รหัส B-4-1-2551-8
ชื่อข่าว_ถอดรหัสเซ็นทรัลแล็บผลงานชิ้นโบว์ดำเนวินปฏิบัติการผลาญงบฯแผ่นดิน
เจ้าของ-มติชน
ประจำปี พศ. 2551
ถอดรหัส “เซ็นทรัลแล็บ”
ผลงานชิ้นโบดำ “เนวิน”
ปฏิบัติการผลาญงบแผ่นดิน
กองบรรณาธิการนสพ.มติชน
บริษัทห้องปฏิบัติการกลางตรวจสอบผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรและอาหาร จำกัด หรือ เซ็นทรัลแล็บ ถือเป็นหนึ่งในโปรเจ็คต์ชิ้นโบแดงที่เกิดขึ้น ในสมัยที่นายเนวิน ชิดชอบ นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเป็นโครงการที่มีความสลับซับซ้อน ในการออกแบบ การวางแผนจัดหางบประมาณแผ่นดินจำนวนหลายพันล้านบาท
หลังจากที่สินค้ากุ้งของไทย ถูกตรวจพบปัญหาไนโตรฟูแรน ในช่วงต้นปี 2546 และต่อมา นโยบายความปลอดภัยทางด้านอาหาร หรือ Food Safety ก็ถูกผลักดันออกมา เพื่อยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งใช้งบประมาณมากกว่า 4,800 ล้านบาท
ทั้งนี้ นายเนวิน ระบุว่า จะมีการเสนอจัดสร้างห้องแล็บกลาง เพื่อใช้สำหรับการตรวจสอบสารตกค้าง โดยจะตั้งเป็นองค์กรมหาชน มีทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาท และเป็นเงินกู้ยืมกว่า 1,600 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าเครื่องมือวิทยาศาสตร์ และอาคารสถานที่สำหรับการจัดตั้งห้องแล็บแห่งนี้
“มติชน” เห็นสัญญาณบางอย่างที่บ่งบอกถึงความไม่ชอบมาพากล ในการดำเนินโครงการนี้ โดยเฉพาะการใช้งบประมาณจำนวนมาก และเริ่มเกาะติดข้อมูลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดทันที (มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 8 มิ.ย. 46)
จนกระทั่ง ภายหลังที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2546 มีมติอนุมัติงบประมาณจำนวน 1,950 ล้านบาท ให้กระทรวงเกษตรฯ นำไปใช้ในการจัดตั้งเซ็นทรัลแล็บ และมีการประกวดราคาก่อสร้างสถานที่และอุปกรณ์วิทยาศาสตร์เสร็จเรียบร้อยไปเมื่อเดือนกันยายน 2546 โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัทสิทธิพร แอสโซซิเอท และบริษัทวิจิตรชัย ธนบุรีก่อสร้าง ชนะการประมูลในวงเงิน 1,597 ล้านบาท “มติชน”ได้รับการร้องเรียนถึงการประมูลดังกล่าวส่อว่าจะมีการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนบางราย
“มติชน” เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกและฉบับเดียว ที่ทำการตรวจสอบเรื่องนี้ และพบว่ามีประเด็นน่าสนใจตั้งแต่ประกาศเงื่อนไขการประมูลและคุณสมบัติ ด้านอุปกรณ์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ (ทีโออาร์) ที่มีข้อกำหนดที่อาจส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากสเปคเครื่องวิเคราะห์ผลการตรวจสอบสินค้าเกษตร จำนวน 18 รายการ ที่มีวงเงินสูงถึง 1,400 ล้านบาท มีเครื่องมือหลายรายการ ที่มีสเปคคล้ายคลึงกับเอกสารแนะนำเครื่องมือวิทยาศาสตร์ของบริษัทขายเครื่องมือรายใหญ่ในประเทศรายหนึ่ง
ขณะที่บริษัทสิทธิพรฯ ผู้ชนะการประมูลได้มีการขอใบมอบอำนาจเป็นผู้แทนจำหน่ายและบริการของบริษัทยักษ์ใหญ่รายนี้
