กระทรวงการคลังสนามข่าวสุดหิน สื่อสายเศรษฐกิจ

....นอกจาก “ข้อมูล” จะเป็นพื้นฐานสำคัญของการทำข่าวแล้ว “แหล่งข่าว” ก็ถือเป็นอีกหัวใจสำคัญของการทำข่าวกระทรวงการคลัง เพราะแหล่งข่าวถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่จะเปลี่ยนให้ข่าวแถลงทั่วไป (ข่าวรูทีน) กลายเป็น “ข่าวซีฟ” ที่มีประเด็นในเชิงลึกมากขึ้น และแตกต่างกับข่าวในหน้าสื่ออื่น ๆ

ครองขวัญ รอดหมวน” ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์-เว็บไซด์ ไทยโพสต์


จากสายงานการทำข่าวหลักๆ ที่แบ่งกันอยู่ปัจจุบัน มีอาทิ เช่น สายการเมือง-สายเศรษฐกิจ-สายสังคม-สายกีฬา-สายบันเทิงวาไรตี้ เป็นต้น

โดยในส่วนของ”นักข่าวสายเศรษฐกิจ”จะมีอาทิเช่น นักข่าวประจำกระทรวงการคลัง-นักข่าวสายธนาคารแห่งประเทศไทยหรือเรียกกันสายแบงค์ชาติ-นักข่าวสายกระทรวงคมนาคม -นักข่าวสายตลาดหุ้นหรือสายตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย -นักข่าวสายพลังงาน ที่จะรับผิดชอบข่าวกระทรวงพลังงาน เป็นต้น

ซึ่งเป็นที่รู้กันในนักข่าวสายเศรษฐกิจว่า สายกระทรวงการคลัง ถือว่าเป็น”สายแข็ง-สนามหิน”ของนักข่าวสายเศรษฐกิจแห่งหนึ่ง  โดยนักข่าวที่จะไปทำข่าวประจำที่กระทรวงการคลังได้ ต้องเป็นนักข่าวที่ต้อง”มีของ”อยู่พอสมควร

ขณะที่แวดวงการเมือง เป็นที่รู้กันดีว่า กระทรวงการคลัง ถือเป็นกระทรวงใหญ่-กระทรวงเกรดเอ  ที่นักการเมือง -พรรคการเมือง ต่างก็ต้องการเข้าไปนั่งบริหารงานในกระทรวงการคลัง เพราะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาล รวมถึงเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดทิศทางความเป็นไปทางเศรษฐกิจและการเงินการคลังของประเทศ

อย่างในช่วงที่ผ่านมาที่มีแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ที่เป็นการระบาดรอบสอง ทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างกับประชาชนทุกภาคส่วน กระทรวงการคลัง คือหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการออกมาตรการกระตุ้น ฟื้นฟูและเยียวยา ทั้งในส่วนของภาคเศรษฐกิจ ภาคการลงทุนและภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดโควิดฯ ของรัฐบาล (มาตรการล็อกดาวน์) ด้วยการออกโครงการต่างๆ ของรัฐบาลออกมาหลายโครงการ เช่น โครงการคนละครึ่ง โดยแต่ละโครงการก็ใช้งบประมาณในการดำเนินการหลายหมื่นล้านบาท  

  ด้วยเหตุนี้ การทำข่าวกระทรวงการคลัง จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารออกมาให้ประชาชนรับรู้  

 “ทีมข่าวเพจจุลสารราชดำเนิน-สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” พาไปเกาะติดวิธีการทำข่าวของ “นักข่าวกระทรวงการคลัง” ผ่านการบอกเล่าของนักข่าวประจำกระทรวงการคลังสองคน ที่ปักหลักทำข่าวที่กระทรวงการคลังมาเกินสิบปีขึ้นไป

