“ตอนนี้ยากลำบากไปหมด แค่เสียงอย่างเดียวอาจไม่พอ เราต้องปรับตัวเพื่อให้ไปต่อได้ ต้องแข่งขันกันเพื่อให้มีพื้นที่ทำงาน ผลิตงานคุณภาพให้ผู้ฟัง”
ศลิลนา ภู่เอี่ยม
ท่ามกลางวิกฤตหลากหลายถาโถมเข้าใส่ธุรกิจสื่อมวลชน ทั้งสภาวะดิสรัปชั่น -การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และเวลานี้ หลายธุรกิจต่างเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ระบาดรอบสองที่ธุรกิจสื่อ -คนทำสื่อ บางส่วนคงอาจได้รับผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อมในอนาคตอันใกล้นี้
เมื่อไปดูอีกหนึ่งแพลตฟอร์มสื่อคือ”สื่อวิทยุ-กระจายเสียง” ที่ประชาชน-ผู้บริโภคสื่อ ต่างคุ้นเคยและใช้เป็นช่องทางในการรับข้อมูลข่าวสารและความบันเทิงมาตลอดหลายสิบปี จะพบว่า เป็นอีกหนึ่งธุรกิจสื่อ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกันในช่วงที่ผ่านมา แต่หลายคนไม่ค่อยมีใครพูดถึง อย่างช่วงปลายปีที่ผ่านมา จนถึงต้นปีนี้ ที่สภาพเศรษฐกิจยังไม่ค่อยฟื้นตัว พบว่าสถานีวิทยุหลายแห่ง-รายการวิทยุประเภทรายการข่าว มีการขอลด”ค่าจัดรายการ”กับนักจัดรายการกันหลายสถานีโดยบางแห่งขอลดในระดับ 30 เปอร์เซ็นต์จากที่เคยได้ในการจัดรายการแต่ละครั้ง โดยนักจัดรายการบางคน ได้แต่ยอมรับสภาพที่เกิดขึ้น
ขณะที่การหาโฆษณาเพื่อมาลงในรายการวิทยุ มีข่าวว่าช่วงหลัง เซลล์ขายโฆษณารายการวิทยุหลายสถานี บ่นอุบไปตามกันว่าหาโฆษณายาก และการแข่งขันระหว่างรายการและระหว่างสถานีวิทยุด้วยกัน ดุเดือดอย่างมาก ต้องแย่งกันตัดราคา ชนิดลด-แลก-แจก-แถม กว่าจะได้โฆษณามาแต่ละสปอตมาลงในสถานีได้ รวมถึงมีข่าวว่า ผู้จัดรายการวิทยุอิสระ-ผู้เช่าเวลาสถานีวิทยุรายเล็ก ที่ไปเช่าเวลาบางส่วนของสถานีมาจัดรายการแล้วหาโฆษณาเอง พบว่ามีบางราย แบกรับต้นทุนค่าเช่าเวลาไม่ไหว เพราะหาสปอนเซอร์มาลงโฆษณายาก เลยต้องคืนเวลาสถานีหรือไม่ต่อสัญญาการเช่าเวลา ทั้งหมดคือความยากลำบากที่ต้องต่อสู้ต่อไป ของคนในแวดวงวิทยุ-สื่อกระจายเสียง
“ทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน”พูดคุยกับคนในวงการสื่อวิทยุกระจายเสียง ที่เป็นทั้งผู้ดำเนินรายการข่าว-ผู้ประกาศข่าว เพื่อสอบถามความเป็นไปของแวดวงสื่อวิทยุยุคปัจจุบัน
