จากตัวเลขผู้ติดเชื้อกลุ่มใหม่รายวันที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค. ออกมารายงานทิศทางแพร่ระบาดของโควิดรอบใหม่ กำลังเป็นสถานการณ์ที่ผู้คนทุกอาชีพในสังคมต้องกลับมาตั้ง "การ์ดสูง" เพื่อยกระดับการเฝ้าระวังเต็มรูปแบบอีกครั้ง
ไม่เว้นแต่อาชีพสื่อมวลชน ซี่งเป็นหนึ่งในอาชีพที่อยู่ด่านหน้าทำหน้าที่รายงานข้อมูลข่าวสารทุกรูปแบบ ต้องกลับมาปรับตัวเตรียมความพร้อมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่กระจายในวงกว้างอีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการที่สถานที่ราชการสำคัญๆ ได้เพิ่มมาตรการเข้ม ขนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไปถึงบุคคลสำคัญ และผู้ปฏิบัติงานในสถานที่ดังกล่าว
"จุลสารราชดำเนิน" พาไปสำรวจมาตรการของหน่วยงานภาครัฐซึ่งกำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับ "สื่อมวลชน" ในช่วงที่สถานการณ์ไวรัสโควิดยังไม่หยุดนิ่ง เริ่มที่สื่อมวลชนประจำ "ทำเนียบรัฐบาล" ได้เปิดการลงทะเบียนตรวจโควิดด้วยวิธี rapid test เจาะเลือดปลายนิ้วให้กับสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกำหนดวันตรวจให้ชัดเจน แต่หากการตรวยครั้งนี้พบว่าสื่อมวลชนรายใดมีผลตรวจออกมา "เป็นบวก" จะดำเนินการส่งไปตรวจ swab อีกครั้งเพื่อดำเนินการตรวจซ้ำให้ชัดเจนว่าติดเชื้อโควิดหรือไม่
สำหรับจุดประสงค์การตรวจเพื่อ "คัดกรอง" สื่อมวลชนที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ภายในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีสื่อมวลชนจากหลายสำนักข่าว เดินทางมาปฏิบัติหน้าที่จำนวนมากโดยเฉพาะวันประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ทุกวันอังคารของสัปดาห์ ซึ่งขณะนี้มีสื่อมวลชนพร้อมใจมาลงทะเบียนพร้อมตรวจโควิดจากทำเนียบรัฐบาลด้วยวิธี rapid test เจาะเลือดปลายนิ้วมาแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ราย
ด้านสื่อมวลชน "สายสภา" ในการปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวนั้น สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้ขอความร่วมมือให้ช่วงที่สื่อมวลชนจะล้อมวงสัมภาษณ์แหล่งข่าวที่เป็น ส.ส.หรือรัฐมนตรีภายในอาคาร ต้องมีการเว้นระยะห่าง โดยเน้นย้ำว่านักข่าวที่อยู่ในอาคารรัฐสภาจะต้องใส่หน้ากากเวลาปฏิบัติงานทุกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค เช่นเดียวกับกรณีการแถลงข่าวภายในห้องแถลงข่าว ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้กำหนดเก้าอี้ให้สื่อมวลชนที่เข้ามาทำข่าวภายในห้องแถลงข่าวอยู่ในลักษณะที่มีการเว้นระยะห่าง เพื่อไม่ให้นั่งติดกันอย่างเช่นที่ผ่านมา
ส่วนผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภารายหนึ่งเปิดเผยว่า สำหรับการปรับตัวในการทำงานนั้น ส่วนตัวคิดว่าไม่มีการปรับเปลี่ยนมากนัก เพียงแต่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด จะทำให้ ส.ส.ซึ่งเป็นแหล่งข่าวไม่ได้เดินทางมายังอาคารรัฐสภา จึงต้องปรับการสัมภาษณ์ไปเน้นผ่านทางโทรศัพท์เป็นหลักเท่านั้น แต่โดยรวมแล้วมาตรการของทางสภาฯในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด ถือว่าไม่ได้กระทบต่อการทำงานของสื่อมวลชนแต่อย่างใด
"ในรัฐสภายังคงมาตรการคัดกรองเข้มงวดทางเข้าทุกด้านของอาคารรัฐสภา ตั้งแต่การตรวจวัดไข้และการบังคับให้ใส่หน้ากาก โดยเวลานี้จะมีการตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิทุกประตูทางเข้าออก ไม่ว่าจะเป็นอาคารฝั่งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา"สื่อมวลชนรายนี้ ระบุ
ขณะที่สื่อมวลชน "สายทหาร" เป็นหนึ่งในสถานที่ยกระดับมาตรการป้องกันโควิดอย่างเข้มงวดมาต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2563 โดยผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวแห่งหนึ่ง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดรอบนี้ เจ้าหน้าที่ของกองทัพบกได้มาพ่นน้ำยาฉีดทำความสะอาดอาคารสำนักงานเลขานุการกองทัพบกทั้งตึก ภายหลังหลังมีข่าวว่ามีข้าราชการบำนาญกลุ่มเสี่ยงรายหนึ่งมีประวัติเดินทางมาที่อาคารสำนักงานเลขานุการกองทัพบกก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ในแต่ละจุดด้านในมีการตั้งจุดสแกนวัดอุณหถูมิผู้ที่ผ่านเข้าและออกในแต่ละพื้นที่ และติดสติ๊กเกอร์กำกับไว้ โดยเฉพาะที่หน้าห้องของสื่อมวลชนนั้น มีการทำ "คิวอาร์โค้ด" ไทยชนะ ไว้สำหรับสื่อมวลเองด้วย
ที่สำคัญยังกำหนดมาตราการใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา โดยช่วงเวลาแถลงข่าวจะงดการรวมตัว แต่จะมีสื่อมวลชนจาก ททบ.5 จะปฏิบัติหน้าที่เป็นตัวแทนในเรื่องภาพเคลื่อนไหว โดยมีการเผยแพร่เนื้อหาข่าวและภาพผ่านกลุ่มไลน์สื่อมวลชน แต่หากมีสัมภาษณ์ แหล่งข่าวครั้งใดสื่อมวลชนจะเว้นระยะห่างไม่ต่ำกว่า 3 เมตร โดยไม่มีการสัมภาษณ์แบบรุมล้อม ที่สำคัญในพื้นที่ด้านในของกองทัพบกนั้นยังคงมาตรการเข้มทุกระดับ ถึงแม้ก่อนหน้านี้สถานการณ์แพร่ระบาดจะเบาลงมา แต่มาตรการทุกอย่างภายในยังเข้มงวดเหมือนเดิม
ข้ามมาที่สื่อมวลชน "สายกทม." สำนักประชาสัมพันธ์ ได้แจ้งกับสื่อมวลชนเพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการทำงานร่วมกัน โดยหันกลับมาใช้มาตรการงดให้สื่อมวลชนมาฟังการแถลงข่าว ซึ่งเคยเป็นแนวปฏิบัติที่เคยใช้มาช่วงต้นปี 2563 โดยปรับการแถลงข่าวเป็นช่องทาง live แทนผ่าน เฟซบุ๊ต "กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์" นอกจากนี้จะมีเจ้าหน้าที่คอยส่งเนื้อหาข่าว เนื้อหาคำสั่งของ กทม.และภาพข่าวในกาประชุมให้กับสื่อมวลชนผ่านกลุ่มไลน์ โดยเฉพาะยังทำหน้าที่ช่วยเป็น "คนกลาง- ฝากคำถามและประเด็นต่างๆ ของสื่อมวงชนไปยังแหล่งข่าว หรือผู้บริหาร กทม.เพื่อให้ตอบคำถามแทนการไปนั่งฟังการแถลงข่าวได้
ไม่ใช่แค่รูปแบบการปรับตัวระหว่างหน่วยงานรัฐกับสื่อมวลชนแต่ละสายเพียงอย่างเดียว แต่ทีมนักข่าวภาคสนาม ได้ประยุกต์อุปกรณ์การทำงานให้เตรียมพร้อมการสถานการณ์ โดย "บุศรินทร์ วรสมิทธิ์" ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวสถานีโทรทัศน์ดิจิตอล PPTV HD ช่อง 36 เปิดเผยกับ "จุลสารราชดำเนิน" ว่า สำหรับการปรับตัวสื่อมวลชน ยุค New Normal ขณะนี้ทีมข่าวมีความเห็นว่าทีมภาคสนามนั้นในตำแหน่งผู้ช่วยช่างภาพจะมีความเสี่ยงเพราะต้องอยู่ในระยะใกล้กับแหล่งข่าว แตกต่างจากผู้สื่อข่าวและช่างภาพที่สามารถถอยห่างออกมาในขณะปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ทีมช่างภาพได้นำไม้เซลฟี่มาดัดแปลงกับที่หนีบหัวไมค์ มาใช้รักษาระยะห่างกับแหล่งข่าว ซึ่งได้ทดลองทำตั้งแต่กลางปี 2563 จนมาถึงขณะนี้ทุกทีมข่าวของ PPTV ใช้แบบนี้ทั้งหมด
"ถึงแม้การใช้รูปแบบนี้ไม่ได้บ่งบอกว่าจะทำให้ไม่ติดเชื้อหรือไม่ แต่ให้การทำงานแต่ละครั้งรู้สึกว่ามีความปลอดภัยระหว่างกันในระดับหนึ่ง โดยหน้าที่ของผู้ช่วยช่างภาพต้องทำความสะอาดไมค์ ขาตั้งกล้อง รถยนต์ที่ใช้ปฏิบัติงานและอุปกรณ์ต่างๆ ทุกครั้งเพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ก็ปรับเพื่อใช้งานให้ปลอดภัยมากกว่าเดิม"บุศรินทร์ ระบุ
ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวสถานีโทรทัศน์ดิจิตอล PPTV HD ยังเปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้ทีมข่าว PPTV ได้กลับมาใช้มาตรการที่เข้มงวดอีกครั้ง โดยแบ่งทีมงานภาคสนามและทีม work from home สลับกันทำงานเป็น 2 สัปดาห์ แบบทีมใครทีมมัน โดยทีมภาคสนามไม่ต้องกลับเข้ามาข้างใน แต่ให้ส่งข่าวมาจากข้างนอกได้เลย โดยที่อีกทีมที่ work from home จะทำหน้าที่ทำข่าวจาก live แทน"
ทั้งหมดเป็นวิถีปรับตัวการปฏิบัติงาน "นิวนอร์มอล" ของสื่อมวลชนในแต่ละสาย ซึ่งเป็นสถานการณ์เดียวกับการแพร่ระบาดจากเชื้อไวรัสโควิดที่ยังไม่มีใครรู้ว่าจะจบลงเมื่อใด