ในรอบปีสื่อมวลชนไทย ปี 2548

ในรอบปีสื่อมวลชนไทย  ปี 2548

ศูนย์ข้อมูลนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

แหล่งข้อมูล ศูนย์ข้อมูลหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้อง พ.ร.บ. การพิมพ์ขัด รธน.

นายจรัล ดิษฐาอภิชัย ประธานอนุกรรมการสิทธิในการสื่อสารและเสรีภาพสื่อมวลชน กล่าวว่า คดีการฟ้องหมิ่นประมาทสื่อมีแนวโน้มที่ไม่ดีอย่างมาก ทางคณะกรรมการสิทธิฯ ได้หารือที่จะหยุดยั้งและแก้ไข ซึ่งทางสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์ฯ และสภาการหนังสือพิมพ์ฯ พูดคุยกันหลายครั้งแล้ว และมีข้อเสนอแนะดีๆ แต่ในทางปฎิบัติแล้วทำยาก ทางคณะกรรมการสิทธิฯ จะรวบรวมและนำข้อาเสนอนนี้ไปให้รัฐสภาเพิ่มเติมและแก้ไขกฎหมายคดีหมิ่นประมาท โดยต้องการแก้ไขเพิ่มเติมให้กฎหมายคดีหมิ่นประมาทเป็นความผิดทางแพ่งอย่างเดียว ยกเลิกคดีอาญา

นายพิศิษฐ์  ชวาลาธวัช อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สื่อกับการถูกฟ้องร้องเป็นเรื่องธรรมดา เพราะถ้าใครถูกละเมิดก็ต้องฟ้องร้อง ดังนั้น จึงต้องเตรียมตั้งรับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ที่ผ่านมาสื่อมักมีความผิดพลาด 2 ประการคือ ผิดพลาดในเชิงข้อมูล และผิดพลาดในการนำเสนอ

น.ส. สุภิญญา กลางรณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฎิรูปสื่อ (คปส.)กล่าวว่า คดีที่ตัวเองถูกบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 400 ล้านบาท จะเริ่มสืบพยานในวันที่ 9 กรกฎาคมนี้ คดีนี้มีสื่อต่างประเทศให้ความสนใจมาก เพราะสื่อจากต่างประเทศจับตาดูว่าบริษัทที่มีชื่อเสียงมีคดีความกับใคร เพราะในทางการเมืองโจทก์ใหญ่มากจำเลยเล็กมาก แต่ทำไมต้องฟ้องร้องขนาดนั้น “ดิฉันไม่ได้เลือกประนีประนอม แต่เลือกสู้คดี ทั้งที่มีทางออกอื่นที่ไม่ต้องสู้ ทั้งนี้ เพื่อหวังจะให้เกิดผลในการเปลี่ยนแปลง”

นายชาญชัย สงวนวงศ์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น กล่าวว่า จริงอยู่ที่คดีหมิ่นประมาทกับสื่อนั้นเป็นของคู่กัน แต่ในอดีตผู้ที่จะฟ้องร้องสื่อมักเป็นนักการเมือง ข้าราชการ หรือทหาร แต่ปัจจุบันผู้ที่ฟ้องสื่อขยายวงกว้างออกไป

“ผมสังเกตว่า ระยะหลังการฟ้องร้องสื่อมักจะมีรอยอาฆาตแฝงเข้ามามีแววของความอำมหิตซ่อนเร้นอยู่ด้วย ซึ่งมองในแง่หนึ่ง คนที่เสียหายจาการนำเสนอของสื่อย่อมมีสิทธิที่จะพิทักษ์ ปกป้องสิทธิของตนเอง แต่นับวันรู้สึกว่าความเป็นทุนนิยมทำให้บุคคลที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสื่อมีเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การทำหน้าที่ของสื่อจึงคาบเกี่ยวระหว่างการถูกฟ้องร้อง ซึ่งสื่อก็ต้องรัดกุมในการนำเสนอ ถ้าภาษามวยก็เรียกว่าตั้งการ์ดสูง ลดอารมณ์เอามันลง เพราะพลาดเมื่อไรก็ถูกฟ้องแน่” (ผู้จัดการรายวัน 30 เม.ย. 48)

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์  รองประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันคนหันมาเคารพสิทธิตัวเองมากขึ้น ทำให้คดีฟ้องร้องกระจายออกไป แต่ก่อนจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการ ฟ้องเพื่อยุติคดี แต่ก่อนจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการ ฟ้องเพื่อยุติคดี แต่ก่อนที่จะมีการแก้กฎหมายคดีหมิ่นประมาท จะขึ้นอยู่กับศาลชั้นต้น ลงโทษและเสียค่าปรับรอลงอาญษ 1-2 ปี ซึ่งสมัยก่อนการขึ้นศาลก็ไม่ได้น่ากลัว แต่ตอนนี้เน้นตัวเลขกันมาก และไม่ได้ตระหนกกับตัวเลขนั้น และในการฟ้องร้อง ถ้าโจทก์ฟ้องด้วยความเจ็บแค้น เจ็บใจ เป็นการยากที่จะไกล่เกลี่ยกัน ผลของการแก้กฎหมายหมิ่นประมาททำให้คดีหมิ่นประมาทกลายเป็นคดีใหญ่ และมีการเรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนมาก (ผู้จัดการรายวัน, มติชน 30 เม.ย. 48)

นายไพบูลย์  วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องกรณี ศาลอาญากรุงเทพใต้ ส่งคำโต้แย้งของบริษัท แมเนเจอร์มีเดียกรุ๊ป จำกัด(มหาชน) โดยนายตุลย์  ศิริกุลพิพัฒน์ กับพวกรวม 2 คน ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 264 กรณี พ.ร.บ. การพิมพ์ 2484 มาตรา 48 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 39 และ 41 หรือไม่ จากกรณีพนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท แมเนเจอร์ฯ โดยมีนายตุลย์ กับพวกรวม 2 คน ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ในฐานความผิดร่วมกันหมิ่นประมาท (มติชน 21 ต.ค. 48)

 

อัยการแนะใช้ พ.ร.บ.การพิมพ์ เยียวยา ความผิดหมิ่นประมาท

นายปรีชา วราโห อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา กล่าวว่า ผู้เสียหายที่หนังสือพิมพ์นำเสนอข่าวสามารถใช้มาตรา 41 ของ พรบ.การพิมพ์ พ.ศ. 2484 ซึ่งระบุโดยสรุปว่า เมื่อหนังสือพิมพ์นำเสนอข่าวคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริง ก็ให้ผู้เสียหาย หรือผู้ถูกพาดพิงทำหนังสื่อชี้แจงข้อเท็จจริงไปยังบรรณาธิการผุ้พิมพ์ผู้โฆษณา ซึ่งหนังสือพิมพ์จะต้องนำเสนอข้อเท็จจริงที่ชี้แจงไปโดยเร็ว เมื่อนำเสนอแล้วสิทธิที่จะนำไปฟ้องร้องต่อผู้เสียหายก็ถือว่าหมดไป

หากพิจารณาดูแล้วว่าหนังสือพิมพ์ไม่มีเจตนาที่จะทำให้คนเองเสียหาย แต่ว่าลงข่าวหรือนำเสนอความเห็นโดยมีเหตุอันสมควรมีผุ้ให้ข่าวที่ชัดเจนน่าเชื่อถือ มีที่มาของข่าว ซึ่งถ้าเห็นเช่นนั้นก็ควรใช้สิทธิตามมาตรา 41 นี้ เพื่อเยียวยาความเสียหาย ที่อาจจะเกิดขึ้นได้โดยทันทีไม่ต้องเสียเวลาในการดำเนินคดี

“ถ้าเป็นผู้เสียหายที่สุจริต ก็ควรจะใช้สิทธิตามมาตรา 41 นี้ เพราะตัวผู้เสียหายเองก็น่าจะพิจารณาได้ว่า หนังสือพิมพ์มีเจตนาหรือว่า พลั้งเผลอในการนำเสนอข่าวนั้น”

(กรุงเทพธุรกิจ  5 เม.ย. 48)

ระงับรายการเมืองไทยรายสัปดาห์

นายสนธิ  ลิ้มทองกุล ผู้ดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ถูกคณะกรรมการบริหาร บมจ. อสมท. ระงับสัญญาเช่าเวลารายการเมืองไทยรายสัปดาห์  ซึ่งออกอากาศทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ทุกคืนวันศุกร์ เวลา 22.00-23.00 น. ถูกระงับการออกอากาศตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. เป็นต้นไป โดยอ้างเหตุผลสำคัญว่ามีการก้าวล่วงพระราชอำนาจ (มติชน 17 ก.ย 48)

 

ฮุปสื่อ

12 ก.ย. – บริษัท จีเอ็มเอ็มมีเดีย ทุ่มเงิน 2.6 พันล้านบาท ลงทุนซื้อหุ้นใหญ่จากกองทุนต่างประเทศ สื่อสิ่งพิมพ์หุ้นหนังสือพิมพ์มติชนจำนวน  32.23 เปอร์เซ็นต์(66,077,100 หุ้น)  และหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์  23.60 เปอร์เซนต์ (118,000,000 หุ้น) ด้านนายไพบูลย์  ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ยังไม่ขอพูดอะไรมาก เพราะรับปากกับผู้ใหญ่ไว้แล้วว่าจะมีการพูดคุยกันก่อนในคืน 12 ก.ย.นี้ และคงจะมีข้อสรุปออกมาบอกกล่าวกันในวันที่ 13 ก.ย. นี้แน่นอน ส่วนที่ว่าเป็นการซื้อแทน พ.ต.ท. ทักษิณ  ชินวัตร นายกฯ นั้น นายไพบูลย์กล่าวว่า ตนไม่ใช่เด็กเหตุใดจะต้องไปซื้อหุ้นแทน (กรุงเทพธุรกิจ, ไทยรัฐ 13 ก.ย. 48)

15 ก.ย.- สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและ โทรทัศน์ไทย และสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จัดรายการราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 22 ประจำปี 2548 เรื่อง”มองปรากฏการณ์ แกรมมี่ ซื้อหุ้นโพสต์-มติชน ธุรกิจ การเมืองและเสรีภาพสื่อมวลชน?”โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย นายมานิจ สุขสมจิต อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ดร.พันธ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ที่ปรึกษา สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ดร.เจษฎ์ โทณะวนิก คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม นายพิภพ ธงไชย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) ดร.ดรุณี หิรัญรักษ์ คณบดี คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ(ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งในการเสวนามีสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ตลอดจนนักศึกษาและประชาชนเข้ารับฟังจำนวนมาก จนแน่นขนัดห้องประชุม

นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์มติชนและบรรณาธิการอำนวยการหนังสือพิมพ์มติชน แถลงว่า ต้องขอบคุณประชาชนเจ้าของมติชน ซึ่งการประชุมกับเพื่อนพนักงาน 1,680 คนทุกคนตระหนักดีว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานในนามของประชาชนคนอ่านจน หนังสือพิมพ์มติชนกล่าวเป็นสถาบันของชาติ และไม่เคยคาดคิดว่าเพื่อนที่รู้จักกันจะมาทำกันแบบนี้ ทั้งที่ธุรกิจในเครือของมติชน แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับของจีเอ็มเอ็มฯ เพราะมติชนมุ่งหวังสร้างความรู้และวิชาการวิถีไทย รวมทั้งยึดแนวพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ดำรงเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้มุ่งไปทางบันเทิงหรือเรื่องเซ็กซ์ เราจึงไม่เห็นด้วยหากจะต้องทำธุรกิจเพื่อนำไปสู่ความล่มสลายของสังคม สร้างความเสื่อมเสียทางวัฒนธรรม การแก้เกมของมติชนนั้นจะไม่ทิ้งบ้าน แต่จะต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง

“ขณะนี้ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปร้อนรนตื่นเต้นว่าเราจะต้องหนีไปอยู่ที่ไหน ของๆ เรา บ้านของเราๆ ทำและต่อสู้ของเรามา ต่อสู้แกะระเบิดมา จะไปติดคุกติดตะรางสารพัดอย่าง มติชนไม่ใช่ 2,000 ล้านตามตัวเลขเท่านั้น การต่อสู้และชื่อเสียงทั้งหลายเป็นมูลค่าทั้งนั้น เป็นมูลค่าของประชาชนคนอ่าน ซึ่งเราไม่สามารถให้ใครมายึดบ้านของเราได้ เราไม่ใช้ม้าอารี ใครเข้ามาแล้วมาถอยๆ ไป” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

19 ก.ย. – สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ยื่นจดหมายถึงเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ตรวจสอบหลักทรัพย์ ดังต่อไปนี้

1) ตรวจสอบกระบวนการซื้อขายหุ้น MATI และ POST ในช่วงตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 จนถึงวันที่ 12 กันยายน 2548

2) ตรวจสอบการซื้อขายที่ใช้ข้อมูลวงใน (Insider Tradings) ของหลักทรัพย์ตามข้อ 1)

