ตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์

หทัยรัตน์ พหลทัพ

{xtypo_quote}กว่า 45 ปีที่ผมเป็นสื่อ ผมได้ทบทวนตัวเองและพบว่า นักข่าวเป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีอิสระ แต่อย่าทำตัวเองให้ตกเป็นทาสนายทุน เพราะเราจะเป็นทาสอย่างเดียว คือ ทาสประชาชน{/xtypo_quote}

ถือเป็นบทสรุปของห้วงชีวิตในวงการน้ำหมึกของชายเลือดสะตออย่าง ตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน ที่เคยผ่านสมรภูมิข่าวมาอย่างโชกโชน เรียกได้ว่า ทุกวินาทีในสนามข่าวล้วนมีเรื่องตื่นตาตื่นใจให้ค้นหาและนำมาเสนอต่อสาธารณะอย่างไม่ขาดสาย โดยมีเครื่องการันตีคุณภาพของการเป็น  ทาสรับใช้ประชาชน  ด้วยการได้รับ  รางวัลข่าวยอดเยี่ยม อิศรา อมันตกูล   ในการนำเสนอข่าวเปิดโปงกระบวนการทุจริตในสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รสพ.) ในปี 2522  ซึ่งถือเป็นรางวัลอันทรงเกียติของชีวิตนักข่าวเลยทีเดียว

แรกเริ่มเดิมที

ถือเป็นโชคดีที่ในช่วงเรียนมัธยมศึกษา ทางบ้านไม่ได้มีทุนรอนสำหรับส่งเสริมทางการศึกษามากนัก จึงทำให้  ตุลย์   ต้องทำงานพิเศษในโรงพิมพ์ของญาติ ๆ เพื่อเสริมรายได้ ในห้วงจังหวะนั้นมีคนมาจ้างโรงพิมพ์ให้พิมพ์หนังสือพิมพ์ และทำให้รู้จักกระบวนการตรวจปรู๊ฟ การพาดหัวข่าว บทความ ฯลฯ ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบของหนังสือพิมพ์  

นั่นจึงถือเป็นแรงผลักให้หนุ่มน้อยวัย 18 แห่ง  สุราษฎร์ธานี  ก้าวเดินเข้าสู่อาชีพนักหนังสือพิมพ์เต็มตัวภายหลังจากที่จบ ม.ศ.5 โดยเขาได้ฝึกเดินบนเส้นทางหนังสือพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น  เสียงสุราษฎร์   อันเป็นโรงเรียนให้รู้จักโลกกว้างและเป็นใบเบิกทางของชีวิตในกาลต่อมา

{xtypo_quote}ช่วงที่ทำงานอยู่หนังสือพิมพ์เสียงสุราษฎร์ ผมได้มาประชุมร่วมกับมูลนิธิหนังสือพิมพ์เอเชีย ที่กรุงเทพฯ เนื่องจากบรรณาธิการไม่ว่าง โดยการประชุมครั้งนั้นถือเป็นการจัดขึ้นครั้งแรก ซึ่งจากเวทีนั้นทำให้ผมได้รู้จักอุดมการณ์หนังสือพิมพ์ กระบวนการควบคุมกันเองของนักหนังสือพิมพ์และได้รู้จักผู้หลัก ผู้ใหญ่ของวงการหนังสือพิมพ์อีกหลายคน ถือเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยรู้มาก่อน{/xtypo_quote}

เวทีดังกล่าวทำให้เขาตัดสินใจเรียนรู้กระบวนการทำหนังสือพิมพ์อย่างจริงๆ จัง ๆ โดยสอบเข้าศึกษาต่อวิชาการหนังสือพิมพ์ รุ่น 3 ภาคค่ำ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหลังจากจบการศึกษาแล้ว ด้วยความเป็นหนุ่มไฟแรงเขาจึงเบิกโลกหนังสือพิมพ์ด้วยตัวเอง โดยออกหนังสือพิมพ์  เสียงสุราษฎร์ยุคคนหนุ่ม  รับบทเป็นทั้งบรรณาธิการเอง เขียนข่าวเอง บริหารทุกอย่างด้วยตัวเอง แต่บางครั้งก็โทรมาถามอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยถึงจริยธรรมในการเป็นนักข่าวอยู่ประปราย

 ผมเคยโทรมาถามอาจารย์ว่า เวลาไปทำข่าวที่โรงพัก แล้วตำรวจเอาโอเลี้ยงมาให้ ถือว่าผิดจริยธรรมไหม อาจารย์ก็ตอบว่า มันเป็นมารยาททางสังคม หากตำรวจเขาโรงพิมพ์เรา เราก็ต้องเลี้ยงเขาอยู่แล้ว แต่อย่าเรียกร้อง ถ้าเรียกร้องก็ผิดทันที ตุลย์เล่า พร้อมกับหัวเราะถึงชีวิตวันวาน  

