เปลี่ยนมุมมองความคิด … ลดผู้ติด(ยา)ลดผู้กระทำผิดซ้ำ

“ ในอดีตที่ผ่านมา ผมมักจะเห็นสื่อนำเสนอภาพข่าวการกระทำที่รุนแรงของคนเมายาบ้า  จนทำให้หลายคนจดจำและมีทัศคติที่ไม่ดีต่อผู้ติดยาเสพติด   แต่จริง ๆ มันมีประโยคหนึ่งที่ได้ฟังจากการอบรมของเจ้าหน้าที่สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ เขาบอกว่า  จริง ๆ เราต้องแยกให้ออกก่อนว่าผู้ใช้ยาเสพติดกับผู้ติดยาเสพติดนั้นมันไม่เหมือนกัน  และจากประสบการณ์ของผมเอง  คนรอบตัวที่ผมคุ้นเคยต่างยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดค่อนข้างเยอะ  ยิ่งหากนับรวมเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ด้วย สุดท้ายแล้วเขาก็มีชีวิตปกติคนหนึ่งที่มีงานทำ  มีครอบครัว ผมว่าตรงนี้สำคัญว่าจริง ๆ แล้วคนใช้ยาเสพติดมันไม่ใช่คนติดยาเสพติดนะ”

หลังการเข้าร่วมอบรมสื่อมวลชนในโครงการ “การรายงานข่าวด้านหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม”  หัวข้อประเด็นการรายงานข่าวเพื่อช่วยลดการกระทำความผิดซ้ำ ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (TJA)  ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) คุณสุทธิพัฒน์ กนิษฐกุล  หรือ ตูน ผู้สื่อข่าว The MATTER  เล่าว่าได้รับความรู้ และได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของพี่ๆสื่อกว่า15สำนัก รวมถึงวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มาถ่ายทอดมุมมองจากประสบการณ์ทำงานด้านยาเสพติดและข้อมูลต่างๆที่เป็นประโยชน์

ทั้งนี้ยอมรับว่า  ในอดีตปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำซึ่งมีจำนวนมากเกือบ 4แสนคน  ต้องร่วมกันคิดว่าการลงโทษในคดีที่ความผิดเล็กน้อย ด้วยการคุมขังสามารถแก้ปัญหา ยับยั้งชั่งใจและลดการกระทำผิดได้จริงหรือไม่ เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว  ทุกวันนี้นักโทษที่อยู่ในเรือนมีคดีเกี่ยวกับยาเสพติดมากที่สุด    แต่หลังๆมีการปรับเปลี่ยนนโยบาย   เราไม่จับทุกคนเข้าเรือนจำ  ก็มีการใช้ทั้งกำไรEM พาไปสถานบำบัดยาเสพติดเพื่อลดปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ   แต่ผมมองว่ามันก็ยังเป็นตัวเลขที่น่ากลัว โดยเฉพาะตัวเลขผู้กระทำผิดซ้ำ ส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นคดียาเสพติด  

ผมยังเชื่อเสมอว่าสื่อต้องให้ข้อมูลทั้ง2ด้าน  ทำไมเราถึงติด ปัจจัยอะไรที่ทำให้คนติดยาเสพติด ในขณะที่บ้านเรามุ่งจับกุม  แต่ที่ต่างประเทศเขาไปไกลแล้ว   อย่างที่สวิตเซอร์แลนด์ มีคลินิกที่เปิดให้เราเข้าไปใช้บริการฉีดยาเสพติดบางชนิดได้เลย  จะเห็นได้ว่ายาเสพติดบางประเทศมันทำถูกผลักดันให้ขึ้นมาอยู่ในระบบแล้วให้ภาครัฐเป็นผู้ควบคุม แต่ผมก็เข้าใจนะว่าวิธีนี้อาจยังไม่เหมาะสมหากนำมาใช้ที่ประเทศไทย

ย้อนไปยุค 1990 ผมเห็นข่าวคนติดยาเสพติด 1% ของประชากรทั้งหมด  คือประชากร30ล้านก็ติดไป3แสนแล้ว นี่คือจำนวนที่อยู่ในระบบสำรวจและนอกระบบอีกจำมากที่ยังไม่ทราบจำนวน  คือสุดท้ายแล้วการใช้กำปั้นเหล็กอย่างเดียวมันไม่คุ้ม  เขาจึงเปลี่ยนวิธีคิดว่า หากเรามองผู้ใช้ยาเสพติดเป็นผู้ป่วย  แล้วให้กระทรวงสาธารณสุขควบคุมดูแล เปลี่ยนภาพของตำรวจที่คอยวิ่งจับกุมคนติดยาเสพติด เป็นภาพของตำรวจที่เข้าไปไถ่ถามด้วยความเป็นห่วงอย่างจริงใจเพื่อนำผู้ติดยาเข้าสู่ระบบการรักษาอย่างถูกต้องจะดีกว่าหรือไม่

สำหรับรอบรมของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย  หรือTIJ  ครั้งนี้ถือว่าได้ความรู้มากๆภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ   ประทับใจที่สุดคือการได้คุยกับอดีตผู้เคยกระทำความผิดซ้ำ หรือผู้ก้าวพลาด  แม้ว่าก่อนหน้านี้ผมเคยได้พูดคุยกับอดีตนักโทษมามากมาย  มันเป็นเรื่องซ้ำซ้อน  และส่วนตัวมองว่าสาเหตุหลักๆของปัญหายาเสพติดมาจากเรื่องความจน  

มันมีประโยคที่พี่หนึ่ง อดีตผอ.สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี  ย้ำเสมอว่ามันคือการเปลี่ยนวาทะกรรม จะสร้างความเข้าใจในสังคม มันช่วยได้มากจริงๆ เพราะเมื่อก่อนเรามักใช้คำในข่าวบ่อยๆ ว่าผู้เสพยาคลั่ง ถ้าเราเปลี่ยนเป็นคำอื่นๆ ที่ลดการตีตราผมว่าจะช่วยลดความอคติของคนในสังคมที่มีต่ออดีตผู้ก้าวพลาดได้เยอะเลย   เพราะไม่ใช่ว่ายาเสพติดทุกชนิดจะต้องเป็นยาอันตราย อย่างแอมเฟตามีนที่เราบอกว่ามันคือยาเสพติด แต่จริง ๆ ข้อกำหนดของสมาคมการบินพลเรือน ระบุว่านักบินสามารถมีแอมเฟตามีนไว้ข้างคนขับได้ เมื่อมีอาการง่วงนอน แต่ทั้งหมดมันก็มีจำนวนโดสที่ต้องควบคุม

คุณสุทธิพัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า   หลังการอบรมครั้งนี้  ทำให้เขาและตัวแทนสื่อจากหลายสำนัก เปลี่ยนมุมมองความคิดของเองที่มีต่ออดีตผู้ก้าวพลาดได้อย่างชัดเจน  จากนี้หากผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์อดีตผู้ก้าวพลาด  มันจะทำให้ผมเล่าเรื่องของเขาได้ชัดเจนขึ้น  ทั้งประสบการณ์ที่พบเจอในเรือนจำและบทเรียนที่ทำให้เขาต้องก้าวกลับเข้าไปในเรือนจำ

   

ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดย ความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5