3) เปิดเผยผลการตรวจสอบตามข้อ 1) และ ข้อ 2) ให้สาธารณชนได้รับทราบ

20  ก.ย. – กองบรรณาธิการบางกอกโพสต์และโพสต์ทูเดย์ประมาณ 30 สวมเสื้อสีดำพร้อมมีข้อความ “Not For Sale” ได้มายืนรวมตัวกันที่สนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้าพร้อมกับชูมือประสานกันเพื่อเป็นสัญลักษณ์การต่อต้าน บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด เข้าซื้อหุ้นบริษัท โพสต์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) จากนั้นได้ออกแถลงการณ์แจกจ่ายสื่อมวลชน โดยระบุว่าบางกอกโพสต์และโพสต์ทูเดย์คือสื่อสาธารณะ เป็นสมบัติของสังคม เสรีภาพความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการเป็นสิ่งที่หวงแหน จึงขอให้นายทุนนักธุรกิจที่เข้ามาบริหารโพสต์ หยุดการแทรกแซงรุกราน ทำลายความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการ และควรเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการพิจารณาคนที่จะมาเป็นบรรณาธิการ และห้ามปลดบรรณาธิการออกกลางคัน โดยไม่อธิบายเหตุผลเหมือนที่ผ่านมา นักการเมืองที่ใช้อำนาจรัฐ และผู้ปรารถนาที่จะควบคุมทิศทางการนำเสนอข่าวสาร ต้องหยุดแทรกแซงความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการ กองบรรณาธิการบางกอกโพสต์จะยืนหยัดการทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาเพื่อรักษาผลประโยชน์สาธารณะและผลประโยชน์ของประเทศชาติ (ไทยรัฐ 21 ก.ย. 48)

24 ก.ย.- สุทธิเกียรติ  จิราธิวัฒน์ และกลุ่มไชน่า มอนิ่งโพสต์ ได้ยืนยันว่า จะไม่มีการขายหุ้นในสัดส่วนที่ถือครองออกมาและพร้อมจะให้การสนับสนุนคณะผู้บริหารชุดปัจจุบันต่อไป ทั้งนี้ได้รับการยืนยันว่า ในส่วนของกองบรรณาธิการก็จะได้รับอิสระในการนำเสนอข่าวเหมือนเดิม

ด้าน ม.ร.ว. ศศิพฤนท์  จันทรทัต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล. กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จีเอ็มเอ็ม มีเดียได้ขายหุ้นมติชนให้นายขรรค์ชัย บุนปาน ผู้บริหารและผู้ก่อตั้งมติชนเรียบร้อยแล้ว ทำให้จีเอ็มเอ็มมีเดียถือหุ้นมติขน  20 เปอร์เซ็นต์ และในวันนี้ทางนายขรรค์ชัยได้ยื่นแบบเสนอซื้อหุ้นจากรายย่อยในวันที่ 5 ต.ค. -9 พ.ย. นี้ ราคา 11.10 บาทโดยนายขรรค์ชัยได้รับเม็ดเงินสนับสนุนจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำนวน 1 พันล้านบาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (มติชน, ผู้จัดการรายวัน     24 ก.ย. 48)

 

สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ประณามคนคุกคามสื่อคดีเทปลับ “เนวิน”

25 กพ. – สภาการหนังสือแห่งชาติออกประกาศเรื่อง การคุกคามการปฎิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน กรณีหนังสือพิมพ์สมิหลาไทมส์ จังหวัดสงขลา ร้องเรียนว่ามีนักการเมืองข่มขู่คุกคามและลิดรอนเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน จากกรณีการลงข่าวและภาพกรณี นายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรียกประชุม เรียกประชุมลับผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล พัทลุง เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.  ต่อมาถูกกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งโทรศัพท์มาข่มขู่ให้ยุติการไปให้ถ้อยคำหรือข้อมูลใดๆ กับกกต.

คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ การกระทำของบุคคลดังกล่าวเป็นการข่มขู่ คุกคาม ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน จึงมีมติให้ประณามการกระทำของบุคคลดังกล่าว และพร้อมร่วมยืนหยัด และปกป้องสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนให้พ้นจากการถูกคุกคามทุกประการ (มติชน  26 ก.พ. 48)

อย. ไฟเขียวยกฟ้องสื่อคดีเสนอโฆษณาผิดกฎหมาย

ศ.ดร. ภักดี โพธิศิริ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวภายหลังลงนามบันทึกความเข้าใจเรื่องแนวทางการโฆษณาและการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพทางหนังสือพิมพ์ ร่วมกับนางผุสดี  คีตวรนาฎ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจถือเป็นนิมิตหมายอันดี และอย. จะยกเลิกการดำเนินคดีทั้งหมดที่ยังไม่ได้แจ้งความดำเนินดี แต่ในส่วนของการนำเสนอข่าวการทุจริตใน อย. ซึ่งเป็นคดีหมิ่นประมาทนั้น จะไม่ยกเลิกหรือประนีประนอม (ไทยรัฐ, โพสต์ทูเดย์  8 เม.ย. 48)

 

 

คดีความ

25 ม.ค. – บริษัท ไอ.เอ็น.เอ็น จำกัด และวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน  ยื่นฟ้องบริษัทจีจีนิวส์ เนทเวิร์ค จำกัด เรียกค่าเสียหายจำนวน 96 ล้านบาท จากกรณีที่ทางจีจีนิวส์ได้ดำเนินการขายโฆษณาทางสถานีวิทยุให้แก่บริษัท ห้างร้านและหน่วยงานราชการต่างๆ โดยอ้างว่ามีเวลาโฆษณาทุก 5 นาที ในแต่ละชั่วโมงของสถานีวิทยุ “ร่วมด้วยช่วยกัน” (ไทยโพสต์  26 ม.ค. 48)

31 ม.ค. – ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง น.ต.ประสงค์  สุ่นศิริ คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์แนวหน้า และหนังสือพิมพ์แนวหน้า กรณี การเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เกี่ยวกับการซื้อตัวสมาชิกจากพรรคอื่น และนโยบายการบริหารประเทศ (มติชน 1 ก.พ. 48)

10 ก.พ. – ศาลอาญา อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ยกฟ้อง คดีนายวัฒนา อัศวเหม เป็นโจทก์ยื่นฟ้องหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน กรณีหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันฉบับวันที่ 19 ก.ย. 45 ลงข่าว “เปิดโผนักการเมืองจอมฟอกเงินสกปรก สร้างกสิโน” (ตามแนวชายแดนของไทย กัมพูชา) (ผู้จัดการรายวัน  11 ก.พ. 48)

11 ก.พ. – ศาลจังหวัดนครราชสีมา ยกฟ้องหนังสือพิมพ์มติชน หนังสือพิมพ์ข่าวสด หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กรณี ร.ต. ไพโรจน์  สุวรรณฉวี พรรคไทยรักไทย ฟ้องกรณีการเสนอข่าว การจัดสรรงบประมาณส่วนท้องถิ่นในส่วนลงอุดหนุนเฉพาะกิจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีพฤติกรรมไม่โปร่งใส ส่อไปในทางทุจริต พบหลักฐานใหม่ และโยงใยไปถึงโจทก์ (ข่าวสด  12 ก.พ. 48)

15 ก.พ. – ศาลอาญา ยกฟ้องหนังสือพิมพ์บ้านเมือง กรณี พล.ต.อ. สันต์ ศรุตานนท์ อดีตผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ฟ้องคดีหมิ่นประมาท กรณีนำเสนอข่าวเรื่อง บิ้กตำรวจขี้หลีคุกคามทางเพศ ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์เป็นเวลานานกว่า 1 ปี โดยพาดพิงถึง พล.ต.อ. สันต์ ผู้เสียหาย (ข่าวสด  16 ก.พ. 48)

24 ก.พ. – ศาลยกฟ้องหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ กรณีนายเลี้ยง ลีลาธุวานนท์ ผู้บริหาร หจก. สายไฟไทยอุตสาหกรรม ฟ้องการเสนอข่าวการหลบเลี่ยงภาษีเงินได้บุคคลของหจก. สายไฟไทยอุตสาหกรรม (ประชาชาติธุรกิจ 24 ก.พ. 48)

24 มี.ค. – ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกฟ้องคดี พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ฟ้องหนังสือพิมพ์มติชน กรณี เสนอข่าวเงินกู้จากบริษัท เอเอเอสออโต้เซอร์วิส จำกัด จำนวน 45 ล้านบาท ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 43 (มติชน  25 มี.ค. 48)

21 พ.ค. – ร.อ. สุชาติ  เชาว์วิศิษฐ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นโจทก์ยื่อฟ้องหนังสือพิมพ์บ้านเมืองคดีอาญาฐานหมิ่นประมาท กรณีการตีพิมพ์เผยแพร่พาดหัวข่าวว่า “ส.ว.แฉอดีตบิ๊กคลังร่วมงาบทีพีไอ” เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 46 (มติชน 21 พ.ค. 48)

24 พ.ค. -คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งความคดีอาญา หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ กรณีการเสนอข่าว “จับตาคดี ปปช. โยงแก้รัฐธรรมนูญ” เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 48 (ข่าวสด 25 พ.ค. 48)

26 ก.ค. – นางเยาวเรศ  ชินวัตร ยื่นฟ้องหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ คดีอาญาฐานหมิ่นประมาท และคดีแพ่งฐานละเมิด  กรณีการเสนอข่าว นายอลงกรณ์  พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นำวีซีดี ของนายลักธพล กล่าวหารับสินบน 300 ล้านโครงการคาร์ปาร์ก  เรียกค่าเสียหายกว่า 500 ล้านบาทกับนายอลงกรณ์ และจะพิจารณาผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยเช่น หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ (ผู้จัดการรายวัน  27 ก.ค. 48)

27 ก.ค. – ศาลอาญากรุงเทพใต้ สั่งยกฟ้องคดี อดีตผบตร. สันต์ ศรุตานนท์ ฟ้องนายสนธิ  ลิ้มทองกุล และน.ส. สโรชา พรอุดมศักดิ์  ผู้ดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ กรณี กล่าวในรายการว่า ยุคที่โจทก์เป็นผบ.ตร. เป็นยุคที่ตำรวจละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุด โจทก์ไร้ประสิทธิภาพแต่งตั้งตำรวจโดยไม่ถูกต้อง ทำให้ตำรวจที่ได้รับแต่งตั้งไร้ประสิทธิภาพ ฯลฯ (ข่าวสด  28 ก.ค. 48)

15 ก.ค. – บริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ฟ้องหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ คดีแพ่งฐานหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 5,000 ล้านบาท กรณี การเสนอข่าว “สองแบงก์ไทยเจ้าหนี้บริษัท ปิดนิคสั่งปิดเครดิตไอ/ดี ส่งผลหุ้นใหญ่ควักเงินเพิ่มทุน 2 พันล้านบาท ส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทต้องตกลงมา” (มติชน 19 ก.ค. 48)

18 ก.ค. – บริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ฟ้องหนังสือพิมพ์มติชน คดีแพ่งฐานหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 10,000 ล้านบาท กรณี การพาดหัวข่าวว่า “ไขปริศนาธุรกรรมปิคนิค การเงินหรือกลการเมือง” (มติชน 19 ก.ค. 48)

17 ส.ค. – บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) (ทอท.) และบริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.)  ยื่นฟ้องหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ คดีแพ่งฐานละเมิดเรียกค่าเสียหาย  ประมาณ 1,000 ล้านบาทและคดีอาญาฐานหมิ่นประมาท เนื่องจากตีพิมพ์เผยแพร่ข่าวเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 48 ว่า รันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิร้าวแตกที่ใหญ่พอจะทำให้ล้อหน้าของเครื่องบินตกลงไปได้  (ไทยรัฐ  17 ส.ค., มติชน 3 ก.ย., ผู้จัดการรายวัน, ข่าวสด 16 ส.ค. 48 )

26 ส.ค. – สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง นางยุวดี  ธัญญสิริ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กรณี พล.ต.อ. สันต์  ศรุตานนท์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  ฟ้องร้องทั้งทางอาญาและแพ่ง  และทางทนายความฝ่ายนางยุวดี บอกว่าจะเอาคำสั่งนี้ไปแจ้งให้ศาลแพ่งรับทราบต่อไป (ข่าวสด, ไทยโพสต์   27 ส.ค. 48)

5 ส.ค. – ศาลอาญา อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องหนังสือพิมพ์ข่าวสด กรณีหนังสือพิมพ์ข่าวสดเสนอข่าว “หมอธนู  ธรรมสอน” ลวนลามคนไข้  ระหว่างวันที่ 7-23 ธ.ค. 2545 (ข่าวสด 6 ส.ค. 48)

19 ต.ค. – ศาลอาญาจังหวัดปราจีนบุรี อ่านคำพิพากษายกฟ้องคดีหนังสือพิมพ์ข่าวสด กรณีนายปัญญา วงศ์จินดาพรรณ  เป็นโจทก์ ฟ้องหนังสือพิมพ์ข่าวสด เสนอข่าว “คนไข้โวยหมดฉีดยาผิดเดินไม่ได้”  เมื่อวันที่  23 ต.ค. 44  (ข่าวสด 21 ต.ค. 48)

17 ส.ค. – นายประสงค์  เลิศรัตนวิสุทธิ์ รักษาการแทนนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ พร้อมด้วยนายตุลย์  ศิริกุลพิพัฒน์ บรรณาธิการอาวุโส หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน เข้ายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดผ่านทางเลขานุการอัยการสูงสุด กรณีการพิจารณาคดี พล.ต.อ. สันต์  ศรุตานนท์ อดีต ผบ.ตร. เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาจำเลยที่เป็นสื่อมวลชนรวม 17 คน ฐานร่วมกันให้ข่าว หรือให้ข้อมูลเรื่องนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่แสดงพฤติกรรมก้างล่วงต่อนักข่าวหญิงในระหว่างปฎิบัติหน้าที่ราชการหรือคดีบิ้กขี้หลี ซึ่งพนักงานอัยการเคยมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความเห็นแย้งให้สั่งฟ้อง เรื่องจึงต้องส่งมาให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาดในขั้นสุดท้าย (ผู้จัดการรายวัน 18 ส.ค. 48)

3 ก.ย. – พรรคไทยรักไทย ยื่นฟ้องหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ คดีแพ่งฐานละเมิด เรียกค่าเสียหาย 500 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี  กรณีตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ฉบับวันที่ 16 มิ.ย. 48 พาดหัวข่าว ทำให้คนอ่านอาจเชื่อว่าพรรคไทยรักไทยเป็นพรรคที่โกงกินบ้านเมือง ทุจริตคอรัปชั่น ฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นศูนย์รวมของคนไม่ดี ข่าวดังกล่าวเป็นเรื่องที่นายเสนาะ  เทียนทอง ที่ปรึกษาพรรคไทยรักไทย ไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (ไทยโพสต์  5 ก.ย. 48)

19 ก.ย. – ศาลยกฟ้องหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ  หนังสือพิมพ์บ้านเมือง  หนังสือพิมพ์คมชัดลึก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ กรณีนายสานนท์  ฉายเรืองโชติ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริม และพัฒนาการบริหารการจัดการสหกรณ์ สำนักงานสหกรณ์ จ.นครสวรรค์ และอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยภาคกลาง เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กรณี เสนอข่าวอจ.ข่มขืนศิษย์ได้ใจคำรามอึ๊บซ้ำบิดพลิ้วสอบตก” (เดลินิวส์  20 ก.ย. 48)

26 ก.ย. – นายสนธิ  ลิ้มทองกุล หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน)  ในความผิดคดีแพ่ง ฐานละเมิดเสียค่าเสียหาย 1 บาท กรณี ทางอสมท. ยกเลิกรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ โดยอ้างว่าพาดพิงถึงบุคคลภายนอกในลักษณะที่เป็นการกล่าวอ้างฝ่ายเดียว ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชนได้ (ผู้จัดการรายวัน 27 ก.ย. 48, ข่าวสด 24 ก.ย. 48)

25 ต.ค. – นายศิริโชค  โสภา ส.ส. สงขลา พรรคประชาธิปัตย์  ยื่นฟ้องหนังสือพิมพ์มติชน คดีอาญาฐานหมิ่นประมาท กรณีเสนอว่า การให้สัมภาษณ์ของนายพงศักดิ์  รักตพงศ์ไพศาล รมว. คมนาคม กล่าวว่า จับตาคนโกงชาติ ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับการทุจริตเครื่องตรวจระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000  (ไทยโพสต์ 26 ต.ค. 48)

22 ต.ค. – สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ฟ้องบริษัท เวิลด์สตาร์ทีวี จำกัด หรือสถานีโทรทัศน์ ทีทีวี ในปัจจุบัน ต่อศาลปกครอง เพื่อเรียกร้องให้จ่ายค่าคลื่นความถี่ให้กับ กทช. มูล 2.7 ล้านบาท เพราะหลังจากที่ได้รับสัมปทานเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ยังไม่ได้จ่ายค่าใช้คลื่นความถี่ ปีละ 9 แสนบาทแต่อย่างใด (มติชน 22 ต.ค. 48)

31 ต.ค. – พล.ต.อ. เสรีพิศุกธ์  เตมียาเวส จเรตำรวจแห่งชาติ ยื่นฟ้องนายสนธิ  ลิ้มทองกุล  และน.ส. สโรชา  พรอุดมศักดิ์  รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ในรายการกล่าวหาว่า ทำงานรับใช้พรรคประชาธิปัตย์ และการเมืองเพียงอย่างเดียว  ซึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 47 ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสามเนื่องจากคดีไม่มีมูล  (ผู้จัดการรายวัน  1 พ.ย. 48)

 

7 ต.ค. – พ.ต.ท. ทักษิณ  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสนธิ  ลิ้มทองกุล ผู้บริหารหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ร่วมกับ น.ส. สโรชา พรอุดมศักดิ์  พิธีกรรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ คดีอาญาฐานหมิ่นประมาท ฐานความผิดดูหมิ่นเจ้าพนักงาน  และคดีแพ่งฐานความผิดละเมิด  เรียกค่าเสียหาย จำนวน 500 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยระบุว่าจำเลยเป็นผู้ดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. วันที่ 9 ก.ย. 48  กรณีวิพากษ์ตั้งผู้ทำหน้าที่แทนสังฆราช และนำบทความ “ลูกแกะหลงทาง” มาเผยแพร่ ทำให้ได้รับความเสียหาย (ผู้จัดการรายวัน, ไทยโพสต์  4 ต.ค. 48)

10 ต.ค. – พ.ต.ท. ทักษิณ  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นโจกท์ยื่นฟ้องหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน คดีอาญาฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และคดีแพ่ง ฐานละเมิดเรียกค่าเสียหาย 500 ล้านบาท สืบเนื่องจากกรณีหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันเสนอข่าวเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 48 โดยอ้างคำเทศนาหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโนว่า พาดพิงถึงนายกรัฐมนตรี ทำนองว่าร้ายยิ่งกว่าพระเทวทัต และต้องการเป็นประธานาธิบดี (มติชน, ไทยโพสต์,  ผู้จัดการรายวัน 11 ต.ค. 48)

13 ต.ค. – นายสมัคร สุนทรเวช และนายดุสิต ศิริวรรณ ผู้ดำเนินรายการ วิทยุและโทรทัศน์ ยื่นฟ้อง 3 คดีอาญา หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์  คือ

คดีที่ 1 ได้ยื่นฟ้องนายเจิมศักดิ์  ปิ่นทอง  และหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ในคดีหมิ่นประมาท  กรณีนายเจิมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า หากรัฐบาลเห็นว่ารายการที่นายสมัครและนายดุสิต จัดเป็นรายการที่ดีก็คงไว้ แต่ควรให้เวลาคนที่มีความเห็นต่างกันจัดรายการออกอากาศบ้าง เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือก โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่ารายการดังกล่าว เป็นรายการที่เลวสุดๆ ขวาจัด ปลุกระดมให้คนใช้ความรุนแรงฆ่ากัน (ไทยโพสต์ 23 พ.ค. 48)

คดีที่ 2  ได้ยื่นฟ้อง น.ส.อัญชลี  ไพรีรัก ผู้สื่อข่าวและหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ คอลัมน์ “เล่าหลังไมค์” ตีพิมพ์เมื่อวันที่  1 ต.ค. 48 มีเนื้อหาระบุว่าโจทก์ทั้งสอง โจมตีผู้คัดค้านการนำเบียร์ และเหล้าเข้าตลาดหุ้น

คดีที่ 3  ได้ยื่นฟ้อง หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์  และนายประสาร มฤคพิทักษ์ จากบทความพิเศษ หัวข้อ “สุรนันทน์”ประสานเสียง “สมัคร – ดุสิต” (ไทยโพสต์, ข่าวสด 13 ต.ค. 48)

17  ต.ค. – นายสมัคร  สุนทรเวช และนายดุสิต  ศิริวรรณ นักจัดรายการทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และช่อง 9 อสมท. ยื่นฟ้องคดีอาญา หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 8-9 ต.ค. 48 หัวข้อเรื่อง “คนเดือนตุลารุมถล่ม “สมัคร-ดุสิต” บิดเบือนข้อมูลเหตุการณ์ 6 ตุลา มีญวนตายคนเดียวฝากถึงคนเดือนตุลาที่ได้ดิบได้ดีเป็นใหญ่เป็นโตในรัฐบาล เตือนปาก สมัคร-ดุสิต ทำลุกเป็นไฟ   (ผู้จัดการรายวัน 26 ต.ค. 48)

5 ต.ค. –ศาลอาญา ยกฟ้องคดี นางระเบียบรัตน์  พงษ์พานิช ส.ว. ขอนแก่น เป็นโจทก์ยื่นฟ้องหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน โดยใช้นามปากกาว่า “ยอดรัก ตะวันรอน” บทความเรื่อง ปัญหาเมืองไทยในวันนี้ไม่ได้อยู่ที่ผู้ชายมีเมียน้อย โดยกล่าวถึง “ศูนย์เสริมสร้างครอบครัวให้อบอุ่น” มีสโลแกนปัญญาอ่อนว่า “รวมกันเราอยู่ทิ้งกูมึงตาย” (ผู้จัดการรายวัน 6 ต.ค. 48)

6 ธ.ค. - พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ยุติฟ้องคดีสื่อ ทั้งแพ่งและอาญา กับนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน กับพวก ในความผิดฐานหมิ่นประมาทรวม 6 คดี เรียกค่าเสียหายทั้งสิ้น 2,000 ล้านบาท (คมชัดลึก  7 ธ.ค. 48)

 

20 ธ.ค. -นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์  อดีต หัวหน้าข่าวด้านความมั่นคงฟ้องบริษัทโพสต์  ยื่นศาลแรงงานกลาง ฟ้องบริษัทโพสต์ พับลิชชิง จำกัด(มหาชน) จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 นายเดวิด อาร์มสตรอง จำเลยที่ 2 และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัท โพสต์ พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) ซึ่งจดทะเบียนแล้ว เป็นจำเลยที่ 3 ในข้อหาการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เรียกค่าเสียหาย 13 ล้าน บาท ในการบรรยายฟ้องระบุว่าบริษัทโพสต์ เมื่อวันที่ 29 ส.ค.48 นายสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์  เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำหนังสือเลิกจ้าง โดยระบุเหตุในการเลิกจ้างว่า โจทก์กระทำการโดยประมาทเลินเล่อในการทำข่าว ด้วยการนำเสนอข่าวเรื่อง “รอยร้าที่รันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิ และมีการนำคณะผู้ชำนาญการจากประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามาตรวจสอบรอยร้าว ซึ่งผลการตรวจสอบยืนยันว่า มีความเสียหายอย่างมากถึงกับต้องก่อสร้างใหม่ เพราะเป็นหลุมใหญ่จนอาจเกิดอันตรายในการลงจอดของเครื่องบิน” ต่อที่ประชุมข่าว และมีการนำเสนอข่าวลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 6 และ 9 ส.ค.48

///////////////////////////////////////////

กระจกสะท้อนกระจก

วิทยุชุมชน

นายแก้วสรร  อติโพธิ ส.ว. กรุงเทพฯ ในฐานะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) กล่าวถึงกรณีนายสุรนันทน์  เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ จะเข้ามาควบคุมรายการวิทยุชุมชนในระหว่างที่ยังไม่มี กสช. รวมทั้งต้องการจัดระเบียบวิทยุชุมชนที่แสดงทรรศนะไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลว่า ถือเป็นการล่วงละเมิดอำนาจของรัฐธรรมนูญชัดเจน ตามมาตรา 39

“การที่ตำรวจเข้าตรวจสอบตึกที่ทำงานของคุณอัญชลี ไพรีรักษ์ ผู้จัดรายการเอฟเอ็ม 92.25 ถามว่าเอาอำนาจอะไรไปทำเช่นนั้น เพราะไม่มีหน้าที่โดยตรง มันไม่ใช่คดีอาญา แต่เป็นเรื่องของกรมประชาสัมพันธ์และกรมไปรษณีย์โทรเลขต้องรับผิดชอบ ไม่ควรปล่อยให้ตำรวจไปรังควานกันแบบนี้ ที่สำคัญการที่ทรัฐมนตรีทำทะเล่อทะล่าเที่ยวไปพุดว่าจะจัดระเบียบปิดหูปิดตาสื่อนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องดำเนินคดีได้ ซึ่งสรุปแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องของคนรุ่มร่าม บ้าอำนาจโดยแท้”

“ท่านสุรนันทน์ เป็นคนหนุ่มน่าจะเข้าใจเรื่องสิทธิของสื่อ หากจะทำเรื่องวิทยุชุมชนต้องจับทางให้ถูก ศึกษาให้ดี จะได้เป็นเรื่องวิทยุชุมชนต้องจับทางให้ถูก ศึกษาให้ดี จะได้เป็นผลงานของท่านด้วยโดยเฉพาะการเข้าไปควบคุมวิทยุชุมชนที่กระทำผิดรัฐธรรมนูญ สมควรอย่างยิ่ง เพราะทราบว่าขณะนี้มีนักกาเมืองเข้าไปมีผลประโยชน์กับวิทยุชุมชนแล้วกว่า 1000 สถานี”

น.พ. นิรันดร์  พิทักษ์วัชระ ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา กล่าว (เดลินิวส์  15 เม.ย. 2548)

 

สื่อถูกครอบจากทุนนิยม

“สื่อจำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐาน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับสื่อทุกแขนง เมื่อใดที่สื่อมีครบทุกอย่างคือ ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ เมื่อนั้นก็จะทำให้สื่อเกิดปัญญาและอยากให้พึงระลึกไว้เสมอว่าความรู้ในการใช้ข้อมูลคืออำนาจที่แท้จริง และเมื่อสื่อสนใจเฉพาะ Real time เมื่อนั้นจึงทำให้ประชาชนก็จะสนใจ เฉพาะ Real time เช่นกัน สื่อเป็นเช่นไร สังคมก็เป็นเช่นนั้น

โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ที่มีเวลาจำกัดในการนำเสนอ เพราะเนื่องจากอาจจะทำให้รายได้ในการขายโฆษณาลดลง ปัจจุบันสื่อถูกจำกัดด้วยความไม่เข้าใจ Real timeกับภาพรวมทั้งหมด และจากเหตุปํจจัยเงื่อนไขทางธุรกิจ และสื่อเองกำลังเจอกับวิกฤตมหาศาลสื่อในทุกวันนี้จึงต้องมีทางเลือกซึ่งก็คือ ทางอินเทอร์เน็ต และสื่อที่เกิดขึ้นในวิทยุชุมชน แต่ต้องอาจจะใช้เวลายาวนาน”

สนธิ  ลิ้มทองกุล  ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน  (ผู้จัดการรายวัน 31 มี.ค. 48)

นายประสงค์  เลิศรัตนวิสุทธิ์ จากหนังสือพิมพ์มติชน  กล่าวว่า “สื่อทุกวันนี้มักถูกต่อว่าในเรื่องของการละเมิดสิทธิเด็กที่ชอบเสนอข่าวเด็กถูกข่มขืน หรืออะไรก็แล้วแต่แล้วนำภาพเด็กคนนั้นมาออก แต่เหตุที่สื่อต้องทำเช่นนั้น เพราะสังคมเป็นตัวกำหนด เพราะสังคมไทยไม่ชอบอะไรที่ซับซ้อน ไม่ชอบใช้ความคิด แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ข่าวที่ออกมาเผยแพร่ให้ทราบในทุกวันนี้ยังเป็นแบบฉาบฉวยไม่เจาะลึก ประชาชนก็จะได้บริโภค แต่เพียงสิ่งที่สื่อนำเสนออย่างนั้น แต่สื่อก็ไม่กล้าที่จะสวนกระแสพลังของมวลชน ซึ่งจะเห็นได้จากการเลือกตั้งสส. ที่ผ่านมา (ผู้จัดการรายวัน 31 มี.ค. 48)

 

สื่อนอกมองเสรีภาพสื่อไทย

“สภาวะเสรีภาพของสื่อมวลชนในประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่ 59 กระเตื้องขึ้นจากการสำรวจเมื่อปี 2546 ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 82 และถือว่าเป็นประเทศที่มีเสรีภาพมากที่สุดในกลุ่มอาเซียน  แต่หากนับรวมทั่วเอเชียเสรีภาพสื่อในไทยยังเป็นรองฮองกง (อันดับที่ 34) ญี่ปุ่น (42) และเกาหลีใต้ (48) อยู่อีกมาก

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในแง่ของภาพรวม เสรีภาพสื่อมวลชนไทยในสายตาของอาร์เอสเอฟยังคงอยู่ในสภาพถูกจำกัด และกลายเป็นแนวโน้มคล้ายคลึงกันทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีแนวโน้มไปทางอำนาจนิยมเมื่อพิจารณาในแง่ของการควบคุมสื่อจนกลายเป็นเรื่องน่าผิดหวังมากที่สุด”

สำนักงานองค์การผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (อาร์เอสเอฟ)  (มติชน 16 เม.ย. 48)

“กรณีสื่อทั้งวิทยุและโทรทัศน์ ต้องรอ กสช. ว่าจะเข้ามาจัดการอย่างไรการจัดทำแผนแม่บทจะถูกกำหนดอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนเราหวังให้ กสช. ซึ่งจะเป็นจิ๊กซอชิ้นสุดท้ายเข้ามาทำตรงนี้ แต่ตอนนี้ต้องหยุดไม่ให้หน่วยงานของรัฐไปทำข้อตกลงที่จะเป็นการทำให้ กสช. ต้องทำงานยาก สิ่งสำคัญของการปฎิรูปสื่อคือสื่อเองจะต้องไม่ยอมรับให้การแทรกแซงสื่อกลายเป็นวัฒนธรรม อย่างกรณีเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกปิดกั้นข้อมูลข่าวสารอย่างมาก”

นายอภิสิทธิ  เวชชาชีวะ  ผู้นำฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์ (กรุงเทพธุรกิจ 4 พ.ค. 48  “วันเสรีภาพสื่อโลก 3 พค. 48)

โต้มุมมองรัฐไม่ถูกต้องต่อวิทยุภาษามลายู

นายสุรนันท์  เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า หน่วยงานรัฐได้เฝ้าจับตาวิทยุท้องถิ่นภาคภาษามลายูอยู่ด้วยว่า จัดรายการมีเนื้อหาสาระไปในทิศทางที่หมิ่นเหม่ต่อความมั่นคง หรือไม่ แต่ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงรายการหรือเนื้อหาสาระ เนื่องจากทุกวันนี้มีรายการวิทยุชุมชนอยู่ในพื้นที่ เป็นจำนวนมาก จึงต้องคอยดูและตรวจสอบจนกว่าคณะกรรมการกิจการ กสช. จะเข้ามารับผิดชอบในส่วนนี้

