ชน กับคนก่อกรรม ชั่วร้าย
ประชา ต่างธงนำ เรามุ่ง
ชาติ นพคุณถ่อยป้าย เปรอะขึ้นเงาเสมอ{/xtypo_quote}
พร้อมกับภาพปั้นนักรบขี่ม้าถือทวน คือปากกา และสวมมงกุฎประดับด้วยปากกา กำลังฆ่า กิเลส ที่เกาะกุมโลก โดยเปรียบเทียบเป็นรูปอสูร 3 หัว ให้หมายถึง ความโลภ-โกรธ-หลง ฝีมือปั้นของ ธวัชชัย ศรีสมเพ็ชร ออกแบบโดย ช่วง มูลพินิจ ในชื่อว่า นักรบที่แท้จริง
ทั้งคำประพันธ์ และการออกแบบภาพปั้นนี้ จุดประสงค์เตือนใจสื่อสารมวลชน คนทำงานข่าว เพื่ออธิบายว่า โลกถูกเกาะกุมด้วยศัตรูของมนุษยชาติคือ กิเลส จนพ่ายแพ้มาตลอด เพราะปล่อยให้มันเจริญขึ้นมาโดยไม่มีขีดจำกัด
มวลมนุษย์จึงต้องร่วมมือกันเอาชนะศัตรูที่แท้จริงคือ กิเลส เพื่อความอยู่รอดและทดแทนคุณโลกอันประเสริฐนี้ โดยการนำของ นักรบที่แท้จริง คือหนังสือพิมพ์ ผู้ต่อสู้และปลดปล่อยโลกจากอำนาจกิเลส เพื่ออิสรภาพที่แท้จริงของมวลมนุษย์
บทประพันธ์และภาพปั้นนี้เอง เป็นการแสดงจุดยืนของขรรค์ชัย บุนปาน ซึ่งฝักใฝ่ในพุทธธรรม นำมาสู่การแสดงจุดยืนบนพื้นฐานแนวคิดการทำหนังสือและหนังสือพิมพ์ว่า หนังสือมันมีชีวิต มีวิญญาณ ดังนั้น ในการทำหนังสืออย่าไปหลอกคน ต้องนำเสนอสิ่งที่ดี ที่ถูกต้อง เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ การหลอกหรือความฉาบฉวยทั้งหลายต้องไม่ทำ ... อย่าหลอกตัวเอง อย่าหลอกผู้อื่น ต้องเน้นคุณภาพ ด้วยการไม่เอาประโยชน์เข้าตัวเอง
จุดหนึ่ง อันเป็นจุดเด่นของขรรค์ชัย คือ เขาไม่ได้อยู่ที่การพร่ำพูด หรือการเขียนเพื่อถ่ายทอดแนวคิด หากแต่ในสายตาของผู้ร่วมงาน ขรรค์ชัยพูดเสมอว่า คนมติชนทุกคนต้องเป็นนักข่าว แม้แต่ตัวเขาเองยังทำหน้าที่เสาะแสวงหาข่าวอยู่ตลอดเวลา ทั้งนัดพบแหล่งข่าว เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็น ติดตามข้อมูลข่าวสารด้านต่างๆ แต่ละครั้งจะชวนนักข่าวไปร่วมด้วยเสมอ เป็นการแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า ขนาดประธานก็ยังต้องทำหน้าที่หาข่าวอยู่เสมอ เป็นจุดที่ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ รองประธานกรรมการบริษัท มติชน กล่าวไว้
ทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบของแต่ละคน จะกำหนดรายละเอียดในการสร้างองค์กร ต้องทำให้ทุกคนมีความสำนึกในความเป็นเจ้าของร่วมกัน อยากให้ทุกคนบอกกับตัวเองว่า อะไรก็ตามที่เรารัก เราศรัทธาและรู้สึกเป็นเจ้าของ เราจะหวงแหน และทะนุถนอมมัน
ลักษณะพิเศษของขรรค์ชัย ไม่เพียงถ่ายทอดความคิดผ่าน คำพูด หรือ การสั่งสอนแบบครู วิทยากร หรือผู้สอนงาน หากแต่แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณ ผ่านวัตรปฏิบัติ โดยเป็นแบบอย่างในทุกด้านได้ ด้วยการกระทำ จนกลายเป็น ตัวแบบที่ผู้ร่วมงานในบริษัท มติชน เกิดความศรัทธาในการปฏิบัติที่สม่ำเสมอ
ย้อนอดีตกลับไปดูหนทางเติบโตของหนังสือพิมพ์มติชน สู่การรับรู้ถ่ายทอดให้กับสังคม ด้วยก้าวแรกของการรวมตัวก่อตั้งด้วยคนหนุ่มกลุ่มหนึ่ง และแกนหลักคนสำคัญคือ ขรรค์ชัย บุนปาน ซึ่งเล่าถึงจุดเริ่มต้นย้อนหลังไป 30 ปีว่า ต้นกำเนิดของมติชนนั้นน่าพิศวงอย่างยิ่ง คือปี2519 ถูกนายสมัคร สุนทรเวช สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยึดหัวหนังสือพิมพ์ รวมประชาชาติไป แล้วก็ไม่ได้คืนมาเลย
ต่อมาเดือนมกราคม 2521 ภายหลังวิกฤตการณ์ทางการเมือง 6 ตุลาคม 2519 ราวปีเศษ ขรรค์ชัย ซึ่งมีเงินอยู่ในบัญชี 80,000 บาทเท่านั้น ก็ตัดสินใจออกหนังสือพิมพ์รายวัน แนวการเมืองตามความตั้งใจใช้ชื่อว่า มติชน พิมพ์และวางจำหน่ายฉบับแรกในเช้าวันที่ 9 มกราคม 2521
ปัจจุบัน บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กลายเป็นองค์กรสื่อมวลชนที่มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร ความคิด ความเห็นทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม มีผลต่อการับรู้ข่าวสารอย่างกว้างขวาง
แม้ว่า ขรรค์ชัย บุนปาน ไม่ใช่นักธุรกิจที่มีประสบการณ์ด้านการค้ามาก่อน เริ่มต้นดำเนินธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ โดยไม่มีแหล่งเงินทุนสนับสนุนอย่างหนาแน่น หากแต่ขรรค์ชัย บุนปาน พัฒนาเติบโตมาจากนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และสามารถก่อตั้งหนังสือพิมพ์ พัฒนาองค์กรหนังสือพิมพ์ขึ้นมาจากความยากลำบาก ขณะเดียวกันสามารถปลูกฝังแนวความคิดเกี่ยวกับวิชาชีพสื่อมวลชน สามารถดำรงความมีอิสระ และความเป็นกลาง จนมติชนได้รับความเชื่อถือ เติบใหญ่ มีความมั่นคง และได้รับการยอมรับในฐานะองค์กรวิชาชีพสื่อจากสังคม
ขรรค์ชัย ได้รับการยอมรับจากสังคม โดยได้รับรางวัล เกียรติคุณ 100 ปีศรีบูรพา สาขานักหนังสือพิมพ์
ปัจจุบัน บริษัท มติชนฯ ได้ขยายเครือข่ายด้านสื่อสิ่งพิมพ์เพิ่มขึ้นหลายฉบับ เพื่อตอบสนองกลุ่มเป้าหมายหลากหลาย ด้วยการดำเนินในฐานะ สื่อที่มีคุณภาพ ที่ให้ข้อมูล ความรู้ เป็นเวทีความคิดเห็น และมีความเป็นกลาง ทำให้เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ความเป็นครู (นักข่าว) ต้องเริ่มจากการมองแก่นความคิดของขรรค์ชัย บุนปาน ซึ่งเขาเป็นผู้ไม่นิยมปรากฏตัวในงานสังคมนัก แต่แวดวงนักอ่านรู้จัก ขรรค์ชัย บุนปาน มากว่า 40 ปี ในฐานะนักประพันธ์
ครั้งหนึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี และเจ้าของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ อันโด่งดังในยุคหนึ่ง เคยเขียนถึง ขรรค์ชัย ตีพิมพ์ในหน้า 5 ของสยามรัฐรายวัน ฉบับวันที่ 31 พฤษภาคม 2514 ว่า เรื่องของคนหนุ่มสองคนคือ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ และคุณขรรค์ชัย บุนปาน เรียนหนังสือด้วยกัน ทำงานด้วยกัน เขียนหนังสือด้วยกัน แยกกันออกไม่ได้ เหมือนหม้อข้าวกับฝาละมี เหมือนน้ำกับปลา ลอเรลถึงไหน ฮาร์ดี้ถึงนั่น เขียนหนังสือแล้วพิมพ์เป็นเล่มก็พิมพ์พร้อมๆ กัน ออกจำหน่ายพร้อมกัน ส่งมาให้อ่านพร้อมกัน เมื่อนึกอยากจะให้วิจารณ์ ก็ต้องวิจารณ์ให้พร้อมๆ กัน น่ากลุ้มใจ....
งานเขียนของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ชิ้นนี้ วิเคราะห์ขรรค์ชัยและสุจิตต์ไว้ด้วยทำนองหยอกล้ออย่างมีเมตตาว่า เท่าที่สังเกตดู หนุ่มเหน้าทั้งสองคนนี้ ต่างคนต่างก็เป็นตัวของตัวเอง อุปนิสัยใจคอก็แตกต่างกัน ต่างคนต่างก็สร้างสรรค์ แต่เพราะเหตุไฉน จึงต้องมาผูกตัวเองไว้ด้วยกัน เป็นธูปดอกหนึ่ง เทียนดอกหนึ่ง
ผลงานเขียนของขรรค์ชัย มีนิยายเรื่อง หนี กวีนิพนธ์ ชื่อ นิราศ
ขรรค์ชัย มีคุณลักษณะของนักหนังสือพิมพ์สมัยเก่า นั่นคือ มีความกระตือรือร้นจะถ่ายทอดความคิดผ่านงานประพันธ์ ใช้งานประพันธ์ และหนังสือพิมพ์ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเป็นธรรม มีความใฝ่ฝันจะทำหนังสือพิมพ์รายวันมาตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม
เขาไม่ได้คิดเพียงแต่สร้างงานประพันธ์ แต่งานประพันธ์หรืองานเขียน เป็นเสมือนรากฐานความเป็นนักหนังสือพิมพ์ของเขา ในขณะที่บริบททางสังคมการเมืองยุคนั้นค่อนข้างปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น ทำให้ผู้มีจิตใจรักความเป็นธรรม นักศึกษาปัญญาชน นิยมใช้งานเขียนเป็นช่องทางทวงถามหาเสรีภาพ และความเป็นธรรมในสังคม
เฉกเช่นนักประพันธ์หลายคนในยุคก่อนหน้านั้น เมื่อก้าวไปถึงจุดหนึ่งจะพบว่า งานประพันธ์มีข้อจำกัด ในการสื่อสาร จำนวนไม่น้อยจึงก้าวไปทำหนังสือพิมพ์ เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์ เจ้าของนามปากกา ศรีบูรพา อิศรา อมันตกุล ทวีป วรดิลก หรือ ทวีปวร สุวัฒน์ วรดิลก หรือ รพีพร
ขรรค์ชัย เคยตอบคำถามในฐานะประธานกรรมการบริษัท นอกจากวางนโยบายแล้ว สิ่งที่ลงไปคลุกจริงๆ คือเรื่องอะไร เจ้าตัวตอบว่า เรื่องที่ลงไปคลุกจริงๆ คือ จิตใจ เลือดเนื้อ วิญญาณ ความรักและความศรัทธาในการทำหนังสือพิมพ์
อย่าไปทำงานเพื่อรางวัล เพราะรางวัลที่สำคัญของชีวิตคือ การได้ทำหน้าที่ที่เรารัก หากเรารักในงานที่ทำ เราจะหวงแหนมัน จะทำด้วยความมุ่งมั่นและศรัทธา ส่วนความสำเร็จเป็นเพียงผลพลอยได้ นั่นคือคำตอบที่ขรรค์ชัย ให้สัมภาษณ์ เมื่อครั้งได้รับรางวัลเกียรติคุณ 100 ปีศรีบูรพา เมื่อ 4 พฤศจิกายน 2548.