“สิ่งที่เขียนไว้ในกฎกระทรวง เพื่อให้เกิดความปลอดภัย กับคนไปเที่ยว ซึ่งเป็นความรับผิดชอบ ของคนที่จะกอบโกย ความร่ำรวย จากคนที่ไปเที่ยวสถานบันเทิง”
เหตุการณ์ไฟไหม้ สถานบันเทิง “Mountain B” ริมถนนสุขุมวิท ปากซอยเขาหมอน ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เวลา 00.45 น. วันที่ 5 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา
สันติวิธี พรหมบุตร ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวไทย บอกเล่าถึงประสบการณ์ ลงพื้นที่ทำข่าวกรณีเหตุสลดดังกล่าวว่า
แสดงให้เห็นว่า บทเรียนที่เราเคยถอด หรือมาตรการต่างๆ ที่รัฐกำหนดขึ้น ในช่วง 13 ปี หลังจากเหตุการณ์ Santika Pub ที่ออกประกาศ ของกระทรวงมหาดไทย ถ้าถูกทำอย่างจริงจัง ตั้งแต่การขออนุญาต และทำตามกฎระเบียบที่วางไว้ ความเสียหายหรือความรุนแรง ไม่น่าจะเดินมาถึงจุดนี้ อย่างที่เราเห็นกรณี Mountain B
ซึ่งเปิดแบบเถื่อนตั้งแต่ต้น นานหลายเดือน
ส่วนตัวผมมองว่ากฎกระทรวง การขออนุญาต เปิดสถานบันเทิง ดีอยู่แล้วในตัวของกฎหมาย แต่ถ้าจะขออนุญาต ตาม พ.ร.บ. สถานบริการ ก็ต้องทำให้ได้มาตรฐาน คือ 1.ประตูเข้าออก ต้องสอดคล้องกับคนในสถานบริการ ถ้าคนไม่เกิน 50 คน ต้องมีประตูจำนวน 1 แห่ง ถ้ามีคนตั้งแต่ 50 คนถึง 200 คน ต้องมีประตู 2 แห่ง ถ้ามีคนตั้งแต่ 201 คน ถึง 400 คน ต้องมีประตู 3 แห่ง
ซึ่งผมไม่รู้ว่าความจุคนสูงสุดเท่าไหร่ แต่ประตูของผับแห่งนี้ มี 3 แห่ง ในประตู 3 แห่ง ประตูข้างหลังล็อคไว้ ส่วนประตูด้านข้าง ตำรวจพิสูจน์หลักฐานระบุว่า คล้องกุญแจไว้
หมายความว่าคืนที่เกิดเหตุ มีทางเข้าออกเพียงประตูเดียว ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานความปลอดภัยแน่นอน
2.ความกว้างของประตูหลัก สำคัญมาก ต้องรองรับคนออกได้ครึ่งหนึ่ง ของสถานบริการในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน กว้างไม่น้อยกว่า 3 เมตร แต่ความกว้างของประตูด้านหน้า ซึ่งเป็นประตูหลัก กว้างเพียง 2 เมตร
3.ทางหนีไฟ ถ้าความจุไม่เกิน 500 คน ทางหนีไฟต้องมี 2 แห่ง ถ้าความจุ 501 คนถึง 1,000 คน ทางหนีไฟต้องมี 3 แห่ง แต่ในผับแห่งนี้ มีทางหนีไฟอยู่ด้านขวาเวที 1 แห่ง เพราะมีคนพยายามหนี ออกทางหนีไฟ แต่เปิดประตูไม่ได้ บางคนจึงหนีไปอยู่ในห้องน้ำ และเสียชีวิต
4. วัสดุที่ใช้ข้างใน รวมถึงพวกฉนวนกันเสียง ต้องเป็นวัสดุทนไฟไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้มันไหม้ลุกลามเร็ว เหมือนเหตุการณ์ Santika Pub
5.ระบบไฟ สายเครื่องเสียง ต้องเดินท่อร้อยเหล็ก
6. ต้องมีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ
7.ต้องมีผู้ดูแลระบบความปลอดภัยสถานบริการ 1 คน อายุไม่น้อยกว่า 25 ปี มีประสบการณ์ 5 ปี และ
8.กรณีที่ไม่เป็นไปตามกฎกระทรวง ท้องถิ่น ต้องสั่งให้แก้ไขให้ปลอดภัย และถ้าไม่แก้ไข ท้องถิ่นสามารถห้ามใช้สถานที่นั้น จนกว่าจะมีการแก้ไข
