ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์

วรรคทองที่ว่า  ผมพร้อมที่จะเป็นไดโนเสาร์ที่ตายในยุคของการสูญพันธุ์ ดีกว่าจะเป็นไดโนเสาร์ที่รอดชีวิต... เพราะวิวัฒนาการมาเป็นเหี้ย 

  เป็นประโยคสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของ  ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ ในยามที่เขาต้องเลือกระหว่างการดำรงรักษาตัวตนในฐานะสื่อที่มีอิสรภาพ และอุดมการณ์ของการทำหน้าที่สื่อสารมวลชน กับการเอาตัวรอดเพื่อรักษาธุรกิจสื่อหนังสือพิมพ์ที่เขาปลุกปั้นผลิตออกมาสู่สาธารณะในชื่อ  หนังสือพิมพ์อาทิตย์ 

     ระยะเวลามากกว่า 30 ปีในอาชีพแวดวงคนทำข่าว เป็นประสบการณ์ชีวิตที่ทำให้ทุกวันนี้ ชัชรินทร์สรุปบทเรียนชีวิตคนทำข่าวของเขาไว้ว่า

{xtypo_quote}ชีวิตนักข่าวไม่ใช่ให้แค่ความรู้เรา แต่มันกลับมาที่เรา มันทำให้เราเข้าใจตัวเอง ยิ่งถ้าเป็นนักข่าวตลอดชีวิต มันยิ่งทำให้เราได้เรียนรู้ ได้ศึกษา อย่ามองข่าวเป็นเรื่องการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว   เพราะจริงๆ แล้ว การทำข่าวจะนำเราไปสู่ข่าวตลอดชีวิต และสู่เรื่องศาสนา{/xtypo_quote}

    ชัชรินทร์ให้ข้อคิดสำหรับคนทำข่าวปัจจุบันไว้ด้วยว่า อาชีพนักข่าว สิ่งสำคัญคือการหยิบใช้ และสูงสุดก็คือ แง่มุมมอง

     ส่วนเส้นทางชีวิตคนทำข่าวของชัชรินทร์ที่เขาบอกว่า ทั้งระหกระเหิน และทำได้หมดทุกอย่าง เป็น around the world เกิดจากนักข่าวผู้นี้ทำมาแล้วในทุกหน้าที่ของกระบวนการผลิตหนังสือพิมพ์

     ตั้งแต่นักข่าวทั้งสายบันเทิง ตำรวจ การเมือง ข่าวต่างประเทศ ทำมาทุกตำแหน่งทั้งหัวหน้าข่าว รีไรเตอร์ บรรณาธิการ เจ้าของหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการฝ่ายโฆษณา จัดจำหน่าย แถมประสบการณ์ในคุกอีก 3 ครั้ง

     ประสบการณ์ around the world ทำให้ชัชรินทร์พูดได้ว่า ถึงจะมีสถานะแบบไหนในหนังสือพิมพ์ เขาก็อยู่คู่กับข่าวมาตลอด แม้กระทั่งทุกวันนี้ ชัชรินทร์ยังติดตามข่าวสารทั้งในประเทศ ต่างประเทศ และในทุกแวดวง ยังเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และจัดรายการวิทยุ

     แต่เมื่อย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นการเข้ามาทำงานข่าวของชัชรินทร์ เขาบอกว่า เกิดจากการสร้างงานเขียนทั้งในรูปแบบกลอน เรื่องสั้น สารคดี และบทความ ส่งลงตีพิมพ์ตามหนังสือพิมพ์ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ นิตยสารและหนังสือต่างๆ

     กระทั่งมีคนเห็นแววจึงชักชวนมาทำงานในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาชาติ โดยการก่อตั้งของขรรค์ชัย บุนปาน

      ช่วงของการเป็นนักข่าวจริงๆ ของเราเริ่มจากการเป็นนักข่าวบันเทิง เขามอบหมายให้ทำหน้าบันเทิงของหนังสือพิมพ์ประชาชาติ รู้สึกจะเป็นหน้า 13 โดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติสมัยนั้น ก็คือหนังสือพิมพ์มติชนในปัจจุบันในยุคสมัยก่อน 6 ตุลาคม 2519

    ต่อมาเมื่อทำข่าวหน้าบันเทิงได้สักพัก ผู้ใหญ่ในกองบรรณาธิการประชาชาติคิดบุกเบิกทำข่าวสายตำรวจที่ออกไปในแนวทางด้านการเมือง ซึ่งทำให้ชัชรินทร์ได้โยกย้ายจากนักข่าวบันเทิงสู่นักข่าวสายตำรวจเป็นครั้งแรก

