รายงานพิเศษ
โดยกองบก.จุลสารราชดำเนินฯ
----
การปิดตัวของนสพ.สยามกีฬารายวันอีกฉบับเมื่อ 31 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา นับเป็นอีกหนึ่งสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของวงการที่ต้องล้มหายหลังเป็นสื่อกีฬาเจ้าแรกมา 38 ปี ก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือนค่ายสยามสปอร์ตแห่งนี้เพิ่งปิด นสพ.สตาร์ซอคเกอร์ ตลาดลูกหนัง และสปอร์ตพูลรายวัน โดยไปเน้นสื่อออนไลน์ครบวงจรทำคอนเทนต์เข้มข้นกว่าเดิม
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นสพ.ในไทยทยอยปิดตัวต่อเนื่อง นสพ.โพสต์ทูเดย์ , M2F นสพ.คมชัดลึก นสพ.บ้านเมือง ต่างจากลากระดาษหันไปให้รายงานข่าวบนเว็บไซต์แทน ไปตามกระแสดิจิตัลที่เกิดขึ้นทั่วโลก
ก่อนจะเป็น บอ.บู๊
บูรณิจฉ์ รัตนวิเชียร หรือ “บอ.บู๋” คอลัมนิสต์ชื่อดังจากค่ายสยามสปอร์ต เจ้าของคอลัมน์ "ทุ่งหญ้าแห่งความฝัน" ในสตาร์ซอคเกอร์รายวัน เล่าในเวทีเสวนา “เรื่องเล่าจากสนามข่าวถึงแท่นพิมพ์” จัดโดยพิพิธภัณฑ์สามัญชน Museum of Popular History ว่า การปิดตัวของนสพ.สยามกีฬานั้นเลิกไปเฉพาะรายวัน แต่รายสัปดาห์กับรายเดือนยังอยู่ ส่วน นสพ.สตาร์ซอคเกอร์ปิดไปเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว ส่วนตัวในฐานะอยู่กับบริษัทสยามสปอร์ตมา 30 ปี ทำนสพ.สยามกีฬาตั้งแต่จบใหม่ๆ จนถึงวันนี้เริ่มรู้ตัวมา 5-6 ปี หลังมานี้ว่าที่สุดแล้วสยามกีฬาต้องเลิกเพราะเสียงสะท้อนที่เคยมีมาค่อยๆ หายไป เช่น จดหมายทางบ้าน อีเมล์ที่สอบถาม ขณะที่ยอดขายช่วงนสพ.สตาร์ซอคเกอร์เฟื่องฟูจะอยู่ที่1-2 แสนฉบับต่อวันหลังๆก็ลดลงมาก อีกจุดที่สังเกตุ คือ ร้านหนังสือหายไปแม้แต่ในเซเว่นเมื่อก่อนมีแผงหนังสือที่ใหญ่มากมาวันหนึ่งเอาไปวางขายของแทน
“ผมเตรียมใจไว้ก่อนว่าไม่ช้าก็เร็วก็มาถึงวันนั้นแน่เพราะนสพ.มันตกต่ำลงเรื่อยๆ 3 วันที่แล้วก่อน นสพ.จะประกาศยุติ ถามว่าใจหายเมื่อเรารู้ตัวอยู่แล้วเหมือนเป็นมะเร็ง ก็รู้ว่าวันนึงมันต้องตาย เพราะเห็นการเปลี่ยนแปลงมาเข้ามาตลอด”
บอ.บู๋ เริ่มทำงานเป็นกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สตาร์ซอคเกอร์รายวัน ตั้งแต่ปี 2536ปัจจุบันเขายังทำคอนเท้นท์ออนไลน์ผ่านช่องยูทูป “บอ.บู๋ Channel” มีผู้ติดตาม 5.23 แสนรายและ เป็นเจ้าของเพจ บอ.บู๋ ที่มีคนติดตาม 6.1 แสนคน เจ้าตัวเล่าถึงความผูกพันที่มีต่อนสพ.สยามกีฬาและสตาร์ซอคเกอร์ว่า สมัยเรียนหนังสือเป็นแฟนนิตยสารสตาร์ซอคเกอร์และสยามกีฬารายวันเพราะบ้าบอลใฝ่ฝันตั้งแต่ยังไม่จบมัธยมปลายว่า ถ้าจบมหาวิทยาลัยเมื่อไร อยากจะไปสมัครงานที่สำนักพิมพ์นี้ หลังเรียนจบคณะศิลปกรรม มาวันแรกได้ทำที่สตาร์ซอคเกอร์ ทำข่าวกีฬาต่างประเทศ ต้องแปลข่าวจากเทเล็กซ์ สมัยก่อนมีเครื่องคอมและเครื่องปริ้นต้องคอยกดข่าวจากสำนักข่าวต่างๆ เช่น รอยเตอร์ เอพี แล้วก็แปลจากกระดาษตรงนั้น
“วันแรกเขาให้ผมแปลเลย สามย่อหน้าเป็นข่าวง่ายๆ เกี่ยวกับผู้จัดการทีมลาออก โดนแก้อยู่ 7 รอบ
ผมต้องให้พี่เลี้ยงมาสอน เขียนข่าวยังไง ใครทำอะไรเมื่อไร แต่เราโชคดี ก่อนเรามาเป็นนักนสพ. เราเป็นนักอ่านมาก่อน ดังนั้น เรื่องคำศัพท์ สำนวนฟุตบอลอยู่ในหัวอยู่แล้ว แต่ภาษาอังกฤษเป็นปัญหา ต้องเปิดดิกชันนารี ซึ่งไม่ผ่าน ต้องไปเรียนภาษาอังกฤษเพิ่ม เพราะตอนเราเรียนไม่ได้ตั้งใจเรื่องภาษา อีกเรื่องคือ ผมพิมพ์ดีดเป็นแต่ยังช้า ยุคผมยังเขียนปากกาลูกลื่นแล้วส่งให้แผนกพิสูจน์อักษรตรวจก่อนที่แผนกคอมพิวเตอร์จะลอกเนื้อหาเราไปลงตีพิมพ์”
เขาเล่าว่า ยุคนั้นยังไม่มี อินเตอร์เน็ต ฟุตบอลก็ไม่ได้ถ่ายทุกคู่ วิธีทำข่าวต้องนั่งรถไปที่ช่อง 7 เพราะมีถ่ายทอดแห้งเพื่อไปนั่งแล้วเขียนว่าเกิดอะไรขึ้นจากจอทีวี ส่วนรูปก็อาศัยเอาคัทเตอร์ตัดจาก นสพ.สแตรทไทม์ที่สิงคโปร์ที่เขาส่งจากอังกฤษ ยังต้องตีดัมมี่ คิดพาดหัวข่าวเองว่า ต้องใช้อักษรกี่ตัวเพื่อให้ลงล็อคให้ได้
ข่าวซีฟจากท่านเซอร์
การทำข่าวที่ประทับใจของบอ.บู๋ เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 ทีมแมนยูไนเต็ดมาแตะกับทีมชาติไทย ต้องออกไปทำข่าวภาคสนามข่าว ต้องการข่าวซีฟและก็ทำได้ คือ ช่วงที่จะสัมภาษณ์โค้ช นักฟุตบอล เขามีกฎห้ามถามเรื่อง การย้ายตัว การบาดเจ็บ การวิจารณ์คนอื่น คิดว่าจะทำอย่างไรให้เป็นเอ็กซ์คลูซีฟ จึงไปขอรายชื่อผู้เล่นทั้งสองทีม ด้วยการไปหลอก เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสันโค้ชทีมแมนยูฯ ว่า เราเป็นเจ้าหน้าที่สนาม ช่วยติดรายชื่อ 11 ผู้เล่นแมนยูตัวจริงพรุ่งนี้ให้หน่อย
“ป๋าแกก็ซื่อ แกติ๊กให้ผมเลย 11 คนแรก จึงเป็นฉบับเดียวที่ได้มาก่อน เพราะแฟนบอลอยากรู้อย่างเดียว คือ พรุ่งนี้ใครจะได้ลงเล่น ก็สมศักดิ์ศรีเพราะเราเป็นนสพ.ฉบับกีฬาฉบับเดียว”
อีกประสบการณ์ตอนไปประจำอยู่อังกฤษรายงานผลบอลพรีเมียร์ช่วงปี 2544-2546 ตอนนั้น ใครที่ได้เป็นบก.ข่าว บริษัทจะมีโบนัสให้ไปประจำอังกฤษ 2 ปี คือ ส่งไปดูบอล หน้าที่หลักต้องเล่าประสบการณ์ เจอความสนุก ความลำบากอย่างไร ขณะไปดูฟุตบอลแข่ง ต้องเดินทางไปตามสนามฟุตบอลต่างๆ เพื่อรายงานผลฟุตบอลทางโทรศัพท์ ใครยิงนาทีเท่าไร ตอนนั้นที่อังกฤษอินเตอร์เน็ตเริ่มมีแต่เว็บไซด์ก็จะไม่มีข้อมูลอะไร เพราะคนยังเสพสื่อกระดาษมากกว่า การรายงานนอกจากโทรศัพท์แล้วยังใช้วิธีเขียนส่งแฟ็กซ์ส่งเข้าออฟฟิศอยู่ ทุกเช้าต้องซื้อ นสพ. 7-8 ฉบับเพื่อดูว่ามีข่าวไหนน่าสนใจเอาไปเล่นได้บ้าง ส่วนรูปใช้วิธีสแกน เป็นเครื่องคล้ายเตารีดรูดใส่นสพ. ส่งกลับเมืองไทย
บอ.บู๋ เล่าว่า ปี 2545 เดินทางไปรายงานบอลถ้วยศึกยูฟ่าแชมป์เปี้ยนลิคส์ แมนยูฯ เจอ ลาคอรุนญ่า จากสเปน เหตุการณ์สำคัญ คือ เดวิด แบคแฮมปะทะกับนักเตะอาร์เจนติน่าจนเจ็บ กระดูกฝ่าเท้าแตก และลงเล่นไม่ได้ 6 สัปดาห์ เป็นข่าวใหญ่ เพราะแบคแฮมเป็นความหวังของประเทศชาติที่สุดเจ้าตัวพลาดไปเล่นฟุตบอลโลกในอีกไม่กี่วัน ต้องรีบโทรเข้ารายงานวิทยุทันทีเป็นข่าวใหญ่ วันรุ่งขึ้น The Sun เล่นข่าวด้วยการลงรูปเท้าแบคแฮมที่เจ็บล้วนๆ พร้อมกับคำพาดหัวเป็นอันเข้าใจกันไม่ต้องอธิบายมาก
บก.หญิงย้อนอดีตสุดโหด
ในงานเสวนาครั้งนี้ ยังมีเรื่องเล่าสนามข่าวคนหนังสือพิมพ์จาก นิภาวรรณ แก้วรากมุกข์บรรณาธิการข่าวการเมือง กรุงเทพธุรกิจ เธอบอกว่า เดิมไม่ได้คิดอยากทำอาชีพนี้เพราะเรียนจบเอกภาษาเยอรมัน ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่จับผลัดจับพลู ช่วงรอรับปริญญาตรี อาจารย์ที่คณะฝากให้ไปทำนสพ.ท้องถิ่น ไทยนิวส์เชียงใหม่ ตั้งแต่นั้นกลายเป็นจุดเปลี่ยนชีวิต จากเริ่มต้นทำงานข่าวโดยไม่ได้เรียนรู้เรื่องการเขียนข่าวจนมาถึงทุกวันนี้ เป็นอาชีพที่ถูกกดดันมาก
ในฐานะเป็นผู้หญิงต้องทำข่าวภาคสนาม มีประสบการณ์มากมาย เธอเล่าว่า สมัยทำข่าวใหม่ๆ มีหลายเรื่องที่ไม่รู้ เช่น ถูกสั่งด่วนให้ไปทำข่าวตามเสด็จโครงการหลวง แต่วันนั้นแต่งกายไม่เหมาะสมเสื้อเชิ้ตกางเกงยีนถูกตำหนิหนักมาก หรือ สมัยนายกฯ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ไปตรวจงานเราอยากจะวิเคราะห์เบื้องหลัง ทั้งที่เพิ่งมาเป็นนักข่าว พอเขียนไปถูกเจ้าของกิจการ และ บก.เรียกไปตำหนิ ตอนนั้นคิดว่า เริ่มต้นอาชีพนี้คงไม่รอด กระทั่งลาออกจากวงการ แล้วกลับมาเริ่มต้นเป็นนักข่าวใหม่ที่เดอะเนชั่น เหตุการณ์หนึ่งที่ยังจำ คือ ทำข่าวทุจริตนายสิบ มีการจับผู้ต้องหาโกงข้อสอบได้ ถูกนำไปขังรวมที่โรงพักแห่งหนึ่ง หัวหน้าสั่งให้ไปสัมภาษณ์ที่มาที่ไป ต้องไปเฝ้าหน้าโรงพักขอตำรวจสัมภาษณ์เด็กที่ถูกจับ ร้อยเวรสงสารเพราะนั่งเฝ้าเป็นวัน เขาเลยไขกุญแจห้องขังในช่วงที่หัวหน้าไม่อยู่ ให้เราไปอยู่ในห้องขังด้วยกัน เพื่อให้เราไปสัมภาษณ์ ต้องนั่งกันเบียดๆ กับเด็กผู้ชายที่ถูกจับ ร้อนมาก จนได้หมายเลขโทรศัพท์เป็นบัญชีหางว่าวออกมา สุดท้ายต้องโทรศัพท์ไปบอกผู้ปกครองให้มาช่วยประกันตัว เป็นประสบการณ์โหดมากในฐานะนักข่าวเด็กสมัยนั้น
บก.ข่าวการเมือง นสพ.กรุงเทพธุรกิจ เล่าด้วยว่า การทำข่าวการเมืองที่ยากลำบากอีกช่วงคือ การรัฐประหาร คมช. ปี 2549 ก่อนเกิดเหตุการณ์ตอนนั้นเป็นวิกฤตการเมือง มีกลิ่นการรัฐประหารตลอด จึงแบ่งสายกันเช็คจะเกิดขึ้นตอนไหน วันนั้น นัดคุยกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ซักพักมีโทรศัพท์มาเขาบอกว่า “เรียบร้อยแล้ว”
“พอสถานการณ์คลี่คลายลง เราต้องหาเบื้องลึกหลังการรัฐประหาร หรือ จะจัดการอย่างไรกับนักการเมืองที่เห็นต่าง ทิศทางประเทศจากนี้ บางเรื่องก็เป็นออฟเดอะเรคคอร์ด พูดไม่ได้ การทำหน้าที่ของเรา มันเป็นประโยชน์ ถือเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นที่ได้เขียนข้อเท็จจริง แม้จะเป็นส่วนเล็กๆก็ตาม ที่ประทับใจอันหนึ่งคือ การสัมภาษณ์ บิ๊กบัง พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน อดีตประธานคมช. เราขอนัดสัมภาษณ์อยากรู้ความในใจที่รัฐประหารตอนนั้นแล้วพอผ่านไปทำไมกลับมาเล่นการเมือง บิ๊กบังตอบคำถามแบบน้ำท่วมปาก พูดอะไรมากไม่ได้แม้เราจะบี้ถามแก ก็คือ ความประทับใจที่เราอยากรู้”
เธอเล่าว่า หากเปรียบเทียบช่วงยึดอำนาจ ช่วงคมช.ปี 2549 ผลกระทบกับสื่อที่เรียกว่าถูกคุกคามยังไม่มีมาก เว้นแต่ถ้าเสนอข่าวที่ละเอียดอ่อนกระทบต่อคณะยึดอำนาจ จะมีโทรศัพท์ จดหมายน้อยจากคณะก่อการมาหา แต่ถ้าเป็นยุคคสช. ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หนักกว่า เพราะจะมีทหารมาอยู่แทบทุกชั้นที่ตึกเนชั่นจะขอความร่วมมือการนำเสนอข่าว ตอนนั้นกดดันมาก ไม่เฉพาะทีวีแต่สื่อทั้งหมด ออนไลน์ นสพ. บางครั้งเรารู้สึกต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง ทั้งที่เรารู้เบื้องลึกแต่เขียนความจริงไม่ได้
