รำพึงรำพัน ถึงสมาคมฯเมื่อ 19 ปีที่แล้ว

รำพึงรำพัน ถึงสมาคมฯเมื่อ 19 ปีที่แล้ว

โดย สมาน สุดโต

บันทึกการประชุมอนุกรรมการปรับปรุงอาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ณ อาคารสมาคมฯหน้า รพ.วชิรพยาบาล วันที่ 21 พ.ย.2543  เวลา 10.30 น.

เสียงรถยนต์บนถนนสามเสน เวลา 10.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่สายแล้ว ยังอื้ออึงเหมือน 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้คนยังเดินขวักไขว่ทั้ง 2 ฝากถนนแต่ฝากโรงพยาบาล (วชิรฯ) ดูเหมือนจะคึกคัก  มีผู้คนมากแบบนี้ทุกวัน เพราะมีป้ายรถปประจำทางหน้าโรงพยาบาล จึงมีคนขึ้นลงรถโดยสารประจำทางตลอดเวลา รวมทั้งผู้ที่เป็นญาติ หรือเพื่อนคนไข้ที่ เดินทางเข้าออกโรงพยาบาล หรือแม้กระทั่งคนไข้เองหลังจากพบหมอแล้ว บางคนก็เดินออกมาคอยรถเมล์กลับบ้าน

วันนี้ท้องฟ้าปลอดโปร่ง ฟ้าสดใส ช่วงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งกำลังจะเริ่มเข้าหน้าหนาว พระอาทิตย์ทอแสงจ้า แต่ก็ไม่ร้อนแรง เพราะ อุณหภูมิเหลือ 23 องศา อากาศจึงค่อนข้างจะเย็นเล็กน้อย ส่วนอาคารสมาคมฯ สีขาวหม่น ตั้งอยู่ในรั้วคอนกรีตสีทึบๆ เพราะไม่เคยขัดหรือทาสีใหม่เลย ยังยืนตระหง่านท่ามกลางลมหนาวต้นฤดู แต่สีสรรของอาคาร และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ดูจะเย็นยะเยือกมากกว่าบริเวณลานกว้างด้านหลังอาคารสมาคม ซึ่งเป็นที่จอดรถ มีต้นมะม่วงใหญ่ 2 ต้น และต้นมะขามยืนต้นอยู่ ลานจอดรถจึงเต็มไปด้วยใบไม้ที่ล่วงหล่นลงมา จนกระทั่งประเมินได้ว่า พื้นเหล่านี้ไม่เคยรับการดูแล หรือกวาดทำความสะอาดมานานวันเต็มที เมื่อเราเลี้ยวรถยนต์มาจอดด้านหลังอาคาร ก็มีลมหอบใบไม้ปลิวขึ้นมา  เหมือนจะมีการบอกกล่าวว่า มีสิ่งมีชีวิตเคลื่อนไหวบริเวณนี้ หลังจากเงียบหายไปเป็นเวลาแรมเดือน

ขณะที่เรากำลังยืนด้วยความมึนงงว่า อะไรเกิดขึ้นกับอาคารที่เคยสง่างาม และบริเวณลานกว้างที่เคยสะอาดสะอ้านนั้น  พลันได้ยินเสียงเรียกของสตรีว่าเจ้านายๆ ดังมาจากตึกของสมาคม จึงหันไปตามเสียงก็พบกับปนัดดา (เหล่าชูวงศ์) ซึ่งเคยเป็นเจ้าหน้าที่ประจำที่นี้ เธอพูดว่า แหมคนสุพรรณมากันแต่เช้าเชียว เราได้แต่ยิ้ม เพราะคิดว่าเธอกระเส้าเรา แต่ที่ไหนได้ รถยนต์ที่ตามเราเข้ามาติดๆ กันนั้นเป็น อาจารย์ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล สว.จากสุพรรณบุรี ก็เป็นคนสุพรรณด้วยเช่นเดียวกับเรา

