B-4-1-2551-6_เจาะตลาด อ.ต.ก. ปลดแอกสัญญาทาสหยุดปัญหาค่าแผงลอยโหด-มติชน

รหัส B-4-1-2551-6

ชื่อข่าว_เจาะตลาด อ.ต.ก. ปลดแอกสัญญาทาสหยุดปัญหาค่าแผงลอยโหด

เจ้าของ-มติชน

ประจำปี พศ. 2551

เจาะตลาด อ.ต.ก.
ปลดแอกสัญญาทาส
หยุดปัญหาค่าแผงลอยโหด
กองบรรณาธิการนสพ.มติชน

  องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร หรือ อ.ต.ก. เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  มีภารกิจสำคัญในการเป็นศูนย์กลางการซื้อขายสินค้าคุณภาพดีให้กับประชาชน และเปิดให้บริการมาเป็นเวลานานหลายสิบปี

ทั้งนี้ กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ที่นำสินค้ามาขายในตลาดแห่งนี้ จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ 1. พ่อค้าแม่ค้าทั่วไป 2. กลุ่มตัวแทนสหกรณ์จากจังหวัดต่างๆ โดยอัตราค่าเช่าแพงลอยของตลาดแห่งนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ถูกมาก
วิถีชีวิตของคนในตลาดอ.ต.ก.ดำเนินไปตามปกติเรื่อยมา โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ อ.ต.ก. กับพ่อค้าแม่ค้า ที่ดูเหมือนจะมีมิตรไมตรีจิตที่ดีให้กันตลอดมา เพราะหัวใจคนอ.ต.ก.ทุกคนคิดเสมอว่า ตลาดแห่งนี้ คือ บ้านของตนเอง

จนกระทั่งในช่วงกลางปี 2548 หลังจากผู้บริหารของกระทรวงเกษตรฯ มีแนวคิดที่จะทำการปรับปรุงตลาดแห่งนี้ใหม่ ให้เป็นตลาดชั้นนำของเมืองไทย ที่นำมาซึ่งการจัดระเบียบภายในตลาดแห่งนี้ทั้งหมด รวมถึงการปรับราคาค่าเช่าแผงลอยของกลุ่มพ่อค้าใหม่ด้วย 

ใครจะรู้บ้างว่า แนวคิดที่ดูเหมือนจะเป็นประโยชน์อย่างนี้ จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นความปัญหาความวุ่นวายให้เกิดขึ้นภายในตลาดอ.ต.ก.จนเกือบถึงขั้นตลาดแตกเลยก็ว่าได้

ในช่วงปลายปี 2548 ในยุคที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ยังดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ได้ทำหนังสือแจ้งมาที่กระทรวงเกษตรฯ เพื่อขอทวงคืนที่ดินบริเวณตลาด อ.ต.ก. ไปจัดทำโครงการเพื่อสร้างรายได้ให้กับรฟท. ทำให้ ผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ และ อ.ต.ก.จำเป็นต้องปรับปรุงตลาด อ.ต.ก.ใหม่ รวมถึงค่าเช่าแผงลอย เพื่อนำไปยื่นเป็นข้อเสนอต่อรองให้กับ รฟท.
อย่างไรก็ตาม ราคาค่าเช่าแผงลอยที่มีการปรับขึ้นใหม่ พบว่า มีอัตราที่สูงขึ้นจากเดิมเกือบ 100% และที่สำคัญภายใต้สัญญาใหม่จะมีการเรียกเก็บค่าทำเลการค้า ที่สูงเกือบแสนบาท!!

ผลจากการดำเนินการดังกล่าว สร้างความไม่พอใจให้กับพ่อค้าแม่ค้าจำนวนมากในตลาด อ.ต.ก.
เพราะมองว่าราคาที่ปรับขึ้นใหม่เป็นการเอารัดเอาเปรียบเกินไป และมีการรวมกลุ่มกันนับร้อยคน
เพื่อต่อต้านแนวคิดดังกล่าว โดยไม่ยอมต่อสัญญาฉบับใหม่

“มติชน”ได้รับการร้องเรียนจากพ่อค้าแม่ค้ากลุ่มนี้ ถึงความเดือดร้อนดังกล่าว จึงได้เข้าไปทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น พบว่ามีการตั้งราคาค่าเช่าแผงลอยที่สูงจริง และได้นำเสนอข้อมูลนี้ต่อสาธารณชนเป็นระยะๆ แต่ผู้บริหารของกระทรวงเกษตรฯ และอ.ต.ก. ยังยืนยันความคิดเดิม โดยอ้างว่าเป็นความจำเป็นที่ต้องดำเนินการ   

ในช่วงปี 2551 หลังจากนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ในฐานะลูกค้าประจำตลาด อ.ต.ก. ได้ระบุว่า ภารกิจแรกที่จะทำหลังเข้ารับตำแหน่งนายกฯ คือ การแก้ไขปัญหาราคาค่าเช่า
แผงลอยของพ่อค้าแม่ค้าในตลาดแห่งนี้

  “มติชน” ได้เข้าไปเกาะติดการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และพบข้อเท็จจริงว่า รูปแบบการกำหนดอัตราค่าเช่าแผงลอยของ อ.ต.ก. มีความโหดมากกว่า ข้อกำหนดเดิมที่เคยตรวจพบ เพราะนอกจากการปรับราคาค่าเช่าแผงต่อวัน ที่ถูกปรับขึ้นถึง 100% และค่าทำเลการค้าที่แพงมากแล้ว ในขั้นตอนการต่อสัญญายังต้องมีการเสียค่าทำธรรมเนียมการทำสัญญาแรกเข้าเพิ่มเติมด้วย และอัตราก็ค่อนข้างสูงมาก
นอกเหนือจากปัญหาเรื่องอัตราค่าเช่าแล้ว “มติชน” ยังได้รับการเปิดเผยจากพ่อค้าแม่ค้า ถึงการถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่ อ.ต.ก. ที่พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อบีบให้พ่อค้าแม่ค้า ออกไปขายของในตลาดอื่น หรือยอมจำนน ต่อสัญญาใหม่ และได้นำข้อมูลมานำเสนอเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้รับทราบและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ในขั้นตอนการทำงานของ “มติชน” ยังสามารถขยายผลไปยังปัญหาเรื่องอื่นที่เกิดขึ้นในตลาด อ.ต.ก. ไม่ว่าจะเป็นการเช่าช่วงแผงลอยของกลุ่มผู้มีอิทธิพล และปัญหาการทุจริตประมูลงานก่อสร้างปรับปรุงตลาด อ.ต.ก.
ทั้งนี้ ผลจากการที่ “มติชน” ได้เกาะติดปัญหาที่เกิดขึ้นในตลาด อ.ต.ก.อย่างต่อเนื่อง ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงดังนี้  1. ผู้บริหาร อ.ต.ก. ยินยอมที่จะปรับอัตราค่าเช่าใหม่ และยกเลิกการเรียกเก็บค่าทำเล และค่าธรรมเนียมการทำสัญญา 2.สตง.อยู่ระหว่างการสอบสวนเชิงลึกการประมูลงานปรับปรุงตลาด อ.ต.ก. ตามข้อมูลที่ “มติชน”ตรวจพบ และ 3. ผู้บริหาร กระทรวงเกษตรฯ และ อ.ต.ก. ได้ปรับปรุงการบริหารงานตลาดใหม่ รวมถึงการสอบสวนการเช่าช่วงแผงลอย ของกลุ่มผู้มีอิทธิพล และ 4. พ่อค้าแม่ค้า และเจ้าหน้าที่ อ.ต.ก. ยุติปัญหาข้อพิพากที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยหันหน้ามาให้ความร่วมมือในการพัฒนาตลาด อ.ต.ก.ร่วมกัน