กับอนาคต นสพ.กรุงเทพธุรกิจที่สังกัดนั้น เธอบอกว่า ปัจจุบันไม่ได้วางขายที่แผง เพราะแผงไม่ค่อยมีให้วาง และถ้าวางยังมีเรื่องต้นทุน ค่าพิมพ์ถ้าวางแล้วขายไม่ได้จะกลับคืนมาเท่าไร ก็ต้องอยู่รอดในเชิงธุรกิจ แต่กรุงเทพธุรกิจจะขายเฉพาะสมาชิกกลุ่มดั้งเดิมเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีที่เป็น E-newspaper เราปรับมาเรื่อยๆ ตั้งแต่สื่อในเครือเนชั่นทยอยปิดตัว นสพ.ในเครือช่วงโควิด ไม่ว่าจะเป็นเนชั่นสุดสัปดาห์ The Nation คมชัดลึก จนปัจจุบันเหลือเพียง 2 ฉบับในเครือเท่านั้น คือ กรุงเทพธุรกิจ และฐานเศรษฐกิจ
“เครือเนชั่นคิดไว้ตลอดกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เราเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเพื่อน นสพ.ในไทยและต่างประเทศ วันนี้คนดูข่าวในมือถือมากขึ้น เราปรับตัวทั้งคนทำงาน และ การเล่าเรื่องใน นสพ.มาเล่าเรื่องผ่านออนไลน์แทนอย่างต่อเนื่อง”
พลังจากเสียงผู้อ่าน
ธนา บุญเลิศ หรือ “โบ๊ท” อดีตผู้สื่อข่าวสังคมและวัฒนธรรม นสพ.บางกอกโพสต์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่มานักข่าวเมื่อ 4 ปี ก่อนว่า เรียนจบปริญญาตรี 10 ปีที่แล้ว จากนั้นไปเรียนต่อ ปริญญาโทต่างประเทศ สาขาวรรณคดีเปรียบเทียบ ก่อนจะมาเป็นนักแปล ด้วยความที่ชอบงานเขียน การเล่าเรื่อง จึงอยากเป็นนักข่าว เพราะเติบโตมากับการอ่านนิยาย หนังสือ และนักเขียนบางคนก็เคยเป็นนักข่าวก่อน เช่น เออร์เนสต์ แฮมมิ่งเวย์ จึงมาทำงาน “นิวส์ไลน์” ช่อง NBT รายการข่าวรายวันภาษาอังกฤษ จากนั้นก็มาสมัครเป็นนักข่าวที่บางกอกโพสต์เพราะอยากออกไปค้นหาชีวิตผู้คนข้างนอก ทำงานวันแรก คือ ช่วงเลือกตั้ง 2562 ตาม ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไปที่คูหาเลือกตั้งกระทั่งได้ทำข่าววันที่ศาลตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ครบกระบวนการ
งานข่าวที่ประทับใจตอนอยู่บางกอกโพสต์ คือการไปทำข่าวผู้ลี้ภัยโรฮิงญาถึงค่ายคอกซ์บาซ่าที่บังคลาเทศ ครั้งนั้นประเทศเขาต้องการประชาสัมพันธ์ถึงการดูแลชาวโรฮิงญา ได้เดินทางขึ้นรถตู้ไปค่ายแห่งนั้น ใหญ่ที่สุด อยู่บนเนินเขา ได้สัมภาษณ์ ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาถึงเหตุผลที่อพยพมาที่บังคลาเทศจากที่เขาอยู่เมียนมา เมื่อได้สัมภาษณ์ เขาร้องไห้ เล่าถึงการถูกปราบปราม ถูกข่มขืนอย่างไร พอกลับมาไทยเขียนเรื่องลงบางกอกโพสต์ประเด็นที่ว่า ไทยจะมีบทบาทอย่างไรในการแก้ปัญหาโรฮิงญาในเวทีโลกซึ่งปีนั้นไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคด้วย
ธนา ให้มุมมองว่า การทำข่าวในยุคเขาไม่เหมือนพี่ๆ อาวุโส เพราะใช้มือถือเขียนข่าวเป็นภาษาอังกฤษ แล้วถ่ายรูป คลิปสั้นๆ ส่งเข้าไปในไลน์ให้ บก. โดยที่ไม่ได้ต้องเข้าไปเขียนข่าวที่ออฟฟิศ ต้องแบกโน๊ตบุ๊คนั่งพิมพ์งานในจุดที่ข่าวมันเกิดขึ้น เช่น ที่ทำเนียบ กระทรวงต่างประเทศ ศาล ที่ชุมนุมประท้วง
สิ่งสำคัญการทำข่าวยุคนี้ น่าจะเป็นช่วงที่ท้าทายและผันผวนมาก การมาของเทคโนโลยี มีผู้เล่นในสนามมากขึ้น นักข่าวถูกท้าทาย ข่าวก็ไม่ได้เป็นสินค้าหลักต่อไป ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เราทำงานในแพลตฟอร์มหลากหลายมากขึ้น อยู่ในสภาวะที่ไม่มีเส้นแบ่ง นสพ. ออนไลน์ หรือ ทีวี เราเหมือนทำตัวเป็นน้ำเปล่าไหลไปตามภาชนะที่เปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา
“ตอนทำข่าว เราสนใจ why ทำไมเรื่องนี้ถึงเป็นข่าว แล้วก็ค่อยๆ ไปอีกที่คำถามนึงคือ when ว่า เราจะเอาข่าวนี้ลงเมื่อไร เช่น จะลง นสพ. หรือ เว็บ ตอนไหน และจะดูว่าจะเล่าเรื่องนี้อย่างไร จะเล่าเรื่องด้วยการถ่ายภาพ หรือ ข้อมูล”
“....ผมมองว่า การทำข่าว ไม่ใช่การมานั่งฟัง แหล่งข่าว บ่นๆ ด่าๆ หรือ ก๊อปปี้เพรส หน้าที่ของนักข่าวคือ การหาทางออกให้กับปัญหา เราต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม บางเรื่องที่ผมเขียนไป มีคนต่างชาติเขาส่งคำชมมาว่า อธิบายเรื่องราวของผู้คนได้ดี ทำให้เรามีกำลังใจที่จะเขียนงานต่อ เช่น มีครั้งนึงนักศึกษาต่างชาติจาก Columbia University อ้างอิงบทสัมภาษณ์ผู้ที่เคยเข้าร่วมเหตุการณ์ 14 ต.ค. 251 ไปประกอบในวิทยานิพนธ์ของเขา หรือ มีผู้อ่านต่างชาติท่านนึง เขียนชื่นชมบทความผลกระทบของอากาศร้อนต่อผู้ใช้แรงงาน เขาใช้เป็นตัวอย่างสอนภาษาอังกฤษให้นักเรียน เพราะมีตัวอย่างสำนวนที่ชาวต่างชาติใช้สื่อสารกันในชีวิตประจำวัน เขาบอกว่า งานเขียนของเรา ยังถ่ายทอดวิถีชีวิตของผู้คนธรรมดาในเมืองหลวง เช่น แม่ค้าที่ขายอาหารรถเข็น หมอดู แม่ค้าขายดอกไม้ มันทำให้เขานึกถึงเรื่องสั้นของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เรื่องหลายชีวิต”
ข้อคิดถึงนักข่าวรุ่นใหม่
