B-4-1-2551-12_กระชากหน้ากากการตลาดมารศาสนาตุ๋น 700 ล้าน ปั้มสมเด็จเหนือหัว-โพสต์ทูเดย์

รหัส B-4-1-2551-12

ชื่อข่าว_กระชากหน้ากากการตลาดมารศาสนาตุ๋น 700 ล้าน ปั้มสมเด็จเหนือหัว

เจ้าของ-โพสต์ทูเดย์

ประจำปี พศ. 2551(ประกวดข่าวทุจริตเชิงสืบสวนสอบสวน)

กระชากหน้ากากการตลาดมารศาสนา ตุ๋น 700 ล้าน ปั๊ม ‘สมเด็จเหนือหัว’

กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

บทนำ
ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาสถาบันหลักของชาติทั้ง ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ถูกสั่นคลอนจากความเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างรุนแรง ส่งผลให้ประชาชนขาดที่พึ่ง จึงได้ไปแสวงหาสิ่งยึดเหยี่ยวอื่นเพื่อเป็นที่พึ่งพิงทางจิตใจในการดำรงชีวิต จากช่องว่างของความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว กลับมีผู้ฉวยโอกาสหาประโยชน์ โดยไม่ได้คำนึงผลกระทบที่ตามมา
โดยเฉพาะมีแก๊งมารศาสนาได้อาละวาดหาประโยชน์จาก “ความเชื่อ” และ “ศรัทธา” ของประชาชน มีการใช้การสื่อสารการตลาดเป็นเครื่องมือ รวมถึง “สื่อ” เองก็ได้กระโดดเข้าร่วมเอี่ยวผลประโยชน์จากเม็ดเงินก้อนมหาศาลนั้นด้วย
การสร้าง “พระสมเด็จเหนือหัว” เป็นหนึ่งในขบวนการหาประโยชน์ที่ว่า ที่มีการใช้กลยุทธ์ผ่านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านทางหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ แผ่นป้ายโฆษณา และบิลบอร์ดทั่วกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยไม่มีใครหรือหน่วยงานใดเอะใจว่า...นี่มันของจริงหรือ?
“โพสต์ทูเดย์” เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกที่เฉลียวใจกับขบวนการพุทธพาณิชย์ 700 ล้านครั้งนี้ โดยได้ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการตั้งชื่อพระเครื่องว่า “สมเด็จเหนือหัว” รวมถึงการผลิตพระเครื่องรุ่นนี้มีสำนักพระราชวังเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่
เพื่อให้คลายข้อสงสัย ในฐานะสื่อมวลชน โพสต์ทูเดย์ได้ขอความกระจ่างจากนายรัตนาวุธ วัชโรทัย ที่ปรึกษาฝ่ายกิจกรรมพิเศษ สำนักพระราชวัง ได้ความว่า สำนักพระราชวังไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดทำพระสมเด็จเหนือหัวแต่อย่างใด
วันที่ 13 ธ.ค. 2550  โพสต์ทูเดย์จึงนำข้อเท็จจริงจากปากที่ปรึกษาฝ่ายกิจกรรมพิเศษ สำนักพระราชวังเป็นข่าวหน้า 1 พาดข่าวหัว “สำนักพระราชวังยืนยัน! ไม่เกี่ยวสมเด็จเหนือหัว”
จากนั้นมาก็ได้เกาะติดการนำเสนอข่าวนี้ทั้งหน้า 1 และหน้าในเรื่อยมา ซึ่งการค้นหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะพระวิสุทธาธิบดี เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิอัฏฐมราชานุสรณ์ฯ ซึ่งเป็นผู้จัดสร้าง รวมทั้ง “เสี่ยอู๊ด” นายสิทธิกร บุญฉิม บ่ายเบี่ยงที่จะให้รายละเอียด แต่เราก็สืบเสาะจนได้ความจริงเรื่อยมา มีการนำเสนอทั้งในรูปสกู๊ป รายงาน มาอย่างต่อเนื่องกระทั่งนายสิทธิกรถูกดำเนินดคีและถูกฝากขังอยู่ในเรือนจำจนปัจจุบัน


