“ลงพื้นที่ 3 จุด แต่ละจุดมีสภาพปัญหาแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ ผลกระทบตกอยู่กับชาวบ้านและคนในชุมชน ทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ”
.
ดารินทร์ หอวัฒนกุล ผู้สื่อข่าวเนชั่น ทีวี กล่าวถึง “วิกฤตขยะล้นเมือง : โรงงานรีไซเคิลทางออกจริงหรือ?” ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า ได้ลงพื้นที่ไป 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรี
“แต่ละจุดมีเรื่องราวสภาพปัญหาแตกต่างกัน เช่น ปัญหาลักลอบทิ้งสารเคมีและกากขยะอุตสาหกรรม บางพื้นที่เป็นกากขยะอุตสาหกรรมที่นำเข้ามาในเรื่องของโรงงานรีไซเคิล ขยะอิเล็กทรอนิกส์ แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ ผลกระทบตกอยู่กับชาวบ้านและคนในชุมชน ทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ”
ชาวบ้านฉะเชิงเทรา พบค่าโลหะหนัก-ค่าความเป็นกรดสูง จากโรงงานในพื้นที่
ดารินทร์ บอกว่า จุดแรก คือ อ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16 เป็นอ่างเก็บน้ำในโครงการพระราชดำริ อยู่ในความดูแลของโครงการชลประทานฉะเชิงเทรา เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มาก 1.3 ล้านลูกบาศก์เมตร และถือว่าเป็นหัวใจของชาวบ้านในพื้นพื้นที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ถ้าย้อนไปในจุดนี้เป็นการปนเปื้อน ชาวบ้านเจอการปนเปื้อนจากโรงงานในพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2561-2562 พบความผิดปกติแต่ปี 2560 แต่ตอนนั้นไม่ได้เอะใจ ว่าเป็นการปนเปื้อนจากโรงงาน ที่ปล่อยสารเคมีหรือกากอุตสาหกรรมกากขยะ แต่ในปี 2562 ชาวบ้านเห็นความผิดปกติ ว่าปลาในอ่างเก็บน้ำหายไป และพืชต่างๆที่อยู่ในอ่างเก็บน้ำค่อยๆตาย
“ชาวบ้านต้องใช้น้ำแห่งนี้อุปโภค-บริโภค และทำการเกษตร ซึ่งวันที่ไป สภาพของน้ำยังมีการปนเปื้อน คือ ค่าโลหะหนักและค่าความเป็นกรดสูง แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านแล้ว โดยฟื้นฟูบำบัดน้ำ แต่ปัจจุบันสภาพแวดล้อมยังไม่กลับมาเหมือนเดิม ยังมีกลิ่นเหม็นของสารเคมี และความเข้มข้นของกรดชัดเจน ชาวบ้านบางคนต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น และน้ำไม่มีเพียงพอที่จะใช้ทำการเกษตร ต้องขุดเจาะน้ำบาดาลมาใช้ และพอไปดูบ่อยืมดิน ที่อยู่ใกล้กับอ่างเก็บน้ำ พบมีน้ำสีเขียวอมฟ้าและมีกลิ่นคล้ายสารเคมี ไปตรวจพบว่ามีค่าความเป็นกรดสูง
สารซึมผ่านบ่อยืมดิน ไปอ่างเก็บน้ำ มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น
ดารินทร์ บอกว่า ตอนแรกชาวบ้านในพื้นที่คิดว่ามีการแอบนำเอาของเสียมาทิ้ง เพราะเห็นน้ำตรงนั้นแค่จุดเดียว ยังไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าฝีมือใคร จนมีเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลสูบน้ำเสียตรงจุดนั้นและลอกตะกอนดินจากบ่อยืมดิน ออกไปกำจัดและบำบัดฟื้นฟูน้ำตรงนั้น แต่ก็เจอปัญหาว่าดูดน้ำไปบำบัดเท่าไหร่ก็ไม่แห้ง จนมีการรับแจ้งอีกครั้งว่ามีน้ำสีเขียวซึมออกมาจากบ่อข้างๆบ่อยืมดิน พบว่าส่งผลไปถึงอ่างเก็บน้ำที่อยู่ติดกัน
เมื่อตรวจสอบพบว่าเป็นน้ำที่ซึมผ่านออกมาจากชั้นดิน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เข้ามาช่วยตรวจสอบ ใช้วิธีขุดเพื่อหาทิศทางของน้ำ ว่าไหลซึมมาจากทิศทางไหน และปักเป็นเสาท่อเป็นจุดๆเพื่อนำมาคำนวณต้นทางของน้ำเสีย สุดท้ายพบว่ามาจากโรงงานแห่งหนึ่ง ที่อยู่เหนืออ่างเก็บน้ำประมาณ 500 เมตร โดยไหลซึมผ่านชั้นน้ำใต้ดิน ไปจนถึงชั้นดินทรายและซึมผ่านมาที่บ่อยืมดิน และลงไปที่อ่างเก็บน้ำ ซึ่งมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นแน่นอน
หน่วยงานรัฐ ฟ้องโรงงานต้นตอปัญหา เรียกค่าเสียหายเกือบ 1,800 ล้าน
เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังไปปี 2554 และ 2561 พบว่าโรงงานที่เป็นจุดต้นทางของน้ำเสีย เคยถูกร้องเรียนมาแล้วว่า มีการทำบ่อดินในพื้นที่โรงงาน แล้วนำสารเคมีที่ใช้แล้วทิ้งลงในบ่อดินดังกล่าว
พอมาเกิดอีกในครั้งนี้ จึงทำให้เจ้าหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษยื่นฟ้องเรียกค่าฟื้นฟูและค่าเสียหายจากโรงงาน ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ต่อศาลแพ่ง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งศาลนัดฟังคำตัดสินสิ้นเดือนมีนาคมนี้ เป็นคดีที่น่าติดตามว่าผลการดำเนินคดี จะเรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าฟื้นฟูได้หรือไม่ เพราะทางหน่วยงานเรียกไป 1,800 ล้านบาท เนื่องจากต้องฟื้นฟูทั้งอ่างเก็บน้ำและฟื้นฟูเรื่องของดินบริเวณจุดนั้น
“ทุกวันนี้น้ำในอ่างเก็บน้ำดังกล่าวไม่สามารถใช้ได้ เพราะยังตรวจเจอค่าความเป็นกรดในน้ำสูง ขณะที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบในเรื่องของการเกษตร เพราะต้องใช้น้ำจากตรงจุดนั้นปลูกพืชไร่ต่างๆเพื่อเก็บนำไปขาย ขณะที่บางส่วนไม่กล้าใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค แม้หน่วยงานราชการมาติดตั้งระบบน้ำประปาให้ แต่ไม่ครอบคลุมในพื้นที่ มีบางส่วนที่ต้องซื้อน้ำใช้ ทำให้ชาวบ้านมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม”
จุดที่ 2 ปราจีนบุรี ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม-กากยิปซั่ม บนที่ดินสาธารณะ
ดารินทร์ เล่าว่า การลงพื้นที่จุดที่ 2 ที่ ต.หาดนางแก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี มีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ตรงจุดนี้เป็นเรื่องของที่ดินสาธารณะของจังหวัดปราจีนบุรี ประมาณ 2,000 ไร่ พบว่ามีการทิ้งกากอุตสาหกรรมและกากยิปซั่ม กระจายตามพื้นที่เป็นวงกว้าง อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวประมาณ 500 ไร่ โดยกรมปศุสัตว์ได้มาขอทางจังหวัดใช้ประโยชน์ และแบ่งพื้นที่ 500 ไร่ให้ชาวบ้าน ใช้ประโยชน์ร่วมด้วย แต่ที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาดูแล ไม่มีการปักปันเขตแดนให้ชัดเจน จึงเป็นพื้นที่ช่องว่างให้กลุ่มนายทุนต่างๆ ลักลอบนำกากอุตสาหกรรมต่างๆเข้ามาทิ้งช่วงกลางคืน ซึ่งทำให้ไม่สามารถติดตามผู้กระทำผิดได้
ก่อนหน้านี้ยังมีโรงงานผลิตรองเท้า จ้างบริษัทรับกำจัดขยะนำขยะไปทำลายตามกระบวนการที่ถูกต้อง แต่กลายเป็นว่าบริษัทที่รับไปกำจัด กลับนำมาทิ้งไว้ตรงนี้แล้วเผา โชคดีที่ชาวบ้านเห็นควันไฟแล้ว แจ้งเจ้าหน้าที่มาดับได้ทัน
จุด 3 ชลบุรี ชาวต่างชาติเข้ามาขอเปิดโรงงาน ภาพ-กลิ่นชัด เส้นทางน้ำเสียปล่อยจากพื้นที่โรงงาน
ดารินทร์ บอกว่า จุดที่ 3 ซึ่งลงพื้นที่ คือ จังหวัดชลบุรี มีชาวต่างชาติเข้ามาเปิดโรงงาน เคสนี้แรกเริ่มมาจากการที่ชาวบ้านในพื้นที่ร้องเรียน ว่ามีโรงงานรีไซเคิลขยะอุตสาหกรรม ลักลอบกลับมาเปิดกิจการ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ถูกอุตสาหกรรมจังหวัดสั่งระงับไปแล้ว เมื่อมีการร้องเรียนมาทางหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบแล้วรอบหนึ่ง พบคนงานเป็นแรงงานต่างด้าว แต่เมื่ออุตสาหกรรมจังหวัดเข้าตรวจสอบก็หยุดไป เหมือนรับฟังคำสั่งของอุตสาหกรรมจังหวัด แต่ว่าวันที่ลงไปทำข่าว กลับพบว่ากลับมาเปิดดำเนินการอยู่ ซึ่งเท่ากับฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าหน้าที่รัฐ
