“เป็นปัญหาละเอียดอ่อนเชิงสังคม คนที่เกี่ยวข้องมีทั้งครอบครัวโรงเรียน ชุมชน ช่วยกันดูแลสอดส่องมากน้อยแค่ไหน เพราะกลุ่มผู้ก่อเหตุในเด็กเริ่มมากขึ้น เพียงแต่ว่ามีเคสใหญ่ๆ ที่เป็นข่าวสะเทือนขวัญไม่มาก”
“สุเมธ สมคะเน ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ให้มุมมองใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่าถึงเวลาแล้วหรือยัง “ต้องยกเครื่อง พ.ร.บ.อาวุธปืน จากปัจจัยเสี่ยงเหตุเยาวชนอายุ 14 ปี กราดยิงสนั่นห้างกลางเมือง” เพราะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนผู้ก่อเหตุ ไม่ใช่แค่ตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กอย่างเดียว แต่รวมถึง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับวิธีพิจารณาของศาลเด็กเยาวชนและครอบครัวด้วย
กรณีเด็กอายุ 14 ปี เป็นปืนดัดแปลง คือ ปืนเถื่อนเพราะในพ.ร.บ.อาวุธปืนเขียนไว้ชัดเจนว่า สิ่งเทียมอาวุธหรือวัตถุใดๆ ที่มีการดัดแปลงให้สามารถใช้กระสุนจริงได้ ถือว่าเป็นอาวุธที่ต้องควบคุม และผู้ที่ใช้ก็ต้องมีความผิด แต่ที่ผ่านมากฎหมายควบคุมอาวุธของไทย แม้จะบอกว่าเก่าแต่ก็ไม่สามารถขอใช้ได้ง่าย แม้จะมีการผ่อนปรนให้ประชาชนทั่วไปใช้ชนิดปืนได้มากขึ้น
ข้อกฎหมายครอบครองปืน-มีอาวุธปืนติดตัวแตกต่างกัน
สุเมธ บอกว่า ความแตกต่างระหว่างการครอบครอง กับการมีอาวุธปืนติดตัว ตามพ.ร.บ.อาวุธปืนคนทั่วไปไม่สามารถ พกอาวุธปืนติดตัวได้ ซึ่งใบอนุญาตมี 2 ประเภท คือ 1.ใบอนุญาตให้ครอบครองและใช้อาวุธปืน เพื่อป้องกันทรัพย์สินภายในบ้าน 2. การพกปืนติดตัวไปในที่รโหฐาน ตามปกติถ้าเป็นประชาชนทั่วไป จะไม่ได้รับอนุญาตให้พกปืน ทำได้เพียงเก็บไว้ที่บ้านเท่านั้น
ขณะที่ประชาชนทั่วไปครอบครองปืนได้ยากเพราะราคาสูง ทุกวันนี้หากซื้อปืนถูกต้องตามกฎหมาย ราคาต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 80,000 บาทแม้แต่ข้าราชการก็ไม่สามารถซื้อได้ถูก หากไม่ได้ซื้อในโครงการสวัสดิการกรมการปกครอง และการขออนุญาตต้องมีผู้รับรอง เหมือนเราสมัครเข้าทำงานแล้วมีผู้ค้ำประกัน ถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไปก็ต้องเป็นข้าราชการ C6 ขึ้นไป หรือถ้าเป็นต่างจังหวัดต้องให้ผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันรับรอง
แนะ “รัฐ” ออกมาตรการควบคุมการใช้อาวุธปืน เหตุ ดัดแปลงเป็นปืนเถื่อนได้
สุเมธ บอกว่า ตามพ.ร.บ.อาวุธปืนมีเจ้าหน้าที่รัฐ 31หน่วยงาน ที่สามารถขออนุญาตใช้ปืนได้และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจ 14 หน่วยงาน ลำพังแค่กระทรวงมหาดไทยจำนวนคนก็เป็นแสนแล้ว ตำรวจอีกเป็นแสน ยังไม่นับหน่วยงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ ( DSI ) หรือครูก็สามารถพกพาได้ เพราะในอดีตสมัยที่พรรคคอมมิวนิสต์ยังมีอยู่ ครูอยู่พื้นที่ห่างไกลมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งและอุดมการณ์ทางการเมืองกฎหมายอนุโลมให้ใช้และพกพาได้
ภาครัฐควรมีมาตรการควบคุมการใช้อาวุธ เสมือนอาวุธปืนจริงเพราะสามารถนำมาดัดแปลงใช้กระสุนจริงได้ โดยเน้นที่การหาซื้อปืนเถื่อน เช่น บีบีกันหรือแบลงค์กันซึ่งบีบีกันถือว่าเป็นโมเดลใกล้เคียงกับอาวุธจริงมาก แต่ลำกล้องส่วนใหญ่เป็นพลาสติก จะมีลำกล้องเหล็กบ้างแต่ราคาแพงหลักหมื่น เป็นปืนที่ออกแบบมาเพื่อสันทนาการ ทั้งผู้เล่น-ผู้ที่จะซื้อและครอบครองบีบีกัน ต้องอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี
กรณีของแบลงค์กัน เป็นปืนที่สร้างขึ้นมาใช้ในกองถ่ายภาพยนตร์เป็นหลัก 4-5 ปีหลังมานี้คนนิยมซื้อมาสะสมมากขึ้น แต่การครอบครองตามกฎหมายต้องมีอายุ 21 ปีขึ้นไป
“หากซื้อถูกต้องตามกฎหมายไม่น่าห่วง เพราะการซื้อทั้งบีบีกันและแบลงค์กันต้องแสดงบัตรประชาชน ให้ร้านค้าเก็บสำเนาบัตรไว้ แจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ว่าได้จำหน่าย สิ่งเทียมอาวุธให้ใคร แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือ ซื้อปืนเถื่อนมาดัดแปลงเป็นปืนจริง เช่น บีบีกันสามารถไปดัดแปลงใช้กระสุนขนาด .22 ได้”
ชี้ช่องรัฐดูกฎระเบียบชัดเจน อย่าโยน กกท. เหตุ ไทยมีนักกีฬายิงปืนรุ่นเยาวชน
การจะห้ามเด็กเข้าสนามยิงปืนนั้น ไม่แน่ใจว่าจะห้ามทั้งหมดได้หรือไม่ เพราะประเทศไทยมีนักกีฬายิงปืนรุ่นเยาวชนด้วย รัฐจะดูแลกลุ่มนี้อย่างไร ที่กังวลคือกฎระเบียบรัฐยังไม่มีความชัดเจน เพียงแต่บอกว่าให้ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เข้าไปดูแล ปัญหาอยู่ที่ว่ากระทรวงมหาดไทยหรือรัฐบาล สามารถควบคุมปืนเถื่อนได้หรือไม่เพราะอาจจะเกิดการทุจริตเชิงนโยบาย จากเจ้าหน้าที่รัฐบางคน แต่ถ้าควบคุมได้ก็ไม่น่าห่วง เรื่องที่เด็กจะเข้าสู่อาวุธปืน
“เป็นปัญหาละเอียดอ่อนเชิงสังคม คนที่เกี่ยวข้องมีทั้งครอบครัวโรงเรียน ชุมชน ช่วยกันดูแลสอดส่องมากน้อยแค่ไหน เพราะกลุ่มผู้ก่อเหตุในเด็กเริ่มมากขึ้น เพียงแต่ว่ามีเคสใหญ่ๆ ที่เป็นข่าวสะเทือนขวัญไม่มาก ปีที่แล้วก็มีเหตุเด็ก ป.3 ยิงเพื่อนในห้องเรียน ก็ได้ปืนเถื่อนมาเหมือนกัน แนวโน้มเรื่องพวกนี้มากขึ้น เพราะเด็กอายุต่ำกว่า 18 เข้าถึงอาวุธปืนหรือสิ่งเทียมอาวุธ เพื่อทำร้ายคู่วิวาทกันมากขึ้น”
เห็นต่างให้เด็ก-เยาวชนรับโทษเท่าผู้ใหญ่ อาจเป็นอารมณ์ชั่ววูบ เคยมีกรณีกลับเข้าสังคมไม่ได้
ผมไม่เห็นด้วยกับมุมมองที่ ให้เยาวชนผู้กระทำผิด รับโทษความผิดเท่าผู้ใหญ่เพราะถึงอย่างไรเด็กก็คือเด็ก ปัญหานี้เป็นปัญหาทั่วโลกถ้าจะแก้ต้องแก้ทั้งโลกเพราะกฎหมายไทย ล้อมาจากอนุสัญญาคุ้มครองเด็ก ซึ่งเด็กมีสภาพจิตใจรุนแรงมากขึ้น และใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหามากขึ้นในหลายประเทศ จึงต้องใช้กฎหมายของเด็กโดยเฉพาะ ไม่สามารถใช้กฎหมายผู้ใหญ่ได้ เช่น ในอดีตประเทศไทยเคยใช้กฎหมายผู้ใหญ่กับเด็ก ทำให้เด็กกคนนั้นไม่สามารถ กลับมาสู่สังคมปกติได้อีกเลย ทั้งที่เป็นอารมณ์ชั่ววูบของเด็ก
จรรยาบรรณทั่วโลกบัญญัติไว้ ให้เบลอหน้าผู้ต้องหา
ส่วนการที่มีคนวิพากษ์วิจารณ์สื่อว่าปกป้องผู้ต้องหา เพราะเบลอหน้าเวลานำเสนอข่าว ผมเข้าใจว่าทุกคนโกรธ มีความรู้สึกร่วมกับเหตุการณ์รุนแรง โดยเฉพาะกับเด็ก แต่ต้องทำความเข้าใจกับสังคมด้วย เรื่องนี้เป็นจรรยาบรรณที่บัญญัติไว้ทั่วโลก ใช้เงื่อนไขดังกล่าวนี้เหมือนกันหากเด็กก่อเหตุ เพราะกฎหมายให้ความคุ้มครองเด็กที่เป็นทั้งผู้ก่อเหตุและผู้ถูกกระทำ หากสื่อไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจะถูกฟ้องว่าละเมิดสิทธิเด็กได้
เช่น ประเทศญี่ปุ่น บังคับใช้กฎหมายรุนแรงกว่าไทย อะไรที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาที่เป็นเยาวชน แม้แต่ชื่อ , ภาพ ,บ้าน ปรากฏไม่ได้เลย อย่างไรก็ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนที่เป็นผู้ก่อเหตุไม่ใช่แค่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กอย่างเดียว แต่รวมถึง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับวิธีพิจารณาของศาลเด็กเยาวชนและครอบครัวด้วย
ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์เวลา 11.00-12.00 น. โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5