จากเหตุการชุมนุมทางการเมืองกลุ่มต่างๆ ในแง่มุมของสื่อมวลชนภาคสนาม ยังถูกจับจ้องการทำหน้าที่รายงานข่าวสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องหลักจริยธรรม-จรรยาบรรณ ซึ่งเป็นแก่นสำคัญของสื่อมวลชนยังคงมีคำถามว่าจะปฏิบัติตามหลักการทำหน้าที่ตามหลักวิชาชีพได้มากน้อยเพียงใด
เมื่อสังคมได้ตั้งคำถามถึงมาตรฐาน "ความเป็นกลาง-ความเป็นธรรม" และวิธีปฏิบัติตัวการรายงานข่าวที่ถูกต้องในการทำหน้ารายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งที่ต่อเนื่องยาวนานมาหลายปี มาวันนี้ "จุลสารราชดำเนิน" พาไปพูดคุยกับสื่อมวลชนภาคสนามและนักวิชาการด้านสื่อถึง "แนวปฏิบัติ" การทำงานบนเหตุการณ์ความขัดแย้งในสถานการณ์ชุมนุม
เริ่มที่ "อัฟนัน อับดุลเลาะ" ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวทั่วไป สถานีโทรทัศน์ PPTVHD ช่อง 36 บอกว่า สิ่งแรกในการลงพื้นที่ต้องยึดหลักความปลอดภัยต่อตัวเองและทีมงาน เพราะการชุมนุมที่ผ่านมามีความรุนแรงเกิดขึ้นทั้งจากผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงต้องวางแผนว่าการลงพื้นที่แต่ละวัน ต้องวางจุดตัวเองอยู่ที่ไหนเพื่อให้สามารถรายงานข่าวได้โดยที่ตัวเองและทีมงานต้องปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ ขณะที่เนื้อหาการรายงานข่าวต้องไม่เป็นการกล่าวหาโดยที่เราไม่มีหลักฐาน แต่ต้องรายงานในสิ่งที่เห็นถึงแม้ว่าเราเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นข้างหน้า ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะรายงานได้ทั้งหมด แต่จะให้ภาพข่าวได้รายงานข้อเท็จจริงอยู่แล้ว เพื่อให้ผู้ชมที่ดูข่าวตัดสินใจเองได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร โดยที่เราไม่จำเป็นต้องพูดเอง เพราะเราไม่รู้ว่าคนฟังมีทัศนคติและมีมุมมองต่อการชุมนุมอย่างไร
"เราต้องไม่รายงานโดยเคลมสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่ามาจากฝั่งไหน เช่น ถ้ามีการโยนประทัดไปฝั่งเจ้าหน้าที่ เราคงไม่ได้พูดว่า ผู้ชุมนุมได้โยนประทัดไปฝั่งเจ้าหน้าที่ แต่เราอาจใช้คำว่ามีวัตถุที่กระทบแล้วเกิดเสียงดังขึ้นมาในฝั่งตำรวจ เพราะจากภาพที่เกิดขึ้นลอยตกไปฝั่งตำรวจ แต่เราไม่ต้องบอกว่ามาจากฝั่งไหน เพื่อเซฟตัวเราในพื้นที่"
อัฟนัน ระบุ
"อัฟนัน" บอกว่า ขณะสิ่งที่ไม่ควรทำในเรื่องการแสดงความคิดเห็นว่าจะเป็นแบบนั้นหรือแบบนี้ เพราะสิ่งเหล่านั้นยังไม่ผ่านการพิสูจน์ได้ บางอย่างที่เราเห็นหรือเราได้ยินมา อาจจะไม่ใช่ข้อเท็จจริง เช่น การได้ยินเสียงดังแล้วบอกว่าเป็นเสียงระเบิด ทั้งที่อาจไม่ใช่ระเบิดอาจ อาจเป็นสิ่งอื่นที่ทำให้เกิดเสียงดัง แต่ถ้าไปเคลมว่าเป็นระเบิดอาจขัดแย้งต่อข้อเท็จจริง แล้วอาจสร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้น
ส่วนการลงพื้นที่ทำข่าวการชุมนุมนั้น การนำเสนอข่าวให้น่าสนใจนำไปสู่การแก้ปัญหาหรือไม่ "อัฟนัน" มองว่า ถ้าคาดหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลไม่แน่ใจว่าจะไปถึงขั้นนั้นหรือไม่ แต่อย่างน้อยเราทำหน้าที่นำเสนอว่าในพื้นที่เกิดอะไรขึ้น ทั้งฝั่งผู้ชุมนุมและฝั่งเจ้าหน้าที่ ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้หากได้มีการนำเสนอน่าจะเพียงพอแล้ว ส่วนจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแค่ไหน หรือมีความพยายามจะเปลี่ยนแปลงตรงนี้หรือไม่ เพราะการลงพื้นที่รายงานข่าวเป็นสิ่งที่เราทำได้แค่นั้น แต่จะคาดหวังว่าเราพูดแล้วจะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลิกหรือแก้ปัญหาได้เลย คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะหน้าที่ของเราคือนำเสนอข้อเท็จจริง
ขณะที่การแข่งขันของผู้สื่อข่าวภาคสนาม จนบางครั้งอาจจะล้ำเส้นของจรรยาบรรณหรือไม่ "อัฟนัน" บอกว่า การนำเสนออะไรอยู่ที่ว่าจะยึดหลักอะไร เพราะถ้าเรายึดหลักจะแข่งขันกันแต่ละคนก็มีรูปแบบการรายงานข่าวแตกต่างกันของตัวเอง แต่ท้ายที่สุดต้องมามองเรื่อง "จรรยาบรรณ" ว่าสิ่งที่เราพูดไปหรือรายงานอะไรเป็นข้อเท็จจริง หรือว่าเป็นความคิดเห็น ไม่ได้กล่าวหาใครว่ารายงานไม่ดี แต่ส่วนตัวมองว่าต่อให้สถานการณ์เป็นอย่างไร ต้องอยู่บนพื้นฐานของ "ข้อเท็จจริง" ที่สามารถพิสูจน์ได้ โดยไม่สอดแทรกความคิดเห็นของตัวเองโดยเด็ดขาด เพราะจะถูกตีความเป็นอย่างอื่นได้
มาที่ "อิทธิพัทธ์ ปิ่นระโรจน์" หัวหน้าข่าวโต๊ะรายงานสถานการณ์สดเนชั่นทีวี ช่อง 22 เห็นว่า หลักในการทำงานแต่ละครั้งมีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยทั้ง 2 ฝ่ายทั้งฝั่งผู้ชุมนุมหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่เราต้องมีอุปกรณ์ดูแลความปลอดภัยของตัวเองให้พร้อม เช่น หมวก หน้ากากป้องกันแก๊ซน้ำตา แว่นป้องกันแก๊ซน้ำตา เพราะตั้งแต่การชุมนุมช่วงวันที่ 7-31 ส.ค. ไม่มีวันไหนไม่โดนแก๊ซน้ำตา มีการสลายการชุมนุมทุกวัน จึงต้องประเมินว่าจุดไหนเสี่ยงหรือจุดไหนที่อันตราย โดยในช่วงเดือน ส.ค.มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากประทัดยักษ์ ซึ่งกระทบเยื้อแก้วหูเราฉีกได้เลย ทำให้เราต้องปรับแนวทางการทำข่าวแต่ละวัน แต่การประเมินความเสี่ยง เห็นว่าฝั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะกันผู้สื่อข่าวไม่ให้เข้าไปแนวเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุม โดยแจ้งให้อยู่ด้านหลังเจ้าหน้าที่อย่าฝ่าแนวเข้าไป แต่ขณะนี้สื่อภาคสนามมีทั้งสื่อออนไลน์ และสื่ออื่นๆ ถ้าไปอยู่ด้านหลังเจ้าหน้าที่จะไม่เห็นภาพเลยว่า ผู้ชุมนุมเคลื่อนไหวอย่างไร
"เราจึงต้องปรับไปอยู่ด้านผู้ชุมนุมให้เห็นอีกฝั่ง แต่ต้องไปอยู่ในจุดไม่เสี่ยง เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่จะแยกได้ยากว่าคนไหนสื่อคนไหนผู้ชุมนุม บางครั้งผู้ชุมนุมจะเข้ามาอยู่ในจุดที่มีสื่อมวลชนรวมตัวกันอยู่ เพราะคิดว่าถ้าอยู่ตรงนี้เจ้าหน้าที่จะไม่กล้าทำอะไร แต่ช่วงหลังสื่อก็พยายามช่วยกันออกห่างจากกลุ่มผู้ชุมนุม แล้วหาที่รวมกลุ่มกันไว้ให้มากที่สุดก็จะช่วยได้"
สำหรับสิ่งที่ควรทำในการรายงานข่าวในหลักจรรยาบรรณนั้น "อิทธิพัทธ์" บอกว่าต้องรายงานตามความเป็นจริง ไม่ให้เกิดการยั่วยุ หรือรายงานออกไปแล้วเป็นประโยชน์นำไปสู่การแก้ปัญหาและนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่าจุดประเด็นใหม่ๆ ทำให้สังคมแตกแยก หรือเหตุการณ์บานปลายกว่าเดิม อย่างในพื้นที่ดินแดงมีเยาวชนมาร่วมชุมนุมดังนั้นสิ่งที่ไม่ควรทำต้องไม่ถ่ายภาพเห็นใบหน้ากลุ่มเยาวชน ต้องโฟกัสเลย หากจะถ่ายก็ให้เห็นแค่ขาเท่านั้น หรือการที่กรูกันเข้าไปถ่ายภาพผู้ชุมนุมที่กำลังทำกิจกรรมอาจเป็นดาบสองคม ส่วนแรกถึงแม้เป็นการเสนอข้อเท็จจริง แต่อีกด้านเป็นการเรียกร้องความสนใจ ถ้าเราไม่เข้าไปอาจจะหยุดพฤติกรรมเหล่านี้ไปเองได้หรือไม่
"เรื่องสิทธิเยาวชนที่ออกมาชุมนุมได้รับบาดเจ็บ ถูกยิงด้วยกระสุนยาง แต่บางคนไปรุมถ่ายใบหน้าผู้ได้รับบาดเจ็บ ก็มองว่าเป็นสิ่งไม่ควรกระทำ แต่ที่อื่นจะเป็นอย่างไรก็ไม่สามารถไปห้ามได้"อิทธิพัทธ์ ระบุ
ในแง่การแข่งขันของผู้สื่อข่าวภาคสนามในการรายงานข่าวม็อบนั้น "อิทธิพัทธ์" เชื่อว่า ถ้าเป็นสื่อมวลชนที่มีสังกัด มีหลักจริยธรรมจรรยาบรรณ และเคร่งครัดในสิ่งที่นำเสนอไปต้องทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะหากนำเสนอไปแล้วถูกไปขยายประเด็นต่อก็ไม่เกิดประโยชน์กับสังคม และเกิดความแตกแยกมากขึ้น ซึ่งแต่ละคนก็อาจจะมีทัศนคติทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่ถ้าจะนำเสนอแล้วต้องยึเหลักความจริง ความถูกต้อง และไม่นำเสนอในสิ่งที่คาดเดาไปเอง
"ส่วนการสร้างตัวตนในสถานการณ์ม็อบ หากทำผิดพลาดจะยิ่งเป็นแผลเป็นตราบาป และทำให้ถูกตีตราจากสังคมว่าเลือกข้างและไม่ยึดหลักความเป็นกลางได้ แต่สำหรับเราต้องทำหน้าที่ตามหลักความเป็นจริง เพื่อไม่ให้เกิดรอยร้าวในสังคม ส่วนใครจะเป็นอย่างไรก็อยู่ที่แต่ละคนจะเลือกทำ คงไม่มีสิทธิไปห้าม เพราะปัจจุบันมีการเลือกเสพสื่อแต่ละฝั่ง แต่ในฐานะที่ตัวเองทำสื่อก็อยากเป็นนักข่าวให้รู้สึกว่าเราไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใดคนหนึ่ง"
อิทธิพัทธ์ ระบุ
ด้าน "ภานุมาศ สงวนวงษ์" ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว Thai News Pix บอกว่า สำหรับแนวปฏิบัติของช่างภาพในการลงพื้นที่ทำข่าวการชุมนุม หลักๆ คงเป็นเรื่องอุปกรณ์ที่ต้องเซฟตี้ตัวเอง ตั้งแต่หน้ากากกันแก๊ซ หมวกกันน็อค หรืออุปกรณ์รักษาพยาบาลเบื้องต้นอย่างน้ำเกลือ อุปกรณ์ทำแผล เพราะอุปกรณ์เหล่านี้มีความสำคัญ หากไม่นำไปถือว่าเราไม่มีความพร้อมในการทำงาน นอกนั้นเป็นเรื่องปลอกแขนสื่อมวลชน เสื้อกั๊กสะท้อนแสงสีเขียว เพราะทำให้เราปลอดภัยในการทำงาน ขณะที่เรื่องจรรยาบรรณาการทำงานไม่ว่าจะเป็นข่าวสถานการณ์ความขัดแย้งหรือข่าวทั่วไป สิ่งหนึ่งที่เป็นหัวใจในเรื่องการนำเสนอ "ข้อเท็จจริง" ภาพข่าวก็ต้องเป็นภาพที่เสนอความจริง
"แต่ในพื้นที่มีความแตกต่างเรื่องความคิด มีความขัดแย้งและความรุนแรง ทำให้เมื่อต้องเสนอข้อเท็จจริงบางอย่างต้องระมัดระวังพอสมควร เพราะรูปบางรูปไม่สามารถอธิบายที่มาที่ไปได้ครบทุกอย่าง หรือเล่าได้ทั้งหมด จึงต้องมีคำบรรยายภาพประกอบไปด้วย ดังนั้นการระมัดระวังการใช้ภาพก็สำคัญ และการให้ข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้านก็มีความสำคัญเหมือนกัน"
ภานุมาศ ระบุ
"ภานุมาศ" บอกว่า นอกจากการรายงานข้อเท็จริงให้ถูกต้องรอบด้าน แต่ท่ามกลางความขัดแย้งต้องระมัดระวังไม่ให้สื่อกลายเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง ไม่ว่ากับเจ้าหน้าที่หรือผู้ชุมนุม เพราะเป็นบทบาทหน้าที่ที่ต้องวางตัวเองให้อยู่ในฐานะสื่อมวลชนให้ชัดเจน เป็นสิ่งที่ต้องย้ำเสมอว่าเราไปในฐานะสื่อมวลชน โดยต้องรายงานข้อเท็จจริงให้รอบด้านทั้งฝั่งเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม เพราะภาพนิ่งจะไม่มีบริบทประกอบ จึงต้องขยายความในคำบรรยายภาพออกไป และบางครั้งถ้าไม่ใส่ที่มาที่ไปบางครั้ง อาจทำให้ผู้ที่เห็นรูปนั้นเข้าใจผิด และตีความไปตามความรู้สึกของตัวเอง มากกว่าตีความไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จนอาจเป็นส่วนหนึ่งนำไปสร้างความขัดแย้ง
"รูปๆ หนึ่งที่ออกไปอาจมีคำบรรยายภาพ แต่อาจเกิดความไม่เข้าใจ มีการแชร์ออกไปโดยเปลี่ยนคำบรรยายภาพ หรือไม่ได้แชร์ไปทั้งหมด อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดจนขยายความขัดแย้งออกไป"ภานุมาศ ระบุ
ส่วนการแข่งขันของนักข่าวภาคสนามนั้น "ภานุมาศ" มองว่า การที่สื่อต้องแข่งขันกันที่ต้องมีความรวดเร็ว อาจกระทบกับจริยธรรมและมาตรฐานการทำงานของสื่อ คิดว่าคงแล้วแต่ละสื่อจะระมัดระวังอย่างไร เช่น การไลฟ์เหตุการณ์ หากเป็นสถานการณ์ปกติในกองบรรณาธิการจะมีการคัดกรองเนื้อหาและภาพต่างๆ โดยมีข้อควรระวังตามจริยธรรมและกฎหมาย แต่เมื่อสื่อต้องแข่งขันด้วยความเร็ว ทำให้เรื่องเหล่านี้อาจตกหล่น และส่งผลกระทบกับผู้ที่เป็นข่าว สิ่งกรณีเหล่านี้สื่อมวลชนคงตระหนักอยู่แล้ว แต่อยู่ที่จะระมัดระวังได้มากหรือน้อย
ปิดท้ายที่ ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเทศศาสตร์ มองว่า สื่อมวลชนต้องยืนหยัดหลักการทำงานวิชาชีพในการรายงานสถานการณ์ เพราะวิกฤติการณ์เหล่านี้ยาวนานมาเป็นเดือน แต่เหมือนกับสังคมรับทราบข้อมูลที่เหมือนชินชาไปแล้ว ซึ่งตรงนี้เป็นอันตรายต่อสังคม เพราะความรุนแรงทั้งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ สื่อมวลชนมีหน้านี้นำเสนอทางออกในการแก้ปัญหาอย่างสันติจึงต้องรายงานข้อมูลออกไป แต่เรื่องความปลอดภัยทางสมาคมสื่อต่างๆ ได้ทำหน้าที่ส่วนหนึ่ง แต่สื่อมวลชนก็ยังได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางจากเจ้าหน้าที่ และอาวุธต่างๆ จากผู้ชุมนุมด้วย จึงต้องยกระดับมาตรฐานการดูแลขึ้นมา ส่วนหน้าที่หลักๆ ของสื่อมวลชนจะทำอย่างไรในการเสนอทางออกตรงนี้ เพราะผ่านมา 2-3 เดือน หลายคนคงเจ็บปวดไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่ไม่ชอบรัฐบาลหรือสนับสนุนรัฐบาล เพราะเหตุการณ์เหล่านี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น