เริ่มที่ ขวัญ -ครองขวัญ รอดหมวน ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์-เว็บไซด์ ไทยโพสต์ สายเศรษฐกิจ ประจำกระทรวงการคลัง เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ในการทำงาน ว่า ทำข่าวเศรษฐกิจ ประจำกระทรวงการคลังมากว่า 11 ปีแล้ว โดยการมาทำข่าวที่กระทรวงการคลังครั้งแรก ยอมรับว่าทุกอย่างยากไปหมด ต้องใช้ความรู้ ความเข้าใจค่อนข้างมาก เพราะแต่ละเรื่องราว แต่ละข่าวล้วนเป็นสิ่งที่ยังรู้สึกว่าไกลตัวค่อนข้างมาก

“ก่อนหน้านี้เป็นนักข่าวเศรษฐกิจ ประจำสายหุ้น ตัวเลขส่วนใหญ่เกี่ยวกับการลงทุนของนักลงทุนในตลาดหุ้น ก่อนที่จะโยกย้ายมาประจำที่กระทรวงการคลัง เริ่มต้นข่าวแรกคือ การแถลงข่าวของกรมสรรพากร ต้องยอมรับว่า งงมาก ไม่เข้าใจมาก ๆ แต่ก็ได้ความช่วยเหลือจากรุ่นพี่นักข่าวประจำกระทรวงการคลังหลายคนคอยชี้แนะเกี่ยวกับประเด็น คอยสอนในจุดที่ไม่เข้าใจ ทำให้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี”

 ครองขวัญ” เล่าอีกว่า “การทำการบ้าน” จึงเป็นการเตรียมความพร้อม และถือเป็นอีกหัวใจสำคัญของการทำข่าวกระทรวงการคลัง เพราะข่าวส่วนใหญ่เกี่ยวกับภาษี กฎหมายต่าง ๆ ตัวเลขงบประมาณ นโยบายด้านเศรษฐกิจ ซึ่งบางครั้งก็เกี่ยวโยงกับกระทรวงหรือหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งที่เป็นของภาครัฐ องค์อิสระ และภาคเอกชน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจ การเตรียมความพร้อมด้วยการอ่านข้อมูล อ่านข่าวเก่า-ปัจจุบันที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้เป็นพื้นฐาน และเป็นการเติมเต็มความรู้ความเข้าใจในการเตรียมพร้อมกับการทำงานในแต่ละวันจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

  .....นอกจาก “ข้อมูล” จะเป็นพื้นฐานสำคัญของการทำข่าวแล้ว “แหล่งข่าว” ก็ถือเป็นอีกหัวใจสำคัญของการทำข่าวกระทรวงการคลัง เพราะแหล่งข่าวถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่จะเปลี่ยนให้ข่าวแถลงทั่วไป (ข่าวรูทีน) กลายเป็น “ข่าวซีฟ” ที่มีประเด็นในเชิงลึกมากขึ้น และแตกต่างกับข่าวในหน้าสื่ออื่น ๆ โดยแหล่งข่าว ไม่ได้หมายถึงเฉพาะผู้บริหารของแต่ละหน่วยงานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบุคลากรในหน่วยงานในลำดับขั้นต่าง ๆ ไปจนถึงแม่บ้าน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ก็จัดว่าเป็นแหล่งข่าวที่สามารถให้ข้อมูลในมิติต่าง ๆ ได้เช่นกัน ดังนั้นการเข้าไปทำความรู้จัก พูดคุย เพื่อสร้างความสนิทสนม และความไว้ใจจึงเป็นเรื่องสำคัญของการสร้างแหล่งข่าวเฉพาะตัว

 การสร้างความไว้ใจ เป็นอีกเรื่องที่สำคัญในการสร้างแหล่งข่าว การเข้าไปพูดคุยในเรื่องต่าง ๆ มุมมองต่าง ๆ มิติต่าง ๆ ไม่เพียงเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดี ยังเป็นการสร้างความคุ้นเคย เมื่อคุ้นเคยกันแล้ว การพูดคุยเพื่อขอข้อมูลข่าวในประเด็นต่าง ๆ ก็จะทำได้ง่ายขึ้น แต่ข้อมูลเชิงลึกหลาย ๆ ประเด็นก็อาจจะมีการพิจารณาในการนำเสนอออกมาอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนให้กับแหล่งข่าวด้วย

  ในส่วนวิธีการทำข่าวของนักข่าวกระทรวงการคลังอาจจะไม่ได้แตกต่างวิธีการทำข่าวของสื่อสายอื่น ๆ มากนัก เช่น ในงานแถลงข่าวก็จะไม่ได้ทำข่าวแค่ประเด็นในการจัดงานเท่านั้น แต่นักข่าวจะมีการถามนอกรอบในประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วประเด็นข่าวของกระทรวงการคลังที่มักได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก อาทิ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับปากท้องของประชาชน และภาคธุรกิจ มาตรการด้านภาษีต่าง ๆ

   ....อย่างในขณะนี้ ข่าวที่เกี่ยวกับกระทรวงการคลัง ที่เป็นกระแสและได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก คงหนีไม่พ้นมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ผ่านโครงการต่างๆ อาทิเช่น โครงการคนละครึ่ง- โครงการเราเที่ยวด้วยกัน -โครงการเราชนะ ที่เป็นมาตรการในการจ่ายเงินเยียวยาให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ส่วนข่าวด้านภาษีที่ในทุก ๆ ช่วงของปีจะต้องเกิดเป็นประเด็นให้คนสนใจ คือ การขยายเวลาการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) เหลือ 7% จาก 10% ถือเป็นประเด็นที่ในทุก ๆ ปี นักข่าวกระทรวงการคลังจะต้องมีการเขียนข่าวเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นนี้อยู่เสมอ

  “ครองขวัญ” บอกเล่าถึงสภาพการทำงานของนักข่าวประจำกระทรวงการคลังในปัจจุบันว่า ปัจจุบันมีนักข่าวประจำกระทรวงการคลัง ที่ประจำแบบหลัก ๆเลยจะมี นักข่าวจากสื่อหนังสือพิมพ์ ประจำอยู่ ประมาณ 10 ฉบับ นอกจากนั้นจะเป็นนักข่าวออนไลน์ ประมาณ 3-4 สำนักข่าว และสื่อโทรทัศน์เกือบทุกสถานีที่จะวนเวียนมาทำข่าวที่กระทรวงการคลังอยู่สม่ำเสมอ

  ....ต้องยอมรับว่ามีการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านนักข่าวประจำกระทรวงการคลังค่อนข้างมาก ในอดีตกระทรวงการคลังมีนักข่าวที่อยู่ประจำมากกว่านี้ แต่ด้วยยุคสมัย เทคโนโลยี พฤติกรรมของผู้บริโภค และสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ก็มีผลทำให้นักข่าวประจำกระทรวงการคลังมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

 “เมื่อก่อนนักข่าวประจำกระทรวงการคลังจะมีจำนวนมากกว่านี้ แต่ช่วงหลัง ๆ มานี้ หลายคนที่เปลี่ยนอาชีพจากสื่อมวลชนไปเดินในเส้นทางอื่น ๆ บ้าง หรือบางสำนักพิมพ์ก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ไปเน้นออนไลน์มากขึ้น ส่งผลทำให้มีการปรับโครงสร้างบุคลากรบ้าง และด้วยเทคโนโลยี กระแสโซเชียลมีเดียที่มาแรง ก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้วงการข่าวถูกดิสรัปชันไปบ้าง จึงเป็นเหตุผลให้นักข่าวประจำกระทรวงการคลังมีจำนวนลดน้อยถอยลงอย่างในปัจจุบัน”

  ....แน่นอนว่าเมื่อนักข่าวรุ่นเก่า ๆ ได้หมุนเวียนเปลี่ยนไป ก็ย่อมจะมีนักข่าวรุ่นใหม่ ๆ เข้ามา และการทำงานข่าวกระทรวงการคลังไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากการอ่านเพื่อเตรียมความพร้อม สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็น และความคืบหน้าในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังแล้ว การ “สอบถาม” จากรุ่นพี่นักข่าวในประเด็นที่นักข่าวใหม่อาจจะยังไม่เข้าใจก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยให้นักข่าวรุ่นใหม่ ๆ สามารถทำงานได้ง่ายขึ้น

