รหัส B-4-3-2553-5
ชื่อเรื่อง_กระชากหน้ากาก โจรออนไลน์ เตือนภัยยุคไอที คอลเซ็นเตอร์-สกิมเมอร์-แฮกเกอร์
เจ้าของ-เดลินิวส์
ปีพิมพ์ พศ. 2553
กระชากหน้ากาก โจรออนไลน์ เตือนภัยยุคไอที คอลเซ็นเตอร์-สกิมเมอร์-แฮกเกอร์
กองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
จุดเริ่มต้นการตรวจสอบข่าว
เรื่องราวการนำเสนอข่าวของมิจฉาชีพ แก๊งโจรออนไลน์ ของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ซึ่งได้มองเห็นแล้วว่าเรื่องนี้ปัจจุบันได้กลายเป็นภัยใกล้ตัวไปเรียบร้อยแล้ว จะเรียกว่าเป็นแก๊งโจรที่คืบคลานมากับเทคโนโลยีอันก้าวล้ำทันสมัยก็ว่าได้ ถึงแม้จะเป็นเรื่องราวของคดีอาชญากรรมธรรมดาๆ แต่หากเจาะลงลึกไปแล้ว แก๊งนี้อาละวาดเล่นงานตั้งแต่คนหาเช้ากินค่ำไปจนถึงบรรดาเศรษฐีมีเงิน ข้าราชการระดับสูง ศิลปินดารา ฯลฯ เรียกว่าเจอกันถ้วนหน้าเกือบทุกสาขาอาชีพ วงเงินค่าเสียหายสูงนับร้อยล้านบาท เพียงแค่คุณมี โทรศัพท์มือถือ บัตรเอทีเอ็ม บัตรเครดิตการ์ด หรือคอมพิวเตอร์ ก็มีโอกาสพลาดพลั้งที่จะตกเป็นเหยื่อวายร้ายแก๊งนี้ได้อย่างง่ายดาย !!
ทางกองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ได้ให้ความสำคัญจึงเห็นสมควรที่จะต้องเกาะติดนำเรื่องราวเหล่านี้มาตีแผ่ให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างใกล้ชิดเพื่อเป็นการเตือนภัย อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นเตือนให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้ทำหน้าหน้าที่ตัวเองอย่างสมบูรณ์
การดำเนินการ
หากย้อนถอยหลังในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เกิดคดีเกี่ยวกับแก๊งโจรออนไลน์อย่างมากมายผิดปกติ มีผู้คนในสังคมจำนวนมากตกเป็นเหยื่อ ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้พิทักษ์สันติราษฏร์เองก็ยังไม่วายถูกลูบคม ทีมข่าวเดลินิวส์ จึงได้พยายามเกาะติดนำข่าวของแก๊งโจรออนไลน์ที่อาละวาดก่อเหตุในเมืองไทย นำมาเสนอให้เห็นเล่ห์กลต่างๆทุกแง่ทุกมุมของเหล่ามิจฉาชีพ เพื่อเป็นอุทธาหรณ์เตือนใจแก่ผู้อ่านและประชาชนทั่วไปได้รับรู้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งก็ทำให้สามารถแยกคนร้ายที่ก่อคดีทางอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ ได้ 3 กลุ่มใหญ่ ไล่ตั้งแต่แก๊งที่อาละวาดเล่นงานเหยื่อมากที่สุด อันดับแรก คือ
1.แก๊งคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) แก๊งนี้จะ โทรศัพท์จากศูนย์คอลเซ็นเตอร์ที่อยู่ต่างประเทศเข้าโทรศัพท์มือถือเพื่อเล่นงานเหยื่อ โดยจะหาทางพลิกแพลงเปลี่ยนโจทย์ไปเรื่อยๆ เพื่อลวงเหยื่อให้ไปทำธุรกรรมเงินที่ตู้เอทีเอ็มให้ได้ จากเคยอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร โทรแจ้งมาให้ไปรับเงินภาษีคืนที่ตู้เอทีเอ็ม ล่าสุดพัฒนารูปแบบการหลอกใหม่ๆขึ้น นำระบบ “วีโอไอพี” ของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มาดัดแปลง ด้วยการป้อนข้อมูลเบอร์โทรฯของหน่วยงานราชการ และธนาคาร เพื่อให้เลขหมายดังกล่าวไปปรากฏขึ้นบนจอมือถือของผู้รับ ซึ่งผู้รับจะไม่ระวังตัวเนื่องจากเป็นเลขหมายของสถานที่ราชการ จากนั้นจะอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ ทั้งโทรแจ้งขอตรวจข้อมูลสมุดบัญชีธนาคารเพราะสงสัยจะเกี่ยวข้องคดียาเสพติด บางครั้งก็อ้างเป็นหนี้บัตรเครดิต ฯลฯ เมื่อเหยื่อรายไหนติดกับหลงเชื่อก็จะถูกหลอกล่อไปยังตู้เอทีเอ็มเพื่อให้กดทำธุรกรรมด้วยเมนูภาษาอังกฤษ สุดท้ายก็ถูกดูดเงินในบัญชีออกไปอย่างง่ายดาย ทั้งที่ได้ยินเพียงเสียงใบหน้าก็ไม่เห็นก็ยังตกเป็นเหยื่อได้ สำหรับแก๊งนี้จะเป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันมีศูนย์คอลเซ็นเตอร์อยู่ต่างประเทศแล้วโทรเข้ามาเล่นงานในเมืองไทย ถือเป็นแก๊งอาชญากรข้ามชาติที่ยังอาละวาดข้ามปีมาอย่างต่อเนื่องมูลค่าความเสียหายสูงหลายร้อยล้านบาท ส่วนที่มีการจับกุมแก๊งคนร้ายในไทยนั้นเป็นกลุ่มที่ใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์คอลเซ็นเตอร์แล้วโทรไปเล่นงานเหยื่อที่ต่างแดน
2.แก๊งสกิมเมอร์ (Skimmer) ที่ตกเป็นข่าวถูกตำรวจติดตามจับกุมยอดเป็นอันดับสองรองจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ส่วนใหญ่คนร้ายยังเป็นแก๊งที่มาจากประเทศมาเลเซีย ที่เข้ามาอาละวาดทั้งในกทม. แหล่งท่องเที่ยวสำคัญเกือบทุกแห่ง โดยคนร้ายจะแอบนำสิ่งประดิษฐ์เครื่องดูดกวาดข้อมูลหรือเรียกว่าสกิมเมอร์ ที่สร้างขึ้นโดยนำเครื่องอ่านแถบแม่เหล็ก วงจรถอดรหัส และวงจรหน่วยความจำมาประกอบเข้าด้วยกัน แล้วนำไปติดตามตู้เอทีเอ็ม หรือแอบสแกนจากบัตรตามปั้มน้ำมัน เพื่อดูดข้อมูลจากบัตรเครดิตของผู้เสียหาย จากนั้นจะรีบนำเครื่องสกิมเมอร์ที่ดูดข้อมูลจากเหยื่อเพื่อไปสร้างบัตรปลอม ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ทุกแห่งเช่นเดียวกับบัตรจริง พฤติกรรมแก๊งนี้ช่วงหลังมักหนีไปอาละวาดตามพื้นที่ท่องเที่ยวต่างจังหวัดจากนั้นนำบัตรไปใช้รูดเงินและซื้อสินค้าราคาแพง
3.แก๊งแฮกเกอร์ (Hacker) วายร้ายแก๊งนี้นานๆจะโผล่มาให้เห็นสักครั้ง แต่กลุ่มคนร้ายยังเป็นชาวต่างประเทศแต่คราวนี้เป็นกลุ่มยุโรป ซึ่งจะมีความเชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์เป็นพิเศษสามารถเข้าไปเจาะระบบข้อมูลล้วงข้อมูลพาสเวิร์ดจากบัญชีธนาคารของผู้เสียหาย ขณะทำธุรกรรมการเงินผ่านทางอินเทอร์เน็ต จากนั้นจะนำข้อมูลที่ได้ไปโอนเงินเข้าบัญชีที่เปิดไว้ หลังจากนั้นจะส่งทีมงาน”ม้าเร็ว”รีบไปกดเงินออกมาทางตู้เอทีเอ็ม โดยคดีที่เกิดขึ้นต้นเดือน ส.ค.53 กรณีของ พ.อ.หญิง อาจารย์ รร.นายร้อยจปร. ที่ถูกวายร้ายปล่อยไวรัสโทรจัน (Trojan) เข้าไปเล่นงานขณะกำลังทำธุรกรรมการเงินผ่านทางอินเทอร์เน็ตของธนาคาร นสพ.เดลินิวส์ทราบข่าวเพียงฉบับเดียว จึงนำเสนอต่อเนื่อง จนทำให้ทราบว่าคนร้ายแฮกเกอร์พาสเวิร์ดของผู้เสียหายแล้วโอนไปเข้าบัญชีในพื้นที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ประกอบกับได้เกาะติดข้อมูลของโจรออนไลน์แก๊งต่างๆอยู่แล้ว ทำให้มีข้อมูลรายละเอียดว่าในรอบปีที่ผ่านมาเพิ่งจะมีคดีแฮกเกอร์คล้ายๆกันเกิดขึ้นและมีการโอนเงินไปที่ธนาคารในพื้นที่เมืองพัทยา ซึ่งถือเป็นจิ๊กซอว์อย่างดีจนทำให้คดีนี้พล.