เริ่มที่นักจัดรายการวิทยุชื่อดังที่คว่ำหวอดอยู่ในวงการมาหลายปี นั่นก็คือ “ศลิลนา ภู่เอี่ยม”หรือ”เอ” นักจัดรายการวิทยุ ผู้มีประสบการณ์ทั้งจากการเคยเป็นดีเจจัดรายการเพลงและปัจจุบันปักหลักเน้นการเสริฟข่าวสารบ้านเมืองผ่านทางคลื่นวิทยุ เธอบอกว่า “สื่อใหม่ ที่แข่งขัน โซเชียลมีเดียมากมาย คนไปดูสำนักข่าวออนไลน์ ด้วยความมีสื่อเยอะ เม็ดเงินโฆษณาอาจเท่าเดิมหรือน้อยลง ต้องกระจายไปที่เจ๋งจริง แล้วเราทำอย่างไร เจ๋งจริงเขามาลงโฆษณา นี่คือความท้าทายที่ทุกสื่อต้องทำ”
ความท้าทายดังกล่าว “ศลิลนา”ขยายความว่า คือการที่คนทำรายการวิทยุ จะทำอย่างไรให้รายการมีคุณภาพมากขึ้น อาจเป็นเรื่องของเนื้อหา เราอาจต้องมีมุมมองนำเสนอเนื้อหากว้างหลากหลายขึ้น ไม่จำเป็นต้องเหมือนๆกัน อาจมีมิติของการนำเสนอ เช่น จับเรื่องซีรีย์ดังๆ มาคุยมุมมองเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น ซีรีย์เกาหลีเรื่องสตาร์ทอัพ เราต้องทำคอนเทนต์ให้มีความหลากหลายแตกต่าง ผู้ดำเนินรายการ คนทำเนื้อหา ต้องทำการบ้านมากขึ้น มองไกลไปกว่าคนอื่นได้ยังไง ลูกเล่น ความครีเอทีฟ ไม่ให้น่าเบื่อ
“ตอนนี้ยากลำบากไปหมด ฉะนั้น แค่เสียงอย่างเดียวอาจไม่พอ เราต้องปรับตัวเพื่อให้ไปต่อได้ ต้องแข่งขันกันเพื่อให้มีพื้นที่ทำงาน อย่างองค์กรหลายที่เอาคนออก ไม่มีเอาคนเข้า วิทยุก็เช่นกันเท่าที่รู้เม็ดเงินโฆษณาน้อยลง เนื่องจากไปอยู่ออนไลน์หมด อย่าว่าแต่ทีวีเลย ไม่ค่อยลง เหลือเงินมาเยียวยา ต้องแย่งกันแข่งกัน
ก็เป็นช่วงที่ยากลำบาก เจ้าของธุรกิจ ผู้จัดต้องปรับตัว ให้มีความสามารถทำหลากหลาย ผลิตงานคุณภาพให้ผู้ฟัง และต่อยอด ทำอย่างอื่นจัดสัมมนา ไปเป็นพิธีกร ตอนนี้เอาวิทยุมาขายของ ขายทัวร์ นอกเหนือจากเสนอข่าวสาร ต่อยอดทางธุรกิจ ด้วย”
“ศลิลนา-นักจัดรายการวิทยุน้ำเสียงพราวเสน่ห์” บอกเล่าการเปลี่ยนแปลงในวงการวิทยุหลังมีสื่อออนไลน์เข้ามาว่า มีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก จำได้ว่าตอนจัดรายการเพลงผ่านคลื่นวิทยุเอฟเอ็ม 89.0 เมกะเฮิร์ต “ ไพ เรท ร็อค เรดิโอ “ เปิดสปอร์ตผิดๆ ถูกๆ เราต้องเปิดแผ่นเสียงสลับกับซีดี ตอนนั้นคิดว่าทันสมัยแล้วนะ จนมาถึงตอนนี้เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงทันสมัยขึ้นไปอีก
“เห็นได้ชัด ที่ผ่านมาต้องเดินทางเข้าไปจัดรายการผ่านห้องส่ง แต่ปัจจุบันไม่ต้องจัดในห้องส่งก็ได้“ ศลิลนา บอกว่า นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันใช้วิธีจัดรายการนอกห้องส่งสถานี บางครั้งไม่ได้อยู่ที่บ้าน ติดธุระข้างนอก จัดในรถยนตร์ก็มี จัดข้างทางก็เคย ตอนที่ไปเที่ยวเขาใหญ่ ไปทะเล กลับบ้านที่อุตรดิตถ์จัดรายการจากสถานที่แห่งนั้น หรือแม้แต่ตอนเดินทางไปสถานีไม่ทัน ด้านหนึ่งเป็นเรื่องดีของคนทำงานวิทยุ”
เคยมีคนถามเยอะเหมือนกันว่า เราใช้เทคโนโลยีอย่างไรทำให้ได้ยินเสียงชัดเจน บอกว่าไม่มีอะไรเลย ใช้โทรผ่านไลน์นี่หล่ะ เสียงก็ออกมาดี บางคนนึกว่าเราสร้างห้องส่งภายในบ้าน แต่โดยข้อเท็จจริงไม่มีเลย เราใช้การสื่อสารกับน้องๆที่ออฟฟิศผ่านไลน์ ซึ่งตรงนี้คนอื่นอาจมีวิธีอื่นที่มากกว่านี้ แต่ของเรา ขณะจัดก็ส่งข้อความสื่อสารกับทีมงานได้”
อย่างไรก็ตาม แม้จัดรายการจากพื้นที่ภายนอก แต่รายการส่วนใหญ่มีการไลฟ์สดจากห้องส่งด้วย ถือเป็นไฟท์บังคับทำให้ “ศลิลนา” ยากปฏิเสธรูปแบบดังกล่าว แต่ก็พร้อมปรับตัว
“รายการที่ไปจัดให้ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กอยู่แล้ว เราก็เข้าไปไลฟ์ แต่ก่อน เอไม่ชอบเลย บอกตรงๆเป็นเสน่ห์ของวิทยุ ถ้าอยากดูตัวต้องดูทีวี เพราะตอนเด็กๆเราฟัง เสียงหล่อ เสียงสวย จินตนาการ ดีกว่าเห็นตัวจริง แต่เอาหล่ะ เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไปใครๆก็มีเฟซบุ๊กไลฟ์ กระทั่งเริ่มที่คลื่นFM. 92.5 เมกะเฮิรตซ์ มีไลฟ์ก็ไม่ว่าอะไร ก็มีคนเข้ามาคอมเมนท์ได้เห็นหน้าคร่าตา”
....ข้อเสีย คือ เราอาจลืมในเรื่องการวางตัว ทำกิริยาไม่เหมาะสมบ้าง ซึ่งทำให้คนจัดเกร็งๆ ระมัดระวังตลอดเวลา ไม่ค่อยเป็นตัวของตัวเองเหมือนที่จัดแบบไม่เห็นหน้า เพราะแต่ก่อนที่ยังไม่มีการไลฟ์สด เวลาจัดข่าว เหมือนระเบิดลง มันยุ่งเหยิงมากบางทีต้องส่งซิกคนข้างนอกเราไม่อยากให้คนเห็นกิริยาอาการ ต้องชูมือชูไม้ โหวกเหวกกัน อย่างไรก็ตาม “ศลิลนา-นักจัดรายการมากประสบการณ์”บอกก็ ยอมรับและเข้าใจเพราะเป็นไปตามยุคสมัย
“เราไม่ได้คัดค้านนะ ว่าต้องมีการไลฟ์สดระหว่างจัดรายการวิทยุ เราก็ไลฟ์มาสองที่แล้วทั้งคลื่นเอฟเอ็ม 92.5 กับ 96.5 เมกะเฮิรตซ์ ได้ยินเสียงเห็นหน้าเห็นตามากขึ้น ถ้าคนฟังอยู่ในวิทยุจะได้ยินเสียงในวิทยุ แต่สำหรับคนเล่นเฟซบุ๊กอยู่ ทำให้มีการส่งข้อความแนะนำฟังรายการนั้นรายการนี้ เขาก็เข้ามาดู เพิ่มช่องทางคนฟังสะดวกด้วย เสน่ห์ของวิทยุดังเดิมหายไป แต่ถือเป็นมิติใหม่ ขึ้นอยู่คนชอบแบบไหน” ศลิลนา พูดถึงการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่เกิดขึ้นในวงการวิทยุยุคปัจจุบัน