การดำเนินการ
กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์ได้เกาะติดข่าว กระชากหน้ากากการตลาดมารศาสนา ตุ๋น 700 ล้าน ปั๊ม  “สมเด็จเหนือหัว” ในรูป ข่าว สกู๊ป รายงาน บทสัมภาษณ์พิเศษ บทบรรณาธิการ โดยเริ่มนำเสนอในรูปของข่าวหน้า 1 ตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค. 2550  โดยการพาดข่าวหัว “สำนักพระราชวังยืนยัน! ไม่เกี่ยวสมเด็จเหนือหัว” ซึ่งเป็นการหยิบประเด็นที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ นั่นคือการซื้อพื้นที่โฆษณาผ่านสื่อรูปแบบต่าง ๆ มาทำเป็นข่าวสืบสวนสอบสวน
โพสต์ทูเดย์ได้ข้อเท็จจริงจากนายรัตนาวุธ วัชโรทัย ที่ปรึกษาฝ่ายกิจกรรมพิเศษ สำนักพระราชวัง เป็นแหล่งข่าวแรก เมื่อได้รับคำยืนยันว่า สำนักพระราชวังไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดทำพระสมเด็จเหนือหัวแต่อย่างใด โพสต์ทูเดย์จึงได้นำเสนอข่าวนี้ทั้งหน้า 1 ต่อมาหลังจากทราบว่า “เสี่ยอู๊ด” คือผู้อยู่เบื้องหลังหรือเป็นผู้จัดสร้างตัวจริง จึงได้ส่งนักข่าวไปขอสัมภาษณ์ที่สำนักงานที่อาคารตึกช้าง ย่านรัชโยธิน แต่เสี่ยอู๊ดก็ปฏิเสธ ขอสัมภาษณ์พระวิสุทธาธิบดี เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามก็ไม่ยอมให้รายละเอียด
จนในที่สุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานพระราชวัง กรมการศาสนา กรมสอบสวนคดีพิเศษถึงออกมารับลูกและมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนคดีนี้ในที่สุด

คุณค่าข่าวและผลกระทบของข่าว
1.การสร้าง “พระสมเด็จเหนือหัว” ถูก “โพสต์ทูเดย์” เปิดประเด็นเป็นฉบับแรก โดยการเฉียวใจจากการลงโฆษณาในสื่อต่าง ๆทั้ง หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ แผ่นป้ายโฆษณา และบิลบอร์ดทั่วกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ซึ่งมีการเชิญชวนให้ประชาชนร่วมบูชาพระเครื่อง ซึ่งใช้ชื่อรุ่นว่า “สมเด็จเหนือหัว” มี 5 สี ให้เลือก
2.เนื้อหาในโฆษณาระบุว่าจะนำรายได้ไปสร้างอุโบสถสองกษัตริย์ ร่วมเฉลิมพระเกียรติถวายเป็นพระราชกุศล ในปีมหามงคล 80 พรรษา
  3.พระสมเด็จเหนือหัวที่จะสร้าง พระรุ่นนี้มีการขึ้นรูป “มงกุฎ” อยู่ด้านหลัง และยังอ้างว่าผ่านการปลุกเสกยิ่งใหญ่และได้รับดอกไม้พระราชทานมาเป็นมวลสารอีกด้วย จึงทำให้มีคนจำนวนมากเข้าใจว่า พระรุ่นนี้มีความเกี่ยวเนื่องกับสำนักพระราชวัง จึงมีการสอบถามข้อเท็จจริงและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากในวงการพระเครื่องและเว็บไซต์สาธารณะทั่วไป
4.การตลาดของการเช่าพระสมเด็จเหนือหัวมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ด้วยการกำหนดให้สำนักงานสาขาไปรษณีทั่วประเทศ ธนาคารพาณิชย์ ร้านทอง เป็นสาขาในการเช่าซื้อ แสถงถึงความเป็นมืออาชีพ
5.หลังจากมีการนำเสนอข่าวชิ้นนี้ปรากฎว่าทางกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ได้รับดำเนินการในสอบสวนคดีนี้ให้เป็นคดีพิเศษ  โดยได้ตั้ง นายสรรเสริญ ปาลวัฒน์วิไชย ผู้บัญชาการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ดีเอสไอ เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีการจัดสร้างพระสมเด็จเหนือหัว

