“นักข่าวภูมิภาค” ไม่ปรับตัว อยู่ลำบาก

“นักข่าวภูมิภาค” ไม่ปรับตัว อยู่ลำบาก

ปรากฏการของสื่อ “สื่อพลเมือง” ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นทุกวัน  นับเป็นการปฏิวัติวงการสื่อสาร  จนเป็นแรงผลักดันให้  สื่อสิ่งพิมพ์ กระทั่ง การเรียนการสอนในสาขาวารสารศาสตร์ที่ย่ำอยู่ในกรอบคิดเดิม ๆ ต้องปรับตัวขนานใหญ่

“ทีวีไทย” สื่อสาธารณะแห่งแรกของประเทศถือเป็นสื่อแรก ๆ ที่เปิดพื้นที่ชุมชนนำเสนอปัญหาของตนเองในฐานะ “นักข่าวพลเมือง” จนเป็นที่เลื่องลือ  โดยกระตุ้นให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ถึงการทำข่าว  เป็นปากเสียงให้ชุมชนตัวเอง  จนต่อมานักข่าวพลเมืองได้ผุดขึ้นตามเว็บไซต์ต่าง ๆ มากมายอย่างเข้มข้น และหลากหลาย

สมเกียรติ  จันทรศรีมา  ผู้อำนวยการสำนักเครือข่าวสื่อประชาคม  และหัวหน้าโต๊ะนักข่าวพลเมือง ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ บอกว่านักข่าวพลเมืองในจอทีวีไทย  เกิดขึ้นบนฐานความคิดที่ว่า ต้องการพัฒนาศักยภาพของพลเมืองที่มีจิตสาธารณะ  และเห็นความสำคัญของการสื่อสาธารณะเพื่อสามารถถ่ายทอดเรื่องราวหลายแง่มุมของชุมชนสู่สังคมวงกว้างได้ โดยเปิดพื้นที่ให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มเฉพาะต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในทุกระดับ  นอกจากเพื่อประโยชน์สาธารณะแล้ว  ยังสอดคล้องกับพันธกิจของทีวีไทย  ที่ต้องการส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมของประชาชน ในการสร้างสังคมประชาธิปไตย

สมเกียรติ ระบุว่า การปรากฏตัวของนักข่าวพลเมือง  ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและมีราคาถูกลงทำให้เครื่องมือเพื่อการสื่อสาร อาทิเช่น กล้องดิจิตอล กล้องถ่ายภาพ เครื่องคอมพิวเตอร์โปรแกรมการแต่งภาพเป็นสิ่งที่คนทั่วไป  เข้าถึงได้ไม่ยากจนเกิดการเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายทั้งที่เกิดขึ้นบนพื้นที่บนสื่อใหม่  ตัวอย่างเช่น  เว็บไซต์ อีเมล์ สื่อมัลติมีเดีย  โดยไม่เกี่ยว ข้องกับสื่อกระแสหลัก  และมีจำนวนไม่น้อยที่เชื่อมต่อด้วยตัวเองเข้าเป็นเครือข่ายการสื่อสารกับสื่อกระแสหลัก  อาทิ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ซึ่งผลของการสื่อสารขับเคลื่อนดังกล่าวข้างต้นก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมมาก

สำหรับนักข่าวพลเมืองทีวีไทย  สมเกียรติแจกแจงว่า  ทำงานในลักษณะจิตอาสา ไม่ได้รับค่าตอบแทน  เนื้อหาเกิดขึ้นโดยริเริ่มจากพื้นที่  ปรึกษาหารือกับทีมผลิตกับโต๊ะข่าวพลเมือง  ทั้งในเชิงประเด็นการนำเสนอ การนำเสนอ การผลิตงาน ทำให้ในช่วง 1 ปี 4 เดือนที่ผ่านมา คือ มิถุนายน 2551-ตุลาคม 2552 มีงานออกมากว่า 300 ชิ้น “นักข่าวพลเมือง  มาจากกลุ่มคนที่หลายๆทั่วประเทศ ทั้งชาวบ้านทั่วไป เด็ก เยาวชน ครู อาจารย์ นักศึกษา นักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน  นักสื่อสารชุมชน ผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร ตัวแทน กลุ่มปัญหาทางสังคม กลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มชาติพันธุ์ ชาวเล ฯลฯ พัฒนาเป็นเครือข่ายนักข่าวพลเมือง ทำหน้าที่สื่อสาธารณะเคียงบ่าเคียงไหล่ไม่แพ้นักข่าวมืออาชีพ ”