“เหมือนเวลาเราขับรถ ถ้าเจอตำรวจตั้งด่าน สิ่งแรกที่เขาถามเรา คือมีใบขับขี่หรือไม่ และอาจจะขอดูเล่มทะเบียนรถด้วย สมมุติเราเป็นเจ้าหน้าที่ เข้าไปตรวจสอบ Pub เพราะมีคนร้องเรียนว่าเสียงดัง สิ่งแรกที่เราต้องดู คือ ใบอนุญาตขอเปิดสถานบริการ ซึ่งบัตรนี้ต้องอยู่ ณ สถานที่ประกอบการนั้นด้วย จะหายไม่ได้ ถ้าหายถือว่ามีโทษปรับ เพราะคุณทำผิดกฎหมาย”
ถ้าใบอนุญาตหาย คุณต้องไปขอใบแทนทันที ฉะนั้นหลายคนที่สงสัยว่า เปิดได้อย่างไรโดยที่ไม่ขออนุญาต แล้วเจ้าหน้าที่ก็เข้าไปตรวจ ก็ต้องขอดูใบอนุญาตก่อน ว่าถูกต้องตามกฏหมายหรือไม่ ผมไม่รู้ว่าเขาผ่านขั้นตอนนั้นมาได้อย่างไร
ผมเดินสำรวจดู Mountain B ใหญ่โตมาก กว้าง 20 เมตร ยาว 30 เมตร มีชาวบ้านอยู่ห่าง ประมาณ 20 เมตรหลายหลัง ร้องเรียนว่าเสียงดัง เดินจากถนนเข้ามา 30 เมตรก็เห็น ลักษณะโครงสร้างและสี โดยสัญชาตญาณ รู้ทันทีว่าไม่ใช่ร้านอาหารเพราะปิดทึบหมด เจ้าหน้าที่เองก็น่าจะรู้มากกว่าเรา เพราะเข้าไปตรวจสอบดูด้วย ขณะที่ฝั่งตรงข้ามถนน เป็นค่ายของทหารเรือ มีพื้นที่ร้านอาหารของเขา บัง Pub อยู่
ในมุมมองของผม คนที่คิดว่าจะเปิดสถานบริการ คงไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ หรือเกิดเหตุการณ์อะไร บางคนอาจจะคิดว่า ถ้าขออนุญาตตามกฎกระทรวง ก็ยุ่งยากแม้จะปลอดภัย แต่ค่าใช้จ่ายสูงมาก สู้ไปทำเถื่อนๆ หรือรู้จักใครที่จะมาปกป้องได้ก็จะดีกว่า และถ้าไม่มีปัญหา อย่างเหตุการณ์ไฟไหม้ ก็อยู่ได้เรื่อยๆไม่มีใครทำอะไรได้
“สิ่งที่เขียนไว้ในกฎกระทรวง เพื่อให้เกิดความปลอดภัย กับคนไปเที่ยว ซึ่งเป็นความรับผิดชอบ ของคนที่จะกอบโกย ความร่ำรวย จากคนที่ไปเที่ยวสถานบันเทิง เพราะคนไปเที่ยวสถานบันเทิง คงไม่ไปตรวจสอบว่า มีความปลอดภัยหรือไม่ อย่างมากก็ดูว่าทางหนีไฟอยู่ตรงไหน หรือประตูล็อคเปิดได้หรือไม่ น้อยคนที่เข้าไปแล้ว จะไปเดินสำรวจดูทางหนีทีไล่ว่าเป็นอย่างไร”
ทั้งนี้บทลงโทษ ตามพรบ.สถานบริการฯ ถ้าเปิดสถานบริการไม่ถูกต้อง ถูกโทษปรับ 60,000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี แต่หากไปสารภาพกับศาล และสารภาพในชั้นของพนักงานสอบสวน จำคุกลดลงครึ่งหนึ่ง เหลือ 6 เดือน ซึ่ง 6 เดือนนี้ อาจจะปรับลงใหม่ก็ได้ บางคนจึงเสี่ยงที่จะเปิด แบบเถื่อนๆมากกว่า
จากเหตุการณ์ไฟไหม้ Santika Pub ย่านเอกมัย ในคืนฉลองส่งท้ายปี 2551 ต้อนรับปีใหม่ 2552 ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 67 ศพ บาดเจ็บกว่า 200 คน ผมได้ลงพื้นที่ ทำข่าวด้วย ความจริงแล้ว ไม่ควรจะถอดบทเรียนบ่อย เพราะไม่ควรมีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เหมือนพยายาม ที่จะมีกฎระเบียบ ถอดบทเรียนตามภาษาข่าวคือ “ล้อมคอก” ถ้าล้อมคอกจริงก็ดี กรณี Mountain B มีการถอดบทเรียนกันอีก ก็ต้องถอดกันไปเรื่อยๆ ไม่มีจุดสิ้นสุด

ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดยความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5