ต.ต.ปัญญา มาเม่น รอง ผบช.ก. นำทีม ตำรวจมือดีหลายหน่วยงาน ทั้ง พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ผบก.ป. แกะรอยวายร้ายได้อย่างรวดเร็ว สามารถตะครุบคนร้ายได้เป็นชาวเยอรมัน 2 คน พบว่าแก๊งนี้หัวโจกใหญ่จะเป็นพวกยุโรปตะวันออก ซึ่งยังพ้นเงื้อมมือกฎหมายเพราะอาศัยอยู่ต่างแดน
ผลกระทบและคุณค่าข่าว
การนำเสนอข่าวกระชากหน้ากากแก๊งโจรออนไลน์ ของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ซึ่งอาจจะดูเหมือนเป็นเพียงข่าวชิ้นธรรมดาๆ แต่ความจริงมันไม่ได้ธรรมดา เนื่องจากเดลินิวส์ได้ทำหน้าที่ของสื่อมวลชนตีแผ่ความจริงรูปแบบของภัยใกล้ตัวจนสามารถแยกแยะได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ เพราะปัจจุบันต้องยอมรับความจริงว่า เพียงแค่คุณมีโทรศัพท์มือถือหรือบัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม ก็พร้อมจะตกเป็นเหยื่อได้ตลอดเวลาหากตามไม่ทันเล่ห์กลของวายร้ายเหล่านี้ อย่างไรก็ดีถึงแม้จะยังไม่สามารถทำให้เกิดการขุดรากถอนโคนแก๊งคนร้ายที่อาละวาดก่อเหตุต่อสุจริตชนได้หมดสิ้นไปในสังคมก็ตาม แต่อย่างน้อยสามารถนำข้อมูลเสนอทุกแง่ทุกมุมทำให้ประชาชนและผู้อ่านได้ ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาทจะรับโทรศัพท์พูดคุยกับคนแปลกหน้าต้องมีสติ หรือจะใช้บัตรเอทีเอ็ม บัตรเครดิต ในยุคปัจจุบันก็ต้องรอบคอบกว่าเดิม ขณะที่ในส่วนของสถาบันการเงินหลายแห่งก็ต่างเริ่มตื่นตัวเช่นกัน ทั้งประชาสัมพันธ์ไปติดตามตู้เอทีเอ็มให้ลูกค้าระวังภัยมิจฉาชีพ และประชาสัมพันธ์ลูกค้าที่ใช้บริการทำธุรกรรมผ่านทางอินเทอร์เน็ตให้รอบคอบรู้ทันแก๊งแฮกเกอร์ที่จะปล่อยไวรัสเข้ามาเล่นงาน
นอกจากนี้ช่วงเดือน ส.ค.53 หน่วยงานทั้งภาครัฐ-เอกชนยังได้ตัดสินบูรณาการทำงานเป็นจริงเป็นจัง เพื่อหามาตรการป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยมี พล.ต.ต.ปัญญา มาเม่น รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.จตุรงค์ ภุมรินทร์ ผบก.ปคบ. (ปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค) พล.ต.ต.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ผบก.ทท. (ตำรวจท่องเที่ยว) พล.ต.ต.สุรพล หอมชื่นชม ผบก.ปอท. (ปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) ร่วมกับนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ รองเลขาฯกทช. รักษาการเลขาฯกทช. (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) เจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการที่ให้บริการโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตกว่า 10 ราย เข้าร่วมหารืออย่างจริงจัง โดยมีผลสรุปเบื้องต้นคือ จัดให้มีศูนย์รับแจ้งเหตุและร้องทุกข์ ใช้เบอร์คอลเซ็นเตอร์ 3 หน่วยงาน ได้แก่ หมายเลข 1200 กทช., 1155 ตำรวจท่องเที่ยว และหมายเลข 1135 บก.ปคบ. ทั้ง 3 สายด่วน มีเจ้าหน้าที่คอยรับเรื่องราวตลอด 24 ชม.