“ฟื้นเศรษฐกิจ” โจทย์หินรัฐบาลชุดใหม่!”

"ไม่ว่าจะเป็นคนเจเนอเรชั่นไหน เชื่อว่าทุกคนอยากเห็นประเทศ เดินต่อไปข้างหน้า การเลือกตั้งครั้งนี้เราได้เห็นอะไรหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่ หรือคนรุ่นเก่า ที่ตื่นตัวทางการเมืองมาก เพราะเรื่องของการเมืองกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวแล้วจริง ๆ และในยุคนี้การเมือง เป็นเรื่องที่เปิดใจพูดคุยกันได้"

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 2566 เสร็จสิ้นลงไป เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งประกาศเดินหน้าเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล 6 พรรคการมือง รวม 309 เสียง "คัชฑาพงศ์ ลีลาพงศ์ฤทธิ์" ผู้สื่อข่าวการเมือง สถานีโทรทัศน์ TNN ช่อง 16” ให้มุมมองการเมืองหลังการเลือกตั้งใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว”

โจทย์การบ้านรัฐบาลใหม่ แก้ปมเศรษฐกิจ-มีเสถียรภาพ
"คัชฑาพงศ์" มอง ปัญหาหลัก ๆ ซึ่งเป็นความท้าทายของรัฐบาลชุดใหม่ ที่ประชาชนคาดหวังอันดับ 1 คือ การทำอย่างไรให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัว ทั้งจากสถานการณ์โควิด-19, จากปัญหาการสู้รบของรัสเซีย-ยูเครน และเศรษฐกิจโลกถดถกย จนเกิดปัญหาที่มีผลกระทบเป็นลูกโซ่ แตกต่างจากในอดีตที่หลายพรรคการเมือง นำเสนอเรื่องการสร้างความปรองดองเป็นนโยบายหลัก และประชาชนอยากได้รัฐบาลที่เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ สามารถนำนโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชน มาขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมให้ได้ เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมา สะท้อนแล้วว่า การมีรัฐบาลผสมหลายพรรคการเมือง รวมกันจัดตั้งรัฐบาล มีทั้งปัญหา และจุดอ่อนโดยเฉพาะการขาดเสถียรภาพ เช่น การประชุมสภาผู้แทนราษฎรช่วงท้ายก่อนครบวาระ สภาฯ ล่มบ่อยมาก จนหลากกฎหมายสำคัญไม่สามารถพิจารณาได้ และยังประสบปัญหากับเกมการเมืองภายในสภา จนร่างกฎหมายต้องตกไป เพราะสภาไม่สามารถพิจารณาได้ทัน เช่น ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต ร่างพระราชบัญญัติกัญชาที่เรื้อรังมาจนถึงทุกวันนี้ และกลายเป็นประเด็นทางการเมือง

"ถ้าได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพมาบริหารประเทศ จะมีความราบรื่นมากกว่านี้ เพราะอย่างที่เราเห็นในอดีต คือ สภาเสียงปริ่มน้ำในช่วงที่ผ่านมา มีข่าวทั้งการเป็นส.ส.งูเห่า ,ประมูลซื้อตัวส.ส., การซื้อมติประชุมสภา ที่เป็นปัญหาที่เห็นตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562" คัชฑาพงศ์ กล่าว

ปัญหาความขัดแย้งระลอกใหม่ ที่เคยเกิดขึ้นแบบในอดีตจะไม่เกิดขึ้นอีก

"คัชฑาพงศ์" ยังหวังว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะไม่กลายเป็นปัญหาความขัดแย้งในระลอกใหม่ เพราะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เห็นได้ว่า เมื่อฝ่ายหนึ่งชนะ คู่แข่งก็มาร้องว่า มีการโกงเกิดขึ้น ฉะนั้น หวังว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ ทุกฝ่ายจะยอมรับผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น และไม่ว่ารัฐบาลใหม่จะดี หรือไม่ดี ในอีก 4 ปีข้างหน้า ประชาชนค่อยมาว่ากันใหม่ในคูหาการเลือกตั้ง เพราะในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ไม่มีใครทราบได้ว่า เลือกพรรคการเมืองนี้ พรรคการเมืองนั้นแล้ว จะดีหรือไม่ดี เพราะถ้าดีคงจะเลือกตั้งแต่แรกแล้ว