  “ในช่วงที่เข้ามาทำข่าวที่กระทรวงการคลังแรก ๆ มีหลายประเด็นที่ไม่เข้าใจมาก ๆ นอกจากการอ่านข่าว การค้นคว้าหาข้อมูลจากในอินเตอร์เน็ต การสอบถามเพิ่มเติมจากแหล่งข่าวแล้ว การสอบถามจากรุ่นพี่นักข่าวเก่า ๆ ของกระทรวงการคลังก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้น ซึ่งพี่ ๆ นักข่าวในห้องนักข่าวกระทรวงการคลังทุกคนใจดี และพร้อมช่วยเหลือและให้คำตอบทุกครั้งในเรื่องที่สงสัย”ครองขวัญ บอกเล่าเรื่องราวการทำข่าวที่กระทรวงการคลัง

สนามข่าวก.คลังเวทีแห่งการฝึกฝนเขี้ยวเล็บ

ด้าน”พรเทพ อินพรหม-เฮง  ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ข่าวสด สายเศรษฐกิจ ประจำกระทรวงการคลัง” ซึ่งใช้ชีวิตเป็นนักข่าวประจำกระทรวงการคลังมากว่า 12 ปี เล่าถึงประสบการณ์การทำงานข่าวที่กระทรวงการคลังว่า ช่วงแรก ๆ ที่ได้รับโอกาสให้เข้ามาทำข่าวที่กระทรวงการคลัง ยอมรับว่าเป็นอะไรที่ยากมาก ส่วนหนึ่งเพราะไม่ได้มีพื้นฐานความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ หรือด้านเศรษฐกิจมามากนัก เพราะเรียนมาทางด้านนิเทศศาสตร์มา ทำให้ความเข้าใจในเรื่องของกระทรวงการคลังเป็นอะไรที่ค่อนข้างยาก

 ....แต่เมื่อได้รับโอกาสให้เข้ามาอยู่ในจุดนี้ ก็ต้องพยายามปรับตัว โดยเริ่มเรียนรู้ระบบต่าง ๆ ของกระทรวงการคลัง หน่วยงานทั้งหมดมีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับอะไร ยอมรับว่าต้องใช้เวลาปรับตัวอย่างน้อย 1-2 ปี กว่าจะเริ่มเข้าใจในส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับข่าวของกระทรวงการคลังมากขึ้น อีกเรื่องที่ต้องทำคือ “การอ่าน” เรียกว่าเป็นอะไรที่ต้องเน้นมาก ๆ อ่านเยอะ ๆ อ่านเพื่อให้เข้าใจ อ่านเพื่อให้อัพเดท และอ่านเพื่อนำไปต่อยอดการทำข่าว

 “การอ่าน ถือเป็นเรื่องพื้นฐานสำหรับนักข่าวทุกคน แต่โดยส่วนตัวในการทำข่าวกระทรวงการคลังอาจจะต้องอ่านมากขึ้นเป็นพิเศษ เพราะข่าวของกระทรวงการคลังมีรายละเอียดเยอะมาก ในประเด็นหนึ่งมีข้อมูลจำนวนมาก การอ่านเพื่อสร้างความเข้าใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ หลังจากนั้นจะต้องจับประเด็นให้ได้ เพื่อที่จะได้รู้ว่าเราจะเล่า หรือนำเสนอประเด็นอะไรให้ประชาชนได้รับรู้”

“เฮง พรเทพ” เล่าว่า ประเด็นข่าวส่วนใหญ่ของกระทรวงการคลังเป็นเรื่องที่อยู่ในกระแส และได้รับความสนใจอย่างมาก และบางครั้งบางประเด็นไม่ใช่เรื่องของกระทรวงการคลังโดยตรง แต่ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง ก็เป็นเรื่องที่ต้องตามต่อ ดังนั้นพื้นฐานการอ่านจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อนำมาต่อยอดการทำงานโดยตรง 