สมเกียรติ บอกว่า ทีวีไทยยังไม่ได้ผลิตงานกับนักข่าวพลเมืองด้วยกัน อาทิเช่น เกาะติดการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ซึ่งทีมนักข่าวพลเมืองหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ ทำข่าวและรายงานสดทางโทรทัศน์มาบยังสถานี หรือรายการข่าวที่วางแผนร่วมกัน ตัวอย่างเช่น  เกาะติดประเด็นคนเสมือนไร้สัญชาติ  รวมถึงกรณีการต่อสู้เรื่อง  ที่ดินพัสดุของชาวนาตำบลคลองโยก อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม จนนำไปสู่การเปิดเวทีสาธารณะให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเพื่อหาทางออก

นอกจากทีวีไทยแล้ว “เว็บไซต์” ซึ่งเป็นสื่อใหม่ที่นักข่าวพลเมืองที่เข้ามาเปิดพื้นที่มากขึ้นในแต่ละเดือนจึงมีเว็บไซต์คนข่าวชาวบ้าน  ผุดขึ้นไม่น้อยเพื่อนำเสนอปัญหาของชุมชนตนเอง หรือเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาพัฒนากระแสรองอย่าง คนชายขอบ www.fringer.org กระทั่งเว็บไซต์น้องใหม่ที่นำเสนอเนื้อหาประชาธิปไตยอย่าง www.openthaidemocracy.com “สำหรับข่าวชาวบ้าน” www.people-press.in.th อีกเว็บไซต์หนึ่งที่ประสบความสำเร็จสามารถสร้างนักข่าวชุมชนขึ้นมาหลายรุ่น และยังประสานรอยร้าวในชุมชนได้ในระดับที่น่าพอใจ

ฐิตินบ โกมลนิมิ ผู้ร่วมก่อตั้งสำนักข่าวชาวบ้าน  บอกว่า การก่อกำเนิดสำนักข่าวแห่งนี้มีขึ้นภายใต้สโลแกน “พลังสื่อขับเคลื่อนในมือคุณ” ก่อร่างจากกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่เคยผ่านการทำงานอาชีพสื่อกระแสหลัก  จนเห็นว่าพื้นที่สื่อไม่ได้ตอบโจทย์ชาวบ้าน  หรือเรื่องราวของคนตัวเล็ก ๆ ดังนั้นจึงสร้างพื้นที่ใหม่ที่สามารถบอกเล่าความเคลื่อนไหวและการต่อสู้ของชาวบ้านในประเด็นปัญหาต่าง ๆ โดยมีสำนักข่าวชาวบ้านเป็นตัวกลางเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างชาวบ้าน สื่อท้องถิ่น และสื่อกระแสหลัก

“วิธีคิดของสำนักข่าวชาวบ้าน จะต่างจากสื่อเดิม ๆ คือ สื่อเดิมจะคิดเสมอว่าไม่ได้รู้ แต่รู้ว่าจะต้องไปถามผู้รู้  แต่สำนักข่าวชาวบ้านคิดว่าการคิดเพียงแค่นี้กลับไม่เพียงพอ  จึงคิดว่าจำเป็นต้องดึงคนที่รู้เข้ามาทำข่าวด้วย” เธอบอกว่า กระแสการเกิดขึ้นของนักข่าวพลเมืองเป็นเพราะพื้นที่ปรากฏตัวบนสื่อจะเอื้ออำนวย เฉพาะคนตัวใหญ่ในสังคมเท่านั้น  ที่ผ่านมาหากคนเล็ก ๆ ในสังคมอย่างเป็นข่าวเพื่อให้สื่อกระแสหลัก ก็ต้อง ปีนทำเนียบ ปิดถนน ซึ่งเรื่องนี้ต้องหันกลับมาวิพากษ์สื่อมวลชนว่า ทำไมต้องรอให้ชาวบ้านปิดถนนถึงเป็นข่าว และต้องรอให้เดือดร้อนก่อน หรือชาวบ้านที่เป็นประโยชน์จะไม่มีวันได้ถูกนำเสนอเป็นข่าว

“การกำเนิดของนักข่าวพลเมืองถือเป็นเรื่องที่ดี  ที่จะทำให้สื่อกระแสหลักปรับตัว แต่สิ่งที่น่าฉุนคิดมากที่สุด คือ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องปรับเปลี่ยน  และพัฒนาคน และแนวคิดของคนที่กำลังจะก้าวมาสู่การเป็นนักข่าวที่ดี ”

นี่เป็นคำถามดัง ๆ ที่โยนใส่วงการวิชาชีพสื่อมวลชนทั้งในระดับ บรรณาธิการข่าว หัวหน้าข่าว กระทั่งตัวนักข่าว รวมถึง อาจารย์นิเทศศาสตร์ในมหาวิทยาลัย  ต้นทางสอนเด็กเข้าสู่วงการนักข่าว

หันมาดุความเห็นจากสื่อสิงพิมพ์กันบ้างยักษ์ใหญ่หัวเขียว  “ดำฤทธิ์ วิริยะกุล” รักษาการบรรณาธิการข่าวภูมิภาค หนังสือพิมพ์ไทยรับ ซึ่งเป็นสื่อวิ่งพิมพ์ที่มีผู้สื่อข่าวภูมิภาคกระจายอยู่ทั่วประเทศมากที่สุด  มองว่าการที่ภาคประชาชนลุกขึ้นมาทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าว  เสนอข่าวสารในพื้นที่หรือชุมชนของตัวเอง  เป็นปรากฏการหน้าสนใจและเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี  เพราะเท่ากับว่าประชาชนได้เปลี่ยนสถานะจากผู้บริโภค  มาเป็นผู้เสนอข่าวเอง

ดำฤทธิ์ บอกว่า ประชาชนที่มาทำข่าวพลเมืองส่วนใหญ่จะเป็นคนในพื้นที่ซึ่งเข้าใจปัญหาของพื้นที่  อาทิเช่น ผลกระทบสิ่งแวดล้อม  ปัญหาชุมชน ความเดือดร้อนในเรื่องต่าง ๆ ที่ภาครัฐไม่ได้เหลียวแล  ซึ่งบางเรื่องเป็นเรื่องที่คนในพื้นที่เดือดร้อนมานานแล้ว  แต่สื่อกระแสหลักไม่ได้ให้พื้นที่กับพวกเขา  หรือนักข่าวภูมิภาค ละเลยการนำเสนอเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องของชุมชน  อีกทั้ง เมื่อนำเสนอข่าวในกระแสหลัก  คนก็ยังไม่สนใจ  ทั้งที่บางเรื่องหานำเสนอรอบด้านหรือเจาะลึก  เป็นประเด็นข่าวที่ดีได้

อย่างไรก็ตาม ดำฤทธิ์ ให้แง่คิดว่า สิ่งสำคัญที่ตัวนักข่าวพลเมืองและสื่อที่ทำข่าวพลเมืองควรระมัดระวัง คือ การเสนอข่าวที่ต้องรอบด้านไม่กระทบกับสิทธิชื่อเสียงของคนอื่น  และต้องตรวจสอบข่าวก่อนว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร  เป็นการนำเสนอข่าวด้านเดียวหรือไม่

“ปัจจุบันเนื้อหาข่าวพลเมืองส่วนใหญ่ไปเป็นในรูปการร้องทุกข์ของชาวบ้านในต่างจังหวัด  ปัญหาในชุมชน  สื่อก็ต้องคิดกันต่อไปว่าทำอย่างไรเราจึงจะพัฒนาข่าวพลเมืองให้มีศักยภาพมากกว่านั้น” ดำฤทธิ์ ระบุ

ในฐานะรับผิดชอบกองบรรณาธิการข่าวภูมิภาค ซึ่งมีผู้สื่อข่าวอยู่เป็นจำนวนมาก  การเกิดขึ้นของนักข่าวพลเมือง  ทำให้นักข่าวภูมิภาคได้รับผลกระทบหรือไม่นั้น ดำฤทธิ์ ย้ำหนักแน่นว่า ไม่มีผลกระทบเพราะวิธีการนำเสนอของนักข่าวภูมิภาคกับข่าวพลเมืองต่างกัน

“ข่าวภูมิภาคจะเน้นภาพใหญ่ของจังหวัดและอาจมีผลกระทบเป็นข่าวระดับชาติได้  แต่ข่าวพลเมืองคือข่าวซึ่งที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าประชาชนต้องการบอกเล่าถึงวิถีชุมชน ชีวิต วัฒนธรรม หรือ ปัญหาในชุมชน  แต่ก็อาจมีผลทำให้นักข่าวภูมิภาคต้องปรับตัวเอง  หรือวิธีการทำงานให้รอบด้านมากขึ้น คือ บางประเด็นที่ก่อนหน้านี้เขาอาจมองข้าม  แต่เมื่อข่าวพลเมืองนำเสนอออกมาแล้วเป็นเรื่องในพื้นที่ซึ่งคนสนใจ  เขาก็อาจนำสิ่งนี้มาคิดเพื่อขยายผลเป็นประเด็นข่าวภูมิภาคได้”

กระนั้นเขาเห็นว่า  ทุกคนอยากเห็นข่าวพลเมืองพัฒนาขึ้นแน่นอน  เพียงแต่การทำข่าวต้องมองให้รอบด้าน  ระมัดระวังการนำเสนอในบางเรื่อง ตรวจสอบก่อน  ถ้าเป็นไปได้ทุกองค์กรควรเปิดพื้นที่ตรงนี้ให้มากขึ้น ส่วนองค์กรวิชาชีพสื่อ หรือ องค์กรที่นำข่าวพลเมืองไปนำเสนอก็ควรต้องช่วยกันทำให้ศักยภาพของนักข่าวพลเมืองดีขึ้น เช่น ฝึกอบรมการนำเสนอข่าว

ขณะที่ “พีรยุ  ดีประเสริฐ” บรรณาธิการข่าวการศึกษา-คุณภาพชีวิต หนังสือพิมพ์เอเอสทีวี ผู้จัดการรายวัน  เห็นเช่นกันว่า  นักข่าวพลเมืองเป็นเรื่องที่ดี ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรายงานสถานการณ์และช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่  แต่ที่เป็นห่วงคือ การนำเสนอของพลเมืองต้องรอบด้าน  และตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน

“อย่างหนังสือพิมพ์ของเรา  พอมีข่าวร้องเรียนของผู้บริโภคเข้ามา  นักข่าวก็จะไปตรวจสอบข้อมูลว่าเป็นอย่างที่ร้องเรียนมาหรือไม่  ถามว่าเป็นเรื่อข่าวพลเมืองได้ไหม เพราะหลักการเป็นนักข่าวพลเมืองในความคิดมันน่าจะกว้างกว่านี้ไม่ใช่เอาไมค์ไปจ่อแล้วพูด  เพราะบางทีมันสุมเสียงต่อข้อมูลที่ไม่จริง  มันน่าจะเป็นการสื่อสารระหว่างสื่อกับผู้ที่เดือดร้อนในชุมชน  ซึ่งมันมีหลายวิธีในการเสนอ อย่างทีวีไทยตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ชาวบ้านนำเสนอมาจริงแค่ไหน  ผมเชื่อว่าชาวบ้านพูดจริงแต่ว่าก็ต้องมีการตรวจสอบเช่นกันด้วย”

“พีรยุ” ให้มุมมองว่า เรื่องกระบวนการทำข่าว เขียนข่าว พบว่าที่ผ่านมาประชาชนทำข่าวได้ เพียงแต่ว่าทำอย่างไรให้นักข่าวสนใจ  ทั้งเรื่องเทคนิคการถ่ายภาพ การเรียนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวรการคิด  แต่ไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะถ้าถ่ายภาพห่วยก็เป็นข่าวเหมือนกัน สำคัญอยู่ที่ข่าวนั้นต้องประเด็นดี

อีกหนึ่งความเห็นจากสื่อสิ่งพิมพ์แนวเศรษฐกิจ “สมชาย  บุญเหลือ” ผู้ช่วยบรรณธิการข่าวภูมิภาค หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ก็สนับสนุนให้สื่อกระแสหลักทั้งทีวี วิทยุ หรืออินเตอร์เน็ตให้พื้นที่กับข่าวพลเมืองมากกว่าที่เป็นอยู่  เพราะข่าวแบบนี้ คนทำข่าวคือชาวบ้านย่อมมีความเข้าใจในสิ่งที่นำเสนออย่างแท้จริงไม่ได้ ทำข่าวแบบฉาบฉวย เหมือนนักข่าวส่วนกลางที่ลงไปทำข่าว แม้แต่นักข่าภูมิภาคในพื้นที่ก็อาจไม่ได้เข้าใจในสิ่งที่ประชาชนคลุกกับปัญหา ลุกขึ้นมานำเสนอข่าวเอง

“ความเป็นห่วงที่ว่า ข่าวพลเมือง ชาวบ้านจะเสนอข่าวด้านเดียวเน้นแต่ปัญหาในพื้นที่ตัวเอง อาทิ เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม ผลกระทบการท่องเที่ยวและเสนอข่าวแต่ข่าวด้านลบของอีกฝ่าย เรื่องนี้เชื่อว่าองค์กรต้นสังกัดหากจะนำเสนออย่างพลเมืองเขาก็ต้องตรวจสอบให้รอบด้านก่อน  อาทิเช่น เมื่อนักข่าวพลเมืองส่งประเด็นนี้มา  ส่วนกลางอย่างทีวี หนังสือพิมพ์ ก็อาจติดต่อไปยังนักข่าวภูมิภาคของตัวเองในพื้นที่ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร  หรือสัมภาษณ์แหล่งข่าวที่ถูกพาดพิงเพื่อให้ข่าวมีสองด้าน ”

สมชาย ยังเห็นว่าข่าวพลเมือง ควรสร้างพื้นที่เพื่อให้เกิดการสื่อสารกับสื่อกระแสหลักให้มากขึ้นเพื่อจะได้ร่วมกันนำเสนอข่าวให้มีน้ำหนัก และเชื่อว่าทุกองค์กรสื่ออาจต้องการเห็นการเติบโตของข่าวพลเมืองกันทั้งนั้น อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของข่าวพลเมืองทำให้ นักข่าวส่วนภูมิภาคของสื่อสิ่งพิมพ์ต้องปรับปรุงการทำงานของตนเอง เพราะถ้ายังคิดแบบเดิม ๆ ไม่กระตือรือร้นหรือไม่สนใจปัญหาในพื้นที่ตนเองทั้งที่ส่งผลกระทบระดับกว้าง นักข่าวภูมิภาคก็อาจกระเทือนถึงขั้นรายได้ลดลงหรือถูกเลิกจ้างก็ได้

ด้าน "น.ส.สมถวิล เทพสวัสดิ์" รีไรต์เตอร์หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก ก็เห็นไม่ต่างกัน โดยระบุว่า นักข่าวพลเมืองเป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่จริง  มีความใกล้ชิดกับแหล่งข่าวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สามารถนำเสนอรายละเอียดได้ลึกกว่านักข่าวกระแสหลักทั่วไป และที่ผ่านมาข่าวที่นักข่าวพลเมืองนำเสนอก็มีความหลากหลาย เช่น ข่าวการเมืองท้องถิ่น ข่าวศาสนาวัฒนธรรม ข่าวกีฬา ฯลฯ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ตรวจสอบระบบราชการ  รวมถึงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นอีกด้วย

ปากเสียงของคนรากหญ้าที่ตะโกนออกมาดังๆผ่าน “สื่อพลเมือง” ถึงปัญหาที่ได้รับผลกระทบมาช้านาน  และต้องเผชิญกับความเร้นแค้นในพื้นที่โดยไม่มีใครเหลียวแล ไม่ว่ารัฐบาลฝ่ายปกครอง ตลอดจนสื่อกระแสหลัก หลายแห่งยังมองชาวบ้านด้วยความชิงชัง หยามเหยียด  วันนี้สื่อภาคพลเมืองเหล่านี้กำลังเป็นพลังในการปฏิวัติสื่อฯ ทั้งยังสะท้อนปัญหาในพื้นที่ให้คนส่วนกลางได้เปิดหูเปิดตามากขึ้น

 

#

 

ข้อมูลจากจุลสารราชดำเนิน  เล่มที่  18