“รัฐควรสื่อสารและประกาศให้ประชาชนทราบชัดเจน ถึงเงื่อนไขและหลักการในการปลูก ตรงนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ หากปลูกแล้วถูกจับขึ้นมาด้วยความไม่รู้ เพราะคิดว่ากัญชาเป็นพืชที่ถูกกฎหมายแล้ว”
กัญชาพืชเศรษฐกิจใหม่ ทางเลือกของประชาชน มีกระแสตอบรับว่ามีสรรพคุณ และประสิทธิภาพในการรักษาได้หลายโรค โดยเฉพาะเกี่ยวกับระบบประสาทและมะเร็ง ซึ่งหลายฝ่ายเห็นว่า “กัญชาไทยควรปลูกได้เสรี” เนื่องด้วยพันธุ์ที่ประเทศไทยปลูกและสภาพภูมิอากาศ มีศักยภาพในการพัฒนานำมาใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด แต่เคยติดขัดในเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และการขออนุญาตจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขณะเดียวกันที่ผ่านมาระบบสาธารณสุขแผนปัจจุบันของไทย ไม่ให้การยอมรับและขึ้นเป็นบัญชียาเสพติด จึงเป็นอุปสรรคหนึ่งที่จะนำใช้ในการรักษาโรคทางเลือก
นิธิโรจน์ เกิดบุญภานุวัฒน์ ผู้สื่อข่าวสายอุตสาหกรรม พลังงาน นสพ.ฐานเศรษฐกิจ กล่าวใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า รัฐควรสื่อสารและประกาศให้ประชาชนทราบชัดเจน ถึงเงื่อนไขและหลักการในการปลูก ตรงนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ หากปลูกแล้วถูกจับขึ้นมาด้วยความไม่รู้ เพราะคิดว่ากัญชาเป็นพืชที่ถูกกฎหมายแล้ว เนื่องจากมีกรณีประชาชนถูกจับดำเนินคดี เพราะปลูกกัญชาเพียง 2 ต้นเท่านั้น
กรณีนี้เป็นที่มาของการประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา มติเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ. …. ซึ่งไม่มีการระบุ “พืชกัญชา” เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 แล้ว ถือว่าเป็นการปลดล็อคกัญชา เป็นการตอบสนองนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ในการพัฒนาพืชกัญชา กัญชง เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ ตลอดจนพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าอุตสาหกรรมต่าง ๆให้เกิดประโยชน์ในการเสริมสร้างรายได้ของประชาชน
โดยเตรียมเสนอร่างฯ ดังกล่าว ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) ในวันที่ 25 ม.ค.2565 นี้ แต่ต้องรอประกาศอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข มั่นใจว่าเรื่องนี้เป็นนโยบายของรัฐบาล ที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อที่ประชุมรัฐสภาเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ไม่ใช่เพิ่งจะผลักดันในช่วงใกล้เลือกตั้ง แต่ถ้ามองแบบกลางๆไม่เข้าข้างใคร ข่าวเรื่องการผลักดันกัญชาให้เป็นพืชถูกกฎหมายมีเรื่อยมา ที่ดำเนินการไปแล้วคือ โนนมาลัยโมเดล อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ปลูกกัญชาครัวเรือนละ 6 ต้นได้ นำผลผลิตส่งให้โรงพยาบาลเพื่อทำยา นำชิ้นส่วนต่างๆไปอาหาร เครื่องสำอาง แปรรูปเป็นสินค้าเพื่อสร้างรายได้
และที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์เพชรลานนา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง มีการปลูกและนำช่อดอกกัญชาให้กับกรมการแพทย์แผนไทย และแพทย์ทางเลือกทำน้ำมันกัญชารักษาผู้ป่วย และแปรรูปอื่นๆด้วย หากมองในมุมนี้ไม่ไปมองเรื่องของการเมือง ก็จะเห็นว่ามีการขับเคลื่อนมาเรื่อยๆ จนมาถึงล่าสุดมีการปลดล็อค ซึ่งก็ต้องจับตาดูว่าวันที่ 25 ม.ค.จะออกมาในรูปแบบไหน
ทั้งนี้กัญชา กัญชง และกระท่อมเรียกกัน ว่า “3 ก.” บางคนเรียกว่าเป็น S-curve ของอุตสาหกรรม ฉะนั้นถ้าปลดล็อคได้จริงมีกัญชาเข้ามาก็จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ให้กับวิสาหกิจชุมชน เกษตรกรได้ปลูกพืชชนิดนี้และส่งตลาด ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยที่ต้องการ แต่ต่างประเทศก็ต้องการเช่นกัน หากดูมูลค่าของกัญชาจริงๆ แต่ละปี บางตัวจะมูลค่าสูงถึง 500,000 ล้านบาท มีการเติบโต 17% แบ่งเป็นอุตสาหกรรมกัญชาเพื่อการแพทย์ การสร้างรายได้ คิดเป็นสัดส่วนถึง 70% ของมูลค่าทั้งหมด
ถ้าปลดล็อคแล้ว กัญชาก็เหมือนกับทุกชนิดที่เป็นอุตสาหกรรม คือ มีทั้งต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำ ถ้าปลูกก็ถือว่าเป็นต้นน้ำ คนที่อยู่กลางน้ำก็ต้องมาหาต้นน้ำอย่างเรา เพื่อนำต้นน้ำตรงนี้นำไปสู่ปลายน้ำ จะเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้น หากขับเคลื่อนผ่านเรียบร้อยทุกกระบวนการ จะมีประโยชน์มากต่อภาคอุตสาหกรรมและประชาชนที่เป็นวิสาหกิจชุมชน ซึ่งหลายหน่วยงานเตรียมความพร้อม เรื่องกัญชาคืบหน้าไปมากแล้ว เห็นได้จากข่าวที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่ง เดินหน้าเรื่องกัญชากันอย่างเต็มที่ วิสาหกิจชุมชนต่างๆมีการรวมตัวกันหลายแห่ง ในการปลูกกัญชาและส่งให้โรงพยาบาลต่างๆ ตรงนี้ก็เป็นข้อกฎหมายที่เน้นย้ำเลยว่า การจะปลูกได้ต้องรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชนก่อน แล้วก็ต้องมีแหล่งที่รองรับ เรื่องนี้เป็นข้อกำหนดที่ค่อนข้างชัดเจน
“ผมเน้นย้ำว่าต้องใช้อย่างถูกต้องและถูกวิธี จะเป็นการที่ดีที่สุดประชาชนจะได้ประโยชน์ เราจะได้รับประทานกัญชาในเมนูต่างๆมากขึ้น ปัจจุบันนี้ก็เห็นแล้วว่ามีเครื่องดื่มที่ผสมสารสกัดกัญชา หรือเครื่องสำอาง หรือบางคนที่นอนไม่หลับนำกัญชาหยดใต้ลิ้นก่อนนอนก็จะช่วยให้ผ่อนคลาย มีทางเลือกมากขึ้นในการเข้ารับการรักษา ซึ่งแพทย์แผนปัจจุบันก็ใช้ตำรับยากัญชา ในการรักษาเช่นเดียวกัน แต่ยังถูกควบคุมอยู่ในความดูแลของแพทย์”
ไตรมาสแรกของปีนี้เราจะได้เห็นผลิตภัณฑ์พวกนี้มากขึ้น แต่ยังเป็นเฉพาะกลิ่นที่สกัด สังเคราะห์ออกมาเป็นกลิ่นเทอร์ปีน (Terpenes) มากกว่าที่จะเป็นกัญชาโดยแท้ และถ้าเป็นโดยแท้คิดว่าตลาดคงตื่นเต้นและตื่นตัวแน่นอน แต่ว่าจะได้รับการตอบรับและตอบสนองต่อไปในระยะยาวหรือไม่ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องติดตามกัน เพื่อที่ประชาชนจะได้รู้ว่ามีพืชเศรษฐกิจ ให้สามารถทำมาหากินสร้างรายได้อีกตัวหนึ่งหรือไม่
ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดย ความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5