B-4-2-2552-4_เปิดโปง รพ. โกงเงินแสนล้าน สปสช. ตีแผ่ปัญหาเบิกค่า “สเต็นท์” เกินจริง-เดลินิืวส์

รหัส B-4-2-2552-4

ชื่อข่าว_เปิดโปง รพ. โกงเงินแสนล้าน สปสช. ตีแผ่ปัญหาเบิกค่า “สเต็นท์”  เกินจริง

เจ้าของ-เดลินิืวส์

ปีพิมพ์ พศ. 2552

 

เปิดโปง รพ. โกงเงินแสนล้าน สปสช. ตีแผ่ปัญหาเบิกค่า “สเต็นท์”  เกินจริง

กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดลินิวส์

จุดเริ่มต้นของการตรวจสอบ

เริ่มจากวันที่  1 ต.ค. 2552 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดประชุมชี้แจง การบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือที่ทุกคนเรียกติดปากว่า “โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค”  หรือ “บัตรทอง” ประจำปีงบประมาณ 2553 ที่ ครม.ได้อนุมัติงบประมาณในอัตรา 2,401.33 บาทต่อหัวประชากร จำนวน 117,968.83 ล้านบาทดูแลคนกว่า 47  ล้านคน

ในวันนั้นมีการแจก “คู่มือบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ความหนา 397 หน้า ความน่าสนใจ อยู่ที่หน้า 373 -376 มีการพิมพ์รายละเอียด “ข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารจัดการกองทุนและการหักค่าใช้จ่าย กรณีหน่วยบริการเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขเกินจริง พ.ศ.2552” ลงนามโดย นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2552 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 30 มิ.ย. 2552 สาระสำคัญ คือ มีบทลงโทษหน่วยบริการ ! หรือ รพ.ที่เจตนาเรียกเก็บเงินเกินจริง เช่น การสรุปโรคมากเกินหลักฐานในเวชระเบียน หรือ สรุปการทำหัตถการโดยไม่มีหลักฐานในเวชระเบียน หรือมีการเพิ่มรหัส (โค้ด) การวินิจฉัยโรคโดยไม่มีหลักฐาน หรือมีการเพิ่มโค้ดหัตถการโดยไม่มีหลักฐาน ด้วยการปรับเงิน 10 เท่าของจำนวนเงินที่ รพ.เรียกเก็บเกินจริงในการให้บริการครั้งนั้น แต่ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อเวชระเบียน

ตรงนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นที่ “เดลินิวส์” สนใจความฉ้อฉลของ รพ. จึงได้เริ่มกระบวนการเจาะข้อมูล มานำเสนอทั้งในรูปข่าว สกู๊ป รายงาน บทบรรณาธิการ เพื่อตีแผ่ปัญหาในวงการแพทย์และสาธารณสุขที่ซุกอยู่ใต้พรมมานาน ให้สาธารณชนได้รับรู้เป็นครั้งแรก

 

การดำเนินการ

“เดลินิวส์” เริ่มนำเสนอข่าวด้วยการสอบถามข้อเท็จจริงจาก นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. ซึ่งยอมรับว่า รพ.รัฐและเอกชน ได้เรียกเก็บเงินเกินจริง กรณี “ผู้ป่วยใน” โดยมีทั้งที่จงใจ และ รู้เท่าไม่ถึงการณ์

เหตุผลที่เป็นกรณี “ผู้ป่วยใน” เนื่องจากการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวนั้น ถ้าเป็น “ผู้ป่วยนอก” สปสช.จะโอนเงินไปให้ รพ.โดยตรง แต่งบผู้ป่วยใน สปสช. จะกันเงินไว้ส่วนกลางปีหนึ่งกว่า 3 หมื่นล้านบาท ในกรณีที่คนไข้ไปนอน รพ.ทาง รพ. สามารถเรียกเก็บเงินตาม “ดีอาร์จี” (การจัดกลุ่มผู้ป่วยที่มีลักษณะทางคลินิกและการใช้ทรัพยากรในการรักษาโรคใกล้เคียงกันไว้ในกลุ่มเดียวกัน) ที่ให้บริการจริง

วิธีการเรียกเก็บเงินจาก สปสช. นั้น รพ.จะคีย์ข้อมูลผ่านระบบอิเลคทรอนิกส์ หาก รพ.คิดไม่ซื่อ แทนที่คีย์รหัส “โรคหลัก” ที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาและนอน รพ. แต่ดันคีย์รหัส “โรครอง” ที่เป็นภาวะแทรกซ้อนมาเบิก จะได้เงินเยอะกว่า เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ไป รพ.เพราะปวดท้องเป็นหลัก แทนที่ รพ.จะเรียกเก็บกรณีปวดท้อง ก็เอามะเร็งเป็นตัวเบิก หรือมีการเพิ่มโรค เพิ่มหัตถการที่ไม่ได้ทำในเวชระเบียนให้ได้เงินเยอะ ๆ กรณีเช่นนี้ทางการแพทย์เรียกว่า “อัพดีอาร์จี”

จากการเจาะลึกข้อมูล พบว่า สปสช.ได้สุ่มตรวจเวชระเบียน “ผู้ป่วยใน” มาตั้งแต่ปี 2548 โดยนำการเบิกจ่ายปี 2547 มาดู เรียกเงินคืนได้ 5.29 ล้านบาท ปี 2549 เรียกเงินคืน 13.56 ล้านบาท ปี 2550 เรียกเงินคืน 30.42 ล้านบาท ปี 2551 เรียกเงินคืน 40.95  ล้านบาท และปี 2552 เรียกเงินคืนได้ 92.13 ล้านบาท ทั้ง ๆ ที่สุ่มตรวจเวชระเบียนเพียง  0.64 % หรือ 33,137 ฉบับ  ใน 5 ล้านฉบับ  พบความผิดพลาด 30,315 ฉบับ คิดเป็น 91.48 % โดย รพ.ศูนย์ / รพ.ทั่วไป เรียกเก็บเงินเกินจริงสูงสุด 42.8 ล้านบาท รพ.ชุมชน 42.1 ล้านบาท รพ.เอกชน 7.4 ล้านบาท และ โรงเรียนแพทย์ 3.6 ล้านบาท

วิธีฉ้อฉลของ รพ. คือ  1) โรคซับซ้อนมากต้องนอน รพ.หลายวัน แต่นอน รพ.สั้น ๆ แล้วโรคหาย 2) รพ.อ้างว่า ผู้ป่วยเป็นโรคซับซ้อน เรียกเก็บเงินสูง แต่ดูแล้วค่ารักษาน่าจะต่ำกว่าที่เรียกเก็บ 3) โรคค่าใช้จ่ายน้อยแต่นอน รพ.นาน ๆ 4) ผ่าตัดสมองแต่นอน รพ.แค่ไม่กี่วัน   5) โรคซับซ้อนแต่นอนน้อยกว่า 3 วัน   6) เด็กอายุ ต่ำกว่า 1 ปี น้ำหนักน้อยแต่ รพ. เลี้ยงรอด  7) โรคทางสมองแต่นอน รพ.สั้น ห! รือมีการเจาะน้ำไขสันหลังไปตรวจแต่บอกผ่าไขสันหลัง 8) การรักษาที่ต้องเปิดหน้าท้อง แต่นอนต่ำกว่า 4 วัน  9) คนไข้ใช้เครื่องช่วยหายใจแต่นอน รพ.น้อย  10) การใส่โรครองนำโรคหลักเพื่อให้ได้เงินมาก 11) คลอดบุตรปกติแต่นอน รพ.นานเกิน 30 วัน 12) เด็กปกติเกิดใน รพ. แต่นอนนานเกิน 90 วัน 13) ธาตุในร่างกายแปรปรวน มีผลตรวจเลือดยืนยัน แต่นอน รพ.แค่วันเดียว 14) ฝังเครื่องปั๊มยาน่าจะพบในโรงเรียนแพทย์ หรือ รพ.ศูนย์ ที่รักษาผู้ป่วยมะเร็ง หรือโรคซับซ้อน แต่ รพ.ขนาดเล็กให้การรักษา 15) ใส่เครื่องช่วยหายใจเกิน 96 ชม.แต่คนไข้นอนน้อยกว่า 4 วัน 16) โรคบางโรค เช่น เยื่อบุช่องท้องอักเสบ หาก รพ.ลงรหัสบางตัวเพื่อเบิกเงินจะต้องไม่มีอ! ีกรหัส ถ้ามีทั้ง 2 รหัสถือว่าไม่ถูกต้อง

นอกจากกรณี “ผู้ป่วยใน” แล้วจากการเจาะข้อมูล ยังพบว่า มีเรียกเงินคืนค่า “โครงลวดค้ำยันหลอดเลือดหัวใจตีบ”หรือ “สเต็นท์เคลือบยา” จาก รพ.รัฐและเอกชนนับ 10 แห่งมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท เนื่องจากราคาที่ รพ.เบิกจาก สปสช.นั้นสูงกว่าราคาที่ซื้อมา  เฉพาะที่ รพ.เกษมราษฎร์ ประชาชื่น แห่งเดียว 26.28 ล้านบาท

เหตุผลที่เป็น “สเต็นท์เคลือบยา” เพราะราคากลางตั้งไว้ 8.5 หมื่นบาท หาก รพ.ทำมากก็ได้มาก แต่ รพ.บางแห่งซื้อสเต็นท์เคลือบยา ที่นำเข้าจากประเทศจีนมาเพียงชิ้นละ 3- 4 หมื่นบาท นอกจากนี้ยัง มีการใช้สายสวนหัวใจที่ใช้แล้ว นำมาฆ่าเชื้อกลับมาใช้ซ้ำอีกด้วย

การเรียกเงินคืนค่า “สเต็นท์” ไม่ได้ง่าย เพราะ รพ.เกษมราษฎร์ ประชาชื่น ได้อ้างคู่มือ สปสช. ปี 2552 ที่ระบุว่า “รายการที่เป็นอุปกรณ์และอวัยวะเทียมในการบำบัดโรค จ่ายชดเชยไม่เกินราคาที่เรียกเก็บ และไม่เกินเพดานราคากลางที่กำหนด” เปิดช่องให้ทำได้ พร้อมขู่ฟ้องศาลหาก สปสช.ยังดื้อเรียกเงินคืน

“เดลินิวส์” ลองสืบค้น “คู่มือ สปสช.ปี 2551” มาดู ระบุว่า “ยอดเงินที่จ่ายให้ต้องไม่เกินราคาวัสดุที่ใช้จริงและไม่เกินราคากลางที่ สปสช.กำหนด” พบว่า ขัดแย้งกับ “คู่มือปี 2552” ที่เขียนเอื้อ รพ. พอไปดู “คู่มือแนวทางปฏิบัติในการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข” ที่แจกจ่ายให้กับ รพ.ทั่วประเทศและใช้มาตั้งแต่ต้น แม้ ผอ.สำนักจะเป็นผู้ลงนามและไม่ใหญ่เท่าคู่มือที่ รพ.อ้าง แต่ก็เขียนชัดว่า ให้ รพ.เบิกตามราคาวัสดุที่ใช้จริง

อย่างไรก็ตามกรณีนี้  สปสช. ยืนยันว่า มีสิทธิเรียกเงินคืน แต่ รพ.เกษมราษฎร์ ประชาชื่น ก็ยืนยัน ว่า ได้เรียกเก็บเงินตามคู่มือตามระเบียบ ดังนั้นท้ายที่สุดคงจะฟ้องศาลปกครองเพื่อตัดสินให้เป็นบรรทัดฐานต่อไป

 

ผลกระทบและคุณค่าข่าว

กรณี รพ.โกงเงินผู้ป่วยใน

1.นาย วิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข ให้นโยบายว่า จะต้องดำเนินคดีอาญากับ รพ. หากตรวจพบว่า เจตนาโกง แต่เหตุการณ์ก่อนข้อบังคับปรับ 10 เท่าบังคับใช้  สปสช.จึงได้แค่เรียกเงินคืน ตักเตือนและคาดโทษ ไว้ก่อน ส่วนหนึ่งเพราะเกรงว่า รพ.จะถอนตัวจากระบบ

2.นพ.ไพ จิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ปราม รพ.ด้วยวาจา และมอบนโยบายแก่ ผอ.รพ. ทั่วประเทศอย่าทุจริต หากมีปัญหาเรื่องงบประมาณให้แจ้งกระทรวง

3.ในแต่ละปี คณะกรรมการดำเนินงานพัฒนาจริยธรรม จะมีพิธีมอบโล่ห์เกียรติยศให้กับหน่วยงานที่มีการพัฒนาธรรมจริยธรรมดีเด่น รวมทั้งคนดีศรีสาธารณสุข ถ้า รพ.ที่ได้รับการเสนอชื่อมีปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายกับ สปสช.จะนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณา

4.แพทย์ชนบท เรียกร้องให้ดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญากับ รพ.เอกชน ถ้าเป็น รพ.รัฐให้สอบสวนทางวินัยผู้ที่เกี่ยวข้อง

5.แพทยสภา ออกโรงพร้อมสอบจริยธรรมแพทย์ที่จงใจลงเวชระเบียนเกินจากที่ให้การรักษา

6.กองการประกอบโรคศิลปะ พร้อมดำเนินการทางกฎหมายกับ รพ.ที่จัดทำ หรือยินยอมให้ผู้อื่นทำหลักฐานเท็จ เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการ เอกสาร ซึ่ง มีโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 4 หมื่นบาท

7.บอร์ด สปสช. มีมติให้พัฒนาระบบการตรวจสอบเวชระเบียน และให้ตรวจสอบเพิ่มให้ได้มากกว่า 1 % โดย เลขาธิการ สปสช.สั่งการให้ตรวจสอบเวชระเบียนปี 2552 ขั้นต่ำ 1 แสนฉบับ

8.มีประชาชนที่ถูกสวมสิทธิตรวจมะเร็งปากมดลูกออกมาร้องเรียน จน รพ.ต้องแสดงความรับผิดชอบให้ตรวจมะเร็งปากมดลูกฟรีตลอดชีวิต

9.นอกจากกรณี “ผู้ป่วยใน” นำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลความไม่ชอบมาพากลเรื่อง การยิงสลายนิ่ว  และกรณีการล่าชื่อกว่า 7,000 คนขอถอนสิทธิการรักษาพยาบาลออกจาก รพ.บางแห่ง

 

กรณีเบิกค่า “สเต็นท์”เกินจริง

1.มีการเรียกร้องให้ บอร์ด สปสช. ซึ่งเป็นตัวแทน รพ.เอกชนที่เป็นคู่สัญญากับ สปสช.ลาออก จนมีการลาออกเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2552

2.สปสช.ให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ประมูล “สเต็นท์เคลือบยา” 1,000 ชิ้น ด้วยวิธีพิเศษได้สินค้านำเข้าจากจีน 3 หมื่นบาทต่อชิ้น จากเดิมราคา 8.5 หมื่นบาท และประมูล “สเต็นท์ไม่เคลือบยา”  1,200 ชิ้น จากราคา 3.5 หมื่น เหลือ 6,800 บาทต่อชิ้น แจกให้ รพ.ทั่วประเทศตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2552  คาดประหยัดงบ 2 รายการได้ 250 ล้านบาทต่อปี

3.สปสช.ประกาศราคากลาง “สเต็นท์” ใหม่ เมื่อวันที่ 19 พ.ย.52 ลดราคาทั้ง 2 รายการตามที่ประมูล

4.สปสช.ส่งทีมเข้าไปตรวจสอบการใช้สเต็นท์ของ รพ.เกษมราษฎร์ ประชาชาชื่น พบว่า ส่วนใหญ่ 94 % เบิกถูกต้อง โดยมีข้อผิดพลาดเพียง 6 % โดย 2.8 % เบิกต่ำไป ในขณะที่ 3.2 % เบิกเกินไป

5.นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข สั่งการให้ รพ.ในสังกัด สธ.คืนค่าสเต็นท์ทั้งหมด

6.สปสช.เตรียมปรับลดราคากลางอุปกรณ์และอวัยวะเทียมอีก 3-4 ตัว เช่น เลนส์แก้วตาเทียม

7.นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. ได้ลงนามคู่มือปฏิบัติในการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2553 ด้วยตัวเอง เพื่อกลบช่องว่างให้ รพ.นำไปอ้างอิง

8.ส.ส.พรรค ประชาธิปัตย์ และเพื่อไทย เอ็นจีโอ เรียกร้องให้อีก 2 กองทุน คือ สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และประกันสังคม ปรับลดราคาสเต็นท์ รวมทั้งอุปกรณ์และอวัยวะเทียมอื่น ๆ โดย นายสถิตย์   ลิ่มพงศ์พันธุ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า กรมบัญชีกลางจะนำการปรับลดราคาของ สปสช.มาดู

“เดลินิวส์” เชื่อมั่นว่า การนำเสนอข่าวชิ้นนี้ จะช่วยพิทักษ์งบประมาณแผ่นดินนับแสนล้านบาทที่นำมารักษา พยาบาลคนยากคนจน มิให้เกิดการรั่วไหล และช่วยป้องปรามมิให้ รพ. ทุจริต และเชื่อว่า กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม จะทบทวนราคาอุปกรณ์และอวัยวะเทียม ตลอดจนการรักษาพยาบาลบางหลายรายการใหม่ เช่น การยิงสลายนิ่ว ที่เวลาผ่านไปราคาถูกลง  ซึ่งจะทำให้ประหยัดงบประมาณในการรักษาพยาบาลได้อย่างมหาศาล และท้ายที่สุดผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กับพี่น้องประชาชน.