6.พนักงานสอบสวนได้สอบผู้ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย พระวิสุทธาธิบดี เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิอัฏฐมราชานุสรณ์ฯ ซึ่งเป็นผู้จัดสร้าง และนายสิทธิกร บุญฉิม หรือ เสี่ยอู๊ด ประธานกรรมการบริษัท ไดมอนด์ ฮิลล์ ซึ่งเป็นเอกชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดสร้าง
7.ผลการสอบสวนเบื้องต้นในช่วงแรกของการดำเนินคดีปรากฎว่าทั้งเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม และนายสิทธิกร ต่างให้การยอมรับว่าเป็นผู้จัดสร้างจริง ทำให้พนักงานสอบสวนส่วงทีมไปค้นหลักฐานในบริษัท ไดมอนด์ ฮิลล์ พบว่ามีการโอนเงินมาจากสถานที่รับเช่าพระสมเด็จเหนือหัวแล้ว ทั้งสิ้น 131 ล้านบาท
8.พนักงานสอบสวนยังได้สั่งค้นข้อมูลและตรวจสอบปริมาณการผลิตพระรุ่นดังกล่าวที่โรงงานใน จ.นครปฐม เชียงใหม่ และนครสวรรค์ ด้วย
9.หลังจากดีเอสไอได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการสั่งจองพระรุ่นดังกล่าวทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด ส่งข้อมูลมายังดีเอสไอ ปรากฎว่ามีประชาชนแห่กันไปร้องต่อดีเอสไอจำนวนมาก ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญในการดำเนินคดี
10.เมื่อ 9 มิ.ย.2551 นายสรรเสริญ ปาลวัฒน์วิไชย ผู้บัญชาการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ดีเอสไอนำสำนวนคดีสมเด็จ 5 สี ส่งฟ้องต่ออัยการ
วันที่ 20 มิ.ย.2551 ศาลอาญา สั่งฟ้อง นายสิทธิกร บุญฉิม ข้อหาฉ้อโกงประชาชน และแอบอ้างสถาบันเบื้องสูง และให้ควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และคัดค้านการประกันตัว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ดีเอสไอสามารถจับกุมเสี่ยอู๊ดได้เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2550
11.จากคำบรรยายฟ้องทำให้มีความชัดเจนว่าคดีนี้มีโอกาสที่ผู้กระทำผิดจะได้รับการลงโทษ ซึ่งบทบรรยายฟ้องสรุปว่า ช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2550 นายสิทธิกร ได้จัดสร้างพระเครื่องชื่อ "พระสมเด็จเหนือหัว" จำนวนนับล้านองค์ และโฆษณาในรูปแบบต่างๆ โดยอ้างว่ามูลนิธิอัฎฐมราชานุสรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีโครงการสร้างอุโบสถสองกษัตริย์ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่วัดโสดาประดิษฐาราม จ.ราชบุรี
ข้อความโฆษณายังอ้างถึงการจัดสร้างพระจากมวลสารดอกไม้พระราชทานและผ้าไตรพระราชทาน และยังนำตราพระมหามงกุฎ ซึ่งเป็นเครื่องหมายสำนักราชเลขาธิการ พิมพ์ประทับด้านหลังองค์พระเพื่อให้เช่าซื้อ 3 แบบ คือแบบองค์เดียว ราคา 999 บาท แบบห้าสีห้าภาค มี 5 องค์ ชุดละ 4,995 บาท สีชมพูห้าเฉดสี 5 องค์ ราคา 4,995 บาท จนกระทั่งมีประชาชนได้บูชาพระไปแล้วนับพันราย มีเงินสะพัดสูงถึง 1,600 ล้านบาท ทำให้เกิดความสับสนกันทั่วหน้าถึงข้อเท็จจริง
 หลังนายวิธูร คลองมีคุณ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว นายสิทธิกร จึงต้องนอนคุกสู้คดี โดยมีนัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งวันที่ 20 ต.ค.นี้
   


บทสรุป
การทำข่าวในลักษณะสืบสวนสอบสวนการสร้าง “พระสมเด็จเหนือหัว” ของโพสต์ทูเดย์ด้วยการเฉลียวใจและตั้งคำถามถึงไม่ชอบมาพากล ได้นำไปสู่การดำเนินคดีของดีเอสไอ รวมถึงได้มีหน่วยที่เกี่ยวข้องทั้งหลายได้ออกมาคุมเข้มและตรวจสอบการหากินกับวงการศาสนากันถ้วนหน้า ถือได้ว่า“โพสต์ทูเดย์” ได้ทำหน้าที่กระชากหน้ากาก “มารศาสนา” ที่มุ่งหาประโยชน์จากความเชื่อและศรัทธาของประชาชน ซึ่งขาดที่พึ่งพิง แม้ผลการดำเนินคดีจะยังไม่ถึงที่สุด แต่ก็ได้ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวงการพุทธศาสนาได้ตระหนักและหามาตรการในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว เพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่ออีกต่อไป