B-4-2-2552-1_มนุษย์โรฮิงญา สิทธิมนุษยชนกับความมั่นคง-คมชัดลึก

รหัส B-4-2-2552-1

ชื่อข่าว_มนุษย์โรฮิงญา สิทธิมนุษยชนกับความมั่นคง

เจ้าของ-คมชัดลึก

ปีพิมพ์  พศ. 2552

 

 

"มนุษย์โรฮิงญา สิทธิมนุษยชนกับความมั่นคง"
กองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก


ไม่ใช่เรื่องง่าย หากเราต้องการนำเสนอภาพ ข่าว ในมุมที่เกี่ยวพันกับเรื่องราวของ สิทธิมุนษยชน และความมั่นคงของชาติไปพร้อมๆ กัน และยิ่งเป็นเรื่องยากมากขึ้นไปอีกเมื่อเรื่องราวที่กำลังนำเสนอนั้น สื่อต่างประเทศ ได้นำเสนอในแง่มุมสิทธิมนุษยชน และคว้ารางวัลในระดับโลกไปแล้ว


ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว "แง่มุม" ที่ถูกนำเสนอนั้น ยังมีความจริงอีกด้านหนึ่ง ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญให้เกิดเรื่องราวที่สื่อต่างประเทศเรียกว่า "การละเมิดสิทธิมนุษยชน" ไม่ว่าจะเป็นการค้ามนุษย์ ค้าแรงงาน การขายสิทธิ ที่กระทบต่อความมั่นคง


ใช่แล้ว เรากำลังพูดถึงเรื่องราวของชนกลุ่มน้อย โรฮิงญา ที่ประเทศแม่อย่างพม่าไม่ยอมรับว่าเป็นพลเมือง เรือมนุษย์ลำแล้วลำเล่า ล่องตัดทะเลอันดามันเพื่อเข้ามา ยัง จ.ระนอง ของไทย เพื่อแสวงหาโลกใหม่ ตามคำบอกเล่าปากต่อปาก แม้ว่านับแต่เริ่มก้าวลงเรือ ไปจนถึงเหยียบแผ่นดิน จะมีรายจ่ายในทันทีทันใด หรือรายจ่ายในอนาคต จำนวนมาก แต่สำหรับ ชาวโรงฮิงญาแล้วที่นี่คือ "ความหวัง" ของพวกเขา


นั่นคือ! ปฐมบท ของเรื่องราวผู้อพยพหลบหนีเข้าเมือง “ชาวโรฮิงญา” จากประเทศพม่าที่กลายเป็นข่าวครึกโครมระดับโลก เมื่อต้นปี 2552 สื่อยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง “บีบีซี” ได้เปิดประเด็นขึ้นมา


บีบีซี เสนอข่าวเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2552 ระบุว่า ทหารเรือไทยทำการผลักดันชาวโรฮิงญา ปล่อยให้พวกเขาลอยลำอยู่ในเรือที่ไร้เครื่องยนต์นานกว่า 2 สัปดาห์ โดยทิ้งอาหาร และน้ำเพียงน้อยนิดจนทำให้มีชาวโรฮิงญาอดตายอยู่ในทะเลหลายร้อยชีวิต


ในรายงานข่าวของบีบีซียังนำเสนอภาพของชาวโรฮิงญาหลายร้อยคนถูกทหารไทยจับมัดมือไพล่หลังแล้วให้นอนคว่ำหน้าบนทราย ท่ามกลางแสงแดดที่ร้อนระอุ


ข่าวดังกล่าวทำให้รัฐบาล และกองทัพไทยถูกประณาม และกดดันอย่างหนักจากองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและนอกประเทศ รวมทั้งรัฐบาลสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป


ต่อมา วันที่ 26 มกราคม 2552 สำนักข่าวระดับโลกอย่าง “ซีเอ็นเอ็น” ก็ตีข่าวซ้ำอีกครั้งโดยเสนอภาพที่อ้างว่าเป็นเรือทหารเรือไทยชักลากเรือมนุษชาวโรฮิงญาที่ปราศจากเครื่องยนต์ไปทิ้งกลางทะเล


นอกจากนี้ ยังเสนอข่าวภาพที่อ้างว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติถ่ายภาพที่ทหารเรือไทยทารุณชาวโร! ฮิงญาด้วยการจับมัดมือไพล่หหลังกลางชายหาดที่ร้อนระอุอีกครั้งหนึ่ง


อาจจะด้วยเพราะข้อจำกัด หรืออย่างไรก็ไม่อาจคาดเดา ข่าวที่สำนักข่าวต่างประเทศนำเสนอไปเพียงเท่านั้น ทีมข่าว “คมชัดลึก” ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เนื้อหาการนำเสนอข่าวของสื่อต่างประเทศ รวมทั้งคำชี้แจงของทางการไทยยังไม่สามารถตอบข้อสงสัยเรื่องชาวโรฮิงญาได้เรื่องทุกประเด็น


คำถามที่ว่า เหตุใดคนเหล่านี้จึงตัดสินใจละทิ้งถิ่นฐาน ลงเรือไปตายเอาดาบหน้า ..เลือกที่จะเสี่ยงกับที่หมาย จ.ระนอง ของไทย หรือว่าที่นี่คือ สวรรค์ของคนต่างด้าว


เมื่อทีมงาน คม ชัด ลึก ลงพื้นที่ จ.ระนอง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีชาวโรฮิงญา หลบหนีเข้าเมือง มาประกอบอาชีพมากที่สุด ข้อมูลทั้งจากคนในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ความมั่นคง และทหาร หรือแม้แต่ครนเชื้อสายโรงฮิงญาเอง ยืนยันตรงกันว่า ชุมชนโรฮิงญาได้เติบโตอยู่ที่นี้มานานนับสิบปีแล้ว ยึดอาชีพขับซาเล้งรับซื้อของเก่าเพื่อเป็นทุนไปประกอบอาชีพอิสระ เช่น ขายโรตี ขายถั่ว ขายมุ้ง ฯลฯ


ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวโรฮิงญาสามารถอาศัยใน จ.ระนอง โดยไม่ถูกจับกุม คือ การช่วยเหลือของเจ้า! หน้าที่ไทย กระบวนการออกบัตร “แรงงานต่างด้าว” และ “บัตรไทยพลัดถิ่น” ให้แ! ก่ "ผู้มาใหม่" ช่างง่ายดายเพียงแค่ "จ่ายงาม"


ข้อมูลจากการลงพื้นที่ทำให้เราทราบว่าสนนราคาในการออกบัตรโดยมิชอบ โดยเฉพาะบัตรไทยพลัดถิ่นจะตกราคาบัตรละ 1-3 หมื่นบาท


เมื่อ คม ชัด ลึก นำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง จังหวัดระนอง ได้สั่งยุติการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว และบัตรไทยพลัดถิ่น เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พร้อมสั่งเอาผิดข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ผลการสอบสวนมีคำสั่งให้ปลัดอำเภอเมืองระนอง (ในขณะนั้น) ไปช่วยราชการที่ อ.ละอุ่น จ.ระนอง ก่อนที่ ก.พ. จะมีคำสั่งชี้มูลความผิดอีกครั้ง เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2552


“คมชัดลึก” ไม่ได้ตรวจสอบเพียงแค่เรื่องดังกล่าว หากแต่พยายามขอข้อเท็จจริง จาก ซีเอ็นเอ็น ที่อ้างว่า มีคลิปทหารเรือไทยชักลากเรือไม้ของชาวโรฮิงญาออกไปทิ้งกลางทะเลอย่างไร้มนุษยธรรม เพราะภาพนิ่งที่เห็นนั้น ถูกปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงจากกองทัพเรือ ที่ยืนยันว่า เรือที่ชักลากนั้น ไม่ใช่เรือของกองทัพเรือไทย โดยชี้ให้เห็นความแตกต่างที่ โป๊ะไฟส่องอวนตรงกราบเรือที่เชื่อว่าน่าจะเป็นของเรือประมง ส่วนสีของเรือก็ไม่ใช่สีที่กองทัพใช้


ที่คม ชัด ลึก ทำเช่นนั้น! ไม่ใช่เพราะปกป้องกองทัพเรือ หากแต่เรามองว่า เรื่องนี้ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องสิทธิมนุษยชน เพียงเท่านั้น การอ้าแขนตอบรับผู้อพยพจากต่างถิ่น โดยที่ไม่คำนึงถึงความมั่นคง ดูจะเป็นการปฏิเสธความจริงมากเกินไป ประเด็นก็คือ เราต้องสืบค้นถึงเหตุของการอพยพ เหตุใดที่นี่จึงเป็นเป้าหมาย หรือที่พักชั่วคราวเพื่อต่อไปยังแหล่งพักพิงแหล่งอื่น เพื่อที่จะชี้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ปัญหาที่ถูกจุด ..จุดที่เป็นต้นตอของปัญหาอย่างแท้จริง


แต่ก็ใช่ว่า เมื่อมาถึงแผ่นดินไทยแล้ว โรฮิงญา ทุกคน จะพบกับเทพีแห่งโชค ..เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม เราได้ตีแผ่ชีวิตชาวโรฮิงญาหลายสิบชีวิตที่ห้องขัง ตม.ระนอง สภาพห้องขังที่ทั้งแคบและอับชื้น ข้อมูลที่เราได้มาระบุว่า มีเสียชีวิตไปแล้ว 2 คน แขนขาลีบอีกนับสิบ


นั่นทำให้ จ.ระนอง ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง และแพทย์ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้ผู้ต้องขังโรฮิงญาแขนขาลีบ เนื่องจากความเครียด และไม่มีการนำผู้ต้องขังออกกำลังกายอย่างเพียงพอ


หลังจากนั้น 2 วัน มีการย้ายชาวโรฮิงญาไปคุมขังที่ ตม.ในกรุงเทพฯ
ผลจากการนำเสนอข่าวของ “คมชัดลึก” ! ไม่เพียงยกปัญหาคาอก โดยเฉพาะสายตาหมิ่นแคลนต่อเจ้าหน้าที่ทางการของไทย หา! กแต่ยังทำให้สายตาโลกเมียงมองมายังคนกลุ่มเล็กๆ ที่แม้แต่ประเทศแม่ ก็ยังปฏิเสธการเป็นพลเมืองกลุ่มนี้


และ ดูเหมือนชะตากรรมของ โรฮิงญาจะดีขึ้นเมื่อ ทูตจาก 5 ประเทศ คือ พม่า บังคลาเทศ อินเดีย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ขอลงพื้นที่เพื่อดูสภาพการเป็นอยู่ของคนกลุ่มนี้ ก่อนจะมีการยกระดับเรื่องชาวโรฮิงญาไปพูดคุยในเวทีอาเซียน


ส่วนองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ก็แสดงท่าทีให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) หาทางช่วยเหลือชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า อีกทางหนึ่ง


แม้วันนี้ชะตากรรมของชาวโรฮิงญาจะไม่ชัดเจนว่าจะเป็นเช่นไรต่อไป แต่อย่างน้อยโลกก็รู้จักพวกเขามากขึ้น และมองทางการไทย และคนไทยด้วยสายตาที่เป็นธรรมมากขึ้น
+++++++++++++++++