B-4-1-2551-10_สัญญาเอฟอาร์ซีดีเอสเอ็มอีแบงค์ฉาว-ฐานเศรษฐกิจ

รหัส B-4-1-2551-10

ชื่อข่าว_สัญญาเอฟอาร์ซีดีเอสเอ็มอีแบงค์ฉาว

เจ้าของ-ฐานเศรษฐกิจ

ประจำปี พศ. 2551 (ประกวดข่าวทุจริตเชิงสืบสวนสอบสวน)

บทคัดย่อข่าว
‘สัญญาเอฟอาร์ซีดีเอสเอ็มอีแบงก์ฉาว’
กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

ผลประกอบการที่ส่อจะเสียหายหนักของเอสเอ็มอีแบงก์ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนหลายฉบับ รวมทั้ง“ฐานเศรษฐกิจ”ได้ติดตามและนำเสนอข่าวในช่วงที่ผ่านมา และพยายามสืบสาวไปถึงที่มาที่ไปถึงเบื้องหลังว่ามีนักการเมืองที่เกี่ยวข้องเข้ามาสั่งการและแสวงประโยชน์ในเรื่องนี้หรือไม่

 จนมาถึงในช่วงของรัฐบาลสมัคร ที่มีนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (ในขณะนั้น) ทำหน้าที่กำกับดูแลเอสเอ็มอีแบงก์ ประกาศแก้ปัญหาเอสเอ็มอีแบงก์ พร้อมกับยืนยันถึงแนวทางที่ชัดเจนว่าจะไม่มีการยุบธนาคารแห่งนี้

แต่ขณะเดียวกันกลับปรากฏปัญหาภายในธนาคารขึ้นอีกครั้ง โดยทีมข่าวฐานเศรษฐกิจตรวจสอบพบว่า เอสเอ็มอีแบงก์มีโอกาสเสียหายเป็นวงเงินประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท จากภาระที่จะต้องจ่ายค่าปรับให้แก่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด จำกัด (มหาชน) จากการที่เอสเอ็มอีแบงก์ได้ทำโครงการออกบัตรเงินฝากอัตราดอกเบี้ยลอยตัว หรือเอฟอาร์ซีดี (Floating  Rate Certificate of Deposit) วงเงินรวม 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือกว่า 10,000 ล้านบาท)  โดยที่เอฟอาร์ซีดีดังกล่าวถือตราสารทางการเงินที่เป็นการระดมทุนรูปแบบหนึ่งมีอัตราดอกเบี้ยตอบแทนให้แก่ผู้ถือตราสาร 

 ที่มาที่ไปของปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ที่กระบวนการทำสัญญาซึ่งมีความสลับซับซ้อนเหมือนการเก็งกำไร  และเป็นการดำเนินการนอกเหนือมติของคณะกรรมการธนาคาร เนื่องจากสัญญาดังกล่าวผูกไว้กับความเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลก เช่น หากอัตราดอกเบี้ยลดต่ำลงหรือมากกว่าในช่วงที่กำหนดคือ 3.50-7.50% เอสเอ็มอีแบงก์ต้องชำระค่าปรับเพิ่ม 8% ให้แก่สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด จำกัด (มหาชน)

ปัญหานี้เป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่เป็นผลพวงจากวิกฤติการเงินโลกที่กระทบต่อความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยในตลาด เนื่องจากในช่วงของการทำสัญญาดังกล่าว ผู้บริหารระดับสูงของเอสเอ็มอีแบงก์เองก็ไม่ได้คาดการณ์ว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกจะผันผวนและปรับลดลงอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา ซึ่งมีผลให้อัตราดอกเบี้ยหลุดจากกรอบที่เอสเอ็มอีแบงก์ทำสัญญาไว้

จนในที่สุดแล้วกลายเป็นคดีฟ้องร้องระหว่างเอสเอ็มอีแบงก์ ที่ถือว่าสัญญาดังกล่าวต้องเป็น ‘โมฆะ’ โดยอ้างว่าไม่ผ่านมติของคณะกรรมการ ขณะที่สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเอง ฟ้องร้องเรียกค่าปรับที่เกิดขึ้นจากการทำสัญญาครั้งนี้

 ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่เอสเอ็มอีแบงก์ หากมีต้องเป็นภาระจ่ายค่าปรับจะสูงถึง 3,000-4,000 ล้านบาทนั้น หมายถึงภาระภาษีที่ประชาชนต้องรับในท้ายสุด