คำแนะนำถึงเด็กจบใหม่ที่อยากเป็นผู้สื่อข่าว บอ.บู๊ บอกว่า “รักอย่างเดียวไม่พอ ต้องบ้าเลย ต้องทำในสิ่งที่เราชอบ ต้องลึกถึงแก่น อย่าทำอะไรฉาบฉวย อย่าคิดเป็นนักข่าวเท่ห์ สนุก ยุคผมกว่าจะได้เขียนคอลัมน์ลงหนังสือพิมพ์ได้ต้องใช้เวลาฝึกฝน ผ่านกระบวนการ อุปสรรคเยอะมาก ต่างจากยุคนี้ มีมือถือเปิดเพจเองได้ ง่ายไปหมด ของผมกว่าจะมีชื่อ มีนามปากกาเอง ใช้เวลา 2-3 ปี แล้วกว่าจะได้รับการยอมรับอีกก็ต้องใช้เวลา แต่สิ่งที่ผมเจอในยุคหลัง ทุกคนใฝ่ฝันเหมือนผมอยากมีชื่อเสียง อยากเป็นคอลัมนิสต์ อยากพากษ์ฟุตบอล ก็เข้ามาทำงานที่สยามกีฬาเพราะมันเป็นเวที แต่ส่วนใหญ่พอเข้ามาแล้วก็อยากมีชื่อเสียงโด่งดัง เจองานเข้าไป กลับบ้านตี 5 สัปดาห์เดียว เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ไปเลย มีเยอะมาก ผิดกับรุ่นผมโดนเจ้านายด่า โดนตัดเงินเดือน โขกสับ เด็กยุคนี้ความอดทนต่ำมากไม่เหมือนรุ่นผม จะถูกเคี่ยวกรำหนัก ดังนั้น อย่าคิดว่าการทำข่าวเป็นเรื่องฉาบฉวย ถ้าทำแล้วต้องเข้าถึงแก่นให้ได้”
นิภาวรรณ แนะนำว่า การอ่านสำคัญ ควรอ่านทุกประเภทเป็นคลังความรู้ ทำให้เราเขียนออกมาโดยอัตโนมัติ สิ่งสำคัญอ่านแล้วตั้งคำถามกับมันไปเรื่อยๆ แล้วหาคำตอบกับเรื่องนั้น จะแก้ปัญหาอย่างไร กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไร จะช่วยให้ทำงานสนุกคิดทำข่าวเหมือนนิยายที่เราเป็นผู้กำกับการแสดงจะให้จบเป็นแฮปปี้เอ็นดี้หรือหักมุม
“ยุคก่อน เมื่อเรามาเป็นนักข่าว ไม่คิดว่าจะมาเป็นเซเลปให้คนรู้จักเรา แต่ลึกๆ ไม่ว่านักข่าวสายไหน หลายคนมีอุดมการณ์อยากช่วยคนอื่นกันทั้งนั้น เพราะอาชีพนี้เสียสละ ไม่มีเวลาให้ครอบครัว ข่าวมันไม่จบทันที บางเรื่องต้องตามคุยกับแหล่งข่าว ดังนั้น ใครจะเข้าวงการ ต้องถามตัวเองพร้อมเสียสละหรือไม่ และอาชีพนี้ทำแล้วไม่รวย เงินเดือนนักข่าวไม่ได้เยอะ ถ้าคุณเป็นนักข่าวมืออาชีพ ไม่สามารถไปรีวิวสินค้าเพราะมันเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนด้านจริยธรรม แต่คุณอาจมีความสุขด้านจิตใจที่จะได้ช่วยเหลือคนอื่น”
ธนา ทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันอยู่ในช่วงวิกฤตของวิชาชีพสื่อ บางทีทำแล้วก็สิ้นหวัง ยิ่งในอนาคตมีความความท้าทายใหม่ๆ เรื่อง AI, ChatGPT มันจะดิปรัปตลอด แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไร ต้องทำงานเต็มที่กับมันให้ดีที่สุด ถ้าเรื่องไหนฝืนกระแสสังคม และต้องตีแผ่ ก็ไม่ต้องกลัว ขอเพียงยึดหลักการ นำเสนอสิ่งที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง สิ่งสำคัญ หน้าที่นักข่าวไม่ใช่อยู่ในห้องแอร์ แต่เราต้องลงพื้นที่ให้เห็นภาพกว้างทั้งหมดว่า มันเกิดอะไรแล้ว ตามไปหาให้ได้อะไรเป็นรากเหง้าของปัญหานี้