ส่วนการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนภาคสนามที่แข่งขันอย่างเข้มข้น ทั้งการไลฟ์อาจสุ่มเสี่ยงการผิดจริธรรมหรือการเลือกข้าง "ดร.สิขเรศ" มองว่า ในส่วนสำคัญสื่อต้องรายงานเสนอความเป็นจริง แต่ความเป็นจริงอยู่ที่มุมมองและการตีความ เช่น การตั้งกล้องแต่ละจุดมีความแตกต่างกันอยู่แล้วในพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดง ไม่ใช่เรื่องมุมมองทัศนะของสำนักข่าวหรือผู้สื่อข่าวเท่านั้น แต่มุมมองตรงนี้ขึ้นอยู่กับระบบนิเวศน์แนวการปะทะ ดังนั้นการนำเสนอมุมมองและมุมกล้องต่างๆ เป็นจุดที่ท้าทาย ไม่ได้หมายถึงจริยธรรมจรรยาบรรณ แต่การเสนอภาพแต่ละภาพจะนำไปสู่การตีความได้
ส่วนเหตุการณ์ที่จะดำเนินการต่อไป สื่อมวลชนก็ต้องใช้ความระมัดระวังเหมือนกัน เช่น เสียงเข้ามาตอนไลฟ์ และความต่อเนื่องของสถานการณ์สด เป็นธรรมชาติที่สังคมต้องเรียนรู้และยอมรับ เพราะตัวแปรตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่การคัดเลือกภาพอย่างเดียว แต่อยู่ที่ภาวะปัจจัยการดำเนินไปของสถานการณ์ตรงนั้นด้วย ซึ่งกองบรรณาธิการและนักข่าวภาคสนามต้องประสานงานให้ละเอียดเพื่อลดข้อครหาว่าสื่อโน้มเอียงไป เพราะเราไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ตรงนี้ได้
"ดร.สิขเรศ" เห็นว่า ส่วนเรื่องที่ถกเถียงกันว่าสื่อต้องมีความเป็นกลางหรือไม่ ในเรื่องความเป็นกลางเป็นอดุมคติมากๆ แต่คิดว่าความเป็นธรรมไม่ใช่อดุมคติ ต้องขีดเส้นใต้ตรงนี้ว่าความเป็นกลางเป็นอุดมคติ แต่เป็นความเป็นกลางของใคร หรือเป็นความเป็นกลางของสถานการณ์ใด แต่ความเป็นธรรมต้องมี ในภาพรวมกองบรรณาธิการต้องให้น้ำหนักถ่วงดุลในการนำเสนอข่าว เช่น เราได้วิจารณ์การปล่อยฟุตเทจฝั่งนี้ 10 วินาที แต่ปล่อยฟุตเทจอีกฝั่ง 5 วินาที หากจะมีข้อครหาตรงนี้ก็ต้องมีคำอธิบายเรื่องเวลา
ส่วนหน้าที่ GateKeeper สำหรับผู้สื่อข่าวภาคสนามกับการทำข่าวการชุมนุม "ดร.สิขเรศ" มองว่า เป็นสถานการณ์ผกผันในระบบนิเวศน์ของสังคมที่เปลี่ยนไป รวมกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง เพราะการทำหน้าที่ของข่าวมีเรื่องบริบทเรื่องเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้อง การไลฟ์ การบรอดแคสออนแอร์มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เนื่องจากการไลฟ์ไม่สามารถควบคุมได้เลย เป็นสไตล์อีกแบบ แต่สิ่งที่จะช่วยเรื่องจริยธรรมและจรรยาบรรณคือการ Self Training ของตัวนักข่าว จึงต้องให้ความสำคัญกับนักข่าวภาคสนามมากยิ่งขึ้น แต่ขณะนี้กลับตาลปัตรเพราะอาจเลือกนักข่าวภาคสนามที่ยังไม่มีประสบการณ์ลงไป บางครั้งอาจมีเสี้ยววินาทีที่หลุดพูดออกอากาศไปก็ไม่สามารถแก้ไขภาพหน้างานได้ หลายช่องไม่ได้ตั้งใจแต่พูดเพราะตกใจ ทำให้มองว่านักข่าวคนนี้เข้าข้างตำรวจ
"เราต้องพัฒนาและปรับปรุงตัวเราเองให้มากยิ่งขึ้น ให้สามารถตัดทอนเรื่องความเข้าใจผิดตรงนี้ได้ ส่วนคนในสังคมก็ต้องเข้าใจสภาพการณ์การทำงานของนักข่าวตรงนั้นด้วยเหมือนกัน คนดูก็ต้องวิเคราะห์แยกแยะกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยความเป็นจริง"
ดร.สิขเรศ ระบุ