รายงานสถานการณ์สื่อมวลชน 2547
การเปลี่ยนศักราช 2547 มาสู่ 2548 นั้น เป็นการเปลี่ยนผ่านที่มาพร้อมกับการสิ้นสุดของวาระการบริหารงานของรัฐบาลซึ่งมีพรรคไทยรักไทยเป็นแกนนำ มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี หากมองย้อนหลังไปแล้ว อาจจะกล่าวได้ว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ บริหารประเทศ สถานการณ์ของสื่อมวลชนไทยตกอยู่ในภาวะที่ไม่แจ่มใสนัก คล้อยหลังไปก่อนหน้านี้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้ประกาศให้ ปี 2545 เป็นปีแห่งการแทรกแซงสื่อ ขณะที่ปีถัดมาระบุว่า 2546 เป็นปีแห่งการกวาดต้อนสื่อ เพราะเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า เกิดปรากฏการณ์หลายอย่างซึ่งบ่งชี้ว่า รัฐบาลได้พยายามเข้ามาแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 จะรับรอบและสนับสนุนสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนไว้อย่างชัดเจนมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับไหนๆที่เคยมีการบังคับใช้มาในประเทศนี้
ความพยายามดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลได้สถาปนาอำนาจทางการเมืองขึ้นอย่างมั่นคงเนื่องจากมีเสียงข้างมากในรัฐสภาโดยผนวกรวมพรรคการเมืองเล็กๆน้อยๆเข้ามาเป็นสมาชิกของพรรคไทยรักไทย จนมีเสียงข้างมากถึง 400 เสียง
รูปแบบการแทรกแซงสื่อได้พัฒนาจากการใช้อำนาจรัฐและการข่มขู่คุกคามซึ่งมักจะเป็นวิธียอดนิยมของรัฐบาลเผด็จการในยุคก่อนๆมาเป็นการแทกแซงโดยผ่านระบบทุน การโฆษณา การซื้อกิจการสื่อโดยทุนการเมือง ฯลฯซึ่งเป็นรูปแบบที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นแต่ก็เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีเป้าหมายที่ชัดเจน ว่า ไม่ต้องการให้สื่อมวลชนมีอิสระในการนำเสนอข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นที่ผิดไปจากความต้องการของรัฐบาล ลักษณะซึ่งเป็นการ “ การแทรกซื้อ”ดังกล่าวได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจากปี 2545 สู่ปี 2546 และ 2547
สถานการณ์ดังกล่าวได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น จนสุกงอม เมื่อการกวาดต้อนส่งผลเพียงระดับหนึ่ง กระบวนการกวาดต้อนก็เปลี่ยนไปสู่การแยกข้างและทำลายฝ่ายที่ไม่ยอมเข้าเป็นพวก จึงกล่าวได้ว่า ปี 2547 เป็นปีแห่งการแบ่งแยกและทำลายสื่อมวลชนไทย
ตลอดปี 2547 นี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เพียงแต่จะบริภาษถึงการทำงานของสื่อมวลชนไทยด้วยถ้อยคำที่ดูหมิ่นดูแคลนอยู่เนืองๆ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า เนื้อหาและคำบริภาษเหล่านั้นเป็นการชี้นำให้สาธารณะเห็นว่า การทำงานของสื่อมวลชนเป็นไปด้วยอคติ และไม่ปรารถนาดีต่อบ้านเมือง ดีแต่เอาประโยชน์ต่อองค์กร และไม่มีแม้แต่ความรู้ ข้อกล่าวหาและคำติเตียนนั้นเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยที่องค์กรสื่อมวลชนก็มิได้ตอบโต้เพราะตระหนักดีว่า ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะทำเช่นนั้น เพราะพ.ต.ท.ทักษิณไม่ยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์และคำชี้แจง และสาธารณชนสามารถจะวินิจฉัยข้อกล่าวหาเหล่านั้น ได้จากงานที่สื่อมวลชนได้นำเสนอทุกเมื่อเชื่อวันอยู่แล้ว
บ่อยครั้งที่ความไม่พอใจของ นายกรัฐมนตรีพุ่งเป้าไปที่หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษสองฉบับในประเทศคือ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์และหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ครั้งหนึ่งถึงกับระบุว่า น่าเสียใจที่หนังสือพิมพ์สองฉบับนี้ไม่มีหัวใจของความเป็นคนไทย
ก่อนหน้าที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะประกาศชัดเช่นนั้น นายวีระ ประทีปชัยกูร บรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ถูกปลดออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547 แต่แวดวงสื่อมวลชนไทยตระหนักดีว่า นั่นเป็นผลพวงมาจากความไม่พอใจที่ผู้นำรัฐบาลมีต่อหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว การทำลายความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนด้วยวิธีการเช่นว่า แสดงให้เห็นถึงความพยามที่จะแบ่งแยกประชาชนออกจากสื่อมวลชนอย่างชัดแจ้ง
มาตรการแบ่งแยกและทำลาย ไม่ได้ถูกนำมาใช้จัดการสื่อเอกชนที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเท่านั้น หากแต่ถูกนำไปจัดการกับสื่อของรัฐด้วย หลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลได้จัดระเบียบสื่อของรัฐใน 3 พื้นที่นี้ใหม่ รวมทั้งเข้มงวดการนำเสนอข่าวสารเรื่องสถานการณ์ภาคใต้ที่นำเสนอผ่านสื่อของรัฐทุกประเภท ในที่สุด พ.ต.ท.ทักษิณ ได้กำหนดนโยบายใหม่โดยให้กองทัพเรียกคืนสื่อของรัฐที่ให้สัมปทานแก่เอกชนคืนทั้งหมดเพื่อนำมาเป็นเครื่องมือในการปลุดกระแสลัทธิชาตินิยมขึ้นมาโดยหวังว่า จะช่วยแก้ไขสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ซึ่งกองทัพบกก็ได้สนองนโยบายทันทีด้วยการทบทวนสัญญาเอกชนที่เช่ารายการวิทยุในเครือกองทัพบกซึ่งมีอยู่จำนวนมาก
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้สนับสนุนให้ผู้มีความเห็นสนับสนุนรัฐบาลอย่างสุดขั้วและมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อสื่อมวลชน รวมทั้งองค์กรเอกชนต่างๆ ซึ่งมักจะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมาเป็นกระบอกเสียงทางอ้อม พร้อมทั้งเปิดให้ใช้สื่อของรัฐเป็นเวทีในการตอบโต้สื่อและความเห็นด้านลบที่มีต่อรัฐบาล โดยดำเนินกุศโลบายเช่นเดียวกันกับที่ นายกรัฐมนตรีทำ การตอบโต้โดยใช้รูปแบบการแบ่งแยกความคิดนี้ สร้างบรรยากาศการเผชิญหน้าขึ้นมาในสังคมไทยซึ่งหลายฝ่ายได้แสดงความกังวลว่า จะนำไปสู่ปัญหาความแตกแยกและความรุนแรงในสังคมเพราะมีลักษณะคล้ายกับช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
ไม่เพียงแต่สื่อมวลชนต้องเผชิญกับสถานการณ์แบ่งแยกและบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือ ในอีกด้านหนึ่งก็ยังต้องเผชิญภัยคุกคามจากอำนาจรัฐและอำนาจเถื่อนเหมือนที่เป็นมาผู้จัดรายการวิพากษ์ข่าวสารทางสถานีวิทยุหลายแห่งถูกบีบบังคับให้ถอนตัวออกจากการทำหน้าที่ซึ่งทั้งหมดต้องปฏิบัติตามเพราะถึงแม้จะประกอบกิจการในฐานะบริษัทเอกชนแต่ทั้งหมดก็เช่าเวลาจากสถานีซึ่งเป็นของรัฐมีการข่มขู่คุกคามสื่อมวลชนในต่างจังหวัดหลายกรณีเช่น นายวินัย วงศ์วีรนะขันธ์ ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดร้อยเอ็ด ถูกนายเอกภาพ พลชื่อ ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคไทยรักไทย พร้อมตำรวจติดตามอีก 3 นายขับรถประกบส่งสัญญาณให้จอดแล้วเข้ามาสอบถามว่า ถ่ายวีดีโอปราศรัยทำไม พร้อมทั้งข่มขู่ให้เอาม้วนวีดีโอออกจากกล้อง ซึ่งนายวินัยเกรงว่า จะได้รับอันตรายจึงให้ม้วนวีดีโอไป นายวินัยระบุว่า เรื่องนี้น่าจะมีเหตุมาจากนายเอกภาพเข้าใจผิดคิดว่า เขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการถ่ายวีดีโอนายเอกภาพปราศรัยพาดพิงนายเสนาะ เทียนทอง ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยรักไทยว่า เป็นภารโรงเฝ้าหน้าพรรค (หนังสือพิมพ์แนวหน้า 10 มีนาคม 2547)
นอกจากนี้ สื่อมวลชนยังต้องผจญกับการถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียทางแพ่งซึ่งแม้กฎหมายหมิ่นประมาทจะกำหนดเรื่องนี้ไว้เพื่อให้เป็นมาตรการเยียวยาให้กับผู้ถูกสื่อมวชนชนละเมิดสิทธิ แต่ในทางกลับกันก็มีผู้ใช้ช่องทางนี้เป็นเครื่องมือในการข่มขู่และปรามไม่ให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวที่แหลมคมเพื่อเปิดโปงความมิชอบเรื่องต่างๆ ไม่เช่นนั้นก็จะถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมูลค่าสูงนับเป็นร้อยๆล้านบาทก็มี ซึ่งทำให้สื่อหลายแห่งต้องเสียเงินวางศาลจำนวนมาก ซึ่งหากสื่อเล็กๆประสบปัญหาเช่นนี้ก็จะมีปัญหาในการทำงานอย่างยิ่ง ซึ่งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้ระดมพลังเพื่อหาทางแก้ไขปัญหานี้ต่อไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์วงการสื่อมวลชนไทยโดยเฉพาะวงการหนังสือพิมพ์ต้องจารึกไว้ว่า ในปี 2547 นี้ บริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) ต้องจ่ายเงินจำนวน 10 ล้านบาทให้กับ พล.ต.อ.