เธอ บอกด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงอีกประการ คือ วิธีการสื่อสารกับคนฟัง สมัยก่อน พี่วินิจ เลิศรัตนชัย นักจัดรายการวิทยุรุ่นพี่ สอนเรื่องการสนทนากัน ต้องไม่ใช้คำว่า”พี่-น้อง” สื่อสารด้วยภาษาสุภาพ แต่เดี่ยวนี้ สื่อสารเป็นกันเองมากเรียกกันว่า “พี่-น้อง ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางจัดรายการที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอีกอย่างหนึ่ง
แม้เริ่มต้นจากการเป็นนักจัดรายการเพลง ทว่า ชื่อของ “เอ” ศลิลนา ภู่เอี่ยม ติดหูผู้ฟัง เมื่อมาเป็นผู้ดำเนินรายการข่าวผ่านสถานีวิทยุ
“ เราว่า เราไม่ได้ดังจากรายการเพลง จริงๆแล้วเริ่มมีชื่อเสียงจาก FM. 101 ช่วงนั้นเกิดเหตุการณ์วิกฤตหลายอย่าง ตั้งแต่ Hamberger Crisis (ซับไพรม์ ) ขณะที่ในประเทศมีเหตุการณ์ประท้วงการเมืองเมื่อปี 2553 มีการชุมนุมทางการเมืองแรงๆอีกหลายช่วง ทำให้คนสนใจฟังข่าวเยอะ ตอนนั้น FM.101 เปิดโอกาสเต็มที่ มีการเปิดให้รายงานสด ต่อสายตรงกับนักข่าวในพื้นที่ สัมภาษณ์แหล่งข่าว ถ้าจะมีชื่อเสียงจริงๆช่วงนั้นมากกว่า”
จากการเป็นนักจัดรายการเพลง มาเป็นผู้ดำเนินรายการข่าว เธอใช้วิธีเรียนรู้จากผู้ดำเนินรายการเก่งๆ นักวิชาการที่เข้าสายมาพูดคุยให้ข้อมูล รวมถึงการได้รับข้อมูลจากกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ที่สลับสับเปลี่ยนเข้าสายมาพูดคุยทำให้ได้รับข้อมูลหลายแง่มุมได้สั่งสมประสบการณ์ข่าวสารเศรษฐกิจ การเมือง ทำให้รายการเป็นที่นิยม
“จากนักจัดรายการเพลงมาเป็นนักจัดรายการข่าวสารปรับเยอะเลย เผอิญตอนนั้นเราสนใจเรื่องหุ้น ก็เป็นเพียงอ่านข่าวสารเพื่อติดตามความเคลื่อนไหว ไม่ได้อ่านอะไรมากมาย แต่ทางรายการให้เรามารายงานความเคลื่อนไหวหุ้นด้วย พอได้รับมอบหมายก็หาข้อมูล และเรียนรู้จากพี่ ๆ ตอนนั้นคลื่น FM. 101 มีแต่คนเก่งๆทั้งนั้นเลย ได้เรียนรู้จากพี่ๆเหล่านั้น ทั้งการศึกษาเรื่องหุ้น และอาจารย์สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร เรื่องเศรษฐกิจต่างประเทศและเกินกว่าที่คาดคิดว่าเรามาจัดกับอาจารย์ในระยะเวลาอันใกล้ การออกเสียงภาษาอังกฤษได้จากอาจารย์สุดาทิพย์เยอะ ใช้วิธีรับความรู้จากผู้ดำเนินรายการเก่งๆที่เราไปร่วมด้วยและอ่านเพิ่มเติม พอจัดเรื่องหุ้น ก็ไปฟังสัมมนา จัดรายการช่วงแรกๆอาจไม่เข้าที่เข้าทาง พอจัดสักพัก สนุกกว่ารายการเพลง มีฟีดแบคจากผู้ฟังมากขึ้น มีคนติดตามเราทำให้เรามีกำลังใจทำงาน”
