รหัส B-4-3-2553-6
ชื่อเรื่อง_แฉเล่ห์ “รถจดประกอบ” ฉ้อฉลภาษีรัฐ 1,000 ล้าน
เจ้าของ-เดลินิวส์
ปีพิมพ์ พศ. 2553
แฉเล่ห์ “รถจดประกอบ” ฉ้อฉลภาษีรัฐ 1,000 ล้าน
กองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ลองไปเดินแถวเชียงกงสิ พี่เห็นเฟอรารี่มาจูนติดถังแก๊สโดนัท แปลกดี”
เบาะแสเล็กๆ จากคนใกล้ตัวที่แผนกข่าวหน้า 1 “เดลินิวส์” ได้รับมา เริ่มสะกิดต่อมความสงสัยของทีมงาน เนื่องจากการกระทำดังกล่าว มีความไม่สมเหตุสมผล และไม่ชอบมาพากลเป็นอย่างยิ่ง เพราะเศรษฐีที่มีเศษเงินเหลือซื้อรถ “ซูเปอร์คาร์” มาขับเล่น คงไม่อับจนถึงขั้นไม่มีเงินเติมน้ำมัน จนต้องนำรถหรูคันงามที่หลายคนใฝ่ฝันเป็นเจ้าของ มาติดแก๊สเพื่อความประหยัด
เมื่อไล่ปะติดปะต่อด้วยการตรวจสอบอู่รถยนต์อีกหลายแห่งอย่างอย่างละเอียด ทีมงานยังพบว่านอกเหนือจากรับติดแก๊สให้รถเฟอรารี่แล้ว ยังมีซูเปอร์คาร์อย่าง “แลมบอกินี” ราคาหลายสิบล้านบาท รวมไปถึงรถสปอร์ตซิ่ง อาทิ นิสสันแฟร์เลดี้ มาสด้าอาร์เอ็กซ์ 8 รถหรู อาทิ เบนซ์สปอร์ต โตโยต้าอัลพาร์ด และรถสะสมยี่ห้ออื่นๆ เข้าคิวรอติดแก๊สเรียงรายกันเป็นทิวแถว
สมมติฐานว่ารถทั้งหมดที่พบ น่าจะเป็นรถที่ทำผิดกฎหมายบางอย่างจึงถูกตั้งขึ้น และนำเข้าสู่ที่ประชุมกองบรรณาธิการ จนได้รับไฟเขียวอนุญาตให้ “เจาะข่าว” อันเป็นที่มาของการเปิดโปงขบวนการนำเข้ารถหรูเลี่ยงภาษี และใช้วิธีการ “จดประกอบ” ฟอกรถยนต์เพื่อขอทะเบียนวิ่งบนท้องถนนได้อย่างถูกกฎหมาย โดยจ่ายภาษีสรรพสามิตนำเข้ารถยนต์เหล่านี้ ถูกกว่าพิกัดภาษีรถนำเข้าราวฟ้ากับเหว
ศูนย์ปราบปราบการโจรกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (ศปร.น.) ให้ข้อมูลว่า วิธีการของ “รถจดประกอบ” เพิ่งมานิยมในช่วงปี 2551 ซึ่งครั้งนั้น ภาครัฐได้มีนโยบายส่งเสริมรถยนต์เชิงพาณิชย์ใช้พลังงานทดแทน และออกระเบียบขนส่งทางบก ว่ารถประเภทดังกล่าวไม่จำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานไอเสียจากสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ สมอ. ที่มีขั้นตอนเข้มงวดมาก แม้กระทั่งรถตลาดที่นำเข้าอย่างถูกต้อง ยังต้องส่งรถตัวอย่างเพียง 1 คัน ที่ปรับแต่งให้ได้มาตรฐานสูงสุดไปทดสอบ
ต่อมา ได้มีการยกเลิกข้อกำหนดในระเบียบว่าต้องเป็น “รถยนต์เชิงพาณิชย์” จึงเป็นช่องโหว่ให้กลุ่มนายทุน ไปประมูลรถยนต์มือสองสภาพดีราคาถูกจากประเทศญี่ปุ่น ทั้งรถซูเปอร์คาร์ รถสปอร์ต รถสะสมเช่นมินิออสติน รวมไปถึงรถที่มีความเก๋ไก๋ อาทิ นิสสันคิวบ์ นิสสันฟิกาโร ฯลฯ ก่อนจะนำมาผ่าครึ่งในแนวนอนโดยไม่ตัดแชสซีส์ จากนั้นจะนำชิ้นส่วนรถยัดใส่ตู้คอนเทเนอร์ส่งกลับประเทศทางเรือคราวละหลักสิบถึงร้อยคัน
โดยสำแดงการนำเข้าต่อศุลกากรด้วยการออกใบอินวอยซ์ ว่านำเข้าชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ ก่อนจะนำซากรถที่ผ่าครึ่งมาประกอบขึ้นเป็นคัน และนำไปประเมินเสียภาษีสรรพสามิตในราคาต่ำ ถูกกว่าการเสียภาษีนำเข้าอย่างถูกต้อง ที่ต้องคิดภาษีจากราคารถ ราว 300% จากนั้นขบวนการฯ จะนำรถไปเปลี่ยนประเภทเชื้อเพลิงด้วยการใช้แก๊ส 100% โดยแจ้งว่าเป็นรถใช้พลังงานทดแทนเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจมาตรฐาน สมอ. และจบขั้นตอนด้วยการนำรถและเอกสารทั้งหมด ไปยื่นขอทะเบียน ได้ป้ายแดงอย่างถูกต้องที่ขนส่งตามต่างจังหวัด
หลังจากนั้นไม่นาน รถยนต์เหล่านี้จะแจ้งขอเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงเป็นน้ำมันเหมือนเช่นเดิม และจะล้างเล่มทะเบียนรถยนต์ ที่ระบุประเภทเชื้อเพลิงของรถซึ่งเปรียบเสมือนใบแจ้งเกิดไว้ในหน้า 18 ด้วยการแจ้งเล่มหายและขอทำใหม่ ไม่ให้หลงเหลือร่องรอยว่าเป็นรถยนต์ที่ใช้วิธีการจดประกอบ ก่อนขอย้ายทะเบียนรถยนต์เข้ากรุงเทพฯ เป็นอันเสร็จพิธี
คนที่ซื้อไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะเห็นของดีราคาถูกมีอยู่มากมาย ไม่เว้นกลุ่มดาราที่หลงเชื่อซื้อรถยนต์เหล่านี้ไป อาทิ ดีเจป๋อง-กพล ทองพลับ ตลอดจนพระเอกหนุ่มชื่อดังสุดฮอตก็เข้าข่าย
สำหรับรถจดประกอบเริ่มเป็นที่รับรู้ของตำรวจครั้งแรกเมื่อปี 2549 เจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปจร.ตร.) ได้มีหนังสือที่ 0054.32 รายงานข้อเท็จจริง กรณีตรวจยึดรถยนต์ปอร์เช่ ที่ตรวจสอบพบว่ามีการสำแดงรายการสินค้านำเข้าหรือใบอินวอยซ์ว่าเป็นอะไหล่รถยนต์ จากนั้นใช้วิธีการจดประกอบเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีและการตรวจมาตรฐาน สมอ. ไปยัง ศปจร.ตร. โดยชุดจับกุมได้ส่งรถของกลางไปตรวจสอบที่กองพิสูจน์หลักฐาน และไม่พบการตัดต่อรถยนต์หรือการพ่นชั้นสีใหม่ นอกจากนี้ยังพบว่าเครื่องยนต์ที่ใช้ไม่เคยถูกถอดประกอบ เจ้าหน้าที่จึงได้ตรวจยึดรถเอาไว้
อย่างไรก็ตามในหนังสือดัง กล่าวยัง ระบุขั้นตอนของขบวนการที่ใช้ช่องโหว่กฎหมายหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้ารถยนต์เหล่านี้ พบว่าส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับธุรกิจค้ารถยนต์ขนาดใหญ่หรือเต็นท์รถ โดยระบุไว้ชัดเจนว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมหรือสนับสนุนการกระทำผิดของคนร้าย ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับการดำเนินการทางทะเบียนรถ ตรวจสภาพรถและตรวจสอบการนำเข้ารถยนต์
ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการรถซูเปอร์คาร์ กล่าวว่า การนำเข้ารถแบบจดประกอบเริ่มเป็นที่นิยมในช่วงปี 2551-2553 เนื่องจากรถเหล่านี้จะราคาถูกกว่าท้องตลาดประมาณ 20-30% การที่นำรถดังกล่าวเข้ามาจำหน่ายกระทบต่อรายได้ภาครัฐแน่นอน เพราะผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจโดยสุจริตนำรถหรูหรือซูเปอร์คาร์เข้ามา ต้องเสียภาษีเกือบ 300% ของราคา หากผู้ประกอบธุรกิจถูกกฎหมายขายรถไม่ได้ก็ต้องเลิกกิจการ ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ และหากภาครัฐยังไม่ใส่ใจแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม นอกเหนือจากการเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ควรได้ ซึ่งปัจจุบัน ตัวเลขน่าจะเกินหลัก 100 ล้านบาทไปแล้ว อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของกลุ่มทุนต่างชาติ ที่จะมาลงทุนทำธุรกิจประกอบรถยนต์ในเมืองไทยอีกด้วย
แสดงให้เห็นว่าปัญหาเล็กๆ ที่ภาครัฐละเลย อาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และจากการที่ “เดลินิวส์” เจาะลึกตีแผ่ปัญหารถจดประกอบ กลับพบอุปสรรคในการนำเสนอข่าว เนื่องจากช่องโหว่ทางกฎหมายดังกล่าวโยงใยกับหน่วยงานรัฐหลายหน่วย ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคมที่กำกับดูแลกรมการขนส่งทางบก และกระทรวงพาณิชย์ แต่ไม่มีหน่วยงานไหน ที่จะออกหน้าเพื่อ “สังคยานา” ปัญหารถยนต์จดประกอบอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกรมการขนส่งทางบก ที่ยืนยันว่า หากมีบุคคลซึ่งต้องการมาแจ้งขอทะเบียนรถยนต์ มีเอกสารการนำเข้าและเสียภาษีสรรพสามิตอย่างครบถ้วน ทางขนส่งฯจำเป็นต้องออกทะเบียนให้ มิเช่นนั้นอาจถูกดำเนินการตามมาตรา 157
อย่างไรก็ตาม ขนส่งฯ อาจลืมไปว่าปัญหารถจดประกอบ เริ่มขึ้นจากต้นไม้พิษ คือ การนำเข้ารถยนต์มือสองมาอย่างฉ้อฉล โดยใช้วิธีการแบบศรีธนญชัยแจ้งว่านำเข้า “อะไหล่รถยนต์” และเมื่อต้นไม้พิษออกผลด้วยการประกอบเป็นรถยนต์ขึ้นมา แล้วฟอกรถด้วยการติดแก๊สหลีกเลี่ยงการตรวจ สมอ. เพื่อขอทะเบียน รถคันดังกล่าวคงไม่พ้นที่จะเป็น “ผลไม้พิษ” เช่นเดียวกัน
ขณะเดียวกัน หลังเกาะติดข่าวอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานที่มีหน้าที่จับกุมอย่าง ศปร.น. ตลอดจนตำรวจสายตรวจ 191 ต่างนำกำลังบุกเข้าตรวจค้นอู่รถยนต์จดประกอบหลายแห่ง แต่เจ้าหน้าที่ทำได้เพียงอายัดรถยนต์ต้องสงสัย ที่มีเอกสารนำเข้าไม่ครบถ้วนมาตรวจสอบบางคันเท่านั้น ขณะที่รถจดประกอบอีกหลายสิบคันที่จอดเรียงรายให้เห็น เจ้าหน้าที่ได้แต่ทำตาปริบๆ เพราะไม่มีข้อกฎหมายใดสามารถไปยึดรถยนต์เหล่านี้ได้
แม้จะยังไม่ผิดกฎหมาย แต่เจตนาของกลุ่มนายทุนที่จะหลีกเลี่ยงข้อกฎหมาย โดยทำให้ภาครัฐเสียภาษีที่ควรจะจัดเก็บได้ ถือเป็นสิ่งที่ทีมงาน “เดลินิวส์” เห็นว่าไม่ถูกต้อง จึงตัดสินใจนำเสนอเกาะติดข่าวในทุกแง่ ทุกมุม โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยและมาตรฐานของรถยนต์จดประกอบเหล่านี้
ยิ่งสาวลึกยิ่งน่าตกใจ เมื่อพบว่าไม่มีโรงงานประกอบรถยนต์ใดที่มีมาตรฐาน แม้จะมีใบรับรองจากกรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ประกอบรถยนต์ขึ้นมาได้ ขณะเดียวกัน ยังพบว่าวิศวกรผู้มีอำนาจเซ็นรับรองความปลอดภัยกลับมีการเวียนใช้ชื่อคนเดิมซ้ำๆ กัน ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจเคยเรียกตัววิศวกรผู้เซ็นรับรองมาสอบถาม ซึ่งเจ้าตัวได้ยืนกรานว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับการเซ็นรับรองรถยนต์ใดๆ จึงเป็นไปได้ว่ามีการปลอมเอกสาร หรือซื้อใบรับรองวิศวกรในขั้นตอนจดประกอบ แสดงให้เห็นถึงความไม่ได้มาตรฐาน
กระทั่งในที่สุด กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกหน้าให้ “สถาบันยานยนต์” รับเป็นแม่งานในการประสานงานกับกระทรวงการคลัง พาณิชย์ และคมนาคม เพื่อหาทางออกแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยล่าสุด ทางกรมการขนส่งทางบก ได้ข้อสรุปร่วมกับ สมอ.เตรียมแก้กฎหมายเอาผิดย้อนหลังกับรถยนต์แจ้งใช้พลังงานเชื้อเพลิงเป็นแก๊สธรรมชาติ และเปลี่ยนไปใช้น้ำมันภายหลัง โดยเตรียมใช้มาตรการทางภาษีอย่างเข้มข้น
ถือเป็นความภาคภูมิใจของแผนกข่าวหน้า 1 เดลินิวส์ ที่สามารถชี้นำปัญหาเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในแวดวงยานยนต์ แต่กลับมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติจนนำไปสู่การแก้ไข เหนือสิ่งอื่นใด คือ การปกป้อง “เงินของแผ่นดิน”เอาไว้ได้ และเชื่อว่าหลังจากนี้ไป ขบวนการรถจดประกอบ จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีรถหรูราคาแพงซึ่งถือเป็นของฟุ่มเฟือยของเศรษฐี ที่ควรจ่ายคืนให้แผ่นดินเพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศชาติ.