“วิกฤติเชิงซ้อน 2 คลื่นสึนามิเศรษฐกิจ ทั่วโลกต้องเผชิญ”

“ประเทศไทยแย่ตรงที่เป็นปลายเทอมของรัฐบาล ความกล้าตัดสินใจออกนโยบาย เหมือนประเทศอื่นๆจึงมีน้อย ทุกอย่างถ้าทำไปก็จะกลัวผลทางการเมือง ไม่กล้าที่จะทำอะไร ถ้ารัฐบาลมีศักยภาพมีความกล้า มีพลังมี powerful มีคะแนนนิยมดีๆก็จะทำอะไรได้เยอะ”

.

วิกฤติเศรษฐกิจที่ทุกประเทศทั่วโลก กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ถือว่าเป็นที่สุดและยังมองไม่เห็นปลายอุโมงค์ เพราะกระทบเป็นวงกว้าง ลึก และยาว ที่เขย่าขวัญประชาชน เปรียบดังคลื่นยักษ์ขนาดใหญ่ วีระศักดิ์ พงศ์อักษร บรรณาธิการบริหาร นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉายภาพให้เห็นถึง สภาวะเศรษฐกิจที่ประเทศไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า

​โจทย์ที่แต่ละประเทศแต่ละผู้นำรัฐบาล ต้องเจอวิกฤติเชิงซ้อน 2 เด้ง คือ สถานการณ์โควิดที่หนักมาก 2 ปีเต็มๆ ล่าสุดสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เป็นสงครามเชิงกายภาพที่ไม่มีใครคาดคิด ว่าจะเกิดขึ้นในโลกยุคใหม่และยังหาจุดจบไม่ได้ ต่างจากสงครามแบบเศรษฐกิจ และสงครามแบบเชิงจิตวิทยาในอดีต จึงเป็นวิกฤติเชิงซ้อนที่บวกกัน ดังนั้นอยู่ที่ว่าประเทศไหน จะออกจากวิกฤติซ้อนวิกฤตนี้ได้เร็วกว่า เอาตัวรอดได้มากกว่าและปรับตัวได้เร็ว เมื่อออกแล้วต้องค่อนข้างยั่งยืนด้วย

“ประเทศไทยแย่ตรงที่เป็นปลายเทอมของรัฐบาล ความกล้าตัดสินใจออกนโยบาย เหมือนประเทศอื่นๆจึงมีน้อย ทุกอย่างถ้าทำไปก็จะกลัวผลทางการเมือง ไม่กล้าที่จะทำอะไร ถ้ารัฐบาลมีศักยภาพมีความกล้า มีพลังมี powerful มีคะแนนนิยมดีๆก็จะทำอะไรได้เยอะ บางคนมองว่าอาจเป็นวิกฤติศรัทธาของรัฐบาล มีผลต่อศักยภาพและคะแนนเสียง เช่น หากรัฐไปกู้เงินก็จะเจอวาทกรรมที่ว่า “ดีแต่กู้” แล้วยิ่งจะอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย นอกจากนี้มีการพูดถึงนายกรัฐมนตรีสำรอง นายกฯรักษาการ นายกฯบัญชี 2 จึงติดล็อคในการขับเคลื่อน”

​ ถ้าคะแนนนิยมของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยัง over full เหมือนช่วงต้นปี 2562 คิดว่าน่าจะทำได้ คนเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างพล.อ.ประยุทธ์ ทำอะไรแต่ละก้าว ต้องคิดหน้าคิดหลังเยอะ แต่วันนี้ทำอะไรก็ถูกเพ่งเล็ง ไม่กล้าบ้าง จะมีผลบ้าง จะถูกนำไปใช้ตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจบ้าง เป็นปลายเทอมของรัฐบาลด้วย ถ้าพล.อ.ประยุทธ์คิดจะอยู่ต่อ ก็ต้องมองถึง Popularlist อะไรที่เป็นคะแนนนิยมได้ ซึ่งเป็นทุกรัฐบาลไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลนี้ ต้องคิดถึง step ว่าถ้าจะมาเป็นนักการเมืองหรือเล่นการเมืองต่อ พรรคการเมืองต้องเดินต่ออย่างไร อะไรเป็นคะแนนนิยมในการเลือกตั้งครั้งหน้า สามารถใช้ในการหาเสียงได้ ตรงนี้เป็นตรรกะธรรมดา ปกติของระบอบประชาธิปไตย ประชานิยมมันต้องเป็นแบบนี้

​สถานการณ์วันนี้มี 2 เรื่องที่เรากำลังเผชิญ คือ “ยุคของแพงค่าแรงถูก” ตรงนี้ชัดเจน เมื่อ “ความทุกข์บุกถึงก้นครัว” อาหารต่างๆ , แก๊สหุงต้มปรับราคาสูงขึ้น อีก 15 บาท ถือว่าเยอะสำหรับคนยากจน ส่วนน้ำมันดีเซล 32 บาทไม่แน่ใจว่าจะอั้นได้ถึงขนาดไหน เพราะกองทุนพลังงานติดลบไป 5 หมื่นล้านบาทซึ่งเยอะมาก ยิ่งภาวะกองทุนน้ำมันแยกออกมาเป็นองค์กรให้ดูอิสระ ไม่ได้อยู่ภายใต้กำกับดูแลของรัฐโดยตรงเหมือนในอดีต ​ที่ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังการันตี ค้ำประกันจะไปกู้อะไรก็ได้ แต่ตอนนี้เวลาคุณกู้ ธนาคารก็ต้องประเมินความเสี่ยงด้วยว่า จะให้กู้หรือไม่ ดังนั้นสถานภาพในการแทรกแซงราคา เป็นที่มาของหลักในการก่อตั้ง กองทุนพลังงานเพื่อแทรกแซงก็มีประสิทธิภาพน้อยลง ราคาจริงๆของดีเซลถ้าไม่แทรกแซงเลย คือ 41 บาทต่อลิตร


เรื่องรายได้เข้าประเทศ การผ่อนคลายมาตรการโดยยกเลิก “เทสต์แอนด์โก” เปลี่ยนเป็นการตรวจ ATK ถือว่าเป็นการช่วยผ่อนคลาย ให้เพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวมากขึ้น เป็นสิ่งที่จะต้องลือกแบบนี้ผมสนับสนุนเต็มที่ และหลายเรื่องต้องคิดถึงการ ปลดปล่อย ยึดหยุ่นกฎระเบียบมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้ต่างชาติเข้ามา เป็นรายได้ที่คิดว่าประคับประคองในช่วงที่เศรษฐกิจซึ่งค่อนข้างที่จะทรุดตัว

​สำหรับภาคบริการนั้น เดิมประเทศไทยมีฐานตรงนี้ใหญ่มาก เฉลี่ยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทย ถึง 40 ล้านคนต่อปี เทียบเป็น 12% ต่อจีดีพี แต่ปีที่แล้วนักท่องเที่ยวหายไปเยอะมากเข้ามาไม่ถึงล้านคน เช่น ที่จ.ภูเก็ต 2-3 ปีที่ผ่านมา หาดป่าตองเคยคึกคัก มีร้านสะดวกซื้อเกิดขึ้นจำนวนมาก 2 ข้างทาง พอไปอีกปีปิดเงียบหมด ขนาดว่าร้านสะดวกซื้อยังปิดแสดงว่าแย่มาก และมีคลัสเตอร์เครือข่ายเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันหมด ไม่ใช่เฉพาะโรงแรม , tourist ,สายการบิน

​ส่วนอีก 10% ก็หนัก เช่น พวกอุตสาหกรรม โลจิสติกส์ การเคลื่อนย้ายไม่ได้ ตู้คอนเทนเนอร์ไม่มี , เรือไม่เข้า สินค้าต่างๆถูกตรวจสอบมากขึ้น ภาคการส่งออกดูเหมือนจะดี แต่ดูไส้ในหลายตัวติดลบ ที่ดีคือทองคำที่ยังไม่แปรรูป เพราะไทยเป็นประเทศตัวกลาง ที่รับทองทำมาแล้วส่งต่อ ซึ่งตรงนี้โตไป 1,000 กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่ใช่สินค้าหลัก

​ตอนนี้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ ) , สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง , ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) , สำนักงานวิจัยทางเศรษฐกิจของสถาบันการเงิน ต่างปรับลดจีดีพีออกมาในทิศทางเดียวกัน จากเดิมคาดการณ์ว่าปีนี้ถ้าไม่มีอะไร น่าจะโตได้เกิน 4% แต่ล่าสุดออกมาเหลือ 3% หรือ 3.5% แต่ถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ต่อไป อีก 2-3 เดือนแต่ละสำนักก็ต้องทยอยปรับอีก ​

​งานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บอกว่าค่าแรง 300 กว่าบาทนั้น 1 แรงงาน 1 คนไม่สามารถดูแลคนในครอบครัวได้เกิน 2 คน และใน 77 จังหวัดมี 67 จังหวัด ที่ส่วนใหญ่มีคนในครอบครัว มากกว่า 3 คน ถ้ามีสมาชิกในครอบครัวเกิน 3 คนขึ้นไปเลี้ยงไม่ได้แล้ว300 บาท แค่เลี้ยงแบบประคับประคองอยู่กินไปวันๆไม่ใช่อยู่แบบสมบูรณ์

​ขณะที่ความหวังรายได้เข้าประเทศคงน้อย ตอนนี้จัดเก็บได้ 14% ของจีดีพี คือค่อนข้างแย่มาก ถ้าเทียบกับหลักสากลทั่วไป ต้องอยู่ที่ประมาณ 21 - 22% ของจีดีพี แต่ว่ารัฐไทยอยู่ที่ประมาณ 16 % ต่อจีดีพี ตั้งแต่ผมทำข่าวเศรษฐกิจ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว จำได้ว่า กระทรวงการคลังจัดเก็บที่ประมาณ 16% ต่อจีดีพีมาตลอด ล่าสุดสิ้นปี 2564 อยู่ที่ 14% ของจีดีพี ถือว่าน่าห่วงมาก อาจจะเป็นเพราะเศรษฐกิจตกต่ำ บวกกับประสิทธิภาพในการจัดเก็บ เมื่อดูความเสี่ยงทางด้านการคลัง หลายท่านมองว่าเรายังสามารถกู้ได้อีก เพราะเอกชนเคลื่อนไม่ได้กำลังซื้อไม่มี ผมได้พูดคุยกับอดีตรัฐมนตรีคลัง , นักธุรกิจ , คุยกับคนที่ดูเศรษฐกิจมหาภาค เขาบอกว่าในฐานะความเสี่ยงทางการคลังเรายังกู้ได้อีก

​สิ่งที่ทำได้ คือ 1. ฝั่งรัฐ ตัว G ถ้าใครเรียนเศรษฐศาสตร์ก็จะรู้ว่าฝั่งตัว G ต้องเคลื่อนนำร่องไปก่อน จะเป็นการลงทุนภาครัฐ หรือเอาโครงการลงทุนใหญ่ๆออกไป เพื่อให้เกิดตัวทวีคูณกำลังซื้อในระบบ 2. อัดฉีดเงินเข้าระบบผ่านโครงการต่างๆที่เรากู้มาแล้ว 1.5 ล้านล้าน ส่วนใหญ่ใช้ไปในเรื่องเยียวยา กับเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจ เรื่องสาธารณสุข เช่น จัดซื้อวัคซีน แต่เพดานการก่อหนี้ของไทย จะเป็น 70% หรืออัตราการชำระดอกเบี้ยรายปีงบประมาณ ความเสี่ยงเรายังต่ำมาก คือ ยังมีเพดานที่รัฐสามารถกู้ได้ กู้แล้วมาใช้จ่ายเพื่อให้เกิดกำลังซื้อ ให้เศรษฐกิจเคลื่อนต่อไปยังทำได้ แต่จะกู้เป็น 1 ล้านล้าน หรือ 2 ล้านล้านยังได้เลย

​นี่แค่ยกตัวอย่างอันแรกเรื่องการกู้ หลายประเทศเพดานหนี้ของรัฐบาล 120% ต่อ จีดีพี 200% ต่อจีดีพี แต่ของเรา 70% ถือว่าต่ำมาก และสัดส่วนการชำระหนี้ในงบประมาณต่อปี เราแค่ 9% มาตรฐานคือ 15% แต่เรา 9% คือมีเพดานได้อีก ทำไมถึงบอกว่ารัฐยังกู้ได้ เพราะจะให้เอกชนกู้คงไม่ได้ เพราะหนี้ครัวเรือนหนี้ภาคเอกชนสูง ฉะนั้นจะกดดันให้เขาลงทุนค่อนข้างยาก

​ส่วนในภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ประชาชนจะต้องปรับตัว ด้วยการ save ตัวเองให้มากที่สุด ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นที่สุด เราไม่รู้ว่าสถานการณ์ข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นอีก หลายอย่างไม่สามารถกำหนดหรือควบคุมได้ ทั้งสถานการณ์สงคราม , ราคาน้ำมัน และประสิทธิภาพของรัฐบาล ประชาชนก็คาดการณ์ลำบาก สมัยปี 2540 ภาคเกษตรยังเป็นหลังพิงให้เราได้ คนล้มจากในเมืองก็กลับชนบท แต่ตอนนี้เกษตรภาคชนบทเป็นหลังพิงไม่ได้แล้ว ต้องใช้จ่ายแต่ที่จำเป็นเท่านั้น เพราะข้างหน้าไม่ใช่เพียงแต่ที่เราจะเดินไปสู่นรก มากน้อยแค่ไหนตรงนี้น่าเป็นห่วง

ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น. โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5