B-4-1-2551-24_ถุงขนม 2 ล้าน..เปิดโปงกระบวนการแทรกแซงระบบยุติธรรม-กรุงเทพธุรกิจ

รหัส B-4-1-2551-24

ชื่อข่าว_ถุงขนม 2 ล้าน..เปิดโปงกระบวนการแทรกแซงระบบยุติธรรม

เจ้าของ-กรุงเทพธุรกิจ

ประจำปี พศ. 2551

ข่าว “ถุงขนม 2 ล้าน เปิดโปงกระบวนการแทรกแซงระบบยุติธรรม
ส่งผลงานประกวดชิงรางวัลข่าวยอดเยี่ยม ประจำปี 2551
กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

              ปี 2551 เป็นปีแห่งความขัดแย้งแตกแยกในสังคมไทย แม้บ้านเมืองจะก้าวพ้นบรรยากาศของการรัฐประหารสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย กระทั่งได้รัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช เข้ามาบริหารประเทศ และคดีความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับครอบครัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วก็ตาม

         ทว่าปัญหาดูจะยังไม่จบลงเพียงแค่นั้น...

           เหตุเพราะมีความพยายามทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งทางปิดและทางเปิด ของคนในรัฐบาลและพรรคพลังประชาชนเพื่อช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัวให้พ้นมลทินจากข้อกล่าวหาของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. โดยในห้วงเวลานั้นมีคดีสำคัญที่ขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว 1 คดี คือ คดีทุจริตจัดซื้อที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก มูลค่า 772 ล้านบาท

      ขบวนการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมในรูปแบบต่างๆ จึงเริ่มขึ้น อาทิเช่น การเลื่อนลดปลดย้ายข้าราชการหรือกดดันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำคดี, การใช้เงื่อนแง่ทางกฎหมายยื่นฟ้องและปล่อยข่าวดิสเครดิตบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีความต่างๆ ของอดีตนายกรัฐมนตรี ฯลฯ รวมไปถึงความพยายาม "แทรกแซงศาล"

    ความพยายามอย่างหลังนี้แม้จะมีเสียงร่ำลือกันหนาหู แต่ก็หามีหลักฐานใดๆ ยืนยันการกระทำดังกล่าวไม่ อาทิ กรณีมีข่าวรัฐมนตรีคนหนึ่งในรัฐบาลนายสมัคร นัดรับประทานอาหารค่ำกับผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในคดีที่ดินรัชดาฯ ในโรงแรมหรูแห่งหนึ่งกลางกรุงเทพฯ

   10 มิถุนายน 2551 "กรุงเทพธุรกิจ" ได้ข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงที่เชื่อถือได้ในศาลฎีกา ว่ามีทีมทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ นำกล่องหรือถุงขนมแต่ภายในบรรจุเงินสดๆ 2 ล้านบาท ไปมอบให้เจ้าหน้าที่ธุรการของแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา ถึงที่อาคารศาลฎีกา สนามหลวง
แต่ด้วยความที่ประเด็นข่าวเกี่ยวกับศาลเป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยเฉพาะกรณีนี้ที่เข้าข่ายการ "เสนอสินบน" ทำให้กองบรรณาธิการต้องตรวจสอบข่าวอย่างรอบด้าน

กระทั่งเชื่อได้ว่ามีการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นจริง จึงตัดสินใจเสนอข่าวนี้เป็นชิ้นแรกในหน้าการเมือง หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 11 มิถุนายน 2551 ด้วยวิธีการนำเสนอที่ต้องใช้ศิลปะในวิชาชีพเพื่อป้องกันการถูกฟ้องร้องจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นกรณีที่ก่อผลสะเทือนทั้งทางการเมืองและกระบวนการยุติธรรม