....ส่วนวิธีการหาข่าว โดยเฉพาะข่าวซีฟ ประเด็นเจาะต่าง ๆ สิ่งสำคัญคือ “การสร้างแหล่งข่าว” ในฐานะนักข่าว เราจะต้องกล้า กล้าที่จะคุย กล้าที่จะถาม แต่ในความกล้านั้นทุกอย่างจะต้องค่อยเป็น ค่อยไป ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องถามคำถามเยอะ ๆ แต่สิ่งแรกคือ จะต้องรู้ว่าเราจะนำเสนอประเด็นอะไร เพื่อที่จะได้รู้ว่าควรจะถามอะไร จึงค่อย ๆ เก็บรายละเอียดของประเด็น ทั้งหมดนั้นหมายถึง ต้องดูว่าคนอ่านของเราอยากรู้อะไร สงสัยอะไร อยากอ่านอะไร เพื่อที่จำเป็นแนวทางให้เราได้รู้ว่า ในฐานะนักข่าวเราควรจะถามอะไร!

เมื่อสร้างแหล่งข่าวที่ไว้ใจได้แล้ว การวางตัวกับแหล่งข่าวก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ ไม่เพียงการพยายามเป็นผู้ถามที่ดีเท่านั้น แต่การวางตัวเป็นผู้ฟังที่ดีก็สำคัญไม่แพ้กัน ต้องพยายามรับฟังสิ่งที่แหล่งข่าวกำลังสื่อออกมาให้มากที่สุด ไม่ทำตัวเหนือแหล่งข่าว พยายามสร้างความไว้ใจให้แหล่งข่าว เพื่อให้แหล่งข่าวไว้ใจที่จะให้ข่าวสำคัญกับเรา

 “นักข่าวประจำกระทรวงการคลังจากนสพ.ข่าวสด”บอกเล่าต่อไปว่า บรรยากาศในการทำข่าวกระทรวงการคลัง ต้องบอกว่าค่อนข้างสนุกและท้าทาย ด้วยเพราะหลัก ๆ เป็นประเด็นใหญ่ ที่คนให้ความสนใจ ทำให้มีสำนักข่าวต่าง ๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ให้ความสนใจมาทำข่าวที่กระทรวงการคลังค่อนข้างมาก การช่วงชิงจังหวะและโอกาสในการถามแหล่งข่าวเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก เพื่อให้ได้มาซึ่งประเด็นที่เราต้องการจะสื่อสารกับผู้อ่าน ทั้งหมดถือเป็นการฝึกฝนเขี้ยวเล็บในการทำข่าว เพราะทุกวันของอาชีพนักข่าวคือการเรียนรู้ การฝึกฝน การอ่าน การทำการบ้านทั้งหมด จึงเหมือนเป็นบทเรียนสำคัญของการทำงานในอาชีพนักข่าวนั่นเอง

 “อย่างไรก็ดี ในกระบวนการทำข่าวทั้งหมด ท้ายที่สุดกระบวนการคิดเพื่อกลั่นกรองออกมาเป็นข่าวแต่ละข่าวนั้น สิ่งสำคัญคือ ข่าวแต่ละข่าวจะเป็นประโยชน์อย่างไรกับคนอ่าน และสังคม ไม่ใช่การทำข่าวเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับตัวแหล่งข่าว หรือนักข่าวเอง นั่นคือเรื่องสำคัญที่สุด”พรเทพ กล่าวทิ้งท้าย

 ทั้งนี้ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง ซึ่งแบ่งตามกลุ่มภารกิจ ประกอบด้วย กลุ่มภารกิจด้านทรัพย์สิน ได้แก่ กรมธนารักษ์ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กลุ่มภารกิจด้านรายได้ ได้แก่ กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต และกรมสรรพากรและกลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน ได้แก่ กรมบัญชีกลาง และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

อีกทั้งยังมี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่มีภารกิจในการเสนอแนะและออกแบบนโยบาย รวมถึงมาตรการด้านการคลัง ระบบการเงิน ไปจนถึงเศรษฐกิจมหภาค เศรษฐกิจระหว่างประเทศที่มีคุณภาพต่อกระทรวงการคลัง

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ #Thaijournalistsassociation

#จุลสารราชดำเนิน