B-4-1-2551-4_ตีแผ่ฝายแม้วทส.โหนโลกร้อนผุดสิ่งแปลกปลอมในระบบนิเวศ-มติชน

รหัส B-4-1-2551-4

ชื่อข่าว_ตีแผ่ฝายแม้วทส.โหนโลกร้อนผุดสิ่งแปลกปลอมในระบบนิเวศ

เจ้าของ-มติชน

ประจำปี พศ. 2551

ตีแผ่”ฝายแม้ว”ทส.โหนโลกร้อน

ผุดสิ่งแปลกปลอมในระบบนิเวศ

กองบรรณาธิการ มติชน

 

      นักการเมืองกลุ่มหนึ่งซึ่งเข้ามามีอำนาจในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้อาศัยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 มีนาคม 2551 กำหนดให้หน่วยงานรัฐปรับแผนปฏิบัติงานในปี 2551 และเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณให้เร็วขึ้น มาเป็นข้ออ้างจัดทำโครงการเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล หนำซ้ำยังอ้างสนองแนวทางพระราชดำริ ภายใต้ชื่อ “โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและป่าไม้ในพื้นที่อนุรักษ์เพื่อลดผลกระทบจากภาวะวิกฤติโลกร้อน”   

      กำหนดเป็นโครงการก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน หรือ “ฝายแม้ว” เฉพาะในเขตป่าอนุรักษ์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในภาคเหนือ ทั้งสิ้น 160,000 ลูก กำหนดราคากลางไว้ลูกละ 5,000 บาท  งบประมาณกว่า 770  ล้านบาท กำหนดให้ผู้ปฎิบัติงานต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จทุกแห่งภายในวันที่ 30 กันยายน 2551 

       “มติชน”เริ่มได้กลิ่นไม่ชอบมาพากลตั้งแต่นักการเมืองกลุ่มดังกล่าวแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในอาณัติเข้ามามีอำนาจในกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตั้งแต่ผู้บริหารกรมไปจนถึงระดับคุมงานในพื้นที่ก่อสร้างฝาย จากนั้นตัดงบฯโครงการของหน่วยงานต่างๆภายในกรม เฉลี่ย 20-30% มารองรับโครงการดังกล่าว ทั้งๆที่หลายโครงการสำคัญกว่าฝายแม้วเสียอีก

        เบาะแสชัดเจนขึ้นเมื่อข้าราชการใน ทส.ส่งข้อมูลในรูปหนังสือร้องเรียนกึ่งบัตรสนเท่ห์มาให้ ระบุความไม่โปร่งใสของการดำเนินโครงการ เช่น นักการเมืองกลุ่มดังกล่าวให้ข้าราชการระดับสูงในอาณัติหักค่าหัวคิวไว้ 30% จากราคาต่อลูก แบ่งเป็นนักการเมืองได้  20%  ข้าราชการในอาณัติได้ 10%  

        หลังจากได้เบาะแสเบื้องต้น “มติชน”เริ่มติดตามตรวจสอบรายละเอียดโครงการ และนำเสนอข่าวตีแผ่ในหน้าหนังสือพิมพ์รายวันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนำเสนอข้อมูลทางวิชาการ และบทความทางวิชาการจากผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  สรุปเป็นข้อน่าสังเกตดังนี้

          ประการแรก ในหนังสือคำสั่งของกรมอุทยานฯที่ส่งไปยังสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 13-16 ในภาคเหนือให้ก่อสร้างฝายในรูปแบบต่างๆ แบ่งเป็นค่าแรง 70% หรือ 3,500 บาท และค่าวัสดุ 30% หรือ 1,500 บาท พร้อมกำหนดรายชื่อเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ กับจำนวนฝายที่ต้องสร้าง  ท่ามกลางข้อครหาว่า ราคาสูงเกินกว่าความเป็นจริง

          ประการที่สอง จุดเริ่มต้นของฝายแม้วมาจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงต้องการให้ฝายขนาดเล็กช่วยฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม สร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าในช่วงฤดูแล้ง และให้พอมีน้ำในลำห้วย พระองค์ทรงทดลองทำขึ้นในป่าเสื่อมโทรมในพื้นที่โครงการห้วยฮ่องไคร้ จ.เชียงใหม่ ทรงวางแผนในรายละเอียดอย่างรัดกุม ปรากฏว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ     

          แต่เมื่อนำมาเทียบกับโครงการฝายแม้วของ ทส.แล้ว พบว่า เจ้าหน้าที่เลือกสร้างฝายแม้วส่วนใหญ่ในป่าค่อนข้างสมบูรณ์ ทั้งที่ตามหลักวิชาการแล้วในป่าสมบูรณ์ไม่จำเป็นต้องทำก็ได้  ประกอบกับกลุ่มนักการเมืองได้สั่งผู้บริหารกรมอุทยานฯเร่งดำเนินโครงการ เนื่องจากสถานการณ์การเมืองขณะนั้นเปราะบางมาก เกรงว่าจะไม่ทันหากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองกระทันหัน จึงสำรวจพื้นที่อย่างลวกๆ ไม่ครบถ้วนรอบด้าน  ใช้วิธีกำหนดจุดสร้างตามปริมาณที่กำหนดเอาไว้ล่วงหน้า เช่น บางพื้นที่ถูกกำหนดให้สร้างเฉลี่ย 2,000 ลูก ซึ่งถือว่ามีความถี่มากเกินไป อาจจะกระทบต่อระบบนิเวศ ก่อให้เกิดภาวะน้ำนิ่ง ออกซิเจนในน้ำไม่พอเพียง อาจส่งผลให้ทางน้ำเปลี่ยนแปลงในระยะยาว

              สภาพต่างๆข้างต้นบ่งชี้ว่า การเร่งรีบรวบรัดโครงการโดยไม่ศึกษาให้รอบคอบชัดเจน ทำให้เป้าหมายโครงการไม่สอดคล้องกับความเป็นไปได้ตามหลักวิชาการ ที่สำคัญไม่ได้ถอดบทเรียนการสร้างฝายแม้วตามแนวพระราชดำริแต่อย่างใด แต่เป็นแค่การฉวยโอกาสอิงกระแสลดภาวะโลกร้อนและโครงการตามแนวพระราชดำริ มาหาผลประโยชน์จากส่วนต่างราคาเท่านั้น

             อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่รอบด้านและเจาะลึก “มติชน”จึงส่งทีมข่าวลงสุ่มตรวจสอบการก่อสร้างฝายแม้วใน จ.เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก เราพบข้อมูลราคาฝายเฉลี่ยลูกละไม่ถึง 5,000 บาท ชาวบ้านส่วนใหญ่ได้รับค่าแรง 300-500 บาทต่อลูก และไม่ปรากฏเอกสารการรับ-จ่ายเงินที่ชัดเจน นอกจากนี้ ยังได้เห็นปัญหาที่ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตไว้คือการก่อสร้างฝายโดยไม่ได้คำนึงถึงสภาพแท้จริงของป่า สร้างฝายจำนวนมากในจุดที่ไม่ใช่ป่าเสื่อมโทรม และไม่ใช่พื้นที่ลาดชันตามหลักการ

              หลังจากนำเสนอข่าว รายงาน และบทความอย่างต่อเนื่องจนเป็นกรณีคึกโครม  เริ่มมีหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานด้านวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ฯลฯ ให้ความสนใจเข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ กรรมาธิการ ป.ป.ช.ลงพื้นที่ จ.พิษณุโลก และ จ.แพร่ ส่วนสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบในหลายพื้นที่ก่อสร้าง ต่างพบข้อเท็จจริงและหลักฐานคล้ายคลึงกัน พร้อมกับยืนยันตรงกันว่ามีมูลส่อทุจริตแน่นอน  

             ขณะเดียวกันผู้บริหารกรมอุทยานแห่งชาติฯได้เห็นถึงปัญหาที่องค์กรต่างๆแข่งกันทำฝายแม้วโดยไม่ศึกษาอย่างถ่องแท้ ไม่ได้ขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่ ไม่ได้ระมัดระวังผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่าที่ควร  ฯลฯ จึงได้นำปัญหาต่างๆไปแก้ไข อาทิ ต่อไปองค์กรใดจะสร้างฝายแม้ว ต้องขออนุญาตตามระเบียบ และดำเนินการในกรอบที่ตรวจสอบได้ เพื่อมิให้เกิดปัญหาต่อระบบนิเวศในอนาคต

              กล่าวโดยสรุป “มติชน”ตีแผ่ข่าวผลาญงบฯ 770 ล้านบาทสร้างฝายแม้ว เพื่อชี้ให้เห็นว่านักการเมืองและข้าราชการกลุ่มหนึ่งฉวยโอกาสโหนกระแสลดภาวะโลกร้อนมาปั้นโครงการหาผลประโยชน์  มากกว่าจะดำเนินรอยตามแนวทางพระราชดำริอย่างแท้จริง  ในขั้นตอนดำเนินโครงการก็ละเลยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การกระทำที่ฉ้อฉลดังกล่าวจึงก่อให้เกิดผลเสียตามมา  เราได้เห็นสิ่งแปลกปลอมจากธรรมชาติปรากฏขึ้นในพื้นที่ป่าสมบูรณ์หลายแห่งในภาคเหนือ และสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบทางลบต่อระบบนิเวศในอนาคต