รหัส B-4-2-2552-7
ชื่อข่าว_ไล่ล่าภาษี‘คณะบุคคล’ สกัดคนหัวหมอ
เจ้าของ-โพสต์ทูเดย์
ปีพิมพ์ พศ. 2552
ไล่ล่าภาษี‘คณะบุคคล’ สกัดคนหัวหมอ
กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์
ปีงบประมาณ 2552 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่ท้าทายในการบริหารรายได้และรายจ่ายของรัฐบาล เพราะเป็นการดำเนินงานในภาวะที่เศรษฐกิจโลกและในประเทศหดตัวอย่างรุนแรงยิ่งเมื่อรัฐบาลประกาศอัดฉีดเงินลงไปในระบบด้วยการตั้งงบประมารกลางปี 1.5 แสนล้านบาท และออกกฎหมาย2ฉบับ (พ.ร.ก.และพ.ร.บ.) เพื่อให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในโครงการไทยเข้มแข็งรวม 8 แสนล้านบาท ทำให้ยอดการขาดดุลงบประมาณสูงกว่าที่เคยประเมินไว้ว่าน่าจะอยู่ในระดับ 3.3 แสนล้านบาท
กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์จึงประเมินว่า ด้วยแรงกดดันอันมากมายเช่นนี้ หากหน่วยงานรัฐโดยเฉพาะกรมจัดเก็บภาษีไม่เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ก็ต้องหามาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อสกัดความรั่วไหลของการหลบเลี่ยงการเสียภาษี
โพสต์ทูเดย์จึงเกาะติดมาตรการรีดภาษี ยุทธวิธีในการสกัดปัญหาดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ก่อนที่จะโฟกัสลงไปว่า “หน่วยภาษีในรูปแบบของคณะบุคคล” ที่กฎหมายเปิดช่องและบริษัทที่ปรึกษากฎหมายใช้เป็นช่องทางในการเสนอให้บรรดา “คนรวย” หลบเลี่ยงการเสียภาษีน่าจะเป็นยุทธวิธีที่สรรพากรจะนำมาใช้ในการสกัดกั้นความรั่วไหลของภาษี
เพราะเมื่อตรวจสอบลึกลงไปคณะบุคคลกว่า 1 แสนคณะที่ตั้งขึ้นมานั้น พบว่าส่วนใหญ่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการผ่องถ่ายรายได้ และสร้างภาระรายจ่าย เพื่อทำให้เสียภาษีลดน้อยลงอย่างถูกกฎหมาย ก็นับว่าเป็นเรื่องดีที่จะปราบปรามพวกคน “หัวหมอ” ที่รู้จักอาศัยช่องว่างทางกฎหมายมาเป็นช่องทางในการเลี่ยงภาษีให้หมดสิ้นไป
ซึ่งแน่นอนว่าหากมีมาตรการอย่างหนึ่งอย่างใดออกมาจะกระทบกับบรรดาผู้ประกอบอาชีพอิสระ ทั้งกลุ่มหมอ วิศวกร บุคคลธรรมดา ดารา นักการเมือง พิธีกร นักร้อง นักแสดง บริษัทนิติบุคคล ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อหลบเลี่ยงภาษีในวงกว้าง
แต่เนื่องจากเรื่องราวของ ภาษีนั้นเป็นเรื่องยากแก่การเข้าใจและมีเทคนิกวิธีการที่ซับซ้อน โพสต์ทูเดย์จึงเกาะติดและสะท้อนเรื่องราวให้ออกมาในรูปของ “ต้นตอของปัญหา-มาตรการ-ความเดือดร้อน-ผลกระทบต่อรัฐ” เป็นด้านหลัก
ส่วนข่าว ข้อเขียน ที่นำเสนอในรูปของเทกนิก วิธีการ หลบเลี่ยงการเสียภาษีนั้นให้เสมือนเป็นน้ำจิ้มเพื่อความเข้าใจได้ง่าย และไม่ต้องการให้เกิดการพิพากษาลงไปว่า ประชาชนผู้ที่ดำเนินการจัดตั้งคณะบุคคลขึ้นมาเพื่อเสียให้รัฐน้อยลงนั้น เป็นจำเลยของแผ่นดิน หรือเป็นผู้ที่มีความผิดจริงจึงเน้นหนักในการนำเสนอข่าว วิเคราะห์ รายงาน ในรูปของการติ เพื่อก่อให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขเป็นด้านหลัก ดังที่ปรากฏในหัวข้อข่าว
