B-4-1-2551-7_ตีแผ่โครงการฝายแม้ว 770 ล้านอ้างแนวพระราชดำริ สวาปามหัวคิว-มติชน

รหัส B-4-1-2551-7

ชื่อข่าว_ตีแผ่โครงการฝายแม้ว 770 ล้านอ้างแนวพระราชดำริ สวาปามหัวคิว

เจ้าของ-มติชน

ประจำปี พศ. 2551

ตีแผ่โครงการฝายแม้ว770ล้าน

อ้างแนวพระราชดำริ-สวาปามหัวคิว

กองบรรณาธิการนสพ.มติชน

            นักการเมืองผู้มีอำนาจในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้อาศัยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2551 ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานรัฐปรับแผนการปฏิบัติงานตามงบประมาณปี 2551 และเร่งรัดการใช้จ่าย มาเป็นข้ออ้างจัดทำโครงการเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล ชื่อ “โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและป่าไม้ในพื้นที่อนุรักษ์เพื่อลดผลกระทบจากภาวะวิกฤติโลกร้อน” ด้วยการสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน หรือ “ฝายแม้ว” และเพาะชำหญ้าแฝก

          “มติชน”ได้กลิ่นความไม่ชอบมาพากลในโครงการดังกล่าวตั้งแต่นักการเมืองใช้อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงใต้อาณัติเข้ามาเป็นใหญ่ในกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จากนั้นตัดงบฯของสำนักต่างๆภายในกรม รวมเป็นเงิน 770 ล้านบาท มารองรับโครงการสร้างฝายแม้ว จากนั้นเร่งรัดกำหนดพื้นที่ก่อสร้างส่วนใหญ่ในป่าอนุรักษ์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในภาคเหนือ รวมทั้งสิ้น  160,000 ลูก กำหนดราคากลางไว้ที่ลูกละ 5,000 บาท  แยกเป็นค่าจ้างแรงงาน 3,500 บาท ค่าวัสดุก่อสร้าง 1,500 บาท

         ในต้นเดือนมิถุนายน 2551 ข้าราชการระดับสูงในกรมอุทยานแห่งชาติออกมาเปิดเผยว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ใต้บังคับบัญชาในพื้นที่ว่า มีผู้แอบอ้างนักการเมืองเรียกค่าหัวคิวจากโครงการ 30% จากราคาต่อลูก จากนั้นนำไปแบ่งกัน โดยนักการเมืองได้  20%  ข้าราชการได้ 10%  เจ้าหน้าที่คนไหนไม่ทำตามจะโดนโยกย้าย

           เมื่อได้เบาะแสเบื้องต้น “มติชน”เริ่มติดตามตรวจสอบรายละเอียดโครงการ ควบคู่ไปกับการสอบถามความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ถึงความจำเป็นในการก่อสร้าง และความคุ้มค่าในโครงการ สรุปเป็นข้อน่าสังเกตดังนี้

           ประการแรก หนังสือคำสั่งของกรมอุทยานฯที่ส่งไปยังสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 13-16 ในภาคเหนือให้ก่อสร้างฝายในรูปแบบต่างๆ เฉลี่ยฝายละ 5,000 บาท แบ่งเป็นค่าแรง 70% (3,500 บาท) และค่าวัสดุ 30% (1,500 บาท) กำหนดรายชื่อเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ พร้อมจำนวนฝายที่ต้องสร้างนั้น พบว่า ราคาเฉลี่ยต่อลูกน่าจะสูงเกินความเป็นจริงอย่างมาก

          ประการที่สอง เป้าหมายโครงการไม่สอดคล้องกับความเป็นไปได้ตามหลักวิชาการ เมื่อศึกษาฝายแม้วตามแนวพระราชดำริฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วนำมาเทียบกับโครงการฝายแม้วของ ทส. พบว่าค่อนข้างสวนทางกันโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ทส.เลือกพื้นที่สร้างในป่าค่อนข้างสมบูรณ์ ทั้งที่ในป่าลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ ประการต่อมา ทส.ใช้วิธีกำหนดจุดสร้างตามปริมาณที่กำหนดเอาไว้ล่วงหน้า เช่น บางอุทยานถูกกำหนดให้สร้างฝายเฉลี่ย 2,000 แห่ง ซึ่งถือว่ามีความถี่มากเกินไป