เสรี เตมียเวช รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หลังจากทั้งสองฝ่ายได้ฟ้องร้องกันในคดีหมิ่นประมาทกว่า 40 คดีแต่ในที่สุดก็สามารถตกลงประนีประนอมยอมความกันได้ ตามเงื่อนไขดังกล่าวนับว่า เป็นการจ่ายค่าชดเชยเพื่อยุติการฟ้องร้องที่มีมูลค่าสูงที่สุดในวงการหนังสือพิมพ์ ขณะที่หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์และน.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการเพื่อการปฏิรูปสื่อถูกบริษัท ชินคอร์เปอร์เรชั่น จก. (มหาชน) ฟ้องฐานผิดละเมิด เรียกค่าเสียหาย 400 ล้านบาท จาการเสนอข่าว “เอ็นจีโอ ประจาน 5 ปี ไทยรักไทย ชินคอร์ปรวย” ปัจจุบันเรื่องยังอยู่ในการพิจารณาของศาล
ระหว่างที่สื่อมวลชนไทยต้องเผชิญภาพการณ์ซึ่งเป็นปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่เช่นว่า สื่อมวลชนก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาอันเกิดจากภายในอีกหลายประการ เช่น ขาดความรอบด้าน ไม่ได้ตรวจสอบข่าวสารบางเรื่องอย่างเข้มข้น เช่น อ้างแหล่งข่าวว่ามีการตุนอาวุธปืนถึง 5,000 กระบอกไว้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ หรือปล่อยให้นายกรัฐมนตรีชี้นำสังคมในกรณีจะซื้อทีมสโมสรลิเวอร์พูล ฯลฯ ยังมีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลโดยการนำเสนอข่าวและภาพข่าวที่ไม่เหมาะสมหลายกรณีซึ่งทางสมาคมฯก็ได้ออกหนังสือเตือนมาโดยตลอด
ในปี 2547 นี้ เป็นปีแรกที่ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก มีผลบังคับใช้ ซึ่งทำให้สื่อต้องใช้ความรอบคอบและระมัดระวังในการเสนอข่าวและภาพเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนมากขึ้น ซึ่งขณะเดียวกันทางสมาคมฯก็ได้ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนหญิงและนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน จัดทำแนวปฏิบัติเรื่องการรายงานข่าวเด็กและสตรี เพื่อจัดทำเป็นคู่มือเวลาปฏิบัติงานซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ปัญหานี้ลดลงอย่างมากในอนาคตและจะเป็นต้นแบบสำหรับการจัดทำคู่มือการรายงานข่าวอื่นๆต่อไป
ปรากฏการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพที่สำคัญเรื่องหนึ่งของวงการสื่อมวลชนปี 2547 คือ หนังสือพิมพ์มติชนถูกร้องเรียนว่า ผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพในกรณีถอนฟ้องนักการเมือง ในกรณีผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์มติชนถูกลวนลามทางเพศ ซึ่งสมาคมฯได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและส่งเรื่องให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติพิจารณาซึ่งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติก็มีมติว่า มีความผิดจริงและหนังสือพิมพ์มติชนก็ได้ประกาศยอมรับมติดังกล่าว ซึ่งทำให้กระบวนการตรวจสอบกันเองของสื่อมวลชนมีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นจริง
ไม่กี่วันก่อนที่จะสิ้นปี 2547 เกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์ถล่ม 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เหตุการณ์นี้ได้เป็นเครื่องทดสอบว่า สื่อมวลชนไทยได้ปรับตัวรับช่วงวิกฤตของประเทศชาติได้มากน้อยเพียงไร ซึ่งนักวิชาการได้ตั้งข้อสังเกตว่า ข่าวสารส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจะเป็นการการสื่อสารทางเดียว มีข่าวสารที่ล้นเกินคือ การฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว การบริจาค เรื่องชวนขนลุก ฯลฯ ข่าวสารที่ไม่เพียงพอคือ ข่าวสารเรื่องสุขภาวะและความปลอดภัย หรือเรื่องสิทธิกฎหมายต่างๆ ส่วนข่าวสารที่ขาดหายไปคือ การเตือนภัยเรื่องความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว การเสี่ยงภัยอื่นๆที่ตามมา
ไม่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกหรือไม่ ใครจะมาแบ่งแยกหรือทำลายสื่อมวลชนอย่างไรก็ตาม เป็นที่ชัดเจนในหมู่สื่อมวลชนไทยว่า สื่อต้องพัฒนาตนเองต่อไปโดยมิหยุดหย่อน และการตรวจสอบควบคุมกันเองก็ต้องดำเนินไปอย่างเข้มข้น ไม่ว่า นักการเมืองจะหันมาใช้กระบวนการนี้ร่วมสร้างสรรค์สังคมหรือไม่ก็ตาม