กระเทาะมุมคิดสื่อมองม๊อบม๊อบมองสื่อ!!!@@@
พลันที่กลุ่มคนเสื้อแดงประกาศชุมนุมยืดเยื้อเป็นหนังภาคยาวม้วนเดียวจบพร้อมลั่นจะปิดบัญชีการชุมนุมครั้งนี้ให้ได้ในวันที่ 8 เม.ย. 52 นี้ ต่อมความคิดก็กระตุกขึ้นอย่างเร็วพร้อมทั้งครุ่นคิดว่า “นักข่าว” ต้องทำงานหนักอีกแล้วหรือนี่ หลายอาชีพอาจจะมีความรู้สึกร่วมในการชุมนุมครั้งนี้อย่างหลากหลายแต่อาชีพ ที่ไม่สามารถปฎิเสธความรู้สึกของตนเองและต้องเกาะติดการชุมนุมทางการเมือง ของกลุ่มคนเสื้อแดงครั้งนี้อย่างใกล้ชิดให้ได้ก็คืออาชีพ “คนข่าว”
และถึงแม้หลายความทรงจำเกี่ยวกับการชุมนุมเป็นเรื่องที่หลาย คนอยากจะลบเลือนแต่ครั้งนี้เราคงอดที่จะพูดถึงไม่ได้ เพราะสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในการชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมา “นักข่าว” ต้องเป็นกลุ่มอาชีพที่ต้องเกาะติดและรายงานข่าวสารให้ประชาชนได้รับทราบอย่างรวดเร็วที่สุดจนทำให้ในหลาย ๆ เหตุการณ์ของการชุมนุม “นักข่าว” จึงถือได้ว่าเป็นผู้เสี่ยงภัยมากที่สุดในอาชีพหนึ่งก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีการสลายการชุมนุมเมื่อวันที 7 ต.ค. 51 ก็มีนักข่าวได้รับลูกหลงทั้งบาดเจ็บมากและน้อยไปตาม ๆกัน หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ล่าสุดเมื่อครั้งที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่นักข่าวก็ถูกลูกหลงจากระเบิดปิงปอง
การประกาศแตกหักของกลุ่มคนเสื้อแดงในวันที่ 8 เม.ย.นี้จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งว่า “นักข่าว” จะต้องพบเจออะไรอีก และก่อนที่จะถึงวันเผด็จศึกตามการประกาศของกลุ่มคนเสื้อแดง “ศูนย์เฝ้าระวังการคุกคามสื่อสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย”ได้ลงพื้นที่รับฟังความรู้สึกของนักข่าวหลากหลายสำนักในการปฏิบัติหน้าที่เกาะติดการชุมนุม พร้อมกันนี้ยังได้รับฟังเสียงสะท้อนต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนจากผู้เข้าร่วมชุมนุม ซึ่งเสียงสะท้อนของความคิดที่ต่างมุมอาจจะเป็นกระจกสะท้อนการทำหน้าที่ “คนข่าว” ของเราให้ดียิ่งขึ้นก็เป็นได้ !!!@@
อรรณพ หมั่นพูล ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งที่เข้าสู่วงการ “นักข่าว” ได้ไม่นานบอกเล่าความรู้สึกถึงการมาทำข่าวม๊อบเสื้อแดงในครั้งนี้ว่า “ปรกติแล้วผมจะประจำอยู่ที่สภาแต่ตอนนี้ออฟฟิศย้ายให้ผมมาดูม๊อบ ซึ่งความจริงการทำข่าวในสถานการณ์การชุมนุมก็ถือว่าไม่ได้ยากอะไรเพียงแต่เราต้องไวและตามประเด็นให้ทันเท่านั้น สำหรับผมถือว่าใหม่มาก ๆ กับการทำงานข่าวแต่ผมก็ทำด้วยใจ เวลาที่สถานการณ์ในม๊อบเป็นอย่างไรผมก็รายงานตามข้อเท็จจริงไม่ได้มีบิดเบือนหรือปรุงแต่ง อย่างไรก็ตามผมทำงานในช่องทีวีที่ม๊อบไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ ผมก็ต้องระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ เวลาไปทำข่าวก็จะต้องถอดหัวไมค์ออก ช่างภาพก็ต้องลอกโลโก้ของช่องออก ซึ่งตรงนี้เป็นหน้าที่และเป็นสวัสดิภาพของผมผมก็ต้องทำ โดยความรู้สึกแล้วในฐานะสื่อผมให้เกียรติผู้ชุมนุมทุกกลุ่มผมก็อยากให้ผู้ ชุมนุมให้เกียรติกับสื่อด้วยเพราะถ้าเราให้เกียรติซึ่งกันและกันเราก็สามารถ อยู่ด้วยกันอย่างราบรื่นได้”
ด้านสุเมธ สมคะเน ผู้สื่อข่าวหนังสือหัวสียักษ์ใหญ่ฉบับหนึ่งกล่าวว่า “ผมทำข่าวม๊อบมานานและเห็นพัฒนาการของม๊อบแต่ละครั้งจะแตกต่างกันออกไป ครั้งนี้ต้องยอมรับว่าการจัดระเบียบการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นระบบมากขึ้น มีการจัดเตรียมสถานที่ให้สื่อทำงานอย่างเป็นสัดเป็นส่วนและท่าทางของผู้เข้าร่วมชุมนุมก็เป็นมิตรกับสื่อมากกว่าแต่ก่อน ถ้าเทียบกับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรถือได้ว่าสภาพจิตใจของสื่อค่อนข้างโอเคกว่า
ทุกครั้งที่ มีการชุมนุมที่นักข่าวภาคสนามทุกคนต้องเจอคือถูกแกนนำหยิบหนังสือพิมพ์ขึ้น มาพูดบนเวที และถ้าเป็นประเด็นที่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่พอใจก็จะเกิดปฏิกิริยาตอบกลับ จากกลุ่มผู้ชุมนุมทันทีการทำแบบนี้ของแกนนำทำให้เราที่ทำหน้าที่สื่อมวลชน รู้สึกอึดอัด และทำให้เราทำงานในสนามได้ยากยิ่งขึ้น แต่ครั้งนี้เราได้มีการพูดคุยกับแกนนำว่าเราในฐานะนักข่าวภาคสนามนำเสนอข้อ เท็จจริงอย่างครบถ้วนและรอบด้าน แต่จะพาดหัวหรือหยิบประเด็นไหนขึ้นมาเล่นนั้นเป็นเรื่องของบ.ก.ข่าว และประเด็นตรงส่วนนี้แกนนำกลุ่มเสื้อแดงเขาก็เข้าใจและไม่ได้มาสร้าง บรรยากาศให้เรารู้สึดอึดอัด
ความรู้สึกของทั้งคู่คงไม่ต่างไปจากความรู้สึกของ วัฒนา พิริมลศิริผล ผู้สื่อข่าววิทยุคลื่นหนึ่งที่ไม่ได้รู้สึกอึดอัดกับการทำข่าวในครั้งนี้“ ตอนนี้ผมก็ทำหน้าที่สื่อมวลชนในการรายงานข่าวได้อย่างเต็มที่ยังไม่ได้ รู้สึกอึดอัดอะไร ซึ่งการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในครั้งนี้ก็ไม่ต่างจากการชุมนุมของกลุ่ม พันธมิตรเมื่อครั้งแรก ๆ ที่เราในฐานะนักข่าวก็รู้สึกสบายใจในการทำหน้าที่ แต่หากจะจำกันได้เมื่อครั้งหลัง ๆ กลุ่มพันธมิตรโดนโจมตีมากขึ้น มีระเบิดมีอาวุธสงครามต่าง ๆ ที่ลอบยิงเข้ามาใส่กลุ่มผู้ชุมนุมก็ทำให้การ์ดของกลุ่มพันธมิตรเริ่มเข้มงวด กับสื่อและทุก ๆ คนที่จะเข้ามาร่วมชุมนุมมากขึ้น ผมจึงมองว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่สื่อมวลชนยังไมได้รู้สึกกังวลในเรื่องความ ปลอดภัยของตัวเองเพราะกลุ่มคนเสื้อแดงยังไม่ถูกบีบจากรัฐบาลแต่ถ้าเมื่อไหร่ ที่กลุ่มคนเสื้อแดงถูกบีบจากรัฐบาลเมื่อนั้นสื่อมวลชนอาจจะรู้สึกลำบากและ อึดอัดในการทำข่าวการชุมนุมของกลุ่มคนเสือแดงก็ได้ โดยเฉพาะวันพุธที่ 8 เม.ย.นี้ผมว่าสื่อเองต้องระมัดระวังตัวให้มากขึ้นเป็นพิเศษเพราะเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร”
หลากหลายความคิดเห็นของ “นักข่าว” อาจจะเป็นหลากหลายความรู้สึกในการปฏิบัติหน้าที่ที่ต้องพบเจอในสถานการณ์การชุมนุม หากแต่คำกล่าวที่ว่า “เรามองตัวเองไม่เคยเห็น นอกจากให้คนอื่นมองเรา” คงใช้ได้กับครั้งนี้ “ผู้ชุมนุม” อาจจะเป็นกระจกบานหนึ่งที่สะท้อนถึงการทำงานของเราในครั้งนี้ก็เป็นได้
ธนากร ธนาวรเศรษฐ เจ้าของธุรกิจส่วนตัวย่านอ่อนนุชผู้ติดสโลแกนการชุมนุม “มาด้วยใจไม่มีใครจ้าง” ยิ้มให้เราอย่างใจดีก่อนที่จะขยับแว่นพร้อมกับสะท้อนมุมมองการทำงานของสื่อในความคิดของเขาให้เราฟังว่า “สื่อบ้านเราตอนนี้มันเลือกข้าง ทำงานกันอย่างเลือกข้างเอนอย่างชัดเจน มีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งผมกับญาติ ๆ ที่บ้านหลายคนรับเป็นสมาชิกเลยนะครับ แต่พอเกิดรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย.เราก็สังเกตเห็นอย่างชัดเจนเลยว่าหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เริ่มแปลกแล้ว ทำไมถึงนำเสนอข่าวเข้าข้างทหารแบบนี้ ทำไมเชียร์แต่ทหารแบบนี้ ผมกับญาติ ๆ ก็เลยบอกยกเลิกการเป็นสมาชิกหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นเลย ตอนนี้ก็ไม่ค่อยจะอ่านหนังสือพิมพ์กันเท่าไหร่ ข่าวทีวีบางทีเปิดมายังแทบไม่อยากดูเลย มันปวดหัวไม่มีช่องไหนเป็นกลางสักช่อง”
ขณะที่หญิงสาววัยกลางคนอย่าง “ป้าสิ”(นาม สมมุติ) อดีตพนักงานเวิล์ดแบ็งค์ประจำอยู่ที่กรุงวอชิงตันดีซี ที่เข้าร่วมชุมนุมด้วยเหตุผลเกลียดการรัฐประหารเข้าไส้บอกเล่าถึงการทำงาน ของสื่อไทยในความรู้สึกของเธอว่า “ป้าคิดว่าเป็นการทำงานที่ฉาบฉวยมาก ไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับไหนหรือทีวีช่องใดที่เราเลือกที่จะเชื่อถือ หากเทียบการทำงานของสื่อไทยและการทำงานของสื่อนอกต่างกันลิบลับ สื่อไทยเลือกข้างแบบชัดเจนความเป็นกลางความน่าเชื่อถือของข่าวหายไปหมด ถึงแม้สื่อที่ต่างประเทศเขาจะเลือกข้างแต่เขายังมีความเป็นกลางและน่าเชื่อถือได้ แต่สื่อไทยน่ากลัวมาก บางสื่อก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อต่อสู้กัน ป้าคิดว่าแบบนี้มันเป็นเรื่องที่ไม่ถูก เพราะสื่อเป็นกำลังหลักสำคัญของบ้านเมืองในภาวะที่บ้านเมืองวิกฤตสื่อก็ต้องเป็นหลักยึดให้บ้านเมืองได้ไม่ใช่เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างชัดเจนแบบนี้”
ด้าน ลุงนม โพธิทิด อายุ 48 ปี ผู้ที่คุ้นเคยกับสื่อทุกฉบับและทีวีทุกช่องเพราะอาชีพขายหนังสือพิมพ์ภายใน ม๊อบกับสะท้อนการทำงานของคนสื่อและผู้ชุมนุมไว้อย่างน่าสนใจว่า “คนที่มาชุมนุมที่นี่ก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน แนวทางทางการเมืองของแต่ละคนก็ค่อนข้างชัดเจน ในแต่ละวันผมรับหนังสือพิมพ์มา 500 ฉบับขายหมดบ้างไม่หมดบ้าง แต่คนที่มาชุมนุมก็เหมือนเราทราบกันดีว่าส่วนใหญ่ก็จะติดตามข่าวสารบ้านเมือง บางทีนะผมว่าถ้าจะวัดอุณหภูมิของการเมืองและกลุ่มผู้ชุมนุมก็ดูได้จากการที่เขาเลือกซื้อหนังสือพิมพ์นี่ล่ะ บางฉบับนะผู้ชุมนุมมายืนดูแล้วก็ด่าผมว่า “เอามาขายทำไม ไม่รู้เหรอว่าไอ้หนังสือพิมพ์ฉบับนี้มันขายตัวมันเปลี่ยนข้าง ผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไรได้แต่เฉยแล้วก็ยิ้ม
แทบจะเรียกได้ว่า “ถ้าให้ผมวิเคราะห์การทำงานของสื่อผ่านมุมมองของคนขายหนังสือพิมพ์มันก็ยากเหมือนกันนะ แล้วผมเองก็ไม่ได้เก่งกาจที่จะมาวิเคราะห์ใครอะไรขนาดนั้น แต่ผมคิดว่าคนทำสื่อเขาก็ต้องมีจรรยาบรรณของเขา ผมขายหนังสือพิมพ์ผมก็มีจรรยาบรรณของผม ถ้าสื่อฉบับไหนยึดหลักอยู่ในครรลองคลองธรรมของเขาเขาก็ต้องได้รับผลตอบแทนที่ดี คนก็จะซื้อเขาเยอะ บางฉบับผมรับมาขายนานมากขายไม่ได้อย่างไรก็ยังขายไม่ได้อย่างนั้นอยู่ แต่น่าแปลกถึงเขาขายไม่ได้อย่างไรผมก็ยังเห็นเขานำเสนอข่าวในแง่มุมที่เขาเชื่อ ของแบบนี้ผมว่าต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์” ลุงนมกล่าวทิ้งท้ายก่อนจะปลีกตัวไปหยิบหนังสือพิมพ์ให้ลูกค้า
ไม่ว่าสถานการณ์ใด ๆ จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ “สื่อมวลชน” ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้ประชาชนยังจะต้องปฎิบัติภารกิจด้วยความมั่นคงต่อไปเพราะในสภาพบ้านเมืองที่เข้าขั้นวิกฤตเช่นนี้ “ตะเกียงดวงใหญ่” อย่างสื่อมวลชนจะยิ่งต้องส่องสว่างต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด !!!!@@@
เพทาย กันนิยม ผู้ประสานงานศูนย์เฝ้าระวังการคุกคามสื่อสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยรายงาน
หมายเหตุ : สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เฝ้าระวังการคุกคามสื่อสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โทร 02-6689422, 086-3351069