เชลง กัทลีรดะพันธุ์

เชลง เกิดในรัชกาลที่  7    เมื่ อ วันที่  29 มิถุนายน พุทธศักราช  2469  พื้นเพเดิมเป็นคน บ้านหนองเสือ ตำบลวังศาลา  อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี

คุณปู่ของเด็กชายเชลงมีชื่อว่านายแดง และคุณย่ามีชื่อว่านางกล้วย   ดังนั้นจึงเป็นการนำชื่อคุณปู่และคุณย่า มารวมกันเป็นนามสกุลว่า   กล้วยแดง   ก่อนจะกลายมาเป็น กัทลีรดะพันธุ์

เด็กชายเชลงในวัย  อายุ 12 ปี  ได้ตัดสินใจไปบวชเป็นสามเณร  พออายุ 15 ปีถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต สามเณรเชลง    เมื่อเปลี่ยนตัวเองไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ  ณ  วัดไชยชุมพลชนะสงคราม   จากนั้นก็ใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงเทพฯตั้งแต่บัดนั้น เป็นต้นมา

เชลง  บวชสามเณร   กระทั่งอายุ 20   ปี   ซึ่งในช่วงนั้นก็เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี  ในขณะที่เป็นสามเณรอยู่นั้น  มีความลำบากมากในตอนที่อยู่กรุงเทพฯ  จึงตัดสินใจขอสึก  และไปขายธูปเทียนเลี้ยงชีวิต

วันหนึ่งเพื่อนชักชวนไปพบกับนักหนังสือพิมพ์อาวุโสคนหนึ่งในบาร์แห่งหนึ่ง  การพบกันครั้งนั้นกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญแห่งชีวิตไปตลอดกาล

เพราะนักหนังสือพิมพ์อาวุโสคนนั้นคือ  ชัฎ  วงศ์สงวน  ผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสียงไทย  คุณชัฎ  บอกว่า    ว่างๆ  ไม่รู้จะทำอะไรก็ไปทำงานด้วยกันซิ

งานแรกของเชลง เริ่มจากหัดออกหาข่าวตามสถานที่ต่างๆ พอวันสองวันเขาก็เอาไปฝากกับนักข่าวที่เขารู้จักแถวๆ  กรมประชาสัมพันธ์   นักข่าวสมัยนั้น ก่อนที่จะออกไปทำข่าวทุกวันจะมานั่งกินข้าวต้มและกาแฟ แถวกรมประชาสัมพันธ์  ก่อนแยกออกไปหาข่าว

เชลงตามเพื่อนนักข่าวไปตามกระทรวงต่างๆ  สมัยก่อนมีกระทรวงการคลัง  กระทรวงมหาดไทย  กระทรวงกลาโหม  กระทรวงต่างประเทศ  กระทรวงพาณิชย์ซึ่งตอนนี้อยู่ตรงวัดโพธิ์  กระทรวงกลาโหมก็อยู่ทางบ้านเมฆ  กระทรวงคมนาคมก็เป็นโรงละครแห่งชาติในปัจจุบัน

เชลงทำข่าวกระทรวงบ้าง  ทำข่าวศาลบ้าง เพราะศาลมีข่าวเคลื่อนไหวคดีต่างๆ  ตลอดเวลา  แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน   เพราะในยุคนั้น นักข่าวไม่อยู่เป็นที่   ย้ายไปฉบับนั้นฉบับนี้กันตลอด

หลังจากทำข่าว อยู่ได้ 3-4 เดือน  เจ้านายคนที่เรียกเชลงเข้าทำงาน  ได้แยกตัวไปตั้งโรงพิมพ์ใหม่  อยู่ถนนหลานหลวง ชื่อ โรงพิมพ์เรปาจารย์  ออกหนังสือพิมพ์วีรธรรม  เขาเรียกเชลงไปอยู่ด้วย  ตอนนั้น ได้ เงินเดือนเพิ่มจาก  40  บาท  เป็น  140   บาท