จุดเปลี่ยน

หลังจากหนังสือพิมพ์เสียงสุราษฎร์ยุคคนหนุ่มวางแผงมาได้ระยะหนึ่ง คนในท้องถิ่นก็ต่างรู้กิตติศัพท์และเอกลักษณ์ของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ดีว่า มีความดุดันและพร้อมจะฟัดเหวี่ยงได้ทุกสถานการณ์ เห็นได้จากการพาดหัวที่ใช้ภาษาค่อนข้างรุนแรง อีกทั้งเนื้อหาที่บรรจุภายในเล่มก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยได้เสนอเนื้อของการขุดคุ้นพฤติกรรมของนายทุนที่รุกป่า โค่นป่า เพื่อทำสวนปาล์ม อีกทั้งได้เสนอข่าวกระบวนการทุจริตในวงราชการจนเป็นที่มาของคำว่า  คุณนายสิบเปอร์เซ็นต์  ที่เกิดขึ้นจากการรับสินบนในการสัมปทานงานต่าง ๆ

นั่นจึงเป็นเหตุให้เขา  ถูกหมายหัว  จากผู้มีอิทธิพลที่เสียประโยชน์จากการนำเสนอข่าว ถึงขั้นจะฆ่าจะแกง แต่เดชะบุญเขารู้เรื่องนี้ก่อน โดยมีพลายกระซิบให้รู้ตัวว่า มีคนจ้องจะเอาชีวิต ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจทิ้งเสียงสุราษฎร์ยุคคนหนุ่มเพื่อรักษาชีวิต

 ช่วงนั้นผมตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ และโยนหัวโยนก้อยว่าจะทำงานที่ไหนดี สุดท้ายก็ตัดสินใจเข้าทำงานที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐในปี 2518  ที่นั่นทำให้ผมได้ทำข่าวทุกชนิด ทั้งข่าวการชิงดอยชิงชู้(สันดอนกลางแม่น้ำโขง) ซึ่งเป็นข้อพิพาทระหว่างไทยกับลาว ข่าวลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองของลาว  ข่าวการปราบปรามคอมมิวนิสต์ ข่าวสงครามอิรัก ซึ่งข่าวเหล่านี้ผมต้องใช้เวลาเฝ้าข่าวเป็นเดือน ๆ แต่ก็สนุกกันมัน แต่ข่าวที่ทำให้ผมภูมิใจ คือ การเปิดโปงกระบวนการทุจริตสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท(รพช.)และข่าวการทุจริตโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น เขากล่าวด้วยความภาคภูมิใจ

ข่าวโบแดง-จับเข่าคุยหัวหน้าพูโล

 ตุลย์   ถือเป็นนักข่าวคนเดียวที่  หัวหน้าโจรพูโล  ยอมเปิดใจให้สัมภาษณ์อย่างหมดเปลือก  โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นในปี 2523 ที่กองทัพและตำรวจตระเวนชายแดนยกกำลังพลไปปราบปรามขบวนการโจรก่อการร้าย (ขจก.) ที่จับครูไปเรียกค่าไถ่ โดยขณะนั้นกองกำลังได้ปิดล้อมเทือกเขาบูโด ซึ่งเป็นที่ซ่องสุมของกลุ่มผู้ก่อการร้าย ครั้งนั้นนักข่าวจากหลายสำนักได้ไปเฝ้าข่าวกันอยู่กว่า 10 วัน ก็ไม่เห็นว่า ตำรวจทำอะไรผู้ก่อการร้ายได้

ทว่าเขาก็ยังคงปักหลักเฝ้าข่าวเคียงข้างเหล่าทหารหาญและตำรวจตระเวนชายแดนอย่างไม่วางตา จังหวะนั้นเหตุการณ์ที่ไม่เคยคาดคิดก็เกิดขึ้น เพราะมีชาวบ้านมาชวนให้เขาไปคุยกับโจรบนภูเขาบูโด เนื่องจากจำได้ว่าเป็นนักข่าวและเคยไปทำข่าวระเบิดศาลากลางปัตตานี ครั้งนั้นเขาไม่ลังเลที่จะไปจับเข่าคุยกับโจร โดยคิดว่าความเป็นนักข่าวทำให้ไม่ต้องกลัวอะไร เพราะไม่ได้เป็นศัตรูใคร ประจวบกับยังอยู่ในช่วงไฟแรงอายุประมาณ อายุ 25-26  จึงฮึกเหิม  ส่วนช่างภาพได้ถอนตัวไปอย่างลังเล  ระหว่างทางขึ้นเขา ก็จะมีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด มีทั้งตรวจค้นร่างกายและเอาปืนจี้อยู่ตลอดเวลา สิ่งหนึ่งที่เป็นใบผ่านทางจนได้นั่งสัมภาษณ์หัวหน้าโจรได้ คือ ความจริงใจและการแสดงบัตรนักข่าว แต่สิ่งสำคัญเหนืออื่นใดคือ บัตรผ่านประตูจากคนท้องที่นั่นเอง