การตั้งประเด็นในเรื่อง “การจัดตั้งคณะบุคคล” ขึ้นมาเพื่อหลบเลี่ยงการเสียภาษีของประชาชนกลุ่มผู้มีสตางค์ และผู้มีอาชีพอิสระของกองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์นั้น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาแก้ไขของหน่วยงานรัฐในหลากหลายรูปแบบหลังจากที่โพสต์ทูเดย์นำเสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าเป็นคุณกับประเทศไม่น้อย
เพราะเมื่อโพสต์ทูเดย์นำเสนอเรื่องการหลบเลี่ยงภาษีของกลุ่มคนที่มีรายได้สูง แต่ไม่ต้องการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราแบบขั้นบันได 10%-37% จึงได้จัดตั้งคณะบุคคลขึ้นมาหลบเลี่ยงภาษี เพราะไม่ต้องนำเงินได้มารวมกันทำให้เสียภาษีในอัตราที่สูง
กรมสรรพากรก็ได้เข้าไปตรวจสอบในเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ ก่อนจะออกมายอมรับว่าปัจจุบันได้มีการหลีกเลี่ยงภาษี หรือฉ้อโกงภาษี โดยการจัดตั้งคณะบุคคลเป็นเท็จ โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สร้างรายจ่ายเท็จ เช่น รายจ่ายค่าขนส่ง ค่านายหน้า ค่าที่ปรึกษา ค่าจ้างทำของ ฯลฯ เพื่อให้มีกำไรสุทธิน้อยลงหรือมีผลขาดทุนสุทธิ ทำให้เสียภาษีน้อยลงหรือไม่ต้องเสียภาษี และมีการขอคืนภาษีโดยไม่ถูกต้องมีจำนวนมาก
กรมสรรพากรได้ตรวจสอบแล้ว พบว่า ผู้มีชื่อร่วมเป็นคณะบุคคลหลายคณะไม่มีส่วนรู้เห็นในการจัดตั้งคณะบุคคล หรือมิได้มีการประกอบกิจการร่วมกันในฐานะคณะบุคคลแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ยังมีกรณีผู้มีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งมีเงินได้จำนวนมาก หลีกเลี่ยงภาษี โดยใช้วิธีจัดตั้งคณะบุคคลขึ้นมาหลาย ๆ คณะ โดยแต่ละคณะบุคคล จะมีชื่อของผู้มีเงินได้อยู่ในทุกคณะบุคคล แต่ชื่อผู้ร่วมจัดตั้งคณะบุคคล จะเปลี่ยนไป เพื่อเกิดเป็นคณะบุคคลใหม่ เพื่อกระจายฐานเงินได้ของผู้มีเงินได้ที่แท้จริง ทำให้เสียภาษีในอัตราต่ำ นอกจากนี้ คณะบุคคลยังมีการขอคืนภาษีโดยอ้างว่า ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย นำส่งกรมสรรพากรไว้ ทั้งๆ ที่คณะบุคคลไม่เคยมีเงินได้
วันที่ 19 มกราคม นายวินัย วิทวัสการเวช อธิบดีกรมสรรพากร จึงออกมาแจงว่า พฤติการณ์ดังกล่าว ต้องรับผิดทางแพ่ง โดยต้องชำระภาษีพร้อมทั้งเบี้ยปรับ เงินเพิ่มและยังมีความผิดทางอาญา โดยถือเป็นความผิดฐานเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี อันเป็นความผิดตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 – 200,000 บาท
ส่วนกรณีขอคืนภาษีเป็นเท็จ เป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงเงินภาษีอากรของรัฐ อันเป็นความผิดตามมาตรา 341 มาตรา 80 และมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังมีความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานฯ ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 137 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับด้วย
และในช่วงกลางเดือนตุลาคม กรมสรรพากรก็มีคำสั่งเป็นหนังสือส่งหนังสือแจ้งไปยังกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระต่างๆโดยเฉพาะพิธีกร ดารา นักแสดง นักร้อง และกลุ่มแพทย์ เพื่อให้ทราบว่าในการชำระภาษีประจำปี 2552 ที่จะต้องยื่นแบบแสดงรายการในเดือนมี.ค. 2553 ที่จะถึงนี้ ห้ามไม่ให้กลุ่มผู้มีวิชาชีพเหล่านี้ แสดงรายการเสียภาษีในรูปแบบของคณะบุคคลอีกต่อไป แต่ให้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีบุคคลธรรมดาตามรายได้ของความเป็นจริง ที่ได้รับรายได้จากความสามารถของตัวเองยกเว้นให้เป็นรายกรณีที่พิสูจน์ได้ว่าคณะบุคคลดังกล่าวนั้น ตั้งขึ้นมาด้วยความสุจริต และร่วมกันประกอบกิจการอย่างแท้จริง
ขณะเดียวกันกรมสรรพากรก็มีคำสั่งแจ้งไปยังสรรพากรจังหวัด สรรพากรพื้นที่ให้ทำการตรวจสอบการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีในรูปแบบของคณะบุคคลอย่างเข้มงวด หลังจากประสบปัญหาว่า คณะบุคคลที่ตั้งขึ้นส่วนใหญ่ตั้งขึ้นมาเพื่อเลี่ยงการเสียภาษี โดยการใช้เทคนิคการกระจายฐานรายได้ออกไป เพื่อให้เสียภาษีในแต่ละปีน้อยกว่าความเป็นจริงซึ่งถือว่ามีเจตนาที่ไม่สุจริต
หลังจากได้สุ่มตรวจสอบนักแสดงดารา พิธีกร นักร้อง ในค่าต่างๆ ร่วม 100 คน และกลุ่มแพทย์อีก 100 คนพบว่า ดาราและแพทย์แต่ละคนส่วนใหญ่จะให้ที่ปรึกษากฎหมายจัดตั้งคณะบุคคลขึ้นมาเฉลี่ย 3-5 คณะบุคคล ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง สถาปนิก หมอ หลายรายจัดตั้งคณะบุคคลขึ้นมาถึง 100 คณะโดยมีบุคคลที่ร่วมกันตั้งแค่ 8 คนแต่สลับสับเปลี่ยนกันไปในหลากหลายรูปแบบ" รายงานข่าวระบุ
แม้คำสั่งห้ามไม่ให้กลุ่มดาราหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระยื่นภาษีในรูปแบบคณะบุคคลไม่ได้มีผลให้รัฐมีรายได้ภาษีเพิ่มขึ้นมากนัก เพราะกลุ่มผู้เสียภาษีในรูปคณะบุคคลมีจำนวนน้อยราย และมีฐานภาษีไม่ถึง 5,000-7,000 ล้านบาท แต่นี่คือกระบวนการสร้างความเป็นธรรมในการเสียภาษี
ประการต่อมา สรรพากรก็ยังมีคำสั่งไปถึงสรรพากรพื้นที่ให้ดำเนิกนารตรวจตราและเอาผิดกับบรรดาบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย สำนักงานทนายความ บริษัทตรวจสอบบัญชี ที่เป็นผู้แนะนำให้ลูกค้า ผู้ประกอบการจดทะเบียนในรูปของคณะบุคคลให้กับลูกค้าด้วยเช่นกัน
ข่าวดังกล่าว แม้จะเป็นจะเป็นเรื่องไกลตัวกับประชาชน แต่มีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับวิถีชีวิตของพ่อค้า นักธุรกิจ บุคคลผู้มีรายได้ และการพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