้ปรับปรุงคู่มือจริยธรรมซึ่งรวมถึงการใช้โซเชียลมีเดียด้วย

เอ็นพีอาร์ย้ำความสำคัญของโซเชียลมีเดีย โดยมีเรื่องนี้แทรกในทุกบทของคู่มือจริยธรรม และมีอีกบทเป็นพิเศษต่างหาก แถมบอกด้วยว่า ที่ต้องมาทบทวนเรื่องนี้กันใหม่ เพราะหลังจากออกแนวทางปฏิบัติเรื่องนี้มา 5 ปี โซเชียลมีเดีย "ไม่ใช่สิ่งใหม่อีกต่อไป"

ในขณะที่คู่มือของเดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ เน้นไปที่การรักษาความเป็นกลางในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เอ็นพีอาร์สะท้อนว่าปัญหาที่พบคือนักข่าวของเอ็นพีอาร์ ถูกข่มขู่คุกคามในทวิตเตอร์และแพลตฟอร์มอื่นๆ

สิ่งที่คู่มือนี้เน้นคือ หลักการยังคงเดิมเสมอ

"ทำตัวเหมือนที่คุณจะทำในที่สาธารณะอื่นๆ ในฐานะนักข่าวของ NPR ปฏิบัติต่อผู้คนที่พบด้วยความเป็นธรรม ซื่อสัตย์ และให้เกียรติ ตรวจสอบข้อมูลก่อนส่งต่อ อย่าทำอะไรที่จะกระทบความเป็นกลางในฐานะมืออาชีพ และจำใส่ใจไว้เสมอว่า คุณเป็นตัวแทนของเอ็นพีอาร์"

- จำไว้ว่า ไม่มีความเป็นส่วนตัวใดๆ ในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และ "เพจส่วนตัว" ก็ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย

ติดต่อกับผู้ฟัง หาข่าว และใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือสำหรับความโปร่งใส แต่ก็ต้องย้ำว่า นักข่าวที่ใช้โซเชียลมีเดียต้องขยันตรวจสอบข้อมูลให้เหมือนเวลาทำงานออฟไลน์

- ในการรายงานสิ่งที่ผู้คนพูดคุยกันในสื่อออนไลน์ แม้โซเชียลมีเดียจะสะท้อนอารมณ์ของสังคมได้ในระดับหนึ่ง แต่คนในสังคมออนไลน์ก็ไม่ใช่ตัวแทนของสังคมทั้งหมด จึงไม่อาจนำเสนอประหนึ่งว่าเป็นตัวแทนทั้งหมดได้

- ให้เกียรติ

ทุกถ้อยคำมีความหมาย ใช้คำพูดและน้ำเสียงให้ถูกต้อง ใช้ภาษาที่ดี อ่านข้อความคนอื่นดี ๆ ก่อนกดตอบ รวมถึงอย่าตะโกนใส่คนอื่นด้วยการพิมพ์ด้วยอักษรตัวใหญ่ทั้งประโยค

การเขียนถึงเอ็นพีอาร์หรือแชร์ผลงานของเพื่อนร่วมงานเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าอยากวิพากษ์วิจารณ์งานของเพื่อนร่วมงาน ขอให้พูดต่อหน้าดีว่าไปเขียนในโซเชียลมีเดีย

-นึกถึงใจเขาใจเราเข้าไว้

นอกจากนี้ เวลาแชร์ก็ขอให้คำนึงถึงลิขสิทธิ์ด้วย ให้แชร์จากลิงค์ของเว็บ ไม่ใช่คัดลอกข้อความทั้งดุ้นมาลง

- เมื่อเจอคนเกเร

ต้องยอมรับว่านักข่าวก็เหมือนอาชีพอื่นๆ เวลาคนชมเราก็ดีใจ แต่ก็ต้องยอมรับเวลาถูกวิพากษ์วิจารณ์ บางคนอาจไม่พอใจในงานที่เราเขียน บางคนก็โกรธที่เราไปขุดคุ้ย แต่นี่คือส่วนหนึ่งของงาน