{xtypo_quote}พอไปถึงผมก็ได้แลกเปลี่ยนความคิดกับหัวหน้ากลุ่มโจรชื่อ  กำนันเจ๊ะหลง  เขาได้เล่าให้ฟังถึงกระบวนการพูโล (PULO) ที่เคลื่อนไหวเพื่อจัดตั้งรัฐปัตตานีและความเป็นมาของกระบวนการ รวมถึงเป้าหมายสำคัญในการจัดตั้งรัฐอิสระ และการได้เข้าที่ซ่อนของ ขจก.ครั้งนั้นก็พบว่า ระเบิดที่ตำรวจ-ทหารยิงเพื่อหมายจะทำลายค่ายของขจก.นั้นไม่โดนที่ตั้งแม้แต่ลูกเดียว จะมีก็แต่กิ่งไม้เท่านั้นที่หักวิ่นไปบ้าง{/xtypo_quote}

เมื่อได้คุยกับหัวหน้าโจรอย่างอิ่มหนำแล้ว ตุลย์ จึงขอตัวกลับ และลงจากเขาบูโดในช่วงกลางดึกของวันนั้น แล้วรีบโทรศัพท์รายงานโรงพิมพ์ว่ามี  สกู๊ปพิเศษ  จากนั้นจึงรีบเขียนจัดแจงข่าวและแฟกซ์ส่งข่าวให้โรงพิมพ์ตีพิมพ์ โดยรุ่งเช้าของวันที่นำเสนอข่าว ตำรวจรีบออกมาปัดทันทีว่า เป็นข่าวเท็จและขู่ว่าจะปิดหนังสือพิมพ์ แต่ช่วง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ห้ามไว้

หลังจากที่เขานำเสนอสกู๊ปชิ้นนั้น เขายังนำเสนอข้อมูลอีกระลอก มีใจความว่า  ขณะนี้โจรก่อการร้ายได้หนีไปยังฝั่งมาเลเซีย ดังนั้นจึงเชื่อแน่ว่า ประเทศมาเลเซียให้การสนับสนุนยุทโธปกรณ์แก่ขบวนการ  แบะเสนอให้รัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาด้วยการเจรจากับรัฐบาลมาเลเซีย    

 พล.อ.เปรม ได้เชิญผมไปนั่งคุยและให้ พ.อ.หาญ ลีนานนท์ (ยศขณะนี้) สัมภาษณ์ถึงการไปพบหัวหน้าโจร

ว่ามีความเป็นมาอย่างไร ซึ่งผมก็บอกว่าด้วยจริยธรรมของนักข่าวห้ามบอกแหล่งข่าว แต่ในฐานะที่ผมเป็นคนไทยผมจะเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง แต่ไม่ได้เปิดเผยชื่อชาวบ้านที่พาไปพบหัวหน้าโจร ครั้งนั้นผมได้เสนอว่า รัฐบาลไทยควรเจรจากับรัฐบาลมาเลเซียว่า หากเขาเลิกหนุน ขจก. เราก็จะเลิกหนุนโจรจีนคอมมิวนิสต์

หลังจากที่กับผม พล.อ.เปรมก็สั่งให้ทหารและตำรวจถอนกำลังและประกาศใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร เขากล่าวด้วยน้ำเสียงภาคภูมิ   

บทเรียนครั้งนั้นสอนเขาให้รู้จักการเอาตัวรอดด้วยการแสดงความจริงใจ โดยการแสดงตัวเป็นนักข่าว เพื่อให้อีกฝ่ายรู้ว่า มาทำข่าวจริง ๆ ไม่ใช่สายลับ จึงรอดมาได้  อีกอย่างหนึ่งที่ควรระลึกไว้ให้มั่น คือ จริยธรรมในการปกปิดแห่งข่าว เพราะจนถึงขณะนี้เขาก็ยังไม่เคยเปิดเผยคนที่พาไปพบหัวหน้าโจรก่อการร้ายเลยแม้แต่ครั้งเดียว โดยเขาเน้นว่า  นี่จริยธรรมของนักข่าวที่ดี 