   รุ่งขึ้นรองเลขาธิการศาลฎีกาเปิดแถลงข่าวยอมรับว่า ข้อเท็จจริงตามข่าวที่ "กรุงเทพธุรกิจ" นำเสนอเป็นเรื่องจริง และประธานศาลฎีกาได้มีคำสั่งแต่งตั้งองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาขึ้นมาไต่สวนกรณีอื้อฉาวนี้ แต่ยังมิได้มีการเปิดเผยชื่อทีมทนายหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
"กรุงเทพธุรกิจ" ใช้ความพยายามในการเสาะหาข้อมูลต่างๆ เพื่อตีแผ่ความจริงให้ได้มากที่สุดและต่อเนื่องที่สุด เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า สถาบันศาลเป็นสถาบันหลักสถาบันหนึ่งในสังคมไทยที่มีความเป็นอิสระสูง และมีขั้นตอนการทำงานที่รัดกุม การสืบค้นข้อมูลข้อเท็จจริงจึงไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่มีการเปิดแถลงข่าวความคืบหน้าเป็นรายวัน

ขณะเดียวกันทางฝั่งของทีมทนายผู้ถูกกล่าวหา แม้จะมีเสียงเล่าลือว่าเป็นทนายคนนั้นคนนี้ แต่เมื่อเจ้าตัวยังปิดปากเงียบ จึงเป็นเรื่องยากที่จะพาดพิงถึง แต่ "กรุงเทพธุรกิจ" ก็แกะรอยความเชื่อมโยงต่างๆ จนสามารถเปิดโฉมทีมทนายที่กระทำการในเรื่องนี้ได้ พร้อมๆ กับการนำเสนอข้อมูลประกอบในมิติของกฎหมาย, ขั้นตอนการพิจารณาคดีขององค์คณะไต่สวนซึ่งตั้งขึ้นเป็นกรณีพิเศษ และมีสถานะเป็นองค์คณะผู้พิพากษาในศาลฎีกา เพื่อสร้างความเข้าใจกับสังคมไปพร้อมกัน
ในที่สุด องค์คณะไต่สวนได้มีคำพิพากษาว่า นายพิชิฏ ชื่นบาน ทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน (ในขณะนั้น) น.ส.ศุภศรี ศรีสวัสดิ์ เสมียนทนาย และนายธนา ตันศิริ ผู้ประสานงานคดี กระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ต้องระวางโทษจำคุก 6 เดือน

แต่เรื่องราวที่สืบเนื่องจากการเปิดโปง "ถุงขนม 2 ล้าน" ยังไม่จบ เพราะองค์คณะไต่สวนได้มอบหมายให้เลขานุการศาลฎีกาไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ดำเนินคดีทีมทนายทั้ง 3 คนฐานเสนอสินบนแก่เจ้าพนักงานด้วย ซึ่ง "กรุงเทพธุรกิจ" ก็ได้นำเสนอบทวิเคราะห์ทั้งประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเพื่อชี้ทิศทางของคดีในลำดับต่อไปอย่างต่อเนื่อง

ผลของการนำเสนอข่าว "ถุงขนม 2 ล้าน" แบบเกาะติด ทำให้สาธารณชนได้รับรู้ว่า ขบวนการวิ่งเต้นล้มคดีและแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมโดยผู้ที่สูญเสียอำนาจมีอยู่จริง ขณะเดียวกันก็เป็นการตรวจสอบการทำงานของ "ศาล" ซึ่งน้อยครั้งนักที่สถาบันแห่งนี้จะถูกตรวจสอบจากองค์กรภายนอก

ในที่สุดก็ได้สร้างความเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ เที่ยงธรรม เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาในคดีที่ดินรัชดาฯ ให้จำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเวลา 2 ปี ฐานกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 100
ปัจจุบันกรณีอื้อฉาว "ถุงขนม 2 ล้าน" ยังไม่จบ แม้พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม และพนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีเสนอสินบนให้เจ้าพนักงาน ทว่ารายละเอียดแห่งคำสั่งไม่ฟ้อง และเงื่อนงำในคดีนี้ยังมีคำถามอีกมากมายที่ยังรอคำตอบ ซึ่ง "กรุงเทพธุรกิจ" จักเดินหน้าปฏิบัติหน้าที่ค้นหาข้อเท็จจริงต่อไป

  ด้วยเหตุผลทั้งหมด "กรุงเทพธุรกิจ" จึงขอเสนอข่าวชิ้นนี้เพื่อให้คณะกรรมการโปรดพิจารณา