รหัส B-4-3-2553-24
ชื่อเรื่อง_ผ่าขบวนการฮุบ ‘เกาะระ’ มรดกล้ำค่าแห่งอันดามัน
เจ้าของ-โพสต์ทูเดย์
ปีพิมพ์ พศ. 2553
ผ่าขบวนการฮุบ ‘เกาะระ’ มรดกล้ำค่าแห่งอันดามัน
กองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
“เกาะระ” ตั้งอยู่บนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระ–เกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา พื้นที่โดยรอบประกอบด้วยเกาะอีกจำนวนมากที่เป็นพื้นที่ป่าชายเลนกลางทะเลอันดามัน โดยส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวมักจะรู้จัก “เกาะพระทอง” มากกว่า “เกาะระ” ทั้งที่อยู่ติดกัน
เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2553 นักวิชาการที่ลงพื้นที่ตรวจสภาพความสมบูรณ์ของเกาะ พร้อมกับคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุนสภาผู้แทนราษฎร หลังจากชาวบ้านในพื้นยื่นเรื่องร้องเรียน “การทุจริต” การขอออกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน และขอให้เข้าไปตรวจสอบ
นักวิชาการด้านพฤกษศาสตร์คณะดังกล่าวที่ลงพื้นที่พร้อมคณะกรรมาธิการชุดนี้เห็นตรงกันว่า “เกาะระ” เสมือน “เพชรที่รอการเจียระไน”
ด้วยเพราะมีความสมบูรณ์ของระบบนิเวศอย่างอย่างครบวงจร มีลักษณะทางกายภาพพื้นที่เกาะระส่วนใหญ่เป็นหาดโคลน ปากแม่น้ำมีลำคลองไหลผ่านทั่วเกาะ ด้านหน้าเกาะเป็นป่าโกงกางและภูเขาสูง มีพันธุ์ไม้หนาแน่น ด้านหลังเกาะเป็นหาดทรายขาวละเอียด มีหน้าผาสูงชันอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงเหนือทำให้มีลักษณะฝน 8 แดด 4 (เดือน) ส่งผลให้มีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์นานาชนิด
ประเด็นที่ “โพสต์ทูเดย์” ตรวจสอบพบก็คือพบความไม่ชอบมาพากลของขบวนการออก สค.1 น.ส.3 ก และเอกสารสิทธิทำกิน (สทก.) ให้ชาวบ้านในหลายจุด ทั้งที่ไม่ใช่พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมสำหรับการทำการเกษตรใดๆ จากการจรวจสอบพบว่า มีความพยายามของ “กลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น” ดำเนินการออก สทก. จำนวน 139 แปลง เนื้อที่ 1,588 ไร่ จากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการออก นส.3 ไปบางส่วนแล้ว
อย่างไรก็ดีประเด็นความไม่ชอบมาพากลในการ “การฮุบเกาะ” เชื่อมโยงกับการผลักดันให้ยกพื้นที่เกาะระทั้งเกาะเป็นสวนพฤกษศาสตร์ทางทะเลและชายฝั่ง โดยองค์การสวนพฤกษศาสตร์(อสพ.) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ประเด็นที่ทางโพสต์ทูเดย์พบความผิดปรกติก็คือ นักวิชาการและคณะกรรมการ อสพ. ได้สนับสนุนให้ยกเกาะระทั้งเกาะจัดทำสวนพฤกษศาสตร์ทางทะเล ซึ่งจะเป็นสวนพฤกษศาตร์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติเทียบได้กับสวนพฤกษศาสตร์ที่เป็นเกาะระดับโลก แต่แล้วมีความพยายามของนักการเมืองในพื้นที่ทั้งระดับชาติและนักการเมืองท้องถิ่นในการคัดค้านโครงการดังกล่าว
แม้ว่า อสพ. จะได้ว่าจ้าง คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปสำรวจความสมบูรณ์ทั่วเกาะ รวมถึงศึกษาความเหมาะสมในการจัดทำสวนพฤกษศาสตร์ทางทะเล เมื่อปี 2552–2553 และได้ข้อสรุปว่าเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง แต่แล้วมีการพยายามล็อบบี้ให้ อสพ. รับมอบพื้นที่เกาะระจากกรมป่าไม้ เพียง 4,000 กว่าไร่ มาจัดทำสวนพฤกษศาสตร์ และยังไปเลือกพื้นที่ที่มีความสูงชัน ไม่เหมาะสมในการจัดทำสวนพฤกษศาสตร์ สอดคล้องกับความพยายามในการผลักดันให้พื้นที่ราบ ซึ่งเป็นทำเลทองบริเวณชายหาดได้รับการออกเอกสารสิทธิ์ สทก. โดยมีกลุ่มชาวบ้านได้ยื่นรายชื่อในการ “ขอสิทธิทำกิน”
เราพบพิรุธตรงที่ว่า “ชาวบ้าน” จำนวนหนึ่งเป็นชาวมอแกน ซึ่งมีอาชีพทำประมง ไม่ถนัดในการทำการเกษตร แต่มีรายชื่อขอเอกสารสิทธิ์ด้วย ที่สำคัญพบชื่อของนักการเมืองท้องถิ่นอยู่ในกลุ่มขอสิทธิ์ดังกล่าวด้วย ความไม่ชอบมาพากลดังกล่าวถูกตั้งคำถามถึง “นอมินี” ในการครอบครอบที่ดินบนเกาะระ
จากภาพถ่ายทางอากาศและการสำรวจพื้นที่ในครั้งนั้นร่วมกับคณะกรรมาธิการพบการโค่นต้นไม้ใหญ่และแผ้วถางป่าปรับสภาพให้พร้อมต่อสิ่งปลูกสร้าง ในหลายจุดมีการโค่นถางปลูกยางพารา อายุไม่เกิน 1-3 ปี ด้วย ทั้งที่เป็นพื้นที่อุทยานฯ
นอกจากนี้กรรมาธิการยังพบ “รีสอร์ตลึกลับ” บริเวณแหลมสะเดาะ ถูกปิดไม่ให้บุคคลแปลกหน้าเข้าไป ซึ่งทราบในเวลาต่อมาว่าเป็นของ “อดีตหัวหน้าอุทยาน” รายหนึ่ง ซึ่งมีอิทธิพลและมีความสัมพันธ์เชื่อมกับกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นที่เคลื่อนไหวในการฮุบเกาะระอีกด้วย
ความผิดปกติประการต่อมา การลงพื้นที่ของคณะกรรมาธิการและสื่อมวลชนในครั้งนี้ถูกนักการเมืองของพังงาผู้กว้างกวางและลิ่วล้อนักการเมืองท้องถิ่นสกัดกั้นการลงสำรวจพื้นในทุกรูปแบบ
รวมถึงความผิดปกติในการยื่นขอออก สทก. มีเงื่อนงำ ซึ่งโพสต์ทูเดย์ตรวจสอบพบว่า “ตระกูลกล้าทะเล” ซึ่งเป็นชาวมอแกน ยังชีพด้วยการทำประมงชายฝั่งเป็นหลัก และไม่นิยมทำการเกษตร กลับขอยื่นขอออก สทก. ถึง 13 รายชื่อ รวมพื้นที่กว่า 51 ไร่ และพบว่า “ตระกูลมีเพียร” ตระกูลนักการเมืองท้องถิ่นผู้มีทรงอิทธิพลในอ.คุระบุรี ยื่นขอ สทก. 21 รายชื่อ รวมพื้นที่กว่า 278 ไร่ ในจำนวนนี้นายพีระนนท์ มีเพียร (กำนันจุ้ย) กำนันตำบลเกาะพระทอง อ.คุระบุรี ยื่นขอ 30 ไร่ นายเนรมิตร มีเพียร (นายกน้อง) นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคุระ อ.คุระบุรี ยื่นขอ 31 ไร่ ขณะที่นายนันทภพ มีเพียร (นายกลิด) นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะพระทอง อ.คุระบุรี แม้ไม่ยื่นขอ สทก. แต่เป็นตัวตั้งตัวตีในการขอ สทก. ให้ชาวบ้าน
ทั้งหมดนี้คือการสืบสวนสอบสวนขบวนการ “สวมสิทธิ” เพื่อหวังฮุบเกาะระ มรดกทางธรรมธรรมชาติแห่งอันดามันที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลาน ไปเป็นผลประโยชน์ส่วนบุคคล โดยมีนายทุนและนักการเมืองท้องถิ่นเกี่ยวข้อง
ล่าสุดผลการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการได้ถูกส่งให้นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตรวจสอบแล้ว
อีกทั้ง เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและพบพิรุธหลายประการ ซึ่งกำลังรวบรวมหลักฐานส่งให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์หลายแปลงด้วย
ขณะที่กลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นก็ยังคงใช้ทุกวิถีทางที่จะออกเอกสารสิทธิ์ต่อไป
กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์ จึงต้องทำหน้าที่ตรวจสอบและยับยังขบวนการมิชอบดังกล่าวต่อไป