นอกจากนี้ ยังได้ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกถึงขั้นตอนการยกร่างข้อกำหนดคุณสมบัติด้านอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ของโครงการนี้ และพบเงื่อนงำที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า กรรมการหลายคนมีความสัมพันธ์ทางตรงและทางอ้อมกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทขายเครื่องมือยักษ์ใหญ่รายนี้
โดยมีกรรมการรายหนึ่ง เป็นภรรยา ของที่ปรึกษาบริษัทขายเครื่องมือยักษ์ใหญ่รายนี้ สาขาสิงคโปร์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของสาขาในไทย
ทั้งนี้ เพื่อให้ข้อมูลเรื่องนี้ มีน้ำหนักและรอบด้านมากยิ่งขึ้น “มติชน” ได้ตรวจสอบรายชื่อบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมการประมูลงานครั้งนี้ เพื่อขอทราบความเห็นและได้รับการยืนยันข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขั้นตอนการเปิดประมูลงานครั้งนี้ ยังมีลักษณะรวบรัดแบบผิดสังเกตใช้เวลาไม่ถึง 1 เดือน ก็สามารถสรุปหาผู้ชนะการประมูลได้แล้ว และในขั้นตอนการหาข้อมูล “มติชน” ยังได้เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้อง ที่ปรากฏชื่อในข่าว ว่ามีลักษณะการทำงานที่ส่อถึงความไม่ชอบมาพากลได้ชี้แจงข้อมูลอย่างเต็มที่
ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารเซ็นทรัลแล็บ ผู้รับผิดชอบในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ คณะกรรมการกำหนดสเปคเครื่องมือ โดยเฉพาะนางณัฐชนัญ ลีพิพัฒน์ไพบูลย์ อาจารย์ประจำภาคเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ถูกตรวจพบว่า มีความสัมพันธ์ เป็นภรรยา ของนายสิทธิชัย ลีพิพัฒน์ไพบูลย์ ที่ปรึกษาบริษัทขายเครื่องมือยักษ์ใหญ่รายหนึ่ง
ซึ่ง “มติชน” ได้นำเสนอข้อความในเอกสารดังกล่าวอย่างละเอียด พร้อมกับหลักฐานลายมือชื่อของนายสิทธิชัย ผู้เป็นสามี ที่ตรวจพบมาใช้ประกอบด้วย (มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 11 มี.ค.47 )
“มติชน” เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรก และฉบับเดียว ที่ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่า สตง.กำลังติดตามตรวจสอบคดีเซ็นทรัลแล็บอยู่ โดยพบว่าเรื่องนี้มีมูลความผิดจริงในหลายประเด็น
การประมูลงานก็พบหลักฐานสำคัญว่า มีบริษัทหลายรายที่เข้าร่วมประมูล ใช้หลักค้ำประกันจากธนาคารเดียวกัน สาขาเดียวกัน วันเดียวกัน และผู้ดำเนินการเป็นคนเดียวกัน เข้าข่ายกระทำความผิดตาม พรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ซึ่ง “มติชน” ยังเป็นหนังสื่อพิมพ์ฉบับแรก และฉบับเดียว ที่นำผลการสอบสวนของ สตง. ดังกล่าว มาเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบความจริง ( มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 13 พ.ค.47)
ทั้งนี้ ในการสอบสวนของสตง. ยังมีการขยายผลไปยังการจัดซื้อเครื่องมือวิทยาศาสตร์ ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ อีกหลายแห่ง ที่พบความไม่ชอบมาพากลเช่นเดียวกัน
“มติชน” ได้เข้าไปตรวจสอบข้อมูลในเรื่องนี้และพบว่า สเปคเครื่องมือวิทยาศาสตร์ จำนวน 214 ล้านบาท ของกรมวิชาการเกษตร มีลักษณะและคุณสมบัติคล้ายเครื่องมือของบริษัทขายเครื่องมือยักษ์ใหญ่รายเดิม และนำเสนอข้อมูลเรื่องนี้ต่อสาธารณชน ให้เห็นถึงข้อพิรุธที่เกิดขึ้นเช่นกัน จนกระทั่งนายวันมูหะหมัด นอร์มะทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ในขณะนั้น ต้องสั่งทบทวนการจัดซื้ออุปกรณ์ดังกล่าว (มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 2 ธ.ค.47และ 6 ธ.ค.47)
จากการที่โครงการเซ็นทรัลแล็บ เป็นโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายเนวิน และ มีข้าราชการระดับสูงเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมากหลายสิบคน
ทำให้ผลการสอบสวนของกระทรวงเกษตรฯ ไม่พบความผิด แต่สตง.มีการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนจะส่งเรื่องไปให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับเป็นคดีสอบสวนต่อไป
ขณะที่ข้าราชการระดับสูงหลายคนของกระทรวงเกษตรฯ เริ่มยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งผู้บริหารในเซ็นทรัลแล็บ และนำเสนอข้อมูลต่อสาธารณชน เพื่อให้ผู้รับผิดชอบเข้ามาดูแลแก้ไขปัญหา (มติชน ฉบับวันที่ 10 ส.ค.48 และ 4 ก.ย.49)
หลังการปฏิวัติรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ถูกแต่งตั้งขึ้น เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบคดีทุจริตของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ขณะที่นายเนวิน ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี จากคดียุบพรรคไทยรักไทย
เซ็นทรัลแล็บ เป็นหนึ่งในคดีสำคัญที่ คตส. รับไว้ตรวจสอบ และ คตส.ได้นำข้อมูลการตรวจสอบของ “มติชน” ไปใช้เป็นแนวทางการสอบสวนคดีนี้ด้วย
ในเบื้องต้น คตส. เห็นชอบกับผลการตรวจสอบดังกล่าว และมีมติแจ้งข้อกล่าวหากับนายเนวิน และพวก รวม 53 คน ซึ่งมีทั้งข้าราชการระดับสูงของกระทรวงเกษตรฯ และเอกชนรวมอยู่ด้วย พร้อมตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนขึ้นมาดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
แม้ว่า คตส. จะหมดอายุลงไปก่อนที่จะสามารถสรุปผลการไต่สวนคดีเซ็นทรัลแล็บได้อย่างเป็นทางการ แต่ คตส. ได้ส่งคดีนี้ ให้ ป.ป.ช. รับเป็นคดีไว้ไต่สวนต่อไป และล่าสุด นายเมธี ครองแก้ว กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้ ได้ยืนยันกับ “มติชน”ว่า จะสรุปผลการไต่สวนคดีนี้ ให้ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ พิจารณาส่งเรื่องให้ศาลดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง ได้อย่างช้าไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ 2552 นี้แน่นอน
ทั้งนี้ การยืนยันข้อมูลดังกล่าวของ ป.ป.ช. นอกจากจะการันตีได้ว่า ผลการเกาะติดข่าวเรื่องนี้ของ “มติชน” อย่างใกล้ชิด และการทำงานที่สามารถเปิดโปงกระบวนการผลาญงบประมาณครั้งนี้ได้อย่างหมดเปลือก และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ในกรณีที่ ผู้กระทำความผิด จะต้องถูกลงโทษตามกฎหมายแล้ว ประชาชนได้รับรู้ถึงเล่ห์กลในการแสวงหาผลประโยชน์ของนักการเมืองในลักษณะการโกงแบบบูรณาการ ทั้งการทุจริตเชิงนโยบาย การฮั้วประมูล และการมีผลประโยชน์ทับซ้อน ของผู้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแล้ว
ยังเป็นการยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า กระบวนการทำข่าวของ “มติชน” ในเรื่องเซ็นทรัลแล็บ มีความสมบูรณ์ตามหลักวิชาชีพสื่อมวลชน ที่เรายึดถือมาตลอดว่า
“มติ ต้องถูกต้องโดยธรรม
ชน กับคนก่อกรรมชั่วร้าย”
สามารถยึดถือปฏิบัติได้อย่างแท้จริง