“สวัสดีครับท่าน สว. ผมสมานครับ เคยเป็นนายกสมาคมที่นี้” เราทักทายพร้อมกับแนะนำตนเอง สว.สมเกียรติ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับว่า “สวัสดีครับ อย่าเรียกผมว่าสว.เลย ให้เรียกธรรมดาเถิด เอ๊ะนี้ผมมาถูกสถานที่นะ เขาเชิญผมเป็นอนุกรรมการ และเพิ่งมาประชุมหนแรกครับ แต่ดูๆ แล้วบริเวณสมาคมนี้ ทำไมเงีบบเหงาเหมือนจะร้างนะครับ” ดร.สมเกียรติให้ความเห็น

“ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน เพราะไม่ได้มานานแล้ว แต่เท่าที่ทราบไม่มีคนนั่งทำงานที่นี้ บริเวณเหล่านี้และอาคารจึงทรุดโทรมดังที่เห็นนี้แหละ” เราตอบออกไปพร้อมกับบอกประวัติความเป็นมาของอาคาร โดยสรุปว่าน่าเสียดายอาคารนี้ที่เคยเป็นที่ทำงานของสมาคมนักหนังสือพิมพ์ฯ มีประวัติน่าสนใจยิ่ง เพราะเป็นสมาคมเดียวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จวางศิลาฤกษ์ เมื่อปี พ.ศ.2512 และเสด็จเปิดอาคาร เมื่อปี พ.ศ.2514 ส่วนผู้ออกแบบอาคารแห่งนี้คือ ร.อ.ดร.กฤษดา อรุณวงศ์ อดีตผู้ว่ากรุงเทพมหานคร

ผู้ออกแบบได้ใช้ความสามารถออกแบบให้เกิดประโยชน์ใช้สอยแก่สื่อมวลชนทุกชีวิต คือมีห้องประชุมชั้นล่าง จุคนได้ประมาณ 100 กว่าคน มีห้องโถงกว้าง-ยาวตลอดอาคาร เพื่อจัดแสดงนิทรรศการต่างๆ ส่วนชั้นที่ 2 ก็มีห้องสมุดเพื่อให้คนทั่วไปได้ค้นคว้าหาความรู้ มีห้องประชุมกรรมการ ห้องทำงานของเจ้าหน้าที่ และห้องน้ำ ส่วนชั้นที่ 3 ก็จัดเป็นห้องพักสำหรับนักข่าวต่างจังหวัดที่เดินทางมาประชุมสัมมนาจำนวน 6 ห้องด้วยกัน

อาคารสมาคมฯ แห่งนี้ เคยคึกคักและมีชีวิตชีวา ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ที่บรรดาสื่อมวลชนสาขาต่างๆ หันมาใช้บริการกันอย่างทั่วถึงไม่ว่าจะเป็นเรื่องทักท้วงกรณีที่รัฐบาลออกกฎระเบียบมาริดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน การเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก  ป.ร.42 การทักท้วง รัฐบาลเรื่องการตั้งกรรมการเฉพาะกิจมาตรวจสอบสื่อ หรือแม้กระทั่งการประชุมออกแถลงการณ์ตอบโต้รัฐบาลในกรณีที่สื่อมวลชนถูกหลู่เกียรติและเหยียดหยาม และล่าสุดก็เป็นที่ประชุมเพื่อสถาปนาสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ให้เป็นสถาบันควบคุมกันเองของสื่อมวลชนประเภทสิ่งพิมพ์

ความมีสง่าและท่าทีเกรงขามของอาคารปรากฏในสายตาของผู้มาเยือนตลอด  เมื่อเข้าไปภายในอาคารจะพบจารึกพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานไว้เมื่อคราวเสด็จเปิดอาคาร ปี พ.ศ. 2514 (มิถุนายน) ซึ่งข้อความบางตอนนั้นเป็นเครื่องชี้ให้สื่อมวลชนนำไปปฏิบัติ และบางตอนก็คือจรรยาบรรณของสื่อมวลชนนี้เอง ในงานประชุมประจำปีของสมาคมในเดือน กุมภาพันธ์ ทุกปี กิจกรรมต่างๆ ของสมาคมมีมากมาย และที่ขาดไม่ได้ก็คือการเชิญนายกรัฐมนตรีมาพบปะพูดคุย และรับประทานอาหารค่ำร่วมกับสื่อมวลชนทุกแขนง ซึ่งได้ปฏิบัติติดต่อกับมานานหลายปีติดต่อกันจนเป็นประเพณีอย่างหนึ่งว่า กุมภาพันธ์ นายกรัฐมนตรีต้องมาเยือนสมาคมแห่งนี้