ในขณะเดียวกัน โซเชียลมีเดียก็เป็นที่ที่ผู้คนปลดปล่อยด้านมืดออกมาเช่นกัน เราไม่ต้องทนกับการถูกข่มขู่หรือคุกคามโดยเฉพาะการเหยียดเพศ เชื้อชาติ ศาสนา หรือเรื่องอื่นๆ

อย่าไปต่อความยาว

สิ่งที่แนะนำมี 2 แนวทาง

คือถ้าเจอข้อความที่ไม่น่าอ่านแต่ไม่ได้คุกคามข่มขู่อะไร ก็ขอให้ตอบไปอย่างสุภาพว่า "ขอขอบคุณที่แสดงความคิดเห็น ขอสอบถามเพิ่มเติมว่ามีอะไรที่ทำให้คุณไม่สบายใจหรือ"

แต่หากข้อความที่ได้รับมีลักษณะข่มขู่คุกคาม ไม่ต้องไปตอบเลย ขอให้แจ้งไปยังหน่วยงานของเราที่ดูแลเรื่องนี้ ฝ่ายกฎหมายและความมั่นคงจะเป็นผู้จัดการ

อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับในชีวิตจริง เราควรเรียนรู้วัฒนธรรมของคนในชุมชนออนไลน์ เราต้องเรียนรู้ที่จะเคารพวิถีของคนในสังคม เช่นเดียวกับการที่เราต้องสังเกตและถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้านคนอื่นในบางวัฒนธรรม

การใช้ภาษาในบริบทที่ต่างกันก็ให้ความหมายต่างกันไป การใช้คำหยาบในบางกรณีก็เป็นแค่การปล่อยมุกตลกของกลุ่มคนนั้น

- ความถูกต้อง เที่ยงตรง แม่นยำ

อย่าสักแต่ว่าเผยแพร่ข้อมูล จะต้องเผยแพร่อย่างระมัดระวังด้วย อย่าเชื่ออะไรง่ายเกินไป และนำเสนอข้อมูลอย่างมีบริบท

กรณีข่าวด่วน (breaking news) ให้บอกผู้อ่านด้วยว่า ข้อมูลนี้คอนเฟิร์มหรือยัง หากผิดให้รีบแก้อย่างโปร่งใสด้วย

เช่นเดียวกับที่เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ เขียน อย่ารีทวีตแล้วทำให้คนอ่านคิดว่าเราคอนเฟิร์มข้อมูลนี้แล้ว ขอให้ใช้การอ้างอิงข้อความ (quote) แล้วเขียนอธิบายบริบทเพิ่มจะดีกว่า

ในขณะเดียวกันก็อย่าลืมติดตามเรื่องราวต่างๆ อย่างต่อเนื่องในชีวิตจริงด้วย ไม่ใช่พึ่งพิงแต่ข้อมูลออนไลน์

- ระมัดระวังในการแชร์รูปหรือวิดีโอ

ตรวจสอบให้ดีว่าเป็นภาพจริงหรือตัดต่อ ภาพเก่าหรือภาพปัจจุบัน คนโพสต์เป็นใคร น่าเชื่อถือหรือมีความเกี่ยวข้องกับภาพโดยตรงหรือไม่ มีสิทธิในการใช้รูปหรือไม่ ลิขสิทธิ์รูปเป็นอย่างไร เราแชร์ได้หรือไม่

- ความซื่อสัตย์

ขอให้เปิดเผยตัวเสมอว่าเป็นนักข่าวของ NPR และการติดตามเป็นเพื่อนหรือเข้ากลุ่มเฉพาะต่างๆ ก็เข้าได้ และเข้าใจว่าบางครั้งเข้าไปเพื่อสังเกตการณ์ แต่ขอให้จำบทบาทนี้ไว้ให้ดี ว่า ไม่ใช่เข้าไปมีบทบาทที่แสดงออกว่าเลือกข้างหรือสนับสนุนข้างใดข้างหนึ่ง อย่าทำอะไรให้คนสูญเสียความเชื่อถือที่มีต่อนักข่าวและองค์กร

เคยมีกรณีมาแล้วที่นักข่าวใช้แอคเคาท์ส่วนตัวที่เป็นนามแฝงและใช้ภาษาหยาบคายจนถูกบล็อคและติดตามสืบทราบว่าอยู่ NPR ถึงนักข่าวคนนั้นจะออกมาขอโทษ แต่ความผิดก็เกิดขึ้นแล้วและแพร่กระจายกันไปในวงกว้าง ทั้งองค์กรและนักข่าวคนนั้นยังถูกหยิบมาล้อและเสียดสีโดยสื่ออื่นอีกด้วย ดังนั้น อย่าคิดว่าคนจะไม่รู้ว่าคุณเป็นใคร

- โปร่งใสและรับผิดชอบ

การนำเสนอข้อมูลต้องมีที่มาที่ไป และเป็นข้อมูลที่แหล่งข่าวยินยอมให้เปิดเผย ปกป้องตัวเองด้วย ระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็น สื่ออื่นอาจนำความคิดเห็นที่คุณเขียนออนไลน์ไปลงข่าวก็ได้ ลองนึกดูก่อนเขียนว่ามันจะกระทบชื่อเสียงของ NPR หรือไม่

นอกจากนี้ อย่ามักง่าย อย่าลืมว่า คุณก็ต้องรับผิดชอบต่อการรีทวีตหรือแชร์ข้อความด้วย แม้ว่าคุณจะไม่ใช่คนเขียนข้อความนั้น เช่น การหมิ่นประมาท

ในกรณีที่ไม่แน่ใจว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร NPR มีทีมงานที่ตั้งขึ้นเพื่อให้คำปรึกษาแก่นักข่าวในการใช้งานโซเชียลมีเดียด้วย

อ่านรายละเอียดได้ทั้งhttp://ethics.npr.org/tag/social-media/

 

//////////////////////

 

 

ล้อมกรอบอีก

SPJ

มาดูแนวปฏิบัติของสมาคมนักข่าวมืออาชีพ (Society of Professional Journalists: SPJ) กันบ้าง แนวปฏิบัติทางจริยธรรมขององค์กรนี้เป็นที่อ้างอิงใช้กันทั่วไป สำหรับการใช้โซเชียลมีเดีย เขียนเอาไว้ว่า

 

"ฉบับย่อ

แนวปฏิบัตินี้ สรุปได้ 3 คำเท่านั้น

จง ใช้ สามัญสำนึก"

แต่ก็มีเสริมว่า ให้แสดงตนอย่างเปิดเผยเสมอว่ามีตำแหน่งอะไรในองค์กรนี้ แม้ว่าจะมีเพียงบางตำแหน่งเท่านั้นที่พูดในนามองค์กรได้

..................

ล้อมกรอบ

รอยเตอร์

ทางด้านสำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) เขียนคล้ายๆ กับที่อื่นว่าโซเชียลมีเดียมีประโยชน์ในการหาข่าว แต่ก็มีความอันตรายอยู่ในตัว

"เราต้องการให้ผู้คนได้ประโยชน์และปลอดภัยจากโซเชียลเน็ตเวิร์ก ไม่ได้มีเจตนาจะปิดปากใคร"

นักข่าวก็เป็นคนเหมือนกัน ถ้าอยากทวีตหรือโพสต์เกี่ยวกับละครโรงเรียนหรืออาหารจานโปรดก็ไม่เป็นไร แต่หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประเด็นสาธารณะหรือเป็นเรื่องที่รอยเตอร์อาจรายงานเรื่องนี้ก็ต้องระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นเป็นพิเศษ ในโพรไฟล์ ก็ขอให้เขียนให้ชัดเจนว่า คุณเป็นนักข่าวรอยเตอร์ และสิ่งที่คุณเขียนเป็นของคุณเอง ไม่เกี่ยวกับรอยเตอร์