ช่วงนั้นหนังสือพิมพ์เป็นของฝ่ายนักการเมืองและรัฐบาล นักข่าวก็ทำข่าวอย่างปกติ รักษาความเป็นกลางในการทำงาน ไม่ว่าจะมีนายทุนเป็นใคร แต่ก็ต้องรายงานข่าวอย่าง ซื่อตรง เว้นที่เป็นนโยบายใหญ่ ๆ  ก็เขียนบทความให้กับรัฐบาลบ้าง

นับจากการปฏิวัติ พ.ศ. 2490   ก็มีการปฏิวัติเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง   เช่น กบฏยึดพระราชวัง นักข่าวก็ทำข่าวกันเรื่อย ใครเป็นอะไร ก็ตามทำข่าว เช่น มีกบฏยึดวังหลวง  กบฏแมนฮัตตัน นักข่าว ก็ตามทำข่าวตลอด   ขณะเดียวกันนักข่าวก็ย้ายโรงพิมพ์ไปหลายโรงพิมพ์

จนกระทั่งเริ่มเบื่อหน่าย ขัดใจกับนายทุนบ้าง จึงลองเข้าไปสมัครเป็นครู แถววงเวียนใหญ่ ชื่อโรงเรียนจารุวัฒนานุกูล สอนได้สักพัก พอเปิดเทอม  ก็มีคนชวนให้กลับไปทำหนังสือพิมพ์อีก จึงมาลาออกไปทำข่าวอีกครั้ง

หนังสือพิมพ์ใหม่ กำหนดเปิด 24  มิถุนายน  2493  นสพ. ฉบับนั้นก็คือ เดลิเมล์รายวัน  นายทุนก็คือ  ตระกูลเจ้าของนสพ.เดลินิวส์ปัจจุบัน   ครั้งนี้  เชลง ได้รับมอบหมายให้ไปทำข่าวการเมือง ประจำอยู่สภา

หน้าที่ของหนังสือพิมพ์  ในประสบการณ์ของ เชลง คือ การรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม หรือต่อสู้กับพวกทุจริต คอร์รัปชั่น ไม่แพ้ปัจจุบัน   แต่สมัยก่อน เป็นสมัยบุกเบิก ช่วงเวลาดังกล่าว มีการแทรกแซงสื่ออย่างหนัก  เกิดตำนานของการต่อสู้มากมาย

หนังสือพิมพ์ยุคนั้น ถูกรัฐบาลจับคุมขังอะไรต่าง ๆ นานา นักหนังสือพิมพ์ต่อสู้อย่างสู้ยิบตา ในด้านการทำข่าวเราก็ทำข่าว   เปิดโปงการคอร์รัปชั่นภายในรัฐบาล  สื่อกับรัฐบาลก็ต่อสู้กัน  ขับเคี่ยวกันมา จนกระทั่งทางฝ่ายรัฐบาลซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหาร สมัยพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ มาทุกสมัยที่เป็นฝ่ายทหาร ที่กุมอำนาจทางการเมือง จนกระทั่งมาถึงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สมัยโน้นมีเรื่องคอร์รัปชั่นมันมีทั้งการค้าฝิ่นค้าอะไรต่าง ๆ มากมาย