การเมืองไม่มีสูตรตายตัว คนทุกเจเนอเรชั่นอยากเห็นประเทศเดินหน้า
"คัชฑาพงศ์" ยังเห็นว่า การเมืองเป็นเรื่องของอุดมการณ์ ไม่ใช่หลักศาสตร์ทางคณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ ที่มีสูตรตายตัว 1 + 1 ต้องเป็น 2 หรือ 2 + 2 ต้องเป็น 4 เพราะถ้าเราเอาคำว่า "ประชาธิปไตย" ไปถามคน 10 คน 10 คน ก็ยังตอบไม่เหมือนกันเลย แต่ถ้าเราเอา 1 + 1 ไปถามคน 10 คนคน 10 คนก็ตอบเหมือนกันว่า คือ 2 ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ถือเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องเรียนรู้กันไป ไม่มีใครผิดไม่มีใครถูก ไม่มีใครเลือกพรรคนี้แล้วเป็นสลิ่ม ไม่มีใครเลือกพรรคนี้แล้วเป็นชังชาติ ไม่มีใครเลือกพรรคนี้แล้วเป็นสามกีบ ไม่มีใครเลือกพรรคนี้แล้วเป็นแมลงสาบ เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเลือกพรรคการเมืองไหน ความเป็นคนไทยก็ยังอยู่กับเราทุกคน ไม่จำเป็นต้องตกเป็นเครื่องมือความขัดแย้ง หรือวาทกรรมของนักการเมือง จนนำไปสู่ความขัดแย้งละลอกใหม่ หวังว่า หลังการเลือกตั้งจะไม่มีความขัดแย้ง เกิดขึ้นให้คนไทยแตกแยกอีก

“ไม่ว่าจะเป็นเจเนอเรชั่นไหน เชื่อว่าทุกคนอยากเห็นประเทศ เดินต่อไปข้างหน้า การเลือกตั้งครั้งนี้เราได้เห็นอะไรหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่หรือคนรุ่นเก่า ที่ตื่นตัวทางการเมืองมาก เพราะเรื่องของการเมือง กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวแล้วจริง ๆ และในยุคนี้การเมืองเป็นเรื่องที่เปิดใจพูดคุยกันได้ อาจจะแซะขำ ๆ กันได้บ้าง แต่ก็ไม่ใช่ว่า จะต้องจงเกลียดจงชังกันเข้ากระดูกดำ เพราะแต่ละคนมีสิทธิคิดต่าง และเป็นเรื่องดีที่ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น เพราะเป็นการสร้างระบบรัฐสภาให้เข้มแข็ง” คัชฑาพงศ์ ระบุ

ชวนประชาชนจับตาการทำงานรัฐบาลชุดใหม่ ไม่ดี ลต.คราวหน้าไม่เลือก
"คัชฑาพงศ์" ยังชวนประชาชนที่ตื่นตัวทางการเมืองแล้ว จับตา ติดตามการทำหน้าที่ของรัฐบาลที่จะมาทำหน้าที่ชุดใหม่ด้วย เพราะตอนนี้ไม่ใครรู้ว่า สิ่งที่เราเลือกไปแล้ว ผิดหรือถูก และหลังจากนี้อยากจะเชิญชวนประชาชน ติดตามการทำหน้าที่ของ ส.ส. และรัฐมนตรีแต่ละคนว่า จริงใจทำตามที่สัญญาไว้หรือไม่ หรือมีเหตุผลอะไรที่ไม่ทำตามสัญญาโดยเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ เพื่อที่ในอีก 4 ปีข้างหน้า จะได้ไปตัดสินกันอีกครั้งหนึ่งว่า จะให้เขาเข้าไปทำหน้าที่ต่อหรือไม่ หรือจะลงโทษเขา เพราะหากไม่รักษาสัญญา หรือไม่ได้บริหารประเทศ ตามสัญญาที่บอกไว้ จะได้ไม่เลือกเข้าไปทำหน้าที่ในสภาอีก

"ปัจจุบันการตื่นตัวของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับการปกครองในระบอบรัฐสภา ถ้าเราติดตามแล้ว มีข้อมูลที่เพียงพอ ความตื่นตัวของเราก็จะชี้นำเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้แทนเป็นไปตามประสิทธิภาพที่เราคาดหวังได้ ทำให้เกิดกระบวนการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ" คัชฑาพงศ์ กล่าว

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ "คัชฑาพงศ์" อธิบายว่า จากนี้ไป จน กกต.รับรองผลการเลือกตั้ง ก็อาจมีการร้องเรียนตรวจสอบผู้ชนะการเลือกตั้งในแต่ละเขต ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติทุกการเลือกตั้ง คนที่แพ้ ก็จะร้องเรียน กกต. ส่วนคนที่ชนะก็มีโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งหากข้อร้องเรียนมีมาก ก็อาจทำให้การรับรองผลการเลือกตั้งของ กกต.ถูกยืดออกไป เพราะตามรัฐธรรมนูญ กกต.จะรับรองผลได้ ก็ต่อเมื่อการเลือกตั้งมีเหตุอันควรเชื่อแล้วว่า เป็นปโดยสุจริต และมี ส.ส.แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 แต่สุดท้าย กกต.ก็มีระยะเวลา 60 วัน ในการรับรองผล และหาก กกต.ตรวจพบการทุจริตใดในภายหลัง ก็จะเข้าสู่กรแจกใบส้ม ใบแดง ใบดำ และเมื่อ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งแล้ว ภายใน 15 วัน ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนรัฐพิธี เปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดการประชุมรัฐสภา จากนั้นเป็นขั้นตอนการเลือกประธานสภา และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ก่อนเข้าสู่การเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งหลายคนก็กำลังจับจ้องว่า ใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำคนใหม่ ซึ่งเมื่อขั้นตอนต่าง ๆ แล้วเสร็จตามกฎหมาย นายกรัฐมนตรีคนใหม่ นำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน ก็จะเป็นอันพ้นวาระการรักษาการของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในชุดปัจจุบัน จะเป็นการบริหารจัดการแผ่นดินของรัฐบาลชุดใหม่ต่อไป

คนตื่นตัวใช้สิทธิ์ลงคะแนนล้านหลาม
"คัชฑาพงศ์" ยังมองว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนมีความตื่นตัวมาก เพราะ หากมองย้อนไปถึงการเลือกตั้งปี 2554 จนถึงการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พฤษภาคม 2566 เห็นได้ชัดเจนว่าประชาชนตื่นตัวมาก เพราะเมื่อปี 2554 มีประชาชนมาใช้สิทธิเลือกตั้ง 35 ล้านคน จากจำนวนประชาชนเกือบ 47 ล้านคน คิดเป็นคิดเป็นราวร้อยละ 75 ส่วนปี 2562 มีคนออกมาใช้สิทธิ์ 38 ล้านคน จากผู้มีสิทธิทั้งหมด 51 ล้านคน หรือประมาณ 74% แต่ในการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผ่านมา ในวันที่ 7พฤษภาคมมีประชาชนออกมา ใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากถึงร้อยละ 91 ซึ่งคนมารอลงใช้สิทธิ ตั้งแต่ก่อน 07.00 น. ขณะที่ พรรคการเมืองต่าง ๆ ก็ปรับตัวมากเช่นกันในการหาเสียง แต่ละพรรคใช้ประโยชน์จากสื่อโซเชียล ใช้อินฟลูเอนเซอร์ หรือแม้แต่การขึ้นเวทีแสดงวิสัยทัศน์ และดีเบต แต่ละพรรค ก็มีการคัดตัวส่งตัวผู้สมัครไปแสดงวิสัยทัศน์ในเวทีนั้น ๆ แบบเข้มข้น ขอทราบตัวคู่แข่งบนเวที เพื่อให้สูสีกันบนเวที ไม่เป็นจุดอ่อนของคู่แข่ง นอกจากจะเป็นการโชว์กึ๋นแล้ว ยังเป็นฟาดฟันกัน เพื่อช่วงชิงคะแนน หลายเวทีเป็นที่กล่าวขานกันในวงกว้างในโลกออนไลน์ ว่าเป็นตัวตึงของพรรคใด จนชื่อของผู้ที่มาดีเบตติดหู ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5