แกะรอยเส้นทางฉ้อโกง เงินสหกรณ์ออมทรัพย์เกษตร

“ปัจจุบันนี้ ทั้ง 2 คนหายตัวไปยังไม่พบ ถามญาติพี่น้องก็ไม่มีใครรู้ เบาะแสเดียวที่มี คือ ป่วยติดเชื้อโควิดกักตัวแล้วหายไป ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวน ยอดความเสียหายล่าสุด ตัวเลขที่เขาแถลงพุ่งขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุดอยู่ที่ 644 ล้านบาทแล้ว”

           

 ผ่านพ้นไปแล้วกับ ผลการตัดรางวัลอิศรา อมันตกุลประเภทข่าวยอดเยี่ยมสำหรับสื่อออนไลน์ ประจำปี 2565 ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของคนทำงานข่าว  หนึ่งในผลงานสื่อออนไลน์ ที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม คือ  “ตามคืนทรัพย์สิน 600 ล้าน ยักยอกเงินครั้งมโหฬารในสหกรณ์ออมทรัพย์เกษตร” โดย “กองบรรณาธิการสำนักข่าวอิศรา” ซึ่ง “ดร.มนตรี จุ้ยม่วงศรี กองบรรณาธิการสำนักข่าวอิศรา” ให้ข้อมูลเชิงลึกกับ “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ถึงเบื้องหลังกว่าจะได้มาเป็นข่าวรางวัลอิศรา อมันตกุล 

กระบวนการฉ้อโกงซับซ้อน ตั้งสมมุติฐานก่อนทำข่าว

            ข่าวฉ้อโกงสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตร  เป็นข่าวสืบสวนมีความสลับซับซ้อนมากทำเป็นกระบวนการ ต้องลงพื้นที่หาข่าวกันหลายคน ผมเป็น 1 ในตัวแทนกองบรรณาธิการ จุดเริ่มต้น คือ มีอยู่วันหนึ่งแหล่งข่าวผมในอดีต ติดต่อมาว่าในสหกรณ์ออมทรัพย์เกษตรฉ้อโกงกันหลาย 10 ล้านบาท บอกให้ผมช่วยติดตามข่าว เพราะมีการปกปิดไม่ให้ข้อมูลแพร่หลายออกไป ซึ่งผมข้อมูลมีแค่นั้นจริงๆ  

            ทีมงานกองบรรณาธิการตกลงที่จะนำเสนอข่าว จึงเป็นที่มาของจุดเริ่มต้นข่าวดังกล่าว ใจผมคิดว่าเงินหลัก 10 ล้าน ของสหกรณ์ออมทรัพย์คงไม่เท่าไหร่ แต่พอตามต่อข่าวชิ้นที่ 2 เราได้ข้อมูลใหม่ปรากฏว่า ยอดเงินที่ถูกฉ้อโกงไปทั้งหมดพุ่งไปที่ 200 ล้านบาท เราก็ตามต่อได้ตัวเลขที่คอนเฟิร์มชัดเจน ได้กระบวนการในการฉ้อโกงมาแล้ว อยากรู้พฤติการณ์ในการกระทำความผิด เป็นอย่างไร มีใครเกี่ยวข้องบ้าง

            กองบรรณาธิการก็คิดกันว่า จะตั้งต้นทำข่าวนี้อย่างไร ตามสมมุติฐานคือ 1.พิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ 2. การฉ้อโกงวงเงินสูงขนาดนั้นจริงหรือไม่ ผมไปหาแหล่งข่าว ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อคอนเฟิร์ม นำข้อเท็จจริงไปถามตรง ๆ เพราะต้องการนำเสนอข้อมูลเรื่องนี้ ก็ได้รับคำตอบว่าขอเวลาตรวจสอบก่อน ต่อมายืนยันว่าเป็นเรื่องจริง กำลังตรวจสอบอยู่ จะให้คนที่รู้เรื่องนี้ติดต่อกลับมาเพื่อให้ข้อมูล

ผู้ถูกกล่าวหามี 2 ราย เอี่ยวเงินสหกรณ์โดยตรง 

            เราต้องใช้สรรพกำลัง ในการตรวจสอบข้อมูลหลายชั้นมาก เพราะเป็นเรื่องที่รู้กันภายในองค์กรฯ จนกระทั่งเจอข้อเท็จจริงว่าคนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการนี้จุดเริ่มต้นมี 2 คน คือ คนแรกเป็นผู้จัดการในสหกรณ์ ส่วนอีกคน เป็นเจ้าหน้าที่การเงินคุมเรื่องเงินทั้งหมด เวลาสมาชิกจะฝากหรือถอนเงินคนนี้รู้หมด ทั้ง 2 คนหายตัวไป โดยให้เหตุผลกับสหกรณ์ว่าติดโควิด-19 ต้องกักตัว  เมื่อเกินเวลากักตัวแล้ว แต่ก็ยังไม่กลับมาทำงาน ทางสหกรณ์ก็ตามตัววุ่น  