สำหรับเส้นทางสายสื่อวิทยุของ ศลิลนา เธอเล่าว่า หลังจากสำเร็จการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นจากงานเขียนบทโทรทัศน์เพื่อนแก้ว และมาอ่านข่าวที่วัฏจักร จากนั้น วินิจ เลิศรัตนชัย ได้ยินเสียงเชิญมาจัดรายการคลื่น FM. 89.0 เมกะเฮิรตซ์ “ ไพเรท ร็อค เรดิโอ “ กระทั่งปี 2539 มาจัดรายการเพลงที่คลิกเรดิโอ ช่วงหนึ่งมาเป็นครีเอทีฟคลื่นข่าว ทางรายการให้โอกาสมาจัดรายการข่าวถึงปัจจุบัน
ความที่เคยเป็นดีเจคลื่นวิทยุมาก่อน เธอสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงในวงการนี้ด้วยว่า “ปัจจุบัน มีนักจัดรายการเพลงจำนวนมาก ช่วงหนึ่งนิยมนำดารามาจัดรายการเพลง เอาคนดังๆมาจัด ได้เรื่องขายง่าย รู้จักเยอะ ไม่ต้องโปรโมทเยอะ จะบอกไม่มีคุณภาพก็ไม่ใช่ คุณภาพขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน ถือเป็นความหลากหลาย แล้วแต่เราจะชอบแบบไหน”
“สมัยที่เราจัดรายการใหม่ๆ คนจัดรายการวิทยุไม่ใช่ง่าย ต้องทำเทปส่งพี่วินิจ ทำแล้วทำเล่า ใช้เวลาตรวจนานอยู่ ต้องซ้อมและส่งเหมือนส่งการบ้านครู แล้วเขาจะแนะนำติติงให้ปรับปรุงตรงไหนกว่าจะมาจัดได้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ มาจัดได้เลย ต้องฝึกซ้อม ฉะนั้นรายละเอียดต่างกับปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันยังเป็นแบบนี้หรือไม่ ไม่กล้าให้ความเห็น”
แม้มีการเกิดขึ้นของนักจัดรายการจำนวนมาก ให้ข้อสังเกตอย่างหนึ่ง “ถ้ามาไม่ใช่ มันไม่ดี ก็ไม่อยู่ไปเอง ฉนั้นคนอยู่ได้ ต้องถือว่ามีของ แต่คนที่มีของแล้วแต่คนชอบนะ เราอาจชอบหรือไม่ชอบก็พูดยากเหมือนกัน”
ยิงคำถามไปว่า สื่อวิทยุ ยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ ในยุคที่มีสื่อหลายช่องทางให้ประชาชนเลือกติดตาม “เราว่าจำเป็นนะ แต่ก่อนอาจมีความเชื่อว่าสื่อหลักแย่แล้ว เอาเป็นว่า เคยได้อ่านบทวิจัยจากนักวิชาการท่านหนึ่งซึ่งเคยนำมาเล่าในช่วงการจัดรายการเพลง เกี่ยวกับพฤติกรรมคนฟังที่ถามว่าฟังอะไรอยู่บ้าง ปรากฎว่า วิทยุนำโด่ง เพราะมันง่าย ขึ้นรถฟังวิทยุ แต่ถ้าจะให้ดูทีวีขึ้นอยู่กับความหรูหราของรถแต่ละคัน “
“สังเกตคนฟัง โดยเฉพาะผู้สูงวัยจะติดวิทยุมากเหมือนเป็นเพื่อน บางคนเคยบอก ไม่ได้อยากจับเนื้อหาสาระอะไรมาก แค่ได้ยินเสียงคุ้นอยากอยู่เป็นเพื่อนกันอะไรแบบนี้ บางช่วงบางตอนก็เคยพูดคุยกันถึงวงการสื่อวิทยุว่าเราอาจไม่ได้ทำ ต้องไปช่องทางอื่น ผู้จัดทุกคนก็เป็นห่วงกลุ่มคนที่มีวิทยุเป็นเพื่อนโดยเฉพาะผู้สูงวัยทั้งหลายที่ไม่รู้เท่าทันเทคโนโลยี ทำให้ เราพยายามทำวิทยุอย่างไรให้อยู่บนคลื่นวิทยุ ไม่ใช่วิทยุที่อยู่บนออนไลน์ แต่ถ้าถามออนไลน์ดีมั้ยก็ดี ไม่ได้รังเกียจ แต่สำหรับเอ วิทยุที่อยู่บนหน้าปัดเป็นคลื่นหลัก เชื่อว่ามีคนฟังจริงๆ อันนี้เป็นประสบการณ์ส่วนตัวและงานวิจัย ที่ว่า “วิทยุยังไม่ตาย”
“คนฟังจะลดลงไหม คนจะชอบพูดว่า ไม่มีคนฟังแล้วหรือไม่ แต่ก็มีแฟนๆส่งข้อความ มาตลอด ทั้งจากแฟนรายการเดิมและแฟนรายการใหม่ คนเคยฟังก็ยังฟังอยู่ เท่าที่สัมผัส มันอาจถูกแย่งไปบ้างจากสื่อช่องทางใหม่แต่เชื่อว่ามีคนฟังอยู่ สื่อวิทยุวันนี้ยังไม่ตายเพราะวิทยุมีเสน่ห์ของมัน
ถ้าคนทำสื่อวิทยุไม่ปรับตัว ฐานคนฟังจะหายไป
“คนฟังจะส่งไลน์ ส่งเฟซบุ๊กคอมเมนท์ แคปข่าวออนไลน์มาให้เรา แล้วถามว่าข่าวเรื่องนั้นจริงหรือไม่ ทำให้เกิดความรู้สึกดี ว่าที่เขาถามเรา แสดงว่าเขาเชื่อถือเรา สิ่งที่เราพูดออกไปน่าเชื่อถือ อย่างเช่น มีการปล่อยข่าวสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 เขาจะแคปข้อมูลมาถามเราว่าจริงหรือไม่ ข่าวที่ออกมาเฟกนิวส์หรือไม่ เป็นความรู้สึกน่าภาคภูมิใจว่าคนฟังเขาเชื่อถือ เขามาถามเรา นี้คือสิ่งที่ต้องมีสื่อวิทยุอยู่"
ดารากาญจน์ ทองลิ่ม
ถัดมาที่อีกหนึ่งนักจัดรายการ-ผู้ประกาศข่าวทางสถานีวิทยุ รวมถึงข่าวโทรทัศน์บางช่วง ที่อยู่ในวงการวิทยุมากว่า 20 ปี มีชื่อติดหูคนฟังทั่วประเทศอีกราย
“ดารากาญจน์ ทองลิ่ม หรือ “โอปอ” ผู้ประกาศข่าวและผู้เรียบเรียงข่าวอาวุโส จากคลื่นวิทยุอสมท. เอฟเอ็ม 100.5 เมกะเฮิรตซ์
เราคุยกันในช่วงที่โควิดฯรอบสองระบาดหนักเวลานี้ ที่สื่อบางสำนักเริ่มให้นักข่าว-กองบก. ใช้วิธีการทำงานแบบ work from home แล้วในส่วนของคนจัดรายการวิทยุ ในช่วงโควิดฯ ระบาด มีผลอย่างไรบ้าง ดารากาญจน์ บอกว่า ที่ผ่านมาพร้อมปรับตัวในทุกสถานการณ์ ตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดไวรัสโควิด -19 เมื่อปีที่แล้ว เกิดกรณี บุคคลภายนอกติดเชื้อโควิด-19 มายัง อสมท. ทำให้ อสมท.ต้องปรับเปลี่ยนใช้สถานที่ภายนอกในการจัดรายการ เทคโนโลยีต่างๆไม่เหมือนกับที่เคยอยู่ในสตูดิโอเดิม
ดารากาญจน์ มองว่า นั่นคือสัญญาณแรกของความไม่แน่นอนต่อวงการวิทยุ โดยต้องพร้อมปรับตัวอยู่เสมอ
“สิ่งที่อสมท.ทำ ด้วยการหารถหรือจัดหาอาคารสำรอง นักจัดรายการสามารถปรับเปลี่ยนสถานที่ดำเนินรายการได้เรื่อยๆ ก่อนนั้นจัดรายการที่อสมท.ชั้น 5 เราต้องหาห้องส่งสำรอง เราต้องรู้เรื่องเทคโนโลยีเพราะไปห้องใหม่ ไม่ใช่ห้องเดิม การบันทึกเสียงต้องเปลี่ยนไปหมดเลย”
ในฐานะที่อยู่ในวงการสื่อวิทยุมายาวนาน เราถามถึงว่าปัจจุบันที่เป็นยุคสื่อใหม่-สื่อโซเชียลมีเดีย แล้วสื่อวิทยุ ที่เป็นสื่อดั้งเดิม จะเป็นอย่างไร
“ดารากาญจน์” ยอมรับว่า สื่อวิทยุ ได้รับความสนใจน้อยลงไปเยอะ พอมีเฟซบุ๊ก สื่อออนไลน์ ทีวีดิจิทัล
“สื่อวิทยุก็เหมือนกับสื่อหนังสือพิมพ์ สื่อโทรทัศน์เก่าๆ สื่อหลักเก่าๆที่คนให้ความสนใจน้อยลงหันไปสนใจสื่อออนไลน์มากกว่า แต่วิทยุปรับเปลี่ยนตอนนี้ เราทำเฟซบุ๊กไลฟ์ เมื่อคนสามารถดูทุกอย่างในมือถือ เพราะฉนั้นไม่ต้องเปิดวิทุยก็ได้ วิทยุออกไปทางเฟซบุ๊กด้วย”
สิ่งนี้คือสิ่งที่วิทยุปรับตัวเข้าสถานการณ์ปัจจุบัน หรือแม้แต่ Podcast มี project ทำแต่ยังไม่ได้เริ่ม นอกจากจัดรายการขึ้นเฟซบุ๊กไลฟ์ เรามีเพจรายการเป็นของเราด้วย ถ้าไม่มีสื่อออนไลน์ก็ไม่ต้องสนใจ แต่พอมีสื่อออนไลน์ต้องถ่ายทอดเพิ่มเติมขึ้นมาเพื่ออัพข้อมูลไปขึ้นเพจด้วย เราเชื่อมโยงสื่อวิทยุเข้าไปในสื่อออนไลน์ด้วย
“เราไม่สามารถปฏิเสธสื่อกระแสใหม่ได้ สื่อกระแสหลักเก่าๆ เราต้องปรับตัวให้เข้ากับสื่อกระแสใหม่ให้ได้ ไม่เช่นนั้นไม่สามารถดึงคนดู คนฟังได้เลย แต่ก่อนนี้ เวลาเราจัดวิทยุ เราจะบอกคนฟังมีอะไรส่งเอสเอ็มเอสมาได้ แต่ตอนนี้ ส่งมาทางไลน์ ทางเฟซบุ๊กได้ คอมเมนท์มาได้ทางเฟซบุ๊ก แปลว่า ตอนจัดรายการต้องดูทั้งเฟซบุ๊ก -ไลน์- เอสเอ็มเอส และอ่านให้คนฟังว่าเราอ่านแล้วทุกช่องทาง ออกอากาศให้คนฟังรู้ว่าเราอ่านแล้ว รู้ว่าดูทุกช่องทางที่คุณส่งมานะ”
อย่างไรก็ตาม “ดารากาญจน์” ยืนยันว่า สื่อวิทยุ ยังจำเป็นต้องมีต่อไป เพราะถือว่า สื่อทีวี วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์คือสื่อกระแสหลักที่เชื่อถือได้ คุณสามารถเชื่อเราได้ ว่าสิ่งที่ออกอากาศผ่านการตรวจสอบแล้ว เรามีกองบรรณาธิการ มีโต๊ะประชุม มีองค์กรน่าเชื่อถือ แต่สื่อออนไลน์สมัยใหม่ fakenews มันเยอะ คุณจะมั่นใจแค่ไหนว่า ข่าวที่อ่านจากสื่อออนไลน์จริงหรือไม่จริง สมมติ ถ้าคุณเปิดวิทยุ เปิดทีวี ช่องที่เป็นกระแสหลักว่าโอเคตรงกับสื่อออนไลน์น่าเชื่อถือ แต่ถ้าสื่อวิทยุ ทีวี หนังสือพิมพ์เค้าพูดไม่ตรงกับสื่อออนไลน์ที่คุณอ่านไป ต้องคิดแล้วว่าต้องเช็คแล้วว่าถูกหรือไม่ถูก ฉะนั้น เชื่อว่า วิทยุ ทีวี หนังสือพิมพ์ ยังเป็นสื่อกระแสหลัก ที่จำเป็นต้องมีเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