           ประการที่สาม จากการส่งทีมผู้สื่อข่าวลงสุ่มตรวจสอบการก่อสร้างฝายแม้วจำนวนมากใน จ.เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก พบข้อมูลที่ชัดเจนสอดคล้องกันคือราคาฝายเฉลี่ยแต่ละลูกไม่น่าจะถึง 5,000 บาท ชาวบ้านต่างยืนยันว่าได้รับค่าจ้างไม่ถึง 1,500 บาทต่อลูก ส่วนใหญ่ได้รับตกประมาณ 300-500 บาทต่อลูกเท่านั้น  ไม่มีใครได้รับเอกสารรับ-จ่ายเงินค่าจ้าง เจ้าหน้าที่ขอให้ชาวบ้านเซ็นต์รายชื่อเปล่าในสำเนาบัตรประชาชน ฯลฯ

           เมื่อเรานำเสนอข่าว รายงาน และบทความอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ไม่นานนักสื่อโทรทัศน์ได้นำมาขยายผลจนเป็นข่าวคึกโครมในสังคม ทำเอาพรรคการเมืองฝ่ายค้าน คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร องค์กรตรวจสอบ ต่างอยู่เฉยไม่ได้ เริ่มจากคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ จ.พิษณุโลก และ จ.แพร่ พบข้อมูลหลักฐานคล้ายคลึงกัน เบื้องต้นสรุปว่ามีมูลส่อทุจริตแน่นอน  

             ส่วนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ส่งเจ้าหน้าที่จำนวนมากลงไปตรวจสอบในหลายพื้นที่ จนได้ข้อมูลหลักฐานเบื้องต้นพบประเด็นที่ไม่ชอบมาพากลคล้ายคลึงกัน 6 ประเด็น ดังนี้ 1.ซื้อวัสดุอุปกรณ์ชนิดเดียวกัน แต่ราคากลับแตกต่างกัน 2. ชาวบ้านได้ค่าจ้างต่ำกว่าที่กำหนดมาก หนำซ้ำค่าจ้างยังมีหลายอัตรา ทั้งที่เป็นงานลักษณะเดียวกัน 3.ไม่มีการมอบเอกสารหลักฐานการจ่ายเงินระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ 4.สภาพฝายใหม่เหมือนเพิ่งสร้าง บางฝายมูลค่าการก่อสร้างเพียงแค่ 2,000-3,000 บาทเท่านั้น 5.บางจุดสร้างในพื้นที่ที่ไม่สมควรสร้าง 6.มีการใช้ใบแทนใบเสร็จจำนวนมาก

             อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ระดับต่างๆของอุทยานฯพยายามชี้แจงว่า ราคาก่อสร้างต้องเฉลี่ยกับฝายในป่าลึกซึ่งมีราคาสูงกว่า 5,000 บาท ทำให้ สตง.ต้องส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบในเชิงลึกกว่าเดิมว่าข้ออ้างดังกล่าวฟังขึ้นหรือไม่ ฝายในป่าลึกมีจำนวนเท่าไหร่ ตามชายป่ามีจำนวนเท่าไหร่ แต่ละลูกใช้เงินเท่าไหร่ และมีการเบิกจ่ายจริงหรือไม่

          ข่าว “ตีแผ่โครงการฝายแม้ว 770 ล้าน อิงโครงการหลวง-สวาปามหัวคิว” ไม่เพียงชี้ช่องให้องค์กรตรวจสอบเข้ามาสอบสวนเท่านั้น แต่การตีแผ่ความอื้อฉาวของโครงการอย่างต่อเนื่อง ยังผลให้พรรคการเมือง เจ้าของโครงการฝายแม้ว ไม่กล้าส่งคนของตัวเองเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ทส.ต่ออีกสมัยเพื่อเก็บกวาดขยะไว้ใต้พรม  เนื่องจากกลัวองค์กรตรวจสอบจะสาวถึงตัวเอง ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีคนใหม่ก็โดนกดดันให้เร่งสะสางความไม่ชอบมาพากลของโครงการ เพื่อลากตัวนักการเมืองและข้าราชการประจำที่ร่วมหากินกับการแอบอ้างแนวพระราชดำริ มาลงโทษให้เข็ดหลาบ