            ขณะที่สำนักข่าวอิศรานำเสนอข่าวไปเรื่อย ๆ ตามสเต็ปย้อนไปดูว่าประวัติภูมิหลังของบุคคลทั้ง 2 เป็นใครมาจากไหน จนกระทั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ แจ้งยอดเงินที่เสียหายจากการรวบรวมเบื้องต้น 491 ล้านบาท จากเดิม 10 กว่าล้านบาท พัฒนามาเป็น 200 ล้านบาท แล้วก็มาเป็น 491 ล้านบาท 

            นักข่าวของเรามีความสามารถในการติดตามเงินไม่ได้มาก จึงไปสืบค้นข้อมูลที่กระทรวงพาณิชย์ว่าคนไหนมีธุรกิจอะไร จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทหรือไม่ แล้วนำเงินไปลงทุนเท่าไหร่ พร้อมสืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตว่า “ผู้ถูกกล่าวหาคนแรก” เป็นใคร มีตำแหน่งในสหกรณ์เป็นอะไร แล้วตำแหน่งนอกสหกรณ์เขาทำธุรกิจอยู่หรือไม่ เราก็ไปดูข้อมูลจนกระทั่งพบว่า เป็นเจ้าของบริษัท 3-4 แห่ง มีการจดทะเบียนจัดตั้ง ที่สำคัญคือลงทุนเปิดร้านอาหารและรีสอร์ท เราก็ตั้งสมมุติฐานว่าเงินพวกนี้นำมาเปิดธุรกิจใหญ่โต เป็นเงินที่เกี่ยวกับสหกรณ์หรือไม่  

            พยายามสาวต่อจนกระทั่ง ได้รับการคอนเฟิร์มจากแหล่งข่าว เขายอมรับว่าตอนนี้กำลังตามอยู่เหมือนกันว่า เงินที่ถูกนำไปนั้นทำอะไรบ้าง จากนั้นเราก็ตามติด ซึ่งความจริงเป็นข้อมูลสาธารณะอยู่แล้ว ในส่วนของข้อมูลการจดทะเบียนบริษัท จนกระทั่งตามไปดูว่า ทำธุรกิจร้านอาหารหลายแห่ง และลงทุนทำรีสอร์ทแถวอัมพวา 

            เมื่อเข้าไปดูรูปทางอินเตอร์เน็ต เห็นว่ารีสอร์ทนี้ตกแต่งสวยงามและใหญ่มาก ประเมินด้วยสายตาประมาณ 100 กว่าล้านบาท เราก็มาตั้งคำถามกันโดยเน้นข้อเท็จจริงว่า สถานะของคุณซึ่งทำงานในตำแหน่งนี้ แล้วคุณเอาเงินมาจากไหน จึงค้นข้อมูลผ่านออนไลน์ และสัมภาษณ์บุคคลก็ได้รับการยืนยันว่า เขาเป็นเจ้าของรีสอร์ทจริง แต่ให้เครือญาติถือหุ้น เรายังได้เลขบัญชีมาก็ทดลองโอนเงิน ผ่านตู้เอทีเอ็มหรือโอนผ่านออนไลน์ เพื่อดูว่ามีบัญชีอยู่จริงหรือไม่  

ตั้งใจเปลี่ยน “สรรพนาม-ชื่อ-สกุล” 

            “ข้อมูลน่าสนใจที่เราเจอ คือ เป็นชื่อผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ไม่เกี่ยวข้องกับนามสกุลของคนในเครือญาติผู้ถูกกล่าวหาคนแรก แล้วยังมีสรรพนามเป็น นางสาว ด้วย แต่ผู้ถูกกล่าวหาเป็น นาง พอค้นไปค้นมาปรากฏว่าเป็นคนๆเดียวกัน เราจึงเร่งคลี่คลายแกะรอยว่าผู้หญิงคนนี้เป็นใคร ทราบว่าความจริงแล้วผู้หญิงที่ปรากฏชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทและธุรกิจหลายแห่ง คือคนเดียวกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 แต่เขาเปลี่ยนชื่อ-นามสกุลใหม่ก่อนหน้านั้นหลายเดือน โดยกลับไปใช้ชื่อ-นามสกุลเดิมก่อนที่จะแต่งงาน น่าสนใจตรงที่เปลี่ยนสรรพนามจาก นาง ไปเป็น นางสาว ด้วย”  

            จากนั้นเราก็สืบค้นสมมุติฐานจากเจ้าหน้าที่ ตรวจสอบความเป็นไปได้ว่า มีกระบวนการเตรียมที่จะหนีหรือไม่ เพื่อไม่ให้แกะรอยได้ว่า เขาเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินและธุรกิจ หรือสาวไปถึงตัวเขา เราตั้งสมมุติฐานว่าอาจจะเริ่มกระบวนการนี้ มาหลายเดือนแล้ว เพราะสืบค้นเส้นทางเงินไม่พบชื่อ-นามสกุลจริง แต่พบอีกชื่อหนึ่งแทน ส่วนคนที่ 2 ก็ใช้วิธีหาข่าวแบบเดียวกัน โดยตั้งสมมุติฐานว่าคนนี้มีธุรกิจอะไร แล้วค้นข้อมูล จนปรากฏว่าเปิดรีสอร์ทที่ต่างจังหวัดเหมือนกัน แต่เปิดมานานแล้ว

             “สรุปว่าปัจจุบันนี้ ทั้ง 2 คนหายตัวไปยังไม่พบ ถามญาติพี่น้องก็ไม่มีใครรู้ เบาะแสเดียวที่มี คือ ป่วยติดเชื้อโควิดกักตัวแล้วหายไป ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สืบสวนตั้งคณะกรรมการสืบสวน ยอดความเสียหายล่าสุด อยู่ที่ 644 ล้านบาทแล้ว ตัวเลขที่เขาแถลงพุ่งขึ้นเรื่อย ๆ ตัวเลขสหกรณ์เวลานำเงินเข้า-ออก ต้องรอให้สมาชิกไปตรวจสอบ ข้อมูลฐานการเงินของเขา  ว่าเงินหายจากบัญชีหรือไม่ แล้วค่อยแจ้งตัวเลขกลับมาที่สหกรณ์ ทำให้ทราบตัวเลขเงินที่ถูกยักยอกออกไป” 

            กระบวนการต่อไปของสหกรณ์ คือติดตามอายัดทรัพย์สินคืน แจ้งความดำเนินคดี และส่งเรื่องไปกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อตรวจสอบทรัพย์สิน ซึ่งเป็นข้อมูลชุดเดียวกับที่สำนักข่าวอิศรานำเสนอ และผู้ที่คิดว่าตัวเองเสียหายกับเรื่องนี้ ให้ไปยื่นลงทะเบียนว่าตัวเองเสียหายเท่าไหร่  เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการขายทอดทรัพย์สิน ของผู้ฉ้อโกงทั้ง 2 คนแล้วนำเงินมาคืน

รีวิวข้อมูล เจาะดูวิธีฉ้อโกง เชื่อ ยังไม่เจอตัว เพราะผู้มีอำนาจช่วยหนี

            สำนักนักข่าวอิศรานำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมารีวิวกันใหม่ ต้องการเจาะดูพฤติการณ์ของการทุจริตฉ้อโกงเป็นอย่างไร ปรากฏว่าได้หลักฐานยืนยันอีกหลายส่วน ว่ากระบวนการเอาเงินออกจาก สหกรณ์ต้องทำอย่างไร มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบให้ข้อมูลยืนยัน และผมได้ตรวจสอบกับแหล่งข่าว 2 -3 คนตรงกัน คือ จุดเริ่มต้นผู้ถูกกล่าวหาคนแรก  คุมเงินฝากทั้งหมด ก็จะรู้ว่ามีบัญชีอยู่ในสหกรณ์เท่าไหร่ บัญชีไหนบ้างที่ไม่เคยเคลื่อนไหวเลย  

            เช่น ข้าราชการนำเงินมาฝากไว้ 5 ปีหรือ 10 ปีไม่เคยเคลื่อนไหว  ผู้ที่ฉ้อโกงเลยใช้วิธีทำเป็นใบถอนเงินแล้วเขียนชื่อตัวเองลงไป จากนั้นนำไปเบิกกับธนาคาร เพราะเขาได้รับความไว้วางใจจากธนาคาร เนื่องจากเป็นหน้าที่โดยตรงในการดูแลเงิน จะไปเบิก-ถอนเมื่อไหร่ก็ได้ จึงใช้วิธีนี้กับบัญชีที่ไม่เคลื่อนไหวหลายปี เงินก็เลยทยอยถูกผ่องถ่ายออกไปเรื่อย ๆ ล่าสุดเงินในส่วนของค่าเสียหายยังไม่ได้คืน และยังไม่พบตัวผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 2 ราย 

            สำนักข่าวอิศรา ไม่ได้วางกรอบว่าข่าวจะจบเมื่อไหร่ เวลาทำข่าวเราต้องมีคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น  กรณีข่าวนี้ที่ยังไม่ได้คำตอบชัดเจน คือ ทั้ง 2 คนผ่องถ่ายเงินไปที่ไหน หนีไปได้อย่างไรยังอยู่ในประเทศหรือไม่  ก็มีข่าวว่าเจออยู่แถวชายแดน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่เรามีอยู่ โดยนำเสนอข่าวไปว่าหนีไปไม่ได้  ถ้าไม่มีผู้มีอำนาจช่วยเหลือ เมื่อตรวจสอบเชิงลึกพบว่า ความสัมพันธ์ของผู้ถูกกล่าวหา ใกล้ชิดกับบุคคลในเครื่องแบบ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาหนีไปได้หรือไม่ 

เมื่อเรานำเสนอข่าวไป ทำให้ตำรวจตั้งกรรมการสอบตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันผมยังไม่ได้รับคำตอบ ถึงผลสอบว่ามีการช่วยเหลือกันจริงหรือไม่ แต่ในฐานะสื่อมวลชนถ้ามีอะไรที่เพิ่มเติม เราต้องนำเสนอต่อแน่นอน

            ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว”  ทุกวันอาทิตย์เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ร่วมกับ  คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5​