B-4-3-2553-14_เจาะคอมพิวเตอร์ฉาวมหาดไทย ขวางนักการเมืองใช้อำนาจมิชอบ-มติชน

 

รหัส B-4-3-2553-14

ชื่อเรื่อง _เจาะคอมพิวเตอร์ฉาวมหาดไทย ขวางนักการเมืองใช้อำนาจมิชอบ

เจ้าของ-มติชน

ปีพิมพ์ พศ. 2553

เจาะคอมพิวเตอร์ฉาวมหาดไทย ขวางนักการเมืองใช้อำนาจมิชอบ

กองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์มติชน

ที่มาของข่าว

ด้วยความที่เป็นโครงการใหญ่และวงเงินหลายพันล้าน ประกอบกับโดยธรรมชาติของนักการเมืองที่ต้องสะสมทุนเพื่อใช้ในการเลือกตั้ง ทำให้ "มติชน"ประเมินว่า นักการเมืองผู้มีอำนาจในกระทรวงมหาดไทยอาจหาช่องทางแสวงหาผลประโยชน์จากการประมูลโครงการให้บริการประชาชนทางด้านทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชนด้วยระบบคอมพิวเตอร์ หรือโครงการเช่าคอมพิวเตอร์ มูลค่าเกือบ 3,500 ล้านบาท จึงตัดสินใจนำเสนอข่าวแผนงานประมูลโครงการขึ้นหน้าหนึ่งฉบับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 เปิดรายละเอียดความเป็นมาโครงการเพื่อปูพื้นให้ผู้อ่านเข้าใจ

เรายังพบเบาะแสอีกว่า นักการเมืองผู้กำกับดูแลกระทรวงมหาดไทย ในฐานะเจ้าของโครงการ กับนักการเมืองผู้กำกับดูแลกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ในฐานะดูแลระบบไอทีของส่วนราชการในภาพรวมนั้น เกิดความขัดแย้งกัน เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่วงเงินสูง จึงตัดสินในนำเสนอข่าวแบบเกาะติดต่อเนื่องเรื่อยมา จนพบเบาะแสว่าผู้มีอำนาจในกระทรวงมหาดไทยดำเนินโครงการนี้ไม่โปร่งใส และใช้อำนาจให้คุณให้โทษข้าราชการประจำ เพื่อให้แผนการแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการของตนบรรลุเป้าหมาย

ข้อเท็จจริงของข่าว

ปมปัญหาเริ่มจาก ทีแรกกรมการปกครองได้ประกาศข้อกำหนดการประกวดราคา (ทีโออาร์) ในเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง ปรากฏว่ามีบริษัทเข้าร่วมซื้อซองประกวดราคา 7 บริษัท แต่พอในวันเปิดยื่นซองประกวดราคาที่สำนักบริหารการทะเบียน อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี กลับมีการเพิ่มเติมคุณลักษณะของเครื่องพิมพ์บัตรประชาชนเกี่ยวกับระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุมกล่องใส่บัตรเข้ามาในทีโออาร์โดยไม่แจ้งล่วงหน้า จึงเหลือผู้ยื่นซองในเวลาที่กำหนดเพียง 3 บริษัท

จากการสืบค้นข้อมูล พบว่า บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่นฯ ถูกกรมการปกครองคัดออกโดยให้เหตุผลว่าไม่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด เหลือเพียงบริษัท คอนโทรล ดาต้า(ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ไทยอีควิพเม้นท์ รีเสิร์ช จำกัด ซึ่งมีคุณสมบัติครบตามทีโออาร์ มีสิทธิเข้าทดสอบระบบ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดปัญหาสอดไส้ทีโออาร์ขึ้น คณะกรรมการกำหนดทีโออาร์จึงได้ทำบันทึกทักท้วงไปยังนายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมการปกครอง และเสนอไม่ให้รวบรัดทดสอบระบบ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดปัญหาในระยะยาว ไม่กี่วันถัดมา มีคำสั่งจากฝ่ายการเมืองให้ย้ายกราวรูดข้าราชการสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง จำนวน 14 คนไปช่วยราชการ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และจังหวัดต่างๆ ในจำนวนนั้น นอกจากเป็นกรรมการทีโออาร์แล้ว ยังเป็นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเช่าคอมพิวเตอร์อีกด้วย ในห้วงเดียวกัน ฝ่ายการเมืองก็มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงประธานและกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง และกรรมการทีโออาร์ใหม่ แล้วนำข้าราชการใต้อาณัติมาแทน เพื่อเร่งรัดกระบวนการทดสอบระบบ

ต่อมา บริษัทที่เสียโอกาสได้ร้องเรียนนายกรัฐมนตรีและสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ว่าได้รับความไม่เป็นธรรมจากการประมูล ในคำร้องกล่าวหาว่านักการเมืองสั่งเพิ่มทีโออาร์เพื่อให้ตรงกับคุณลักษณะของเครื่องพิมพ์บัตรยี่ห้อหนึ่งซึ่งบริษัทเอกชนรายหนึ่งจัดจำหน่าย หากเพิ่มระบบดังกล่าวเข้ามา ราชการต้องเสียงบฯเพิ่มอีกปีละ 20 ล้านบาท ตลอดสัญญาเช่า 6 ปี นายกรัฐมนตรีจึงส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สืบสวนเบื้องต้น

ระหว่างนั้น นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ ได้ทำหนังสือขอหารือกรมบัญชีกลาง และคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์  (กวพ.อ.) ถึงการเพิ่มระบบกล่องเก็บบัตรนอกเหนือทีโออาร์ ต่อมา กวพ.อ.ตอบข้อหารือว่า คณะกรรมการประกวดราคาย่อมมีอำนาจชี้แจงรายละเอียดและตอบข้อซักถามเกี่ยวกับทีโออาร์ แต่ไม่อาจเพิ่มเติมอุปกรณ์ใดที่อยู่นอกเหนือทีโออาร์ได้

ผลจากการทำบันทึกหารือ กวพ.อ. ทำให้นายวงศ์ศักดิ์ถูกเด้งจากอธิบดีกรมการปกครอง ไปเป็นผู้ตรวจกระทรวงมหาดไทย และให้นายมงคล สุระสัจจะ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน มาดำรงตำแหน่งแทน เพียง 2 วันหลังคำสั่งโยกย้าย มีการทดสอบระบบคอมพิวเตอร์ ที่อาคาร กสท. โทรคมนาคม ย่านบางรัก ท่ามกลางเสียงทักท้วงว่ารวบรัดขัดต่อทีโออาร์ ผลคือ ทั้งสองบริษัทผ่านการทดสอบ แต่บริษัท คอนโทรล ดาต้าฯ เสนอราคา 3,476 ล้านบาท ต่ำกว่าคู่แข่ง 4 ล้านบาท จึงเป็นผู้ชนะการประกวดราคา

เมื่อกระบวนการทางราชการครบถ้วน นายมงคล สุระสัจจะ ในฐานะอธิบดีกรมการปกครองคนใหม่ จึงลงนามในสัญญาเช่าระบบคอมพิวเตอร์กับบริษัท คอนโทรล ดาต้าฯเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2553 โดยไม่ฟังหนังสือทักท้วงจาก สตง. ไม่กี่วันถัดมา นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามเสนอชื่อนายมงคลเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยคนใหม่

แต่เนื่องจากดีเอสไอ และ สตง.กำลังตรวจสอบความไม่โปร่งใสตามที่มีผู้ร้องเรียนมา ประกอบกับสมาคมข้าราชการบำนาญกระทรวงมหาดไทยได้ทูลเกล้าฯถวายฎีกาคัดค้านการแต่งตั้งนายมงคล เนื่องจากทำงานไม่โปร่งใสและขาดอาวุโส นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งชะลอการเสนอชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ พร้อมสั่งให้กระทรวงมหาดไทยตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และให้กรมการปกครองเจรจายกเลิกสัญญากับบริษัท คอนโทรล ดาต้าฯ

คำสั่งดังกล่าวทำให้เสถียรภาพรัฐบาลตึงเครียดอยู่หลายวัน ทีแรกนายชวรัตน์แสดงท่าทีไม่ยินยอม แต่เมื่อเห็นว่านายกรัฐมนตรียืนยันท่าทีแข็งกร้าว ประกอบกับดีเอสไอสรุปข้อร้องเรียนมีมูลและส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)รับไปตั้งอนุกรรมการไต่สวน หนึ่งวันถัดมา นายมงคลออกมาแถลงข่าวไม่รับตำแหน่งตามคำขอของฝ่ายการเมือง

ผลกระทบและคุณค่าของข่าว

ผลกระทบและคุณค่าข่าวที่เกิดขึ้นหลังจาก "มติชน"นำเสนอข่าวแบบเกาะติดต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการตรวจสอบโครงการ ปรากฏผลดังนี้

1.ตีแผ่ให้เห็นพฤติการณ์นักการเมืองที่ใช้อำนาจให้คุณให้โทษเป็นเครื่องมือกดดันข้าราชการประจำให้ตอบสนองเป้าหมายของตนเอง คนไหนขัดขวางก็โดนเขี่ยพ้นทาง คนไหนสนองตอบก็ได้รับการปูนตำแหน่งเป็นบำเหน็จรางวัล

2.มีส่วนร่วมปกป้องระบบคุณธรรมของกระทรวงเกรดเอมิให้ถูกนักการเมืองกลุ่มหนึ่งปูยี้ปู้ยำได้ตามอำเภอใจ อีกทั้งช่วยเป็นปากเสียงแทนข้าราชการประจำผู้ปฏิบัติหน้าที่สุจริต ยังผลให้ข้าราชการ 14 คนที่ถูกกลั่นแกล้ง  ได้รับความเป็นธรรมกลับคืนมา

3.มีการสอบสวนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอนุมัติโครงการในขั้นตอนต่างๆ โดยขณะนี้ คณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช.ได้แจ้งให้นักการเมืองและข้าราชการระดับสูงรวม 6 คนทราบสถานะผู้ถูกกล่าวหา อาทิ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล ,นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ประธานคณะทำงาน รมว.มหาดไทย ,นายมงคล สุระสัจจะ ,นายธานี สามารถกิจ รักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ,นายกองเอกวิลาศ รุจิวัฒนพงศ์ รักษาการผู้ว่าฯเพชรบูรณ์ ,นายมานิต วัฒนเสน อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ฯลฯ

4.นายกรัฐมนตรีกล้าตัดสินใจใช้อำนาจในฐานะผู้บริหารสูงสุดของประเทศ ชะลอการเสนอชื่อนายมงคล สุระสัจจะ ขึ้นทูลเกล้าฯ โดยไม่เกรงใจนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำคนสำคัญ  ทั้งนี้ เพื่อรักษากฎเหล็ก 9 ข้อที่ตนเองเคยประกาศต่อสังคม

5.นายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการยกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ทำให้รัฐเสียหาย  เข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542

กล่าวโดยสรุปข่าวเจาะคอมพิวเตอร์ฉาวมหาดไทยของ"มติชน" มีส่วนช่วยขัดขวางนักการเมืองและนักธุรกิจกลุ่มหนึ่งมิให้แสวงหาผลประโยชน์จากโครงการขนาดใหญ่โดยมิชอบ พร้อมกับช่วยยับยั้งการใช้อำนาจกลั่นแกล้งข้าราชการประจำอย่างไม่เป็นธรรมอีกด้วย