รหัส B-4-2-2552-5
ชื่อข่าว_ปลากระป๋องเน่า ทำ รมต.ตกเก้าอี้
เจ้าของ-ไทยรัฐ
ปีพิมพ์ พศ. 2552
"ข่าวปลากระป๋องเน่า ทำ รมต.ตกเก้าอี้"
กองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ข้อเท็จจริงของข่าว
หลังเกิดอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระดมความช่วยเหลือแจกถุงยังชีพสู่มือชาวบ้านกันอย่างเร่งด่วน เหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่า ได้เกิดกรณีถุงยังชีพเจ้าปัญหาเกิดขึ้น ที่ จ.พัทลุง เมื่อชาวบ้านใน ต.ชัยบุรี อ.เมือง จ.พัทลุง จาก 13 หมู่บ้าน ได้นำปลากระป๋องยี่ห้อ ชาวดอย จำนวน 2,500 ชุด ที่นายสุเทพ โกมลภมร ผวจ.พัทลุง นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ นายนริศ ขำนุรักษ์ น.ส.สุพัชรี ธรรมเพชร 3 ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ และหัวหน้าส่วนราชการ นำไปแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2552 มากองรวมกัน เพื่อคืนให้กับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.พัทลุง หลังพบว่า เป็นของเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น รับประทานแล้วเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ซึ่งปลากระป๋องลอตดังกล่าว ผลิตโดยบริษัท ทองกิ่งแก้วฟู้ดส์ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 17/1 ม.5 ต.แคราย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ผลิตเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2551 และหมดอายุวันที่ 24 ธันวาคม 2554 ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สั่งเก็บปลากระป๋องยี่ห้อนี้ออกจากท้องตลาด และส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจพิสูจน์คุณภาพ รวมทั้งส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบที่ตั้งบริษัทจัดจำหน่าย คือ บริษัท ไทย เอ ดี ฟู้ดส์ และบริษัทผู้ผลิตคือ บริษัท ทองกิ่งแก้วฟู้ดส์ จำกัด ที่ระบุบนฉลาก ปรากฏว่า บริษัทที่จัดจำหน่ายไม่มีการประกอบกิจการค้าอาหารกระป๋องยี่ห้อ ชาวดอย ส่วนบริษัทผู้ผลิตถูกสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร สั่งงดผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปนานแล้ว
ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2552 นายวิฑูรย์ นามบุตร รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในขณะนั้น ได้ออกโรงแถลงข่าวว่า ได้สอบถามนายวัลลภ พลอยทับทิม ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ทราบว่า ขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้างของที่จะบรรจุในถุงยังชีพเพื่อนำไปแจกจ่ายชาวบ้าน เป็นบริษัทเอกชนรายหนึ่งนำตัวอย่างมาเสนอ ของทุกชิ้นมีคุณภาพตามมาตรฐาน โดยเฉพาะปลากระป๋องเป็นยี่ห้อดังที่จำหน่ายตามท้องตลาด แต่เมื่อนำของไปส่ง ไม่ทราบว่าทำไมถึงเปลี่ยนเป็นยี่ห้อชาวดอย ขณะที่ทางจังหวัดรับของไปแจกด้วยความเร่งรีบเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านโดยเร็ว ก็ไม่ได้รอบคอบตรวจสอบเสียก่อน
ผ่านไปเพียง 3 วัน นายวิฑูรย์ นามบุตร รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แถลงข่าวกลับลำไปอีกทิศทางหนึ่งระบุว่า ถุงยังชีพเป็นของสำนักงานปลัดกระทรวง ได้รับบริจาคจาก นายวิเชน สมมาต อดีตรองเลขาธิการสมาคมชาวจังหวัดพัทลุง และประกอบธุรกิจหลายอย่าง แจ้งบริจาคถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบความเดือดร้อนจังหวัดพัทลุง จำนวน 2,500 ชุด โดยนายวิเชน เป็นผู้ดำเนินการจัดส่งให้ประชาชนผู้เดือดร้อนเอง
ไทยรัฐจึงตั้งข้อสังเกตว่า การแถลงข่าวชี้แจงเหมือนจัดฉาก เพราะราวหนังคนละม้วน เนื่องจากก่อนหน้านี้ ตัวนายวิฑูรย์เองเคยแถลงว่าเป็นความผิดของบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ที่ได้รับสัมปทานจัดซื้อจัดจ้าง ส่งของไม่ตรงสเปกที่เสนอกระทรวง เมื่อถูกซักถามหนักเข้า นายวิฑูรย์ ถึงกับออกอาการเลิ่กลั่ก และอ้ำอึ้ง ก่อนตัดสินใจให้เบอร์โทรศัพท์มือถือของนายวิเชน หมายเลข 08-7135-2201 แก่สื่อมวลชน ซึ่งเมื่อไทยรัฐโทรศัพท์ไปตามหมายเลขดังกล่าว ก็มีผู้รับปลายสายอ้างเป็นนายวิเชน สมมาต ยืนยันว่าเป็นผู้บริจาคปลากระป๋องเน่าล็อตดังกล่าวจริง หลังจากนั้นอีกไม่กี่วันก็มีของบริจาคประมาณ 3,000 ชุดที่ยัดไส้ปลากระป๋อง ชาวดอย ส่งตามไปอีกล็อต แต่ครั้งนี้ยังไม่มีการแจกจ่ายไปถึงมือชาวบ้าน เพราะถูกระงับก่อนจึงปล่อยกองทิ้งไว้ที่จังหวัด ซึ่งเมื่อสอบถามไปยังนายวิเชน ถึงปลากระป๋องชุดหลัง ทำให้เกิดอาการไม่มั่นใจ พร้อมปฏิเสธแสดงความเป็นเจ้าของล็อตล่าสุด จากนั้นนายวิเชนได้ปิดสายโทรศัพท์ และไม่สามารถติดต่อได้อีกเลย
และแล้วนายวิเชน ก็เปิดตัวโดยโผล่มาให้ปากคำต่อคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่มีรองปลัดกระทรวง นางกานดา วัชราภัย เป็นประธานสอบ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่นายวิเชนได้ปรากฏตัวต่อสาธารณะ โดยได้เข้าให้ปากคำต่อคณะกรรมการประมาณ 2 ชั่วโมง ก่อนหลบหลีกหนีหายไป ขณะที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ ของกระทรวงก็สรุปผลสอบแค่เพียงว่า ไม่พบมูลทุจริตใด ๆ เพราะไม่มีการจัดซื้อจัดจ้าง และเป็นของที่รับบริจาคมา
วิธีการนำเสนอ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้ตั้งทีมข่าวเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อเกาะติดความไม่ชอบมาพากลของขบวนการปลากระป๋องเน่าครั้งนี้ โดยตรวจสอบย้อนกลับไปที่ศูนย์รับบริจาคเพื่อการสงเคราะห์ผู้เดือดร้อน กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นหน่วยลงทะเบียนผู้บริจาคสิ่งของช่วยเหลือประชาชน ปรากฏว่าตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 จนถึงวันที่ 19 มกราคม 2552 ไม่ปรากฏผู้บริจาคที่ชื่อนายวิเชน สมมาต แต่อย่างใด หลังจากนั้นจึงลงพื้นที่ตรวจสอบเพื่อไขปริศนาเกี่ยวกับตัวนายวิเชน สมมาต ว่าเป็นใคร ซึ่งข้อมูลที่ได้รับจากสมาคมชาว จ.