 จากประเด็นปัญหาหนี้เสียที่เกินกว่า 50% ของสินเชื่อรวม และการออกบัตรเงินฝากอัตราดอกเบี้ยลอยตัวที่ไม่ชอบมาพากล ทำให้ทีมข่าว “ฐานเศรษฐกิจ” เกาะติดปัญหาที่เกิดขึ้นในเอสเอ็มอีแบงก์ทั้ง 2 ประเด็นไปพร้อม ๆ กัน โดยกระบวนการทำงานมีการส่งทีมงานดักเฝ้าติดตามผลประชุมคณะกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ในทุกเดือนในช่วงที่มีปัญหาเอฟอาร์ซีดี  ซึ่งต้องถือว่า “ฐานเศรษฐกิจ” เป็นฉบับเดียวที่มีการส่งทีมงานเพื่อเกาะติดเรื่องนี้ถึงในพื้นที่

รวมทั้งกระบวนการทำงานที่ค่อนข้างยากต่อการนำเสนอข่าว เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเงินที่มีความสลับซับซ้อนเกี่ยวกับอนุพันธ์ใหม่ซึ่งไม่ได้เป็นที่รู้จักดีในวงกว้างแล้ว ยังมีกระบวนการที่ยากต่อการขอข้อมูลจากคู่กรณี คือ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด จำกัด (มหาชน) ถึงแม้ว่าทีมงานจะติดต่อขอสัมภาษณ์และอีเมล์ไปยังผู้บริหารของธนาคาร แต่ก็ได้รับการปฏิเสธที่จะให้ข้อเท็จจริงมาโดยตลอด

ทีมงานจึงต้องพยายามสืบค้นข้อมูลให้ได้มากที่สุดจากแหล่งข่าวในเอสเอ็มอีแบงก์ที่เชื่อถือได้ และตรวจสอบกลับไปยังผู้บริหารของกระทรวงการคลัง ซึ่งในขณะนั้น ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการบริหารของเอสเอ็มอีแบงก์ และมีนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (ในขณะนั้น) เป็นประธานคณะกรรมการ

หลังจากที่ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้เริ่มติดตามข่าวในเรื่องนี้ในฉบับแรก คือ ฉบับที่ 2,317 ตีพิมพ์เมื่อ 27-30 เมษายน 2551 และได้ติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง นำมาสู่
1.การแถลงข่าวยอมรับอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อ 22 สิงหาคม 2551

2.มีการสั่งรื้อระบบกลั่นกรองการปล่อยสินเชื่อทั้งหมดในเอสเอ็มอีแบงก์และออกกฎเกณฑ์ชุดใหม่ขึ้นมาแทน โดยในเรื่องนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” ติดตามข่าวจนได้รับการเปิดเผยข้อมูลเป็นฉบับแรกถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นรวม 2,592 ล้านบาท ในระหว่างปี 2547-2549 ซึ่งมูลเหตุที่ตรวจพบ มีทั้งกรณีการให้กู้เงินโดยจำนองที่ดินเปล่ายังไม่พัฒนาโดยประเมินราคาสูงกว่าราชการถึง 10 เท่า, ใช้เอกสารปลอมในการทำสัญญาและเบิกจ่ายเงินกู้ หรือกรณีลูกหนี้ประกอบการที่เดียวกัน มีกรรมการชุดเดียวกัน มาขอกู้เงินธนาคารโดยลูกหนี้ทุกรายเป็นคู่สัญญาระหว่างกันและกู้ไปแล้วไม่ได้มีการดำเนินการ เป็นต้น

 3.มีการดำเนินการเอาผิดทางวินัยและทางคดีกับพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตการปล่อยสินเชื่อซึ่งมีความผิดปกติ 80 เรื่อง มูลหนี้ประมาณ 2,500 ล้านบาท  และมีการดำเนินการทางคดีกับอดีตผู้บริหารระดับสูงของเอสเอ็มอีแบงก์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกเอฟอาร์ซีดี ซึ่งขณะนี้เรื่องดังกล่าวอยู่ในกระบวนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาในเรื่องนี้แล้ว

 ประมวลความเสียหายจากกรณีค่าปรับเอฟอาร์ซีดี 3,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันเอสเอ็มอีแบงก์ต้องตั้งสำรองไว้ถึง 800 ล้านบาท ถือว่าทำให้ธนาคารเสียโอกาสที่จะนำเงินก้อนดังกล่าวมาปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงความเสียหายจากการปล่อยสินเชื่อ 2,500 ล้านบาทที่ยังไม่มีแนวทางแก้ปัญหาชัดเจน เป็นเพียงความเสียหายเบื้องต้นที่ปรากฎชัดในขณะนี้