“ตอนที่ลงพื้นที่ เราเห็นภาพของการประกอบกิจการ มีรถบรรทุกขนวัสดุบางอย่างเข้าไปในโรงงานแล้วยังพบว่า ปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนออกมาจากภายในพื้นที่โรงงานด้วย ที่แน่ใจเพราะว่าเส้นทางน้ำมาจากพื้นที่โรงงาน ปล่อยออกมา น้ำมีทั้งกลิ่นและฟองลงสู่ลำรางสาธารณะ ที่เชื่อมต่อกับพื้นที่เกษตรของคนในชุมชน โดยไม่ได้ผ่านการบำบัดเลย แต่ละครั้งที่อุตสาหกรรมจังหวัดมาตรวจโรงงาน เส้นทางที่จะผ่านเข้าไปก็ต้องผ่านตรงจุดนี้ มันก็เป็นคำถามเหมือนกันว่าทำไมเจ้าหน้าที่ไม่เห็น ขณะที่ด้านหน้าโรงงานเป็นฝุ่นผงขี้เถ้ากองหนามากอยู่ทั่ว ลักษณะอากาศบริเวณนั้นก็มีฝุ่น ขมุกขมัว ลักษณะคล้ายฝุ่น PM 2.5 สัมผัสได้ว่าเป็นมลภาวะที่เห็นชัดเจนมากๆ”
ดารินทร์ บอกว่า เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิบูรณะนิเวศเข้ามาเก็บตัวอย่างน้ำ ไปตรวจวัดค่าเพื่อให้เห็นว่า เป็นสารเคมีหรือโลหะหนักประเภทใดที่ปนเปื้อน ซึ่งเบื้องต้นพบว่ายิ่งอยู่ใกล้โรงงานมากเท่าไหร่ ค่าความเป็นกรดก็สูงมากขึ้น นอกจากนี้ชาวบ้านที่เลี้ยงสัตว์บอกว่า วัวหรือไก่ที่เลี้ยงไว้ไม่สามารถกินน้ำจากแหล่งน้ำได้ ทำให้เคยมีกรณีวัวแท้งลูก ขณะที่ปลูกผักต่างๆไว้ไม่สามารถเก็บมาทำอาหารได้เพราะท้องเสีย
“พออุตสาหกรรม จ.ชลบุรี นำสื่อเข้าไปตรวจสอบ สิ่งแรกที่เห็น คือ ชิ้นส่วนและเศษซากขยะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชนิดต่างๆเป็นกองสูง กระจายอยู่ทั่วบริเวณ มีบ้านพักคนงานซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวทั้งหมด แรงงานบอกว่า ทำงานทั้งกลางวัน-กลางคืน ที่สำคัญเมื่อตรวจสอบใบประกอบการพบว่าโรงงานตรงจุดนั้น เป็นใบอนุญาตประกอบกิจการประเภทบดย่อยพลาสติก ซึ่งไม่ตรงกับที่เราเห็นว่าเป็นรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ และการตรวจสอบยังพบว่า ในพื้นที่โรงงานที่นี่ ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ 88 ไร่ ไม่มีบริษัทไหนเลยที่แจ้งประกอบกิจการอย่างถูกต้อง ซึ่งไม่ต่างจากเป็นโรงงานเถื่อน เปิดโดยที่ยังไม่ได้แจ้งประกอบกิจการ ผู้ดูแลโรงงานก็ไม่สามารถให้คำตอบอะไรได้ชัดเจน โดยอ้างว่าขยะดังกล่าวซื้อต่อมาจากโรงงานที่ จ.ระยอง”
หากพบเบาะแส แจ้งอุตสาหกรรมจังหวัด-ศูนย์ดำรงธรรม-ป.ป.ช.ในพื้นที่
ดารินทร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หากประชาชนพบว่าโรงงานที่ตั้งอยู่บริเวณบ้าน มีลักษณะคล้ายเหตุการณ์ที่กล่าวมาข้างต้น ให้แจ้งอุตสาหกรรมจังหวัด เพราะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงตามกฎหมาย หรือหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทย ที่ศูนย์ดำรงธรรม หรือหากแจ้งแล้วยังไม่คืบหน้า ก็แจ้งไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ท้องที่ของตัวเอง เพราะก่อนที่โรงงานจะเปิดประกอบกิจการ ต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่รัฐเพื่ออนุมัติ
“เจ้าหน้าที่จะรวบรวมข้อมูลตรวจสอบ ซึ่งขณะนี้มีหลายเคสที่พบการกระทำผิดแบบนี้ และประชาชนดำเนินการแจ้งเจ้าหน้าที่เช่นกัน หรืออีกช่องทางหนึ่ง เครือข่ายภาคประชาชน อย่างมูลนิธิบูรณะนิเวศ ก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่มีการเก็บข้อมูลและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหามลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมในลักษณะนี้
ต้องยอมรับว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ยังมีหลายจุดที่เป็นช่องว่างโหว่ ตอนนี้ก็กำลังมีความพยายามที่จะแก้ไขกฎหมายในเรื่องนี้ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 เพิ่มโทษอาญากับผู้ประกอบการที่ไม่มีความรับผิดชอบ รวมถึงการผลักดัน กฎหมาย PRTR ...แต่ที่สำคัญคือ ในส่วนของเจ้าหน้าที่ภาครัฐเอง ที่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ก็ต้องมีความจริงจังในการควบคุมดูแลด้วย ”
ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5