แต่อนิจจา โลกธรรมก็มาเยือนสมาคมได้เหมือนกัน มีลาภ-เสื่อมลาภ มียศ-เสื่อมยศ มีนินทา-สรรเสริญ และมีสุข-ทุกข์ เป็นธรรมดา และก็ไม่รอดพ้นจากไตรลักษณ์เหมือนสังขารทั่วๆ ไป มีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นตัวกำหนดเหมือนกัน เมื่อคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ในปี 2542 มีมติแปลกๆ ว่า จะรวมกับสมาคมนักข่าว แต่ให้สมาคมนักข่าวยุบสมาคมก่อนแล้ว มารวมกับสมาคมแห่งนี้ ภายใต้ชื่อใหม่ว่า  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และเมื่อมีกรรมการชุดใหม่มาบริหารกลับกลายเป็นว่า เป็นกรรมการจากสมาคมนักข่าวเกือบทั้งสิ้น

จิตวิญญาณสมาคมเดิม รวมทั้งโลโก้รูปแผนที่ประเทศไทย แผ่นกระดานจารึกจรรยาบรรณสมาคมฯ ทรัพย์สินมูลค่าประเมินไม่ได้ ค่อยๆ ดับสูญ และอาคารที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินมาวางศิลาฤกษ์และเปิดป้าย เมื่อ 30 ปี ที่แล้ว ที่เป็นความภูมิใจที่พวกเราเคยมีว่า ที่นี้ เป็นแห่งเดียวที่องค์พระประมุขของชาติให้ความสำคัญ  กำลังจะถูกเปลี่ยนแปลง

“ตอนนี้เรามีแปลนใหม่ เพื่อปรับปรุงอาคารเหล่านี้ ใช้งบประมาณประมาณ 10 ล้านบาท แต่งบไม่พอจึงมาขอความเห็นจากบรรดาพี่ๆ ทั้งหลายที่เชิญมาประชุมว่าจะหาได้จากไหนและอย่างไร” นายกวี จงกิจถาวร นายาสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพืแห่งประเศไทย ปรารภในห้องประชุมที่มีผู้อาวุโส ล้วนแต่เป็นอดีตนายกสมาคม (ทั้งสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยและสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย) มาประชุม 5 คน ได้แก่ นางบัญญัติ ทัศนียะเวช น.ส.วิภา สุขกิจ นายเชาว์ รูปเทวินทร์ และนายสมาน สุดโต นอกจากนี้เป็นกรรมการสมาคม เช่น นายชวรงค์ ลิมปัทมปาาณี (เลขาธิการ) แขกรับเชิญได้แก่ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล สว. จังหวัดสุพรรณบุรี  ผมเปิดบันทึกที่เขียนเมื่อ 19 ปีที่แล้ว บัดนี้กาลเวลาเปลี่ยนไป อาคารสมาคมดั้งเดิมยังคงอยู่ เปลี่ยนแต่ภายในเพื่อให้มีพื้นที่รองรับ สมาคมและองค์กรสื่อมวลชนได้มากขึ้น ดังนั้นความคึกคัก ความมีชีวิตชีวาได้กลับมา และมากกว่าที่เคยมีในอดีต

ในเรื่องบทบาทและหน้าที่ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ยุคเปลี่ยนผ่าน มาถึงยุคปัจจจุบัน ต้องยอมรับว่า  คณะกรรมการสมาคมทุกยุค ทุกสมัย ยังยืนหยัด รักษาหลักการ จิตวิญญาณและหน้าที่สื่อมวลชนไว้อย่างเหนียวแน่น แม้ว่าจะถูกกระแสตีกลับ และกดดันจากจากนักการเมือง จากกลุ่มผูกขาดอำนาจรัฐ หรือภาครัฐทุกยุค ทุกสมัยก็ตามที เพราะพวกเรายึดหลักการว่า เสรีภาพสื่อ คือเสรีภาพประชาชน นั่นเอง

เปิดเผยบันทึก เดือน มกราคม  2561