อีกอย่างการปรับเปลี่ยนของสื่อวิทยุเพื่อให้อยู่ได้ “ดารากาญจน์” ยอมรับว่า สังเกตุเห็นแต่ก่อนจัดรายการ ไม่เคยต้องพูดแอดโฆษณา แต่ระยะหลัง สถานีจะมีข้อความให้เราพูดโฆษณาสินค้าในรายการ หรือนี่คือการทำเพื่อเป็นอีกช่องทาง
“ดารากาญจน์-ผู้จัดรายการวิทยุทางคลื่นอสมท.” บอกว่า ความท้าทายของสื่อในปี 2564 น่าจะมีมาก สื่อวิทยุคงต้องปรับตัวเยอะ ตอนนี้มีสื่อดิจิทัล สื่อออนไลน์เข้ามาก็ต้องสู้หนัก แค่ไม่มีออนไลน์ สื่อวิทยุ ก็เป็นรองทีวีอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ก็ต้องสู้อีกหลายเท่าตัว ต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง จัดกิจกรรม อีเวนท์เยอะขึ้น จัดกิจกรรมให้คนฟังมีส่วนร่วมบ้าง
“ถ้าไม่ปรับตัว ฐานคนฟังหายแน่ๆ เวลาฐานคนฟังสังเกตจากคนฟังมีฟีดแบ๊กกลับมา สมมติเราบอกเขา ติดตามรายการและแสดงความคิดเห็นกลับมา พบว่าในเฟซบุ๊กจะมีคอมเมนท์ มากกว่าไลน์ และไลน์เยอะกว่าเอสเอ็มเอส ตอบโจทย์ได้ว่าผู้ฟัง ฟังเราที่ไหน ส่วนใหญ่ฟังเราจากเฟซบุ๊ก ถ้าไลน์กับเอสเอ็มเอส คือฟังจากวิทยุ”
ดารากาญจน์ ยอมรับว่า แต่ก่อนไม่เล่นเฟซบุ๊ก แต่สิ่งที่ทำอยู่ หลังๆเหมือนเราต้องคุยกับคนฟังทางเฟซบุ๊ก กลับกลายเป็นว่าเราทำงานต้องมีสื่อทุกอย่าง นี่คือชีวิตเราต้องเปลี่ยนไปตามนั้นด้วย ทั้งที่ผ่านมาเราไม่ต้องโพสต์อะไรเลย แต่ตอนนี้เหมือนกับเราต้องพูดคุยกับคนฟังด้วยนอกจากนี้ สำหรับคนจัดรายการวิทยุ คนทำวิทยุ ในเรื่องเทคนิค ต้องทันโลกให้มากขึ้นไม่ใช่พูดใส่ไมค์ออกอากาศทางวิทยุอย่างเดียว เราต้องดูช่องทางอื่นๆที่พอจะสื่อสารคนฟังได้ด้วย
นอกจากนี้ อยากฝากไว้ว่า “สื่อวิทยุควรจะเป็นช่องทางที่ให้คนฟังได้ตรวจสอบความเป็นจริงของข่าวนั้นๆซึ่งน่าจะทำให้เรามีคุณค่ามากกว่าสื่อออนไลน์ทั่วไปที่เช็คความถูกต้องไม่ได้”
“บางครั้ง คนฟังจะส่งไลน์ ส่งเฟซบุ๊กคอมเมนท์ เขาจะแคปข่าวออนไลน์มาให้เราด้วย แล้วถามว่าข่าวเรื่องนั้นจริงหรือไม่ ทำให้เกิดความรู้สึกดี ว่าที่เขาถามเรา แสดงว่าเขาเชื่อถือเรา สิ่งที่เราพูดออกไปน่าเชื่อถือ อย่างเช่น มีการปล่อยข่าวสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่นั่นที่นี่ เขาจะแคปข้อมูลมาถามเราว่าจริงหรือไม่ ข่าวที่ออกมาเฟกนิวส์หรือไม่ เป็นความรู้สึกน่าภาคภูมิใจว่าคนฟังเขาเชื่อถือเรานะ เขามาถามเรา นี้คือสิ่งที่ต้องมีสื่อวิทยุอยู่"