- นักข่าวของรอยเตอร์ อยู่ภายใต้หลักจริยธรรมของรอยเตอร์ 24 ชั่วโมง นั่นคือ มีความรับผิดชอบ ยุติธรรม และไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ดังนั้นจึงไม่มีคำถามว่าออฟไลน์หรือออนไลน์ เพราะล้วนต้องอยู่ในกรอบนี้เหมือนกัน

การที่นักข่าวรอยเตอร์จะนำเสนอข้อสรุปในเรื่องใดๆ ก็ขอให้มาจากการค้นคว้าข้อมูลเพื่อรายงานข่าว และให้เปิดพื้นที่สำหรับการสืบค้นหรือทำข่าวต่อไปด้วย ไม่ใช่ปักใจเชื่ออะไรง่ายๆ และแน่นอนว่าก่อนจะทวีตหรือโพสต์อะไรต้องตรวจสอบให้แน่ใจเสียก่อน ช้าดีกว่าผิด

อย่างไรก็ตาม บางเรื่องที่สมควรปกปิดเป็นความลับหรือแหล่งข่าวไม่ยินยอมให้เปิดเผยก็อย่านำไปเปิดเผย ระมัดระวังประเด็นอ่อนไหว

- จำใส่ใจเสมอว่า โซเชียลเน็ตเวิร์ก ไม่มีคำว่า "ยกเลิกการส่ง" สิ่งที่ส่งไปแล้วดึงกลับไม่ได้ และมีคนที่พร้อมจะใช้สิ่งที่เราส่งออกไปในทางลบเสมอ

รอยเตอร์เปรียบเทียบว่าการโพสต์หรือส่งข้อความในโซเชียลเน็ตเวิร์ก เปรียบเสมือนการบินหรือเหาะอยู่โดยไม่มีตาข่ายรองรับเลยทีเดียว

- ด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม เราต้องหลีกเลี่ยงการจุดประเด็นที่จะทำให้เกิดการทะเลาะหรือต่อสู้กัน ต้องไม่ใช้ถ้อยคำที่หาเรื่องหรือปลุกเร้า หรือการพูดพล่อยๆ นอกจากนี้ การติดตามหรือเป็นเพื่อนกับคนบางคนออนไลน์ยังอาจเปิดเผยตัวตนของแหล่งข่าวของเราได้อีกด้วย

ในย่อหน้าสรุปของรอยเตอร์ ได้สรุปหลักการที่เหมือนๆ กันของหลายๆ องค์กรสำหรับการที่นักข่าวจะใช้โซเชียลมีเดียไว้ว่า

"ด้วยวิธีการใดก็ตาม ศึกษาช่องทางที่โซเชียลมีเดียจะช่วยในการทำงานของคุณ แต่ก่อนที่จะทวีตหรือโพสต์อะไร ขอให้คิดให้ดีว่า สิ่งที่คุณกำลังจะทำมันจะสะท้อนความเป็นมืออาชีพของคุณและชื่อเสียงขององค์กรโดยรวมด้วย หากไม่แน่ใจขึ้นมาเมื่อใด ให้ปรึกษาเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างานหรือบรรณาธิการของคุณ"

......................

ดึงโปรย

จำใส่ใจเสมอว่า โซเชียลเน็ตเวิร์ก ไม่มีคำว่า "ยกเลิกการส่ง" สิ่งที่ส่งไปแล้วดึงกลับไม่ได้ และมีคนที่พร้อมจะใช้สิ่งที่เราส่งออกไปในทางลบเสมอ..ก่อนที่จะทวีตหรือโพสต์อะไร ขอให้คิดให้ดีว่า สิ่งที่คุณกำลังจะทำ มันจะสะท้อนความเป็นมืออาชีพของคุณและชื่อเสียงขององค์กรโดยรวม