ย้ายค่าย แต่ไม่เปลี่ยนความคิด

หลังจากที่ผ่านชีวิตโชกโชนในสนามข่าวจนกระทั่งได้เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าข่าวที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐแล้ว เขาก็ยังไม่หยุดแสวงหาความแปลกใหม่ โดยในช่วงปี 2535 เขาได้ตัดสินใจไปเบิกโลกหนังสือพิมพ์กับค่ายผู้จัดการของ  สนธิ ลิ้มทองกุล  และอยู่เคียงบ่าเคียงไหล่จนถือว่า เขาเป็นผู้หนึ่งที่สนธิไว้วางใจให้นั่งในตำแหน่งบรรณาธิการอาวุโส เครือหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ  

ห้วงจังหวะที่อยู่ใต้ปีกชายคาของค่ายผู้จัดการ การขึ้นโรงขึ้นศาลในข้อหา  หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา   จึงถือเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับเขาไปเลยทีเดียว  การเป็นคนข่าวและการดำรงอยู่ภายใต้เสื้อคลุมของคนหนังสือพิมพ์จึงทำให้เขารู้ว่า ผู้ปกครองทุกยุคทุกสมัย มักจะมีเป้าหมายในการจำกัดสิทธิสื่อ เพราะถือว่าถ้าควบคุมสื่อได้ เขาก็รักษาผลประโยชน์ของเขาได้ โดยเฉพาะประเทศไทยที่ถือเป็นประเทศทุนนิยม ดังนั้น ผู้ปกครองจึงมักนำ  ทุน  มาเป็นปัจจัยในการครอบงำสิทธิเสรีภาพสื่อตลอดเวลา ตรงกันข้ามกับสื่อที่ต้องคำนึงตลอดเวลาว่า หน้าที่ของเรา คือ  พิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชน   

{xtypo_quote}การปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน บางครั้งก็ถูกมองว่า เป็นซ้าย หรือเป็นขวา ซึ่งผมก็บอกตัวเองว่า เมื่อพวกขวากดขี่ เอารัดเอาเปรียบผู้คน จะให้ผมเป็นซ้ายก็เป็น(วะ)  เพราะมันถือเป็นการถ่วงดุลในสังคม ขออย่างเดียวเราอย่าเกลือกกลั้วกับสิ่งไม่ถูกต้องก็พอ{/xtypo_quote}

สรุปบทเรียน 45 ปี คนข่าว

สิ่งหนึ่งที่เขาได้เรียนรู้ตลอด 45 ปีที่คลุกอยู่ในวงการน้ำหมึก คือ ไม่ว่าเผด็จการยุคไหนก็สร้างความอึดอัดให้กับสื่ออย่างเสมอหน้ากัน โดยเฉพาะยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ช่วงนั้นรัฐบาลห้ามเขียนข่าวที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล รวมทั้งห้ามเสนอข่าวที่เกี่ยวกับการทุจริต ซึ่งทำให้กระบวนการขุดคุ้ยหาข่าวทุจริตเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยรัฐบาลยกข้ออ้างว่า หากแฉทุจริตมากก็จะเป็นการทำลายระบบราชการ

ชายในวัย 63 ท้าวความถึงความหลังว่า ช่วงนั้นรู้สึกเบื่อ เพราะรู้ทั้งรู้ว่า คนนั้นเป็นคนที่ทำผิด แต่กลับไม่ได้รับการลงโทษ ซึ่งรุ่นพี่ก็ปลอบใจว่าหน้าที่ของเรา คือ เสนอความจริง ในเมื่อส่งคดีขึ้นศาลแล้ว ส่วนกระบวนการของศาลจะเป็นอย่างไร เราอย่าไปยุ่ง หน้าที่ของเราจบแล้ว เพราะได้พิสูจน์แล้วว่าสิ่งที่เราเสนอเป็นความจริง ส่วนคนที่ถูกกล่าวหาจะรอดหรือโดนจำคุก หรือสู้คดีแล้วหลุดก็เป็นเรื่องของศาล อย่ายึดติด ลุยเรื่องอื่นต่อไปดีกว่า

 การเป็นนักข่าวควรสัมผัสทุกด้าน ส่วนตัวก็ไม่ได้อยู่ข้างไหน เพราะเมื่อคนที่เป็นนายทุนพูด เราก็ต้องฟัง แต่ไม่ควรไปทาสรับใช้ทุนจนลืมความถูกต้อง ซึ่งตอนนี้ผมได้ทบทวนชีวิตและรู้ว่าอาชีพนักข่าวเป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีอิสระ ขอเพียงเราอย่าตกเป็นทาสของทุน ให้ถือว่าเราเป็นทาสอย่างเดียว คือ ทาสประชาชน รับใช้ความถูกต้อง รับใช้สัจจะที่เป็นจริงก็พอ คนข่าววัย 63 สรุปบทเรียนเพื่อเตือนสตินักข่าวรุ่นหลัง