พัทลุง พบว่า นายวิเชน เคยเป็นผู้ช่วยเลขาธิการสมาคมฯ เมื่อปี 2546 อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนหายหน้าไป ขณะเดียวกันได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบ้านพักที่อ้างว่าเปิดเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างย่านบางบัวทอง จ.นนทบุรี พบว่าเป็นบ้านร้างที่ถูกธนาคารแห่งหนึ่งยึดไว้ ส่วนชื่อที่แท้จริงคือนายวิเชน สงมาก เป็นบุคคลมีหนี้สินรุงรัง อยู่ระหว่างถูกสถาบันการเงินหลายแห่งตามทวงหนี้ ซึ่งเป็นข้อพิรุธที่อธิบายได้ว่า ผู้บริจาคปลากระป๋องเน่ารายนี้ ไม่น่ามีฐานะการเงินดีพอที่จะบริจาคถุงยังชีพได้ แท้จริงแล้ว น่าจะเป็นตัวละครที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาเท่านั้น
อีกด้านหนึ่งจากการลงพื้นที่โรงงานไทย เอดี ฟู้ดส์ และทองกิ่งแก้วฟู้ดส์ ต.แคราย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร พบว่าเป็นโรงงานมีคนงานทำงานอยู่ไม่กี่คน และผู้จัดการโรงงานยืนยันว่า วัตถุดิบที่ใช้ผลิตปลากระป๋องชาวดอย เป็นปลาซาร์ดีนเกรดต่ำ ราคาถูก ไม่ได้คุณภาพ พร้อมกันนี้ได้รับคำยืนยันจากชาวบ้านรอบโรงงานว่า โรงงานแอบขนปลากระป๋องชาวดอยไปทำลายทิ้งหมดแล้ว ผนวกกับข้อมูลที่บรรดาฝ่ายค้านออกมาแฉอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการโยงประเด็นคนสนิทนักการเมืองอักษรย่อ บ และนักการเมืองใหญ่ในรัฐบาลอักษร จ การรวมตัวฟ้องร้องของเอ็นจีโอ การถามกระทู้สดของฝ่ายค้านในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร การตรวจสอบของ ป.ป.ช. รวมทั้งการขุดคุ้ยความไม่โปร่งใสในการแจกถุงยังชีพ จนลามไปยังจังหวัดอื่น ที่สำคัญการนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง กระแสสังคมได้สร้างแรงกดดันต่อตัวนายวิฑูรย์ นามบุตร รมว.การพัฒนาสังคมฯ อย่างหนัก จากการทุ่มเททำงานข่าวรอบด้านด้วยการนำประเด็นจากการแถลงของทุกฝ่าย ไปติดตามหาข้อเท็จจริงมายืนยันในความถูกต้องทุกประเด็น
ขณะเดียวกันในช่วงที่มีการติดตามข่าว ก็มีการนำเสนอสกู๊ปในช่วงเวลาเดียวกัน 2 ครั้ง คือ วันที่ 27 มกราคม 2552 เรื่อง จับพิรุธขบวนการยัดไส้ขยะบริจาคปลากระป๋องเน่าซ้ำเติมทุกข์ชาวบ้าน และวันที่10 กุมภาพันธ์ 2552 เรื่องพิสูจน์ความจริงใจรัฐบาลเปิดโปง ไอ้โม่งหมกเม็ดปลากระป๋องเน่า เพื่อช่วยผลักดันให้มีการเปิดเผยและพิสูจน์ความจริงในเรื่องที่เกิดขึ้น รวมถึงการเรียกร้องให้มีการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ
ผลกระทบของข่าว
การตีแผ่พฤติกรรมโกงกินปลากระป๋องเน่าเป็นขบวนการ ส่งผลให้นายวิฑูรย์ นามบุตร รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตัดสินใจไขก๊อก ลาออกจากตำแหน่ง หลังเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ช่วงเช้าวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 ปิดฉากตำนาน รมต.ปลากระป๋องเน่า เป็นการสร้างบรรทัดฐานทางสังคมให้เกิดขึ้น เพื่อยกระดับมาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมืองบ้านเรา และทางราชการก็มีความระมัดระวังในการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