{xtypo_quote}ตอนนั้น หนังสือพิมพ์ประชาชาติอยากทำข่าวกรมตำรวจ สันติบาล ที่เกี่ยวกับการเมือง  เขาจึงหยิบเราจากโต๊ะข่าวบันเทิงไปอยู่ที่กรมตำรวจ เป็นคนแรก เราเลยเรียกตัวเองว่า around the world เพราะเราทำได้หมด คือก่อนมาเป็นนักข่าว เราก็เขียนกลอน เรื่องสั้น วาดรูปด้วย {/xtypo_quote}

    บรรยากาศและสภาพแวดล้อมของการทำงานข่าวในยุคสมัยปี 2519 ในห้วงเวลาสำคัญทางประวัติศาสตร์สังคมการเมืองไทย ชัชรินทร์เป็นนักข่าวที่อายุน้อยที่สุดคนหนึ่งที่ได้สะท้อนวิธีคิดและการทำงานหนังสือพิมพ์ในยุคสมัยนั้นว่า

     ตอนนั้นเราอายุ 19 ปี ในปี 2519 เราทำงานด้านนี้มาตั้งแต่อายุ 17 ปี ทำงานตอนนั้นก็สนุก คนส่วนใหญ่ในกองบรรณาธิการเป็นคนหนุ่มหมด เป็นคนทำงานหนัก  ทุกวันเวลา  8 โมงเช้า หัวหน้าข่าวก็มาที่สำนักพิมพ์แล้ว และอยู่ไปจนถึงปิดข่าว ราวตี 1 หรือ ตี 2

      หลังปิดข่าวเรามักไปกินข้าวต้มกันต่อ หรือไม่ก็ดื่มเหล้ากัน ระหว่างดื่มเหล้าก็พูดคุยเรื่องข่าวสาร และทำให้พวกที่อยู่กรมตำรวจรู้ว่า พวกที่อยู่ในทำเนียบรัฐบาล คิดอะไรกัน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน การคุยเรื่องส่วนตัวเจ๊าะแจ๊ ทั่วไปจะไม่ค่อยมี

     บางทีบรรณาธิการรุ่นใหญ่ๆ เขาก็มีเพื่อนที่เป็นนักวิชาการ เป็น ดอกเตอร์ มาคุยด้วย เช่น อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เราก็มีโอกาสรับฟังเรื่องราวแปลกๆ ใหม่ๆ ทำให้เราได้ around the world

     คนทำข่าวยุคก่อนไม่มีสิทธิเลือกสายข่าวหรือโต๊ะข่าว ซึ่งอาจจะต่างจากนักข่าวยุคปัจจุบัน แต่ยุคก่อน  การทำข่าวไม่มีสิทธิเลือก งานเป็นคำสั่ง เหมือนกับทหาร แล้วเราก็รู้สึกดีด้วยซ้ำ เพราะแท้จริงแล้ว งานข่าวเป็นงานที่ต้องใช้วินัย มากกว่าจะใช้ประชาธิปไตย ซึ่งมันค่อนข้างจะมีการรวมศูนย์อยู่ในตัว และเราก็รู้สึกว่า มันเป็นผลดี ที่ทำให้เราเติบโต ทำให้เรานำเอาวิธีนั้นมาใช้ในงานข่าว

     ในยุคนั้น เราต้องทำได้ทุกอย่าง สมมติว่า แม้เราจะอยู่ที่กรมตำรวจ แต่ถ้าเขาขาดนักข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล เราก็ต้องไปทำข่าวที่ทำเนียบด้วย ถ้าขาดที่กระทรวงศึกษาธิการเราก็ต้องไปที่กระทรวงศึกษาฯ

      ส่วนการติดตาม ประเด็นข่าวในยุคก่อน สำหรับเราแล้ว มันไม่ได้ยากมากนัก เช่น ที่สำนักพิมพ์เขาจะเล่าพื้นฐานนิดเดียว เราก็ไปต่อได้ นั่นเป็นเพราะเราได้รับการฝึกฝน เพราะวิธีการอ่านของนักข่าว มันดีกว่าการอ่านของนักอ่านทั่วไป อย่างวิธีการสั่งงานทำข่าวของไพบูลย์ วงษ์เทศ เขาแค่โยนแฟ้มให้เรา 1 แฟ้ม แล้วก็ไปหาเอง ในช่วงเวลาก่อนการสัมภาษณ์ไม่กี่ชั่วโมง ด้วยวิธีนี้ทำให้เกิดการฝึกที่จะอ่านได้เร็ว และหยิบประเด็นได้เร็ว มันก็พัฒนามาเรื่อย และจากแฟ้มหนาๆ นั้น เราก็สามารถรวบและหยิบประเด็นออกมาได้

     ยุคที่เราทำงานที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติช่วงเริ่มต้น มีนักข่าวทั้งหมดประมาณ 10 คน ขณะที่ไทยรัฐอาจจะมีคนมากกว่าประมาณ 5 เท่า แต่หนังสือพิมพ์ประชาชาติในยุคสมัยนั้น ถือว่ามีอิทธิพลสำหรับคนรุ่นใหม่อยู่ไม่น้อย และทำงานค่อนข้างหนัก

{xtypo_quote}คนรุ่นเก่าๆ อย่างเช่น พี่ป๋อง (พงษ์ศักดิ์ พยัควิเชียร) แกใช้ได้ทีเดียว ในการสร้างระบบ และน่าจะเรียกได้ว่า ทันสมัยที่สุดในกลุ่มหนังสือพิมพ์ทั่วไป มีคนอย่างไพบูลย์ วงษ์เทศที่ถือว่าเป็นสุดยอดของหัวหน้าข่าวที่เราเคยเจอมาในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการคิดประเด็นข่าว การคิดแง่มุมต่างๆ รวมทั้งความขยัน ความเอาจริงเอาจังในการทำงานข่าว เราก็โดนฝึกมา เช่นแต่ละวันได้นอนกันวันละไม่กี่ชั่วโมง อย่างนี้เป็นต้น{/xtypo_quote}

    จากคนทำข่าวสู่เจ้าของหนังสือพิมพ์เป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาในชีวิตคนทำข่าวที่ชัชรินทร์บอกว่า หนักที่สุด เหนื่อยที่สุด และให้ประสบการณ์กับชีวิตมากที่สุด

{xtypo_quote}ยุคหนึ่ง เราต้องทำข่าวไปด้วย หาโฆษณาไปด้วย เพื่อความอยู่รอดของหนังสือพิมพ์ แต่เรื่องพวกนี้มันขึ้นอยู่กับจิตใจ เพราะในตัวหนังสือพิมพ์จะบอกเองว่า คนเราเป็นยังไง หนังสือพิมพ์ 1ฉบับจะรวมบุคลิกของทุกส่วนเอาไว้ โดยเฉพาะบุคลิกของคนเป็นบรรณาธิการ จะปรากฏอยู่ในตัวหนังสือพิมพ์ ถ้าตัวบก.เริ่มเปลี่ยนทัศนะ เปลี่ยนอะไร มันก็จะแสดงออกมา{/xtypo_quote}

    ขณะที่การทำงานข่าวของคนข่าวในปัจจุบัน สิ่งสำคัญที่ชัชรินทร์ฝากไว้กับคนรุ่นหลังคือ การทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

     บรรยากาศทำข่าวของนักข่าวไทยยุคนี้ ก็ไม่ต่างจากสิ่งที่ซีเอ็นเอ็นและบีบีซีประสบอยู่ นักข่าวซีเอ็นเอ็นเดี๋ยวนี้ก็แทบไม่เป็นนักข่าว กลายเป็นคนที่ชอบไปงานเลี้ยง เช่น ในยุคคลินตัน บีบีซีคุณภาพก็ตก นิตยสารไทม์ก็ตก มันเป็นอย่างนี้ทั้งโลก

     เราอย่าไปหาเหตุผล ในเชิงเฉพาะที่ มันไม่มี ต้องยอมรับว่า โลกของความเป็นจริงเดี๋ยวนี้มันเปลี่ยนไปในอีกแบบ ฉะนั้นการที่นักข่าวยุคนี้จะทำอะไร จุดสำคัญคือทำให้ดีที่สุด เท่าที่ตัวเองคิดว่าดีที่สุด พอแล้ว

     หลักการพื้นฐาน ถ้านักข่าวทำข่าวอย่างซื่อตรง ขยัน ก็พอแล้ว เรื่องของอุดมการณ์ อุดมคติ มันเป็นเรื่องของยุคสมัย ต้องปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนั้น การจะเรียกร้องให้นักข่าวรุ่นใหม่ ต้องมีอุดมการณ์เหมือนรุ่นอดีต เราไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไร

{xtypo_quote}ไม่ใช่เราไม่เห็นด้วยกับอุดมการณ์ เราเชื่อมั่นในอุดมการณ์ แต่เราว่ามันเป็นเรื่องของธรรมชาติ ซึ่งต้องปล่อยให้มันเป็นไป  เราเลยไม่ค่อยได้สนใจเรื่องนี้{/xtypo_quote}

    เป็นคำพูดทิ้งท้ายจากผู้ผ่านประสบการณ์ในอาชีพนักข่าวมาหลายยุค หลายการเปลี่ยนแปลงของเมืองไทยและโลก .