รหัส B-4-2-2552-13
ชื่อข่าว_เปิดโปงทุจริต"ชุมชนพอเพียง" ยับยั้งแผนรุมทึ้ง"ไทยเข้มแข็ง" สธ.
เจ้าของ-มติชน
ปีพิมพ์ พศ. 2552
เปิดโปงทุจริต"ชุมชนพอเพียง" ยับยั้งแผนรุมทึ้ง"ไทยเข้มแข็ง" สธ.
กองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์มติชน
ที่มาของข่าว-วิธีการได้มา
รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์หมายมั่นปั้นมือจะสร้างผลงานและความนิยมอย่างรวดเร็วผ่านโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน หรือ "โครงการชุมชนพอเพียง" และโครงการไทยเข้มแข็ง ปี 2553-2555 หรือ "เอสพี 2" มูลค่ารวมกันเกือบแสนล้านบาท แต่กลับปล่อยให้กลุ่มธุรกิจการเมือง และกลุ่มข้าราชการประจำ สมคบกันเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการล็อคสเปคสินค้า ครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้าง กำหนดราคาแพงเกินจริงทั้งๆที่ไม่จำเป็นต้องใช้ ทั้งนี้ เพื่อนำส่วนต่างมาแบ่งปันผลประโยชน์
การที่ "มติชน"ตัดสินใจผลักดันข่าวชุมชนพอเพียงเป็นข่าวขึ้นหน้า 1 (ฉบับ13 ก.ค.52) หลังนำเสนอเป็นข่าวเด่นกรณีกลุ่มบุคคลอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ สพช. และคนของนักการเมืองพรรคใหญ่ ร่วมชี้นำแกมบังคับให้ชุมชนต่างๆเขียนขอโครงการจัดซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น และแพงมาก เพราะเชื่อว่าพฤติการณ์ดังกล่าวน่าจะเกิดทั่วประเทศ อีกทั้งสงสัยว่านักการเมือง ผู้บริหารใน สพช.รู้เห็นเป็นใจและเปิดช่องให้เอกชนเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดิน
เราได้ตั้งทีมข่าวพิเศษเกาะติดและนำเสนอข่าวหน้า 1 ต่อเนื่อง ด้วยวิธีการทำข่าวเชิงสืบสวนมาใช้สืบค้นข้อมูลพื้นฐาน และข้อมูลเชิงลึกผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงลักษณะการทุจริตผ่านกลุ่มบุคคลต่างๆ จนพบความเกี่ยวข้องกันอันเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างชัดเจน ได้แก่ 1.ค้นเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบข้อมูลบริษัท บีเอ็นบี อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นแม่ข่ายกระจายสินค้าให้บริษัทลูกรับไปเสนอขายชุมชนนั้น มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับนายสุมิท แช่มประสิทธิ์ ผู้อำนวยการ สพช. ขณะเป็นประธานบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจีเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) และยังพบอีกว่า บริษัท พรีเมียร์ คลับ (2005) ซึ่งมี น.ส.นันท์นภัส แช่มประสิทธิ์ น้องสาวของนายสุมิท เป็นผู้มีอำนาจทำการ ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท แบ็งคอค อินเตอร์เนชั่นแนล เกอร์เม็ต จำกัด โดยบริษัท แบ็งคอคฯเพิ่งเข้ามาถือหุ้นบริษัท บีเอ็นบีฯในช่วงเริ่มโครงการชุมชนพอเพียง
2.ค้นเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง พบบริษัท คาร์เทล เทคโนโลยี่ จำกัด ผู้รับสินค้าจากบริษัท บีเอ็นบีฯไปขายให้ชุมชน มีชื่อเป็นผู้บริจาคเงินให้พรรคประชาธิปัตย์จำนวน 500,000 บาท เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ก่อนเริ่มโครงการชุมชนพอเพียงไม่กี่สัปดาห์ถัดมา
3.การลงพื้นที่ชุมชนต่างๆเพื่อแสวงหาข้อมูลหลักฐาน พบกระบวนการจัดทำโครงการโดยมิชอบหลายประการ รวมถึงได้หลักฐานภาพถ่ายมัดตัวสมาชิกสภาเขต (ส.ข.)บางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ และผู้อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ สพช.นำสินค้าของบริษัทในเครือบริษัทบีเอ็นบีฯ ไปล็อบบี้ให้ชุมชนจัดซื้อ พฤติการณ์ลักษณะเดียวกันนี้ยังกระจายไปทั่วประเทศ
จากข้อเท็จจริงหลายประการบ่งชี้ว่า ผู้บริหารใน สพช.รู้เห็นเป็นใจกับกลุ่มบุคคลต่างๆ ซึ่งเชื่อมโยงกันในลักษณะ "เครือข่ายธุรกิจการเมือง" ตั้งแต่เริ่มโครงการ กลั่นกรองและอนุมัติโครงการ ฝ่ายชุมชนจำใจเลือกสินค้าที่ล็อคไว้ เพราะถ้าไม่ยอมรับก็ไม่ได้รับอนุมัติ ปัจจุบันสินค้าจำนวนมากถูกกองทิ้งไว้สูญเปล่า
ผลกระทบและคุณค่าข่าว
การนำเสนอข่าวทุจริตชุมชนพอเพียง รายงาน บทความ บทสัมภาษณ์ บทวิเคราะห์ และบทบรรณาธิการ นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2552 เป็นต้นมา ส่งผลต่อผู้รับผิดชอบและผู้เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.รัฐบาลสั่งชะลอโครงการ และยุติการโอนเงินให้โครงการที่ได้รับอนุมัติแล้ว ยอดเงินที่ใช้ไปแล้วและรั่วไหลจึงมีเพียง 5,369 ล้านบาท จากทั้งหมด 20,900 ล้านบาท 2.มีการเปลี่ยนผู้บริหาร สพช.ใหม่ 3.นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี และนายประโภชฌ์ สภาวสุ รอง ผอ.สพช. ยอมถอนตัวไปจากการกำกับโครงการ 4.พบเจ้าหน้าที่ระดับสูง สพช.และนักการเมืองท้องถิ่นรวม 5 คนเกี่ยวข้อง และอยู่ระหว่าง ป.ป.ช.สอบสวนหาผู้กระทำผิด 5.คณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์มีมติขับ ส.ข.บางกะปิ-บางพลัด และสมาชิกพรรคอีก 2 คนพ้นจากสมาชิกภาพ 6.สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบหาข้อบกพร่องและกำหนดแนวทางตรวจสอบโครงการภายใต้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบให้เข้มข้นหลังพบทุจริตชุมชนพอเพียง
ไม่เพียงเท่านั้น ข่าวตีแผ่ทุจริตชุมชนพอเพียงยังมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นองค์กรทางสังคมให้ตื่นตัวติดตามตรวจสอบการใช้งบฯโครงการลักษณะประชานิยมหลายโครงการของรัฐบาล เพราะเกรงว่าจะซ้ำรอยชุมชนพอเพียง จนกระทั่ง "มติชน"ได้รับข้อมูลจากกลุ่มแพทย์ชนบทเกี่ยวกับพฤติการณ์เตรียมการทุจริตโครงการเอสพี 2 ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในลักษณะคล้ายคลึงกัน คือมีคนฝ่ายการเมืองไปสั่งการข้าราชการประจำให้กำหนดรายการวัสดุครุภัณฑ์ที่ไม่จำเป็น และราคาแพงผิดปกติ จึงได้เริ่มนำเสนอข่าวนี้ (ฉบับ16ก.ย.52) ควบคู่ไปกับข่าวทุจริตชุมชนพอเพียง
นอกจากนี้ เรายังนำกระบวนการทำข่าวเชิงสืบสวนมาใช้เกาะติดข่าวเอสพี 2 สธ. เปิดพื้นที่พิเศษรองรับเนื้อหาเชิงลึก อธิบายให้สาธารณชนเห็นถึงรายการครุภัณฑ์ที่มีพิรุธ จนต่อมารัฐมนตรีว่าการ สธ. (รมว.สธ.) ต้องสั่งชะลอโครงการทั้งหมด 86,685 ล้านบาทไว้ก่อนเพื่อทบทวนให้โปร่งใส ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง มี นพ.บรรลุ ศิริพานิช เป็นประธาน ส่วนทีมที่ปรึกษาของ รมว.สธ.ตัดสินใจลาออกยกทีมหลังมีชื่อโดนพาดพิง แต่จุดสำคัญคือ "มติชน"ได้เปิดเผยหลักฐานที่ข้าราชการระดับสูง สธ.ระบุว่า รมว.สธ.เป็นผู้ให้นโยบายจัดซื้อครุภัณฑ์ยูวี-แฟนในราคาแพงเกินจริง ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คณะกรรมการชุด นพ.บรรลุแถลงผลชี้มูลความผิด รมว.สธ.ฐานบกพร่องต่อหน้าที่ เปิดช่องให้เกิดการทุจริต เช่นเดียวกับข้าราชการการเมือง 3 คน และข้าราชการระดับสูงอีก 8 คน หนึ่งวันหลังจากแถลงผลสอบ รมว.สธ.ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง
ผลจากการตีแผ่พฤติการณ์กลุ่มธุรกิจการเมืองเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการชุมชนพอเพียง นอกจากช่วยสกัดมิให้เงินแผ่นดินรั่วไหลไปมากกว่าเดิมแล้ว ยังมีผลไปกระตุ้นเตือนองค์กรทางสังคมมีส่วนร่วมกันตรวจสอบโครงการเอสพี 2 ในทุกส่วนราชการ ส่วนนายกรัฐมนตรีก็ได้ย้ำให้จัดทำโครงการและใช้จ่ายเงินอย่างระมัดระวัง กล่าวได้ว่านี่คือรูปแบบใหม่ในการนำเสนอข่าวเชิงป้องกันที่ได้ผลเป็นรูปธรรม จนสามารถอุดรอยรั่วได้ก่อนที่เงินแผ่นดินจะรั่วไหลกว่า 10,000 ล้านบาทตามที่กรรมการชุด นพ.บรรลุประเมินไว้ ไม่เพียงเท่านั้น ข่าวชิ้นนี้ยังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยนายกรัฐมนตรีประกาศปรับคณะรัฐมนตรีในต้นเดือนมกราคม 2553 ให้รองนายกฯ ซึ่งบกพร่องต่อหน้าที่ พ้นจากตำแหน่งตาม รมว.สธ.ไปในที่สุด
กองบรรณาธิการมติชน