(มติชน 29 กย. 48)

“หากรัฐจะเข้าตรวจสอบรายการวิทยุภาษามลายูโดยมองว่าบางคลื่นเป็นการยั่วยุให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่นั้นเป็นการะแวงเกินไปและเป็นมุมมองที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่เกิดจากภาษา แต่เกิดจากสามัญสำนึกของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ก่อความไม่สงบเท่านั้น

ถ้ารัฐมัวแต่คิดว่ารับไม่ได้กับภาษาที่ 2 ที่เป็นภาษามลายู ผมคิดว่าเป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะในสังคมย่อมมีความหลากหลาย อย่าว่าแต่ภาษามลายู ภาษาจีนก็น่าที่จะสามารถจัดรายการได้ ฉะนั้นรัฐควรจะเข้ามาส่งเสริมเพราะเป็นการเพิ่มความรู้ให้กับชาวบ้าน อย่าปิดกั้นการรับรู้ของชาวบ้าน”

นายสุขเกษม  จารงค์ นักจัดรายการวิทยุภาษามลายูใน จ.ยะลา (มติชน 29 กย. 48)

กสช.

นายประวิทย์  มาลีนนท์ กรรมการ รองผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 กล่าวว่า การที่ยังไม่มีกสช. และกฎ กติกา เรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ขณะที่เทคโนโลยีได้ก้าวล้ำหน้า ทำให้ผู้ประกอบการใช้ช่องว่างของกฎหมายขยายธุรกิจสื่อด้านต่างๆ จำนวนมาก ทั้งโทรทัศน์ดาวเทียม วิทยุชุมชน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจของผู้ประกอบการฟรีทีวี ที่ถูกจำกัดการขยายตัวด้วยระเบียบ ขณะที่ผู้ประกอบการที่ไม่อยู่กฏกติกา กลับขยายธุรกิจได้ทุกด้าน จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการทีวีถูกต้องทุกรายเสียโอกาส  (กรุงเทพธุรกิจ  27 ส.ค. 48)

คดี คปส.

“ยืนยันว่าการที่บริษัทชินคอร์ปยื่นฟ้องตนเองทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง เรียกค่าเสียหาย 400 ล้านบาท ทำให้ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพการแสดงความเห็น รวมทั้งความมั่นใจความมุ่งมั่นของตนที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบการปฎิรูปสื่อ ซึ่งหลังจากมีการฟ้องคดีแล้วส่วนใหญ่สื่อจะต้องเซ็นเซอร์ตัวเองที่ส่งผลให้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของตนพอสมควร”

น.ส. สุภิญญา กลางณรงค์  เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฎิรูปสื่อ (คปส.) กล่าว (การสืบพยานจำเลยคดี บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ไทยโพสต์ 2 ต.ค. 48 )

รายการเมืองไทยรายสัปดาห์

จากกรณี พ.ต.ท. ทักษิณ  ชินวัตร ออกมาฟ้องร้องนายสนธิ  ลิ้มทองกุล ผู้ดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ จำนวนเงิน 500 ล้านบาท มีผลทำให้นายสนธิออกมาท้าพบพ.ต.ท. ทักษิณ ในศาล

สนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวว่า “ในที่สุดแล้วการฟ้องร้องครั้งนี้ทำให้ทราบว่าคนที่ปิดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ แท้ที่สุดแล้วน่าจะเป็นท่านนายกรัฐมนตรี ประหลาดใจเหมือนกันที่ว่าทำไมนายกฯ ไม่ฟ้อง อสมท. ด้วยและน่าจะตั้งกรรมการสอบ อสมท. ด้วยที่ปล่อยให้รายการนี้ออกไป

“นายกฯ ก่อนลงเลือกตั้ง และ 10 วันก่อนลงคะแนนไปกินก๋วยเตี๋ยวที่บ้านผม ขอร้องให้ช่วย โดยบอกว่าอยากมาช่วยชาติ เพราะรวยแล้วไม่โกง ปีแรกซุกหุ้น ผมก็ช่วย ไม่ได้ช่วยคนเดียว หลวงตามหาบัวก็ออกมาช่วย ล่ารายชื่อได้ล้านกว่าคน ปีที่ 2 เป็นการควบรวมพรรค ปีที่ 3 ลายต่างๆ เริ่มออกในเดือน ส.ค. 47 ผมฝืนมโนธรรมไม่ได้ เลยต้องออกมาวิพากษ์วิจารณ์” นายสนธิกล่าว  (ไทยโพสต์, ข่าวสด 5 ต.ค. 48)

 

เมื่อมีนักข่าวถามนายกรัฐมนตรีว่า กรณีฟ้องนายสนธิ เป็นการใช้อำนาจศาลมาปิดปากคนที่ออกมาวิจารณ์รัฐบาลหรือไม่ พ.ต.ท. ทักษิณ ย้อมถามกลับว่า “เข้าใจสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ คือคนเราจะมีสิทธิก็ต้องไม่ละเมิดสิทธิคนอื่น ถ้าคนอื่นมีความรู้สึกว่าถูกละเมิดเขาก็สามารถใช้ศาลยุติธรรม ป้องกันสิทธิของเขา เป็นเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล ศาลสถิตยุติธรรมจะเป็นคนชี้ขาดว่าใครละเมิดใคร เป็นเรื่องในระบบกระบวนการยุติธรรมไม่มีใครมีอภิสิทธิ์หรือ ฐานันดรพิเศษ (มติชน 7 ต.ค. 48  “นายกฯพบสื่อมวลชน”)

 

ดร. เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า จากที่ได้ติดตามเนื้อหาสาระรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ เชื่อว่าการแสดงความคิดเห็นของนายสนธิ ไม่สามารถทำให้ประชาชนรู้สึกเกลียดชัง หรือเข้าใจผิดรัฐบาลได้เพราะคนฟังรายการเป็นประจำนั้นส่วนใหญ่จะเป็นที่คิดเห็นในลักษณะเดียวกันคือ มีความสงสัยในการบริหารงานของรัฐ  แม้คนที่ไม่เคยฟังแล้วเพิ่งจะสนใจรับฟังนั้นก็จะเชื่อว่าจะไม่เกิดความรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังรัฐบาล แต่จะเกิดความอยากรู้ว่าสิ่งที่นายสนธิพูดนั้นตกลงเรื่องจริงเป็นอย่างไร คืออยากจะพิสูจน์ว่าแล้วที่ถูกต้องชอบธรรมนั้นเป็นอย่างไร (ผู้จัดการรายวัน 5 ต.ค. 48)