สืบเนื่องจากเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกลุ่มผู้ชุมนุม “ราษฎรหยุด APEC” เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2565 ซึ่งมีทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่บาดเจ็บจำนวนมาก รวมถึงสื่อมวลชนภาคสนามด้วยนั้น
ล่าสุด วันที่ 19 พ.ย. 2565 นายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพฯ ได้รวบรวมข้อมูลและรับทราบรายงานเกี่ยวกับอาการบาดเจ็บของสื่อมวลชนในเหตุการณ์ดังกล่าว ดังต่อไปนี้ (ข้อมูลล่าสุด ณ เวลา 17.00 น.)
กรณีที่หนึ่ง ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว The Matter ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กระบองและโล่กระแทกจนล้มลงกับพื้น ขณะกำลังรายงานสดเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม โดยที่ผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวแสดงตนว่าเป็นสื่อมวลชน พร้อมกับสวมปลอกแขนแสดงสัญลักษณ์สื่อมวลชน จากนั้นเจ้าหน้าที่นายเดิม ได้เตะเข้าที่ศีรษะ จนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย
คลิปเหตุการณ์: https://twitter.com/arawnakkkkkk/status/1593519282193072131?s=20&t=wCXjJaJBK3jBsfH2Pn77OQ
กรณีที่สอง ช่างภาพจากสำนักข่าว Top News ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้โล่และกระบองฟาด ขณะกำลังเก็บภาพจังหวะกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม โดยที่ช่างภาพคนดังกล่าวกำลังยืนอยู่บนฟุตบาท ส่งผลให้ฟกช้ำเล็กน้อยและแว่นสายตาเสียหาย
คลิปเหตุการณ์:
https://twitter.com/prachatai_en/status/1593442543546470401?s=46&t=fEa0bw6H2BO8Q7utq4hlLQ
ภาพแว่นตาที่เสียหาย:
กรณีที่สาม ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวประชาไท ถูกเจ้าหน้าที่ใช้โล่ทิ่มเข้าใส่ ขณะรายงานสถานการณ์การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม โดยที่ผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวยืนอยู่บนฟุตบาธเช่นกัน ส่งผลให้ผู้สื่อข่าวนิ้วแตก
ภาพเหตุการณ์:
กรณีที่สี่ ช่างภาพจากสำนักข่าว Reuters ถูกวัตถุของแข็งเขวี้ยงเข้าใส่ใบหน้า ขณะกำลังบันทึกภาพแนวตำรวจใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนได้รับบาดเจ็บบริเวณลูกตา ซึ่งมีคลิปวิดิโอแสดงให้เห็นวัตถุดังกล่าวลอยมาจากบริเวณใกล้แนวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นคนขว้าง
https://twitter.com/ViralPressCoLtd/status/1593493898562744320
นายธีรนัยกล่าวว่า จากที่ศึกษาคลิปวิดิโอ ภาพถ่าย และคำบอกเล่าของพยานผู้เห็นเหตุการณ์ในพื้นที่ ตนรู้สึกกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อกรณีที่เกิดขึ้น เนื่องจากบางเหตุการณ์ข้างต้น ส่อเค้าเป็นพฤติกรรมข่มขู่และทำร้ายสื่อมวลชนภาคสนาม ซึ่งกำลังทำหน้าที่รายงานเหตุการณ์ตามข้อเท็จจริง แสดงสัญลักษณ์สื่อมวลชนชัดเจน และไม่ได้เข้ากีดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงไม่ได้เป็นการบาดเจ็บจาก “ลูกหลง” หรือจังหวะชุลมุนกันเท่านั้น
“การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้สังคมตั้งคำถามได้ว่า เป็นการคุกคามสื่อเพื่อพยายามที่จะหยุดยั้งการรายงานสถานการณ์ของสื่อมวลชนในพื้นที่หรือไม่?” นายธีรนัยกล่าว
นายธีรนัยกล่าวย้ำว่า ตนขอเรียกร้องให้ทางการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือรัฐบาล เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างครบถ้วนพร้อมกับชี้แจงให้สังคมได้รับทราบ และถ้าหากผลการตรวจสอบพบว่ามีการกระทำผิดจริง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีบทลงโทษหรือดำเนินการอย่างไร และจะมีการชดใช้ความเสียหายต่อสื่อมวลชนที่ถูกกระทำอย่างไรบ้าง
สำหรับกรณีที่มีช่างภาพถูกวัตถุของแข็งขว้างใส่ใบหน้านั้น นายธีรนัยกล่าวว่า ตนขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งตรวจสอบที่มาที่ไปของเหตุการณ์ดังกล่าวเช่นกัน โดยต้องมีข้อสรุปให้ได้ว่าใครเป็นผู้ขว้างปาวัตถุของแข็งในคลิปวิดิโอ ผู้ก่อเหตุมีเจตนาจงใจทำร้ายสื่อมวลชนหรือไม่ และจะมีการดำเนินมาตรการทางกฎหมายกับผู้ก่อเหตุหรือไม่ อย่างไร
นายธีรนัยกล่าวย้ำว่า สื่อมวลชนพึงมีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในการรายงานข้อมูลข่าวสารให้สาธารณชนได้รับทราบ ดังนั้น การคุกคามหรือใช้ความรุนแรงโดยมิชอบกับสื่อมวลชนเพื่อขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่าจากฝ่ายใด ย่อมเป็นการลิดรอนสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนด้วย ดังคำกล่าวที่ว่า “เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน”
ทั้งนี้ สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปที่มีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บหรือถูกคุกคามในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2565 ไม่ว่าจะเป็นการกระทำจากฝ่ายใดก็ตาม สามารถติดต่อให้ข้อมูลกับฝ่ายสิทธิเสรีภาพฯ ได้ที่อีเมล์ tjareporter@gmail.com (กรุณาเขียนระบุในหัวข้ออีเมลล์ว่า “เรียน ฝ่ายสิทธิเสรีภาพฯ”)
นายธีรนัยกล่าวทิ้งท้ายว่า ในวันพรุ่งนี้ (20 พ.ย.) อนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพฯ จะมีการประชุมกันเพื่อหารือมาตรการลำดับต่อไปเพื่อเน้นย้ำให้ภาครัฐเร่งสอบสวนกรณีที่เกิดขึ้นโดยเร็ว พร้อมกับหาทางลดความเสี่ยงในการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนภาคสนามในอนาคต
อ่านข่าวเพิ่มเติม
ฝ่ายสิทธิ์ TJA จี้ตรวจสอบกรณีนักข่าวบาดเจ็บ ในเหตุการณ์ ‘ม็อบ APEC’
ฝ่ายสิทธิ์ฯ TJA ร่วมกับ 6 องค์กรสื่อ หารือ ‘ผบช.น.’ ย้ำต้องคุ้มครองเสรีภาพนักข่าวในพื้นที่ชุมนุม