{xtypo_quote}ช่วงนี้เป็นช่วงที่ผมจดจำได้ตลอด เพราะผมโดนกระทำมากมาย  และผมเชื่อว่านักข่าว นักหนังสือพิมพ์ช่วงนั้น จำกันได้เป็นอย่างดีแน่นอน เพราะที่ว่าจอมพลป.เผด็จการแล้ว จอมพลสฤษดิ์นี่หนักยิ่งกว่าอีก  เพราะว่า 20 ตุลาคม พ.ศ.2501  จอมพลสฤษดิ์ประกาศยึดอำนาจรับผิดชอบประเทศแต่เพียงผู้เดียว  ใช้อำนาจเด็ดขาด  จับคืนวันที่ 20 ตุลาคม เราก็ทำงานติดตามข่าวแบบกระชั้นชิด  ทุกโรงพิมพ์ปิดข่าวทุกวัน พอจอมพลสฤษดิ์  ปฏิวัติ ราว ๆ สัก 2 ทุ่ม  ปฏิวัติยึดอำนาจ  แล้วเราก็ยังรายงานต่อ  ปรากฏว่าตอนนั้นเอง ประมาณ สัก 4-5 ทุ่ม ที่โรงพิมพ์ผม พวกเขาเข้ามาประมาณ ตี 1 ตี 2 มาถึงก็มาถามหาคนนู้นคนนี้ ถามหาตัวบรรณาธิการ ถามหาใครต่าง ๆ แล้วโดนจับหมดคืนนั้น  ตำรวจมีบัญชีนักข่าวเป็นหางว่าว  เขาตั้งข้อกล่าวหาขึ้นมาว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์ {/xtypo_quote}
{xtypo_quote}เฉพาะโรงพิมพ์เดลิเมล์ที่ถูกจับกุม  นอกจากผมก็มี  มีคุณสนิท เอกชัย  พวกหัวหน้าโดนหมด บรรณาธิการก็คุณสวัสดิ์ จันทรสุขแล้วก็มีคุณอิศรา อมันตกุล แล้วก็คุณเวทย์ บูรณะ ซึ่งเดี๋ยวนี้อยู่ไทยรัฐ แล้วก็คุณเฉลิม คล้ายนารค  ตายในคุก  คุณสวัสดิ์ จันทรสุข ตายในคุก{/xtypo_quote}

เชลง ถูกจำคุก 3 ปี 6 เดือน 7 วัน    ช่วงที่ถูกจับ   มีลูก 5 คน ลูกคนเล็กชื่อแดง มีอายุได้ไม่กี่เดือน  แต่ยังโชคดี ที่มีหัวหน้าชื่อ  คุณสนิท เอกชัย    ซึ่งได้วางหลักต่างๆจัดสวัสดิการให้นักข่าวอย่างดี   ทำให้ครอบครัวไม่เดือดร้อนมากนัก

หลังจากได้รับอิสรภาพ เชลง  เว้นวรรค  อาชีพนักหนังสือพิมพ์ไปชั่วครู่ ก่อนจะกลับมาทำกับเดลินิวส์  ในช่วงนี้เองที่  เชลง ได้รับเลือกจากเพื่อนร่วมวิชาชีพ ให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักข่าวฯ( พศ. 2512-2513)

{xtypo_quote}ผมเป็นคนที่ 6 ของสมาคมฯ ในระหว่างนั้น มีการต่อสู้กันเพื่อสิทธิเสรีภาพตลอดเวลา  ระหว่างรัฐบาลกับสื่อมีปัญหาตลอด อย่างสมัยก่อนห้ามไม่ให้ออกหนังสือพิมพ์ใหม่เลยเด็ดขาด หนังสือพิมพ์นี่ถ้าหัวขาดแล้ว ก็ต้องไปต่อหัว  เขาเรียกว่าต่อหัว  ทำเป็นฉบับเลย 3 วัน 7 วัน  ก็ไปยื่นให้สันติบาลทำซองเอกสาร  เป็นฝ่ายรวบรวมเอกสาร  ต้องไปต่อหัว ไม่ให้หัวขาด  ถ้าหัวขาดแล้วออกใหม่ไม่ได้  ไม่ให้ออกใหม่เลย เดี๋ยวนี้สบายแล้ว  เรื่องการต่อสู้มีมาตลอดเวลาเลย  เรื่องการต่อสู้มีตลอดเวลาเลย เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน  เมื่อหนังสือพิมพ์ถูกกีดกัน  สิทธิเสรีภาพของประชาชนก็เท่ากับถูกกีดกันไปด้วย  เพราะสิทธิเสรีภาพของหนังสือพิมพ์คือ สิทธิเสรีภาพของประชาชน{/xtypo_quote}

ทุกวันนี้ เชลง ในวัย82 ปี ใช้ชีวิตกับลูกหลานอย่างมีความสุข.

